กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (ปศุสัตว์)

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (ปศุสัตว์)
03/10/17   |   9.5k   |  

นอกเหนือจากเกษตรทฤษฎีใหม่และโครงการที่เกี่ยวกับการทำกสิกรรมที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชทรงศึกษา ทดลอง และวางระบบอย่างจริงจัง ก่อนพระราชทานให้แก่เกษตรกร ในรูปแบบของโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆ ก็คือการปศุสัตว์ เพราะว่าหากปศุสัตว์ได้รับการพัฒนาและต่อยอดที่ดีก็จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีและมั่นคงขึ้นได้เช่นกัน

 

 

“การเลี้ยงโคนม” อาชีพพระราชทานที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์

การเลี้ยงโคนมเป็นอีกหนึ่งพระราชดำริที่กลายมาเป็นอาชีพที่ช่วยให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงขึ้น เพราะพระองค์ทรงวางรากฐานการเลี้ยงโคนมอย่างครบวงจร และสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคนม จนนับว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพพระราชทานที่เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน

 

การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเดนมาร์กได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแห่งประเทศไทย ให้แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากการเสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2503 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก” นั่นเอง

 

หากแต่บทบาทของพระองค์ในเรื่องการเลี้ยงโคนมไม่ได้จบเพียงเท่านั้น พระองค์ทรงต่อยอดเรื่องนี้ด้วยการมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเลี้ยงโคนมขึ้นภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยเป็นการเลี้ยงโคนมแบบไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากนัก และให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับเกษตรกรไทย เมื่อทรงเห็นว่าการทดลองเลี้ยงโคนมของพระองค์เป็นไปได้ด้วยดี จึงเริ่มมีการเผยแพร่ออกไปให้เกษตรกร เพื่อให้พวกเขาศึกษาเป็นแบบอย่างและเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง และเมื่อมีการเลี้ยงโคนมกันมากขึ้นจนเกิดปัญหาน้ำนมโคล้นตลาด พระองค์ก็มีพระราชดำริให้ทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาทางต่อยอดในการแปรรูปนมสด ให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

การที่พระองค์ทรงสนับสนุนการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยนั้นไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคนมกันมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง และเป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก มาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

 

 

“ธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ” พระเมตตาที่ทำให้เกิดการส่งต่อความเมตตา

โคและกระบือนับเป็นสัตว์ที่สำคัญมากในการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา แต่จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรในชนบท พระองค์ทรงพบว่ามีคนจำนวนมากต้องเช่าโคและกระบือมาใช้งาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พระองค์จึงมีพระราชดำริให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งธนาคารโค – กระบือขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเช่าหรือซื้อโคและกระบือไปใช้งานได้ในราคาที่ถูก รวมทั้งสามารถยืมเพื่อนำไปขยายพันธุ์ไว้ใช้งานต่อไป

 

ในช่วงเริ่มโครงการโคและกระบือที่ให้เกษตรกรยืมไปใช้งานนั้นเป็นโคและกระบือที่มีอยู่แล้วของกรมปศุสัตว์ และที่ได้มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่หลังจากที่ข่าวเรื่องธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริกระจายออกไป ก็เริ่มมีประชาชนทั่วไปเข้ามาบริจาค และไถ่ชีวิตโคและกระบือเพื่อมอบให้กับโครงการกันมากขึ้น ซึ่งนับว่าโครงการในพระราชดำริโครงการนี้นอกจากจะเป็นการช่วยเกษตรกรแล้ว ยังถือว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสทำบุญ และได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

ไม่เพียงแค่เรื่องปศุสัตว์ในบทความนี้ และเรื่องการทำกสิกรรมในบทความก่อนหน้าที่เคยกล่าวมาแล้วเท่านั้น JobThai ยังมีเรื่องราวที่กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อเกษตรกรไทย ในเรื่องการประมงมาฝากกันด้วย เพราะพระองค์ยังทรงเล็งเห็นว่าการประมงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรจะต้องศึกษาเพื่อวางรากฐาน และเผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกต้องเช่นกัน เพราะในแต่ละภูมิภาค หรือแต่ละพื้นที่ ก็มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรที่แตกต่างกันไป

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

web.ku.ac.th  pvlo-hkt.dld.go.th  royal.dld.go.th  moac.go.th

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ, เกษตรกร, ปศุสัตว์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม