รู้ทันและรับมือมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็น JobThai และหลอกลวงคนหางาน

รู้ทันและรับมือมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็น JobThai และหลอกลวงคนหางาน
31/08/23   |   49.7k   |  

 

 

JobThai Mobile Application ค้นหางานดี ๆ น่าเชื่อถือ ผ่านแอปพลิเคชัน โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ก่อนจะเราจะสมัครงานแต่ละที่ เราจำเป็นต้องเช็กดูให้แน่ใจว่างานงานนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการหางานผ่านทางออนไลน์ เพราะในปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมากที่แฝงตัวมาอยู่ในคราบของบุคคลหรือองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่แอบอ้างเป็นองค์กรที่มีอยู่จริง และอาจหว่านล้อมให้คนทำงานกรอกข้อมูลส่วนตัว หลอกลวงไปเล่นการพนัน หรือหลอกให้โอนเงินไปให้

 

 

แพลตฟอร์มหางาน หาคนทำงาน อย่าง JobThai ก็ถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้างเช่นกัน วันนี้เราเลยได้รวบรวมเรื่องที่ควรรู้ รวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นจริง พร้อมวิธีการป้องกันตัวและรับมือเมื่อต้องเจอกับมิจฉาชีพมาฝากคนหางานทุกคน

 

รูปแบบการหลอกลวง

กรณีที่ 1: มิจฉาชีพแอบอ้างว่าได้ข้อมูลผู้สมัครมาจาก JobThai

มิจฉาชีพอาจติดต่อคนหางานผ่านทางโทรศัพท์หรือแอปพลิเคชันสนทนา อย่างเช่น LINE แล้วแอบอ้างว่าเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ได้ประวัติของเรามาจาก JobThai และอยากจะเสนองานให้ ซึ่งในความเป็นจริง มิจฉาชีพไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้จาก JobThai ได้ เพราะจะมีแค่องค์กรที่ลงประกาศงานกับ JobThai เท่านั้นที่จะเห็นประวัติของผู้สมัคร ซึ่งองค์กรที่จะลงประกาศงานกับ JobThai จะต้องเสียค่าใช้จ่าย และการเข้าถึงข้อมูลติดต่อและประวัติโดยละเอียดของผู้สมัครที่ฝากไว้ที่ JobThai นั้นมีจำนวนจำกัดตามแพ็กเกจลงประกาศงานที่ซื้อ

 

แต่ในบางครั้ง มิจฉาชีพก็แอบอ้างตนเป็นบริษัทที่มีอยู่จริงบน JobThai ซึ่งถ้าคนหางานได้รับการติดต่อเสนองานมา และยังไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังถูกหลอกรึเปล่า ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

  1. เข้าไปที่ JobThai และเลือกดูในเมนู “บริษัทที่เข้ามาดูประวัติ” เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทนั้น ๆ เข้ามาดูประวัติของเราจริงรึเปล่า

  2. คนหางานสามารถแจ้งรหัสสมาชิกของ JobThai ให้ทีมงานตรวจสอบได้ ทั้งทางข้อความใน Facebook Page หรือ LINE Official Account ของ JobThai

  3. โทรฯ ติดต่อกับบริษัทนั้น ๆ โดยตรงตามเบอร์ที่แสดงใน Official Website หรือ Social Media ของเขาว่าได้เข้ามาดูประวัติของเราจริงรึเปล่า หรือมีนโยบายการติดต่อพนักงานในรูปแบบนี้จริงรึเปล่า

 

กรณีที่ 2: มิจฉาชีพอ้างตนเป็น JobThai หรืออ้างตนเป็นทีมงานของ JobThai

มีคนหางานหลายคนที่ต้องเดือดร้อนเพราะเจอกับมิจฉาชีพที่เอาชื่อและ/หรือ Logo ของ JobThai ไปแอบอ้าง โดยอาจพบเห็นได้ในหลาย ๆ รูปแบบ ดังนี้

 

เพจปลอม

มิจฉาชีพมาในรูปแบบของการทำเพจปลอมที่เอา Logo และรูปภาพต่าง ๆ ของ JobThai ไปใช้แอบอ้าง และทำการโฆษณารับสมัครงานประเภททำงานที่บ้าน เช่น ทำงานฝีมือ รับสินค้าไปแพ็กลงกล่อง ทำงานพากย์เสียง หรือทำงานออนไลน์ เช่น เป็นแอดมินเพจ หรือคีย์ข้อมูล ซึ่งอาจมีทั้งการโพสต์ที่หน้าไทม์ไลน์และสร้างโพสต์แยกเพื่อซื้อโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย

 

แอบอ้างเป็นทีมงาน JobThai

บางเคสได้รับการติดต่อและอ้างว่าเป็นทีมงานจาก JobThai พร้อมนำเอารูปของผู้อื่นที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องมาใช้สร้างเป็นตัวตนขึ้นมา ทำเป็นบัตรพนักงาน JobThai และชักชวนให้มาทำงานต่าง ๆ เช่น งานแพ็กสินค้า แพ็กสบู่ งานฝีมือ จากนั้นก็หลอกขอข้อมูลอ้างว่าใช้เพื่อจัดส่งสินค้าที่จะให้แพ็ก และมิจฉาชีพอาจอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อหลอกให้โอนเงิน เช่น โอนเงินเพื่อเป็นค่าเบิกอุปกรณ์ ค่าเบิกงาน ที่จะได้คืนในภายหลัง

 

ในบางกรณี มิจฉาชีพอาจอ้างว่ากำลังเปิดรับสมัครคนกดโปรโมตสินค้า แล้วให้ผู้สมัครโอนเงินเท่าจำนวนสินค้าที่กดโปรโมต ซึ่งในตอนแรกก็จะได้รับเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทนคืน ต่อมาจะให้กดลิงก์เข้าเว็บไซต์เพื่อทดลองงานในขั้นที่ 2 โดยต้องโอนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้ายจะอ้างว่าทดลองงานไม่ผ่านด้วยเหตุผลต่าง ๆ และต้องโอนเงินปิดระบบการทดลองงาน

 

บางครั้งมิจฉาชีพก็มีการดึงผู้สมัครเข้ากลุ่ม LINE ที่มีคนที่ทำตำแหน่งเดียวกันพูดคุยกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่างานนี้ดี ทำแล้วได้เงินเยอะ ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนในกลุ่มอาจเป็นกลุ่มคนของมิจฉาชีพที่ทำงานกันเป็นแบบขบวนการ

 

นอกจากนั้นมิจฉาชีพอาจใช้วิธีติดต่อไปหาผู้สมัคร อ้างว่าเป็น JobThai และเสนองานในบริษัทต่าง ๆ ที่ดูน่าเชื่อถือให้ ซึ่งเป็นการแอบอ้างทั้ง JobThai และบริษัทเหล่านั้น เพราะ JobThai เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่ช่วยให้คนสมัครงานและองค์กรได้มาเจอกันโดยไม่มีนโยบายติดต่อโดยตรงกับผู้ใช้งานเพื่อจัดหางานให้แต่อย่างใด

กรณีที่ 3: มิจฉาชีพมาในรูปแบบเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ปลอม

มิจฉาชีพอาจส่งลิงก์ให้และอ้างว่าเป็นลิงก์สำหรับใช้สมัครงาน ซึ่งคนหางานจำเป็นต้องเช็กดูให้ดี ๆ ว่าลิงก์นั้นคือของจริงแน่ ๆ ใช่ไหม โดยลิงก์ที่ถูกต้องของ JobThai จะเป็นลิงก์ www.jobthai.com เท่านั้น ลิงก์ที่ดูคล้ายแต่เปลี่ยนบางตัวอักษร เช่น เปลี่ยนจาก .com เป็น .cc ก็นับว่าไม่ใช่ลิงก์ Official ของทาง JobThai และเมื่อเข้าไปยัง Website แล้ว หน้าตาของเว็บไซต์และฟีเจอร์ต่าง ๆ จะต้องเป็นแบบในภาพด้านล่างเท่านั้น หากเป็นลิงก์ที่พาไปเจอกับหน้าเว็บไซต์และฟีเจอร์แบบอื่น ก็อย่าเพิ่งไว้ใจเด็ดขาด เพราะอาจเป็นเพียงการนำ Logo ของเรามาแอบอ้างเท่านั้น

 

หน้าเว็บไซต์ JobThai ที่ถูกต้อง

 

ส่วนผู้ที่สะดวกหางานหรือสมัครงานผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน JobThai ได้ตามช่องทางของระบบปฏิบัติการโทรศัพท์ที่ใช้อยู่อย่างบน App Store, Play Store, Huawei AppGallery เท่านั้น ถ้าหากได้รับลิงก์อื่น ๆ มา แล้วไม่ใช่ลิงก์ที่นำไปสู่ช่องทางการดาวน์โหลดเหล่านี้ ให้ระวังตัวเอาไว้ก่อนว่าอาจจะกำลังถูกหลอก

 

JobThai มีช่องทางต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียสำหรับอัปเดตสาระคนทำงานและตำแหน่งงาน และเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดและความสับสน คนหางานสามารถติดตามช่องทาง Official ของ JobThai ได้ ดังนี้

 

Facebook: https://www.facebook.com/jobthai

Instagram: https://www.instagram.com/jobthai_com/

X (Twitter): https://twitter.com/JobThai

TikTok: www.tiktok.com/@jobthaiofficial

LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/jobthai/

YouTube: https://www.youtube.com/@JobThaiChannel

LINE Official Account: https://lin.ee/eXa0T8a (@JobThai)

 

นอกจากช่องทางที่สามารถติดตามได้แล้ว JobThai ยังมีชุมชนออนไลน์บน Facebook อย่าง Facebook Group ที่คนหางานสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันข่าวสาร และสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการทำงานได้

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน: https://www.facebook.com/groups/jobthaiofficial/

หางาน หาคน รวมงานน่าสนใจสาย Marketing: https://www.facebook.com/groups/JobThaiGroup.MKT/

หางาน หาคน รวมงานน่าสนใจสาย HR: https://www.facebook.com/groups/JobThaiGroup.HR/

หางาน หาคน รวมงานน่าสนใจในหาดใหญ่ สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง: https://www.facebook.com/groups/JobThaiGroup.HatyaiSongkhla/

หางาน หาคน รวมงานน่าสนใจในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง: https://www.facebook.com/groups/JobThaiGroup.CNX/

 

กรณีที่ 4: มิจฉาชีพอ้างตนเป็น THiNKNET (บริษัท ทิงค์เน็ต จำกัด)

บริษัท ทิงค์เน็ต จำกัด หรือ THiNKNET คือบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม JobThai ซึ่งก็มีบางครั้งที่คนหางานได้เจอมิจฉาชีพในรูปแบบเพจปลอมที่เกี่ยวกับการทำงาน โดยมิจฉาชีพจะให้ผู้ที่สนใจงาน Add LINE ไป และเมื่อเข้าสู่บทสนทนาก็จะอ้างตัวว่าติดต่อจาก THiNKNET พร้อมแนบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น ที่อยู่ออฟฟิศ ทุนจดทะเบียน เลขจดทะเบียนบริษัท ฯลฯ ทั้งที่ในความจริงเป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว

 

THiNKNET คือบริษัท IT ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนี้

  1. JobThai แพลตฟอร์มออนไลน์ของการหางาน หาคน และสมัครงานออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย

  2. THiNKNET Maps บริการ Online Map API และข้อมูล Geolocation เพื่อนำไปต่อยอด Web & Mobile Application ที่ต้องการใช้ Features และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ด้วยเทคโนโลยี Vector Tile และยังสามารถกำหนด Map Style ได้ตามความต้องการ

  3. THINKNET Design Studio การนำข้อมูลหลากชนิดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มความสะดวกให้กับชีวิตในหลายมิติ เช่น สื่อการสอนในหลากหลายสาขาวิชา แผนที่ประกอบการวางแผนธุรกิจ รวมถึงภาพเพื่อการตกแต่งเพื่อความสวยงามและความรู้ควบคู่กัน

 

ถ้าพบการแอบอ้างตัวเป็น THiNKNET และได้รับการเสนองานที่เนื้องานไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ระบุเอาไว้ด้านบน เช่น งานแพ็กสินค้า แพ็กยาดม แพ็กปากกา หรืองานอื่น ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นการหลอกลวงให้กรอกข้อมูล ติดตั้งแอปพลิเคชัน เพื่อหลอกโอนเงิน หรือขโมยข้อมูล และถ้าถูกขอให้โอนเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าสมัครงาน ค่าแรกเข้า หรือค่าค้ำประกัน ให้มั่นใจได้เลยว่ากำลังถูกหลอกอยู่ เพราะ บริษัท ทิงค์เน็ต จำกัด ไม่มีการเก็บเงินค่าสมัคร ค่าแรกเข้า หรือค่าค้ำประกัน ในทุก ๆ ตำแหน่ง

 

ผลิตภัณฑ์และบริการที่พัฒนาและสร้างสรรค์โดย THiNKNET

 

เรื่องที่ควรรู้ ข้อควรระวัง และเทคนิคป้องกันตัวจากการโดนหลอก

มิจฉาชีพอาจใช้วิธีการหลอกลวงในหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ตายตัว JobThai เลยได้รวบรวมเรื่องที่ควรรู้ ข้อควรระวัง และเทคนิคที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนหางานต้องถูกหลอกมาฝาก

 

การให้ข้อมูล

อย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงในฟอร์มแบบสอบถามหรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ เพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้

 

การทดลองงาน

คนหางานบางคนถูกมิจฉาชีพแจ้งว่าให้ทดลองงานออนไลน์ก่อน โดยไม่ต้องสัมภาษณ์งาน หรืออ้างว่าการสนทนาในแอปพลิเคชัน LINE นับเป็นการสัมภาษณ์งานแล้ว เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการทดลองงานเราควรเซ็นสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเสมอ

 

การเรียกเก็บเงิน

ในทางกฎหมาย อ้างอิงจาก “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคสอง ได้ระบุเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างเว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

 

โดยลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างสามารถเรียกหรือรับหลักประกันได้ (อ้างอิงจาก ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ข้อ 4)  มีดังนี้

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

(3) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก

(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

 

นอกจากนั้นวิธีสังเกตอีกวิธีนึงก็คือหากบัญชีที่ให้โอนเงินไปให้ชื่อบัญชีเป็นชื่อบุคคล ไม่ใช่ชื่อบริษัท ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นมิจฉาชีพเช่นกัน

 

ความน่าเชื่อถือของผู้ที่ติดต่อเรามา

หากได้รับการติดต่อเรื่องสมัครงานหรือนัดสัมภาษณ์งานจากบริษัท ถึงแม้ทางผู้ติดต่อจะแสดงเอกสารหลักฐานการจัดตั้งบริษัท เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัท หรือพนักงานคนนั้นแล้วก็ตาม อย่าเชื่อแค่เอกสารที่ได้จากคนที่ติดต่อเข้ามา เพราะอาจเป็นเอกสารที่ปลอมแปลงขึ้น ให้หาข้อมูลด้วยตัวเองอีกครั้งเสมอ เช่น ถามชื่อนามสกุลและตำแหน่งของคนที่ติดต่อ จากนั้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นว่ามีตัวตนจริงไหม ถ้ามีตัวตนจริงลองหาเว็บไซต์ Official ของบริษัท แล้วโทรฯ หรืออีเมลกลับไปถามรายละเอียด หรืออาจจะติดต่อทางโซเชียลมีเดียที่เป็น Official ของบริษัทนั้น ๆ ก็ได้

 

กรณีตรวจสอบโซเชียลมีเดียของบริษัท เราสามารถเช็กดูว่าเป็นบัญชี Official ได้จากการสังเกตคอนเทนต์ต่าง ๆ ว่าน่าเชื่อถือไหม ถ้ากดดูผู้ติดตามได้ ก็อาจลองดูว่าผู้ติดตามดูเป็นบัญชีของคนจริง ๆ หรือเป็นบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปั๊มยอด รวมถึงดูว่าช่องทางนั้นถูกสร้างขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว

 

โซเชียลมีเดียที่เช็กง่ายและเห็นรายละเอียดชัดที่สุดคือ Facebook Page เพราะเดี๋ยวนี้แทบทุกบริษัทก็จะมีเพจเป็นของตัวเอง ซึ่งผู้ใช้งาน Facebook สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับเพจนั้น ๆ ได้ค่อนข้างละเอียด โดยการเข้าไปที่ดูในเมนู About (เกี่ยวกับ) ของเพจนั้น ๆ จากนั้นลองไล่ดูข้อมูลเหล่านี้

 

  • Contact and basic info (ข้อมูลติดต่อและข้อมูลพื้นฐาน): ข้อมูลที่อยู่ในนี้ เช่น เบอร์โทร อีเมล เว็บไซต์ เช็กดูว่ามีกรอกในเพจครบถ้วนไหม และตรงกับข้อมูลที่เราหาเจอใน Google รึเปล่า รวมถึงดู หมวดหมู่ของเพจ ว่าตรงกับธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ไหม เพราะบางทีอาจจะไม่ตรงเลย เนื่องจากมิจฉาชีพได้ซื้อเพจนี้ต่อมาอีกทีนึง

 

ตัวอย่าง "ข้อมูลติดต่อและข้อมูลพื้นฐาน" ใน Facebook Page

 

  • Page transparency (ความโปร่งใสของเพจ): ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปดูความเป็นไปของเพจนั้น ๆ ได้อย่างละเอียด โดยมีการแสดงข้อมูลต่าง ๆ มากมายตั้งแต่ วันที่สร้างเพจ มีการเปลี่ยนชื่อเพจเป็นอะไรบ้าง และดูได้ถึงว่าตอนนี้เพจนี้มีการซื้อโฆษณาอะไรบ้าง ข้อมูลส่วนนี้ค่อนข้างสำคัญและมีประโยชน์ เพราะบางครั้งมิจฉาชีพก็ใช้วิธีซื้อเพจต่อมาจากคนอื่น แล้วเปลี่ยนชื่อเอาทำให้มียอดคนติดตามเยอะมาก จนคนทั่วไปคิดว่าก็ดูน่าเชื่อถือดี แต่ถ้าเราดูว่าก่อนหน้านี้เคยเปลี่ยนชื่อเพจอะไรมาบ้าง ถ้าชื่อเพจเก่า ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจปัจจุบัน ก็อาจจะไม่น่าไว้ใจ

 

ตัวอย่าง "ความโปร่งใสของเพจ" ใน Facebook Page

 

หางานออนไลน์ยังไง... ไม่ให้ "โดนหลอก"

 

ควรทำยังไงเมื่อตกเป็น “ผู้ถูกหลอก”

ทุกวันนี้มีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่บนโลกออนไลน์เยอะมาก และมาพร้อมวิธีการที่หลากหลาย แนบเนียน และน่าเชื่อถือมากขึ้น คนหางานคนไหนที่ตกเป็นผู้ถูกหลอกและได้รับความเสียหายก็สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ thaipoliceonline.com หรือ pct.police.go.th อีกทั้งยังสามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้ที่ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)” หมายเลขโทรศัพท์ 1441

 

หากใครที่เคยเห็นการแอบอ้าง JobThai ในลักษณะที่ได้ยกตัวอย่างไป หรือกรณีอื่น ๆ ที่รู้สึกว่าน่าสงสัย สามารถส่งเรื่องเข้ามาได้ที่อีเมล support@jobthai.com หรือที่ Facebook Page ของ JobThai เพื่อที่ทีมงาน JobThai จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการเตือนภัยไม่ให้คนทำงานต้องถูกหลอก

 

ถึงการหางานผ่านอินเทอร์เน็ตจะต้องพบกับความเสี่ยงที่อาจจะต้องเจอกับมิจฉาชีพ แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ช่วยให้เราได้เจอกับโอกาสดี ๆ ทางด้านหน้าที่การงานมากมาย ขอแค่เรารู้เท่าทันมิจฉาชีพ ระวังตัว และสมัครงานผ่านช่องทางที่แน่ใจแล้วว่าไว้ใจได้ โดย JobThai คือแพลตฟอร์มที่คนหางานสามารถมั่นใจได้ว่าองค์กรที่ขึ้นประกาศงานนั้นมีตัวตนอยู่จริง และได้ผ่านการตรวจสอบหนังสือรับรองบริษัทก่อนที่จะลงประกาศงานแล้ว

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

tags : jobthai, คนหางาน, สมัครงาน, หางานออนไลน์, สมัครงานออนไลน์, มิจฉาชีพ, มิจฉาชีพแอบอ้างเป็น jobthai, แอบอ้าง, เคล็ดลับการหางาน, career & tips, งาน, หางาน, เคล็ดลับสำหรับคนหางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม