กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (ประมง)

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (ประมง)
03/10/17   |   11k   |  

ด้วยพระอัจฉริยภาพและความตั้งพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีที่สุด นอกจากการทำกสิกรรมและปศุสัตว์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงวางรากฐานการทำการประมงไว้อย่างดีอีกด้วย ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรไทยหลายคนสามารถนำความรู้ไปเลี้ยงชีพตัวเอง และประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทั้งเรื่องการพระราชทานพันธุ์ปลา และการจัดการทรัพยากรประมง

 

“ปลานิล” พันธุ์ปลาพระราชทาน จากสวนจิตรลดาสู่มือเกษตรกร

ปลานับเป็นอาหารที่มีโปรตีนสำคัญ ซึ่งในอดีตเป็นอาหารที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายตามแหล่งน้ำทั่วไป แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร รวมกับการที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติต่าง ๆ เสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อจำนวนปลา ทำให้หาได้ยากและมีราคาสูงขึ้นจนประชาชนที่ไม่ได้มีฐานะดีนักได้รับประทานปลาน้อยลง

 

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้รับปลาน้ำจืด สายพันธุ์ Tilapia Nilotica จำนวน 50 ตัว จากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น พระองค์จึงมีรับสั่งให้นำปลาเหล่านั้นไปเลี้ยงในบ่อที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และให้กรมประมงคอยตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าปลาเหล่านั้นมีการเติบโตค่อนข้างเร็ว พระองค์ทรงเห็นว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดี พระองค์จึงพระราชทานลูกปลาให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์ต่อ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป โดยพระราชทานชื่อให้กับปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

 

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงทราบว่าปลานิลพันธุ์ที่พระองค์พระราชทานเกิดมีการกลายพันธุ์ ทำให้ตัวเล็กลง และเจริญเติบโตช้า พระองค์ก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย และมีรับสั่งให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลาและพยายามอนุรักษ์ปลานิลพันธุ์แท้เอาไว้ จนกระทั่งกรมประมงสามารถทำสำเร็จ

 

เหตุการณ์นี้เป็นการย้ำเตือนให้เราเห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงทำจริง ๆ ทรงติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และเมื่อทรงเห็นปัญหา พระองค์ก็ไม่เคยที่จะปล่อยให้ผ่านไปเลยสักครั้ง

 

 

หากไร้ซึ่งการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดี สิ่งที่สร้างมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า

นอกจากเรื่องวิจัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงให้ความสำคัญกับการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอีกด้วย เช่น ทรงให้ทำการวิจัยเพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลาหายาก ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ การปล่อยพันธุ์ปลาที่สามารถเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้เองตามธรรมาติลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับประชาชนในบริเวณนั้นหรือแม้กระทั่งทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาค้นคว้าวิธีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

 

เมื่อมีการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อให้ประชาชนมาจับไปบริโภคแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระดำริไปถึงเรื่องการบริหารจัดการการจับปลาของประชาชนด้วย เพราะพระองค์ทรงเกรงว่าหากปล่อยให้ประชาชนจับปลากันโดยไม่มีการบริหารจัดการที่ดี หรือมีความรู้ที่ถูกต้อง ก็อาจเกิดการเอาเปรียบกัน หรืออาจทำให้พันธุ์ปลาถูกทำลายได้

 

ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริการ และคณะเจ้าหน้าที่ของศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 ว่า

 

“ทรัพยากรด้านประมงจะต้องจัดเป็นระเบียบ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าปล่อยพันธุ์ปลาให้ดี หรือเลี้ยงปลาให้เติบโตดี สำคัญที่ว่าธรรมชาติเราปล่อยปลาลงไปแล้ว มันจะผสมพันธุ์หรือไม่ผสมพันธุ์ก็แล้วแต่ แต่ว่ามันก็เติบโตตามธรรมชาติใช้การได้ ปัญหาอยู่ที่ในด้านบริหารการจับปลา ไม่ใช่ในด้านการเลี้ยงปลา ในด้านการเลี้ยงปลา สถานีประมงต่าง ๆ ก็ทำแล้ว แต่ที่จะต้องทำคือ บริหารเกี่ยวกับการจับปลาให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง ๆ ” 

 

 

โครงการและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ที่กล่าวมา เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของพระปรีชาสามารถของพระองค์เท่านั้น ยังมีโครงการอีกมากมายที่พระองค์ทรงทำเพื่อเกษตรกรไทย มากเสียจนบางทีเราอาจลืมไปเสียด้วยซ้ำว่า พระองค์ไม่ได้ทรงศึกษาในวิชาด้านเกษตรกรรมมาโดยตรง หากด้วยความที่พระองค์ทรงเห็นถึงความสำคัญของการทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย เป็นอาชีพที่จะสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพอื่น ๆ ได้อีกมาก และเป็นอาชีพที่มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมีความตั้งพระราชหฤทัยที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้พระองค์ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะ และมุมานะที่จะศึกษาหาความรู้ในแขนงนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงความรู้พื้นฐานทั่ว ๆ ไป แต่พระองค์ทรงศึกษาอย่างจริงจัง และวางรากฐานสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างดี

 

โดยในการศึกษาวิจัยเรื่องต่าง ๆ พระองค์ไม่ทรงโปรดให้มีการศึกษาในเชิงวิชาการขั้นสูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่จะสามารถให้ประชาชนปฏิบัติได้จริงโดยไม่ยากเกินไปด้วย โครงการของพระองค์ล้วนแต่เป็นการนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิชาการต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับธรรมชาติของการทำการเกษตรในไทยทั้งสิ้น และเวลาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหา หรือทำอะไรสักอย่าง พระองค์จะไม่คิดแก้ปัญหาแค่ระยะเวลาสั้น ๆ แต่พระองค์จะทรงมองหาวิธีการที่จะช่วยให้การแก้ปัญหานั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนเสมอ จนทำให้เกษตรกรไทยหลายคนที่ได้ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระองค์ หรือได้ใช้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าหากเรามีความตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่างเราก็จะสามารถทำมันได้ ถึงจะไม่มีความรู้ในเรื่องๆ นั้นมาก่อนก็ไม่เป็นไร หากรู้จักที่จะแสวงหาความรู้ กล้าที่จะลงมือทำ และไม่หยุดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ สักวันสิ่งที่เราทำก็จะประสบความสำเร็จ ดังที่พระองค์ทรงเคยทำสำเร็จ แม้บางอย่างจะใช้เวลานาน แต่ก็คุ้มค่ากับการลงมือทำเพราะในที่สุดสิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็นประโยชน์ให้กับอีกคนมากมาย

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

web.ku.ac.th  fisheries.go.th  prd.go.th  moac.go.th

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ, เกษตรกร, ประมง



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม