“ ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้ ” เสียงดนตรีแนวแจ๊ส ที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน พร้อมกับเนื้อเพลงที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย ตรงตามจุดประสงค์ที่ผู้แต่งเพลงนี้ต้องการให้คนฟังได้มีกำลังใจเพื่อที่จะยิ้มสู้ไปกับปัญหา ซึ่งเพลงนี้มีชื่อว่า “ยิ้มสู้” หนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด
“ถ้าดนตรีคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอบความสุข ในหลวงท่านก็ทรงนำดนตรีมาใช้ได้อย่างประเสริฐที่สุดแล้ว”
พระมหากษัตริย์ คีตกวี และนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงใช้ดนตรีในการสร้างความสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่มีพระชนมายุ 13 พรรษา โดยเริ่มจากทฤษฎีพื้นฐาน ตั้งแต่การอ่านเขียนโน้ต การบรรเลงเพลงคลาสสิก และภายหลังเริ่มหันมาสนใจดนตรีแจ๊ส จึงทรงศึกษาอย่างจริงจังโดยทรงเป่าแซกโซโฟนไปพร้อมกับการเปิดแผ่นเสียง แนวดนตรีที่ท่านทรงโปรดมากที่สุดคือแนวแจ๊ส

ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงทั้งหมด 48 เพลง และทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต แม้กระทั่งการซ่อมเครื่องดนตรีพระองค์ก็ทรงมีความสามารถ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่พสกนิกรชาวไทยจะน้อมเกล้าถวายพระราชสมัญญานามให้ท่านเป็น “อัครศิลปิน” แม้กระทั่งนักดนตรีเอกของโลกบางคนยังกล่าวว่าถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์คงจะประสบความสำเร็จเป็นหัวหน้าวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว
JobThai ได้รวบรวมเรื่องราวการทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่สามารถปลุกสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับ นักดนตรีอาชีพ หรือคนที่กำลังหัดเล่นดนตรี ได้ลองอ่านเพื่อน้อมนำไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพได้อย่างดี
ขยันเรียนรู้ และหมั่นฝึกฝน
พระองค์ทรงเริ่มเรียนดนตรีโดยมีพระอาจารย์สอน ซึ่งช่วงแรกนั้นดนตรีที่เรียนส่วนใหญ่ยังเป็นดนตรีคลาสสิก ต่อมาภายหลังทรงเริ่มหันมาสนใจดนตรีแจ๊ส จึงทรงศึกษาอย่างจริงจัง ฝึกฝนด้วยตัวพระองค์เองโดยการเป่าแซกโซโฟนไปพร้อมกับการเปิดแผ่นเสียง ต่อมาพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในเครื่องดนตรีอื่น ๆ ด้วย เช่น กีต้าร์ เปียโน ขลุ่ย ไวโอลิน ซึ่งเครื่องดนตรีเหล่านี้ ทรงฝึกด้วยตัวพระองค์เอง อย่างกีต้าร์พระองค์ก็ทรงยืมจากพระสหายรุ่นพี่ที่โรงเรียนมาเรียนด้วยพระองค์เอง

ใช้ดนตรีกระชับสัมพันธไมตรี
นอกจากพระองค์จะทรงดนตรีเพื่อความเกษมสำราญแล้ว พระองค์ยังทรงใช้ดนตรีเป็นสิ่งเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วย โดยที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นการพบปะสร้างความสมานฉันท์กับนักศึกษาเป็นประจำยาวนานเกือบ 10 ปี (ภายหลังมีความจำเป็นต้องยกเลิกกิจกรรมนี้ไปเนื่องจากพระราชกรณียกิจที่เพิ่มขึ้น) และเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศก็ทรงใช้ดนตรีในการกระชับความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ อย่างเช่นครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ขณะเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ วอชิงตัน เพลส พระองค์ก็ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีที่มาเล่นถวายหน้าพระที่นั่ง หลังจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่นิวยอร์คและทรงได้เล่นดนตรีร่วมกับ Benny Goodman สุดยอดนักดนตรีแจ๊ส ที่ได้รับการขนานนามว่า King of Swing (ราชาแห่งเพลงสวิง) การทรงดนตรีในครั้งนั้นทำให้ชาวโลกประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งพระอัจฉริยภาพที่โดดเด่นคือการร่วมบรรเลงดนตรีกับวงอื่นได้โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัว โดยเฉพาะดนตรีแจ๊สที่พระองค์ทรงถนัดมากที่สุดสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องมีโน้ตเลย
ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น
นอกจากพระองค์จะทรงโปรดการเล่นดนตรีและฝึกซ้อมจนช่ำชองแล้ว พระองค์ยังทรงโปรดการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรอบตัวด้วย ในวันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2529 ขณะที่พระองค์เสด็จออกพระกำลังด้วยการวิ่งในตอนเย็น ซึ่งในคณะที่ตามเสด็จจะประกอบไปด้วย แพทย์ประจำพระองค์ ทหาร ตำรวจ และข้าราชบริพารอื่น ๆ พระองค์ทรงมีราชดำริต่อผู้ที่ตามเสด็จว่ามีใครสนใจเรียนดนตรีบ้างไหม ซึ่งในครั้งนั้นมีคนถวายตัวขอเป็นศิษย์ของพระองค์ถึง 30 คน ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานชื่อวงนี้ว่า “วงสหายพัฒนา” เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคณะตามเสด็จไปประกอบพระราชกรณียกิจพัฒนาประเทศ เวลาที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปตามที่ต่าง ๆ ก็สามารถเล่นด้วยกันได้ตลอด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่นั้นไม่มีความรู้ด้านดนตรีมาก่อนเลย พระองค์จึงทรงสอนให้ตั้งแต่พื้นฐาน ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย โดยใช้โน้ตเพลงที่พระองค์ทรงเขียนมาเป็นแบบเรียน แล้วจึงค่อยพัฒนาไปตามลำดับจนเป็นวงดนตรีที่สามารถบรรเลงเพลงได้
อนุรักษ์ไว้ซึ่งดนตรีไทย
ถึงแม้ว่าเส้นทางด้านดนตรีของพระองค์จะทรงเกี่ยวข้องไปทางดนตรีสากลเสียเยอะแต่เรื่องดนตรีไทยซึ่งเป็นศิลปะของชาติ พระองค์ก็ไม่เคยที่จะละเลย พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทย รักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้ เพื่อเป็นมาตราฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง รวมถึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม 1” เพื่อรวบรวมศิลปะดนตรีไทยไว้ ทั้งยังทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิธีครอบประธานครูโขนละครและต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของวงการดนตรีและนาฎยศิลป์ไทย ซึ่งในเวลานั้นพิธีกรรมเหล่านั้นกำลังจะสูญหายไป ที่สำคัญพระองค์ยังทรงปลูกฝังการเล่นดนตรีไทยให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วย

ดนตรีเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา และต้องเล่นด้วยความสุข
ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ไม่ว่าพระองค์จะทรงงานหนักขนาดไหน ก็จะทรงหาเวลาทรงดนตรีได้ตลอด พระสหายทางดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ เคยเล่าไว้ว่า ปกติแล้วพระองค์จะเสด็จมาทรงดนตรีด้วยกันทุกเย็นวันศุกร์ มีครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงงานหนักมากจนทุกคนคิดว่าพระองค์คงไม่สามารถมาได้ แต่ปรากฏว่าทรงเสด็จมาถึงในช่วงดึกและเริ่มซ้อมดนตรีกันโดยที่ทุกคนไม่รู้สึกเลยว่าท่านทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เพราะพระพักตร์ของพระองค์นั้นเปี่ยมไปด้วยความเกษมสำราญ และยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” เป็นเหตุการณ์ขณะที่วงสหายพัฒนากำลังเล่นเพลง สรรเสริญพระบารมีอยู่ พระองค์เสด็จมาถึงพอดี เมื่อเสด็จลงมาจากรถพระที่นั่งก็จะทรงเป่าแตร ทรัมเป็ต ที่ถือติดพระหัตถ์มาด้วยร่วมบรรเลงกับวงสหายพัฒนาจนจบเพลง และทรงนำเป่าเพลงต่อไปตามพระราชอัธยาศัย ก่อนที่จะทรงเริ่มออกกำลังกาย
ใช้ดนตรีสร้างความสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักดนตรีโดยเฉพาะเรื่องการใช้ดนตรีสร้างความสุขให้กับคนอื่น มีหลายบทเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์ขึ้นมาเพื่อ สร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ รวมถึงสร้างความสุขให้แก่ประชาชนชาวไทย อย่างเรื่องการนิพนธ์เพลง พรปีใหม่ พระองค์ท่านทรงมีความประสงค์ที่จะให้พรแก่ประชาชนชาวไทย เพลงเราสู้ เพื่อให้กำลังใจแก่ตำรวจทหาร ตระเวนชายแดน หรือเพลง เมนูไข่ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากที่พระองค์ทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงโปรดอาหารเมนูไข่ ท่านจึงทรงนิพนธ์เพลง เมนูไข่ ขึ้นเพื่อพระราชทานเป็น ของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา แก่พระพี่นาง ซึ่งเพลงนี้ยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงสุดท้ายของพระองค์ด้วย
และอีกพระมหากรุณาธิคุณที่สำคัญ คือการที่พระองค์ทรงพระราชทานเพลง ยิ้มสู้ ให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์และสมเด็จพระราชินีทรงเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกำลังใจแก่คนตาบอดเป็นประจำ หลายครั้งที่พระองค์ทรงดนตรีร่วมกับวงคนตาบอด และทรงเมตตาสอนเทคนิคการเล่นดนตรีให้ด้วย ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นำมาซึ่งความสุขและความปลื้มปิติมากมายแก่คณะครูและนักเรียน
ดนตรีเป็นเสมือนภาษาสากล ที่สามารถสื่อสารอารมณ์ความสุนทรีย์ถึงผู้ฟังได้ โดยที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องเข้าใจถึงภาษา แต่ก็รับรู้ได้ถึงความไพเราะที่ถูกส่งผ่านทางเสียงเพลง จนก่อให้เกิดความสุขใจแก่ผู้ฟัง
ถ้าคุณเป็นนักดนตรีคนหนึ่งมันก็คงจะไม่ผิดถ้าคุณจะเล่นดนตรีเพื่อความสนุกส่วนตน แต่เมื่อใดก็ตามที่ดนตรีของคุณสามารถสร้างความสุขให้กับผู้คนรอบตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้คนหลงผิดหันกลับมาทำดี คนที่กำลังเบื่อหน่ายให้เกิดความสนุกสนาน คนที่กำลังท้อแท้ให้กลับมา ยิ้มสู้ กับปัญหาได้ เมื่อนั้นดนตรีของคุณจึงจะเป็นดนตรีที่สมบูรณ์สุด ดุจดั่งพระราชจริยวัตรทางดนตรีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประพฤติให้พวกเราเห็นเป็นแบบอย่าง ถึงแม้ว่าวันนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว แต่ภาพของพระองค์ที่ทรงดนตรีอย่างมีความสุขจะไม่มีวันลบเลือนหายไป รวมถึงท่วงทำนองอันไพเราะที่พระองค์ร้อยเรียงขึ้นก็จะยังก้องกังวานอยู่ในใจของพวกเราชาวไทยตลอดไป
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊ส
ก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา
สำหรับข้าพเจ้า... ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท
เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสม ตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ในปี 2503 พระองค์ได้พระราชทานให้สัมภาษณ์แก่วิทยุเสียงอเมริกา
บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่าง ๆ
บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง
ที่มา:
manager.co.th oknation.nationtv.tv glorytheking.wordpress.com royalmusic.tkpark.or.th/genius.htm human.ubru.ac.th matichonweekly.com