คณะบริหารธุรกิจเป็นอีกหนึ่งคณะยอดฮิตที่คนชอบตัวเลขและการคำนวณเลือกเรียน เพราะมีหลากหลายสาขาและจบมาสามารถทำงานได้หลายอาชีพ สำหรับคนที่สงสัยและสนใจ อยากรู้ว่าแต่ละสาขาต่างกันยังไง เรียนจบมามีอาชีพอะไรรองรับบ้าง และเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่เท่าไหร่ JobThai จะพาทุกคนไปหาคำตอบ
คณะบริหารธุรกิจ (Business Administration) คือ คณะที่เรียนเกี่ยวกับการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจในทุก ๆ ด้าน โดยแตกแขนงสาขาออกมาหลากหลาย เช่น บัญชี การเงิน การจัดการ การตลาด ฯลฯ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาได้ตามความสนใจ
แต่ไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาวิชาไหน ก็จะได้ศึกษาพื้นฐานการบริหารธุรกิจตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่ว่าจะเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ หลักการบริหารจัดการทั่วไป หลักการตลาดเบื้องต้น พื้นฐานด้านบัญชีและสถิติ กฎหมายเกี่ยวกับการเงินและภาษีธุรกิจ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจและบริหารจัดการองค์กร

คณะบริหารธุรกิจมีสาขาวิชาให้เลือกเรียนมากมาย แตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย มาดูสาขาวิชาหลักของคณะนี้กัน
สาขาการจัดการ คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจแบบองค์รวม ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การวางโครงสร้างธุรกิจ การวิเคราะห์ระบบธุรกิจ การเจรจาทางธุรกิจ การจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารเงินและงบประมาณองค์กร การควบคุมการผลิต ไปจนถึงทักษะต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ด้วยเนื้อหาที่ครบครันรอบด้าน สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้หลากหลาย จึงได้รับความนิยมสูง
อาชีพหลังเรียนจบ: ผู้ประกอบการ, นักธุรกิจ, ที่ปรึกษาองค์กร, นักพัฒนาธุรกิจ, ผู้จัดการแผนกบริหารและการตลาด, นักวิเคราะห์นโยบายและวางแผนกลยุทธ์, เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล
สาขาบัญชี คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับการทำบัญชีรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่บัญชีการเงินทั่วไป บัญชีต้นทุน บัญชีบริหาร ไปจนถึงบัญชีภาษีอากร การวิเคราะห์งบการเงินและประเมินมูลค่าทางธุรกิจ การสอบบัญชี การตรวจสอบภายในองค์กร การออกแบบระบบสารสนเทศทางการบัญชี หลักสถิติ และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี
สำหรับผู้ที่เรียนสนใจเรียนสาขานี้ต้องเช็กหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยให้ดีว่าได้วุฒิเป็นบัญชีบัณฑิต (บช.บ.) หรือบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ด้านการบัญชี เนื่องจากสายงานบัญชีบางอาชีพมีข้อกำหนดว่าต้องเรียนจบบัญชีบัณฑิตมาเท่านั้น
อาชีพหลังเรียนจบ: นักบัญชี, ผู้ตรวจสอบบัญชี, ผู้ตรวจสอบภายใน, นักบัญชีภาษีอากร, ผู้สอบบัญชีภาษีอากร, ที่ปรึกษาทางการเงิน
สาขาการตลาด คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับการวางแผน วิเคราะห์ และสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยจะได้ศึกษาตั้งแต่แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับการตลาด การวิจัยตลาดและสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค การสื่อสารทางการตลาด การโฆษณาและส่งเสริมการขาย การจัดการช่องทางการขาย เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ อาศัยการทำการตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบ สาขาการตลาดจึงเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน
อาชีพหลังเรียนจบ: เจ้าหน้าที่การตลาด, เจ้าหน้าที่การตลาดออนไลน์, นักวิจัยตลาด, เจ้าหน้าที่สื่อสารทางการตลาด, นักพัฒนาธุรกิจ, นักโฆษณา, นักสร้างสรรค์คอนเทนต์
สาขาการเงิน คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับหลักการ นโยบาย และทฤษฎีทางการเงิน การวางแผนงบประมาณ การจัดการสินทรัพย์ หลักการลงทุน การวิเคราะห์สินเชื่อ การบริหารและจัดการความเสี่ยง ตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงการเงินระหว่างประเทศ
อาชีพหลังเรียนจบ: เจ้าหน้าที่การเงิน, เจ้าหน้าที่ธนาคาร, เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ, นักวิจัยการเงินและการลงทุน, นักวิเคราะห์หลักทรัพย์, ผู้จัดการกองทุน, ที่ปรึกษาด้านการเงิน
สาขาโลจิสติกส์ คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับหลักการจัดการทางโลจิสติกส์ กระบวนการขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้า ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ การบริหารต้นทุนและจัดการความเสี่ยงในการขนส่ง การออกแบบและจัดการคลังสินค้า เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ทางด้านโลจิสติกส์ การควบคุมและจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การวางแผนผลิต ควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน การขนส่ง ไปจนถึงการส่งมอบให้กับลูกค้า
อาชีพหลังเรียนจบ: เจ้าหน้าที่คลังสินค้า, เจ้าหน้าที่นำเข้า-ส่งออก, เจ้าหน้าที่ประสานงานขนส่ง, เจ้าหน้าที่จัดซื้อ, นักวางแผนการผลิต, ผู้จัดการซัพพลายเชน
สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ คือ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ กฎหมายด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษีนำเข้า-ส่งออก การบริหารทรัพยากรต่างประเทศ การเจรจาธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศและการสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางการค้า รวมถึงการศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมในการบริโภคของแต่ละประเทศ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักธุรกิจ, เจ้าหน้าที่นำเข้า-ส่งออก, เจ้าหน้าที่ประจำองค์กรระหว่างประเทศ, นักวิเคราะห์การลงทุนระหว่างประเทศ, ที่ปรึกษาทางธุรกิจระหว่างประเทศ
นอกจากสาขาเหล่านี้แล้ว คณะบริหารธุรกิจยังมีสาขาอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก โดยบางมหาวิทยาลัยอาจมีหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวและการโรงแรม การจัดการทรัพยากรมนุษย์ แยกออกมาเป็นสาขาเฉพาะ หรือบางที่ก็แยกออกมาเป็นคณะ โดยชื่อสาขาหรือคณะของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจแตกต่างกัน แต่เนื้อหาวิชาเป็นเรื่องเดียวกัน แนะนำให้คนที่สนใจลองศึกษารายละเอียดหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยดูจะดีที่สุด

สำหรับคนที่เรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจ สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามหลักสูตรและสาขาที่เลือกศึกษาอย่างที่ได้แนะนำไปข้างต้น JobThai จะพาไปทำความรู้จักสายงานต่าง ๆ สำหรับคนจบคณะนี้ และดูเงินเดือนเริ่มต้นของแต่ละสายงานเพื่อประกอบการตัดสินใจ
งานการตลาด (Marketing) คือ งานศึกษาและทำความเข้าใจตลาด วางแผนพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค กำหนดราคา คิดกลยุทธ์ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย นำเสนอแบรนด์และผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว
สายงานการตลาดสามารถแบ่งย่อยออกมาอีกได้หลายสาย ไม่ว่าจะเป็นงานการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing), งานสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ทางการตลาด (PR Marketing / Marketing Communication), งานพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์เพื่อการตลาด (Brand / Product Marketing), งานสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อการตลาด (Content Marketing), งานวิจัยตลาด (Market Research)
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 34,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานการตลาดใน JobThai
งานบัญชี คือ งานบันทึกข้อมูลและจัดทำรายงานทางการเงินขององค์กร ครอบคลุมตั้งแต่การบันทึกรายการบัญชี ไม่ว่าจะเป็นรายรับ รายจ่าย หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ วิเคราะห์กิจกรรมทางการเงินทั้งหมดของบริษัทเพื่อคุมงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดูแลเรื่องการยื่นภาษีของบริษัท จัดทำงบการเงินและรายงานภาษี ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยของบัญชี และให้คำปรึกษาด้านการเงินกับองค์กร
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานบัญชีใน JobThai
งานตรวจสอบบัญชี / งานตรวจสอบภายใน ที่เรามักคุ้นหูกันในชื่อ “งานออดิท (Audit)” คือ งานตรวจสอบงบการเงินและการทำงานของแผนกต่าง ๆ ในองค์กร โดยงานตรวจสอบบัญชี (External Audit) จะตรวจสอบและประเมินข้อมูลทางการเงินขององค์กรว่าเป็นข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายและหลักการบัญชี ส่วนงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit) จะตรวจสอบระบบการทำงานและทดสอบประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานตรวจสอบบัญชีใน JobThai
งานการเงิน / งานธนาคาร คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทางการเงินเช่นเดียวกัน แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยงานการเงิน (Finance) จะมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนของบุคคลหรือองค์กร เช่น การวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านการเงินหรือการลงทุน การประเมินและบริหารความเสี่ยง การจัดการหนี้สิน
ส่วนงานธนาคาร (Banking) จะมุ่งเน้นไปที่การให้บริการทางการเงินกับลูกค้าทั้งบุคคลและธุรกิจ ซึ่งขอบข่ายการให้บริการจะแคบกว่างานการเงิน เพราะเน้นที่การดำเนินงานของธนาคารเท่านั้น เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร การโอนเงินระหว่างประเทศ การประเมินเครดิตและความสามารถในการชำระหนี้เพื่อให้สินเชื่อกับลูกค้า
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานการเงิน/ธนาคารใน JobThai
งานพัฒนาธุรกิจ หรืองาน Business Development (BD) คือ งานวิเคราะห์และมองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้น เพิ่มรายได้ กำไร และส่วนแบ่งทางการตลาด แม้หน้าที่อาจคล้ายกับงานการตลาด แต่งาน Business Development จะมีสโคปที่กว้างกว่า เน้นการพัฒนาธุรกิจในองค์รวม โดยต้องศึกษาอุตสาหกรรมและแนวโน้มของตลาดเพื่อหาช่องทางในการขยายธุรกิจ มองหาพาร์ทเนอร์ใหม่ ๆ สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเพื่อสร้างโอกาสในการร่วมมือ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการต่าง ๆ ว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนไหม คิดกลยุทธ์ในการดำเนินงานและเจรจากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานพัฒนาธุรกิจใน JobThai
งาน Supply Chain / งานโลจิสติกส์ คือ งานดูแลจัดการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต จัดเก็บ และขนส่งสินค้าหรือบริการไปถึงมือลูกค้า โดยงานโลจิสติกส์เป็นงานที่แตกย่อยออกมาจากงาน Supply Chain มุ่งเน้นไปที่การวางแผน ประเมินความเสี่ยงในการขนส่ง และดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้า ส่วนงาน Supply Chain จะครอบคลุมกระบวนการทั้งหมดในโซ่อุปทาน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต จัดหาวัตถุดิบในการผลิตและบริหารสต็อก ผลิตสินค้าให้ได้ตามแผน จัดเก็บสินค้า ตลอดจนขนส่งและกระจายสินค้าไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภค
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะด้านภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานขนส่งและคลังสินค้าใน JobThai
คณะบริหารธุรกิจ (Business Administration) คือคณะที่เรียนเกี่ยวกับการวางแผนและบริหารจัดการธุรกิจในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจและบริหารจัดการองค์กร คณะบริหารธุรกิจมีสาขาให้เลือกเรียนหลากหลาย แตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยสาขาหลัก ๆ ที่เปิดสอน ได้แก่ สาขาการจัดการ สาขาบัญชี สาขาการตลาด สาขาการเงิน สาขาโลจิสติกส์ และสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ
ที่มา:
trueplookpanya.com, admissionpremium.com, smartmathpro.com, accounting-journey.co.th, sumipol.com