เวลาที่พูดถึงอาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย หลายคนมักจะนึกถึงอาชีพหมอ พยาบาล หมอฟัน หรือเภสัชกร แต่รู้หรือไม่ว่าในโลกของสายสุขภาพและการแพทย์ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกมากมาย และคณะสหเวชศาสตร์ก็เป็นคณะที่บ่มเพาะคนทำงานสายนี้ให้มีเพิ่มขึ้นมากขึ้น วันนี้ JobThai เลยจะพาทุกคนไปความรู้จักกับคณะสหเวชศาสตร์ให้มากขึ้น พร้อมพาไปดูเส้นทางอาชีพของคนที่เรียนสายนี้อีกด้วย
คณะสหเวชศาสตร์เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับการดูแล ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพของคนเรา โดยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยคนที่เรียนคณะนี้จะได้ฝึกใช้เครื่องมือเฉพาะทางและมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
คณะสหเวชศาสตร์ มีการแบ่งสาขาวิชาแยกย่อยออกมาอย่างหลากหลายแล้วแต่ลักษณะของสื่อที่ผู้เรียนสนใจ และบางมหาวิทยาลัยก็จะมีหลักสูตรที่ใกล้เคียงกัน ถูกเรียกชื่อคณะแตกต่างกันออกไป และมีการแบ่งสาขาที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
สาขาเทคนิคการแพทย์
สาขาเทคนิคการแพทย์ เป็นสาขาที่จะสอนเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ หรือพูดง่าย ๆ ว่าในห้องแล็บนี่แหละ ซึ่งเนื้อหาการเรียนก็จะลงลึกไปถึงวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ วิชาเฉพาะทางเทคนิคการแพทย์ รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องมือ ฝึกการวิเคราะห์และแปลผลการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค ติดตามการรักษา และป้องกันโรค โดยคนที่เรียนจบด้านนี้สามารถกลายเป็นนักเทคนิคการแพทย์ หรืออาชีพที่หลาย ๆ คนให้ชื่อเล่นไว้ว่า “หมอแล็บ” นั่นเอง และนอกจากนี้คำว่า “เทคนิคการแพทย์” สำหรับบางมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้เป็นเพียงชื่อสาขาวิชา แต่อาจถูกเอามาตั้งเป็น “คณะเทคนิคการแพทย์” ไปเลยก็ได้
อาชีพหลังเรียนจบ: นักเทคนิคการแพทย์, เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, นักวิทยาศาสตร์การแพทย์, Product Specialist ด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์
สาขาวิชากายภาพบำบัด
สาขาวิชากายภาพบำบัด เป็นสาขาที่เน้นเรียนเกี่ยวกับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูร่างกาย บรรเทาอาการปวด และส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย โดยผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องกายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, ประสาทกายวิภาคศาสตร์ ไปจนถึงหลักวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ฯลฯ โดยกายภาพบำบัดก็มีการแตกแขนงออกมามากมาย ทั้งกายภาพบำบัดในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัดในระบบประสาท กายภาพบำบัดในระบบทางเดินหายใจและไหลเวียนโลหิต กายภาพบำบัดในเด็ก กายภาพบำบัดบูรณาการ ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักกายภาพบำบัด, ผู้ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย, นักกายภาพบำบัดด้านกีฬา, นักวิชาการ, อาจารย์, Product Specialist ด้านอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดและอุปกรณ์ทางการแพทย์
สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร เป็นสาขาที่สอนเกี่ยวกับหลักการดูแลสุขภาพผ่านการจัดการอาหารและโภชนาการ หลัก ๆ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ โดยผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับ สารอาหารแต่ละชนิด, โภชนาการในวัยต่าง ๆ, การวางแผนมื้ออาหารให้เหมาะกับวัย/โรค, ความปลอดภัยในอาหาร, โภชนบำบัดและการกำหนดอาหาร ฯลฯ
เราจะเคยได้ยินสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร อย่าง Food Science และ Food Technology แต่สาขาวิชาเหล่านี้แตกต่างกับสาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร (Nutrition and Dietetics) ตรงที่
- สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science)
เน้นการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก โดยเรียนเกี่ยวกับ องค์ประกอบทางเคมีของอาหาร จุลชีววิทยาอาหาร (เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย) การเก็บรักษาอาหาร การพัฒนาสูตรอาหารใหม่ การวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร
- สาขาเทคโนโลยีอาหาร (Food Technology)
เน้นการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม โดยเรียนเกี่ยวกับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตอาหาร การบรรจุภัณฑ์ ระบบควบคุมคุณภาพในสายการผลิต การออกแบบโรงงานอาหาร มาตรฐานอุตสาหกรรม
อาชีพหลังเรียนจบ: นักกำหนดอาหาร, นักโภชนาการ, ที่ปรึกษาด้านอาหารและสุขภาพ, เชฟ
สาขารังสีเทคนิค
สาขารังสีเทคนิคนั้น เน้นสอนให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้รังสีทางการแพทย์ โดยเป็นการใช้รังสีกับมนุษย์กับผู้ป่วย ทั้งในด้านการวินิจฉัย รักษาโรค และการวิจัย โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้เฉพาะทางของนักรังสีเทคนิค การใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยา การป้องกันอันตรายจากรังสี ไปจนถึงเรื่องรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักรังสีเทคนิค, เจ้าหน้าที่เอกซเรย์, เจ้าหน้าที่ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
สาขาทัศนมาตรศาสตร์
สาขาทัศนมาตรศาสตร์เป็นสาขาวิชาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ “สายตา” โดยผู้เรียนจะต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และฟิสิกส์ด้านแสง-เลนส์สายตา เพื่อใช้ในการตรวจ วินิจฉัย และแก้ไขปัญหาของระบบการมองเห็น โดยคณะนี้เป็นคณะที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีหลักสูตรเปิดสอนในไม่กี่มหาวิทยาลัย และอาจมีชื่อคณะ สาขา และหลักสูตรที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางที่เป็นสาขาที่อยู่ในคณะสหเวชศาสตร์ แต่บางที่ก็อยู่ในคณะทัศนมาตรศาสตร์ไปเลย
อาชีพหลังเรียนจบ: นักทัศนมาตร, ผู้ตรวจวัดสายตาและประกอบแว่น, ที่ปรึกษาด้านสุขภาพตา, นักวิชาการด้านเลนส์สายตาและเลนส์สัมผัส
สาขาเทคโนโลยีหัวใจ และ ทรวงอก
สาขาเทคโนโลยีหัวใจ และ ทรวงอก เป็นสาขาที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวใจและทรวงอก ตั้งแต่การบ่มเพราะความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบหายใจ
สอนให้รู้จักการแปลผลการตรวจโรคหัวใจและทรวงอกเบื้องต้นจากเครื่องมือ การใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการทำหัตถการรักษาโรคหัวใจ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก, เจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG Technician), เจ้าหน้าที่ห้องสวนหัวใจ (Cardiac Cath Lab Technician)
คนที่เรียนจบจากคณะสหเวชศาสตร์จะมีความรู้ที่ค่อนข้างเฉพาะด้านในสาขาวิชาที่ตัวเองเลือกเรียนมา ซึ่งก็มีบริษัทน่าสนใจมากมายที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่จากคณะนี้
นักเทคนิคการแพทย์
นักเทคนิคการแพทย์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “หมอแล็บ” เป็นอาชีพที่มีหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างชีวภาพต่าง ๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เสมหะ และสารคัดหลั่ง เพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลตรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด โดยงานนี้เป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงและได้ใช้เวลาการทำงานอยู่ในห้องแล็บ ซึ่งนอกจากการทำงานในโรงพยาบาลแล้ว นักเทคนิคการแพทย์ยังมีบทบาทในงานธนาคารเลือด การจัดหาโลหิต การควบคุมคุณภาพในห้องแล็บ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ อาชีพนี้จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในวงการการแพทย์เลยทีเดียว
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน นักเทคนิคการแพทย์ ใน JobThai
นักกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัดคือคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวจากปัญหาทางระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท หัวใจและปอด กล้ามเนื้อและกระดูก หรือพัฒนาการ โดยจะต้องเป็นคนที่ทำการประเมิน วิเคราะห์ และวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 26,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน นักกายภาพบำบัด ใน JobThai
Personal Trainer
คนที่รักสุขภาพและการดูแลตัวเอง สามารถเลือกทำงานเป็น Personal Trainer หรือเทรนเนอร์ที่คอยดูแลเรื่องการออกกำลังกายได้ โดยเฉพาะคนที่จบจากสาขาวิชาที่ได้เรียนเกี่ยวกับสรีรวิทยา มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและการกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย โดยหน้าที่หลัก ๆ ของ Personal Trainer คือคอยวางแผนโปรแกรมการออกกำลังกาย ออกแบบตารางการฝึกที่เหมาะสมกับเป้าหมาย เช่น การลดน้ำหนัก การเพิ่มกล้ามเนื้อ คอย ให้คำแนะนำเรื่องอาหารการกินที่เหมาะสมกับแผนการออกกำลังกาย และ สอนท่าออกกำลังกายที่ถูกต้องและปลอดภัยให้กับลูกค้า โดยอาชีพนอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว รายได้ของอาชีพนี้ยังมีเพิ่มเติมมาจากค่า Commission อีกด้วย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 20,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Personal Trainer ใน JobThai
นักโภชนาการ
“อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ซึ่งก็มีอาชีพจากสายสหเวชสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหาร นั่นก็คือคืองานนักโภชนาการ ซึ่งก็เป็นคนที่มีความรู้เรื่องพื้นฐานอาหารทั่วไป การปรุงอาหารให้เหมาะสมดีต่อสุขภาพ เข้าใจคุณลักษณะของอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดี สามารถวิเคราะห์วิจัยคุณค่าทางอาหารได้ คอยกำหนดรายการอาหารที่เหมาะสม ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เน้นการทำงานในชุมชนหรือดูแลเรื่องโภชนาการให้กับกลุ่มคน เช่น ดูแลเรื่องอาหารให้กับผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาล
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 22,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน นักโภชนาการ ใน JobThai
นักรังสีเทคนิค
นักรังสีเทคนิค หรือ นักรังสีการแพทย์ คือคนที่ให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี ทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพ และการรักษาโรคด้วยการฉายรังสี ซึ่งในโรงพยาบาล เราจะพบว่างานของนักรังสีเทคนิคมีอยู่ 3 สายงานหลัก ๆ ได้แก่
- รังสีวินิจฉัย ซึ่งก็คือการนำเอาเครื่องมือทางรังสีมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์ทั่วไป การตรวจพิเศษทางรังสี การเอกซเรย์เต้านม
- รังสีร่วมรักษา คือการนำรังสีมาใช้เพื่อการรักษาโรค ทั้งโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ
- เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นการนำสารเภสัชรังสีมาใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การตรวจมะเร็งที่ลามไปยังกระดูก ตรวจการทำงานของหัวใจ หรือ การทำงานของไต
โดยรายได้ของคนทำงานอาชีพนี้อาจมาจากหลาย ๆ ส่วนรวมกัน เช่น เงินเดือน ค่าใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ค่าประสบการณ์ ฯลฯ
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน นักรังสีเทคนิค ใน JobThai
Product Specialist
Product Specialist หรือ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ คือคนที่มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าของบริษัท โดยเฉพาะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือการแพทย์ บริษัทก็จะต้องการคนที่มีพื้นฐานด้านนี้ให้มาทำหน้าที่นี้ โดยนอกจาก Product Specialist จะต้องศึกษาเกี่ยวกับสินค้าแล้ว ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น การจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้กับทั้งคนในและคนนอกองค์กร ศึกษาค้นคว้าลพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จัดทำและเสนอแผนกลยุทธ์การตลาด ไปจนถึงการศึกษาและดำเนินการจดทะเบียนและการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าเครื่องมือแพทย์
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Product Specialist ใน JobThai
นักทัศนมาตร
นักทัศนมาตร คือคนที่ทำหน้าที่ดูแลด้านระบบสายตา เช่น การแก้ไขปัญหาสายตาสั้น คัดกรองโรคเกี่ยวกับดวงตาเบื้องต้น ตรวจกล้ามเนื้อตา ฝึกกล้ามเนื้อตา โดยหลายคนอาจสับสนว่าอาชีพนี้คืออาชีพเดียวกับ “จักษุแพทย์” รึเปล่า ซึ่งคำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะนักทัศนมาตรคือคนที่รักษาโรคที่เกี่ยวข้องทางกายภาพของตาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด แต่เราอาจพบเห็นนักทัศนมาตรทำงานร่วมกับ จักษุแพทย์ ในโรงพยาบาลบ้างในบางครั้ง
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน นักทัศนมาตร ใน JobThai
คณะสหเวชศาสตร์เป็นอีกหนึ่งคณะที่เหมาะกับคนที่สนใจทำงานในสายสุขภาพ แต่ไม่ได้อยากเรียนหมอหรือพยาบาล โดยมีการแบ่งสาขาวิชามากมาย เช่น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด โภชนาการ รังสีเทคนิค ฯลฯ โดยผู้เรียนจะได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเงินเดือนเริ่มต้นของนักศึกษาที่จบใหม่ในสายนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ทั้งทักษะที่มี ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ
ที่มา:
dek-d.com, webythebrain.com, ahs.up.ac.th, pt.ahs.chula.ac.th, trueplookpanya.com, admissionpremium.com, rsu.ac.th, pnkg-recoverycenter.com, trueplookpanya.com, trueplookpanya.com, ru.ac.th, u-review.in.th, dek-d.com