AI แย่งงานคนจริงไหม? เผยผลสำรวจและอัปเดตเทรนด์การใช้ AI ของคนทำงานปี 2025

 

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ปัจจุบัน AI กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญกับการทำงาน แต่ด้วยบทบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนทำงานอาจกลัวว่าตัวเองจะถูกเทคโนโลยี AI แทนที่ในอนาคต JobThai จึงได้ทำแบบสำรวจ "การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้งานภายในองค์กรและการทำงาน" โดยสำรวจจากคนทำงานกว่า 2,600 คน และ HR กว่า 600 คน ในเดือนพฤษภาคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อไขข้อข้องใจว่า AI จะมาแย่งงานเราจริงไหม? คนทำงานและองค์กรมีมุมมองยังไงกับการใช้งาน AI กันแน่? ไปดูกันเลย!

 

ภาพรวมการใช้งาน AI ของคนทำงานและองค์กรในปัจจุบัน

จากสถติที่ JobThai ได้สำรวจเกี่ยวกับการใช้งาน AI พบว่าทั้งองค์กรและคนทำงานหันมาใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงานมากขึ้น โดย 49.42% ขององค์กรในปัจจุบันนำ AI เข้ามาใช้ในการดำเนินงานแล้ว และ 63.93% ของคนทำงานเคยใช้ AI ช่วยในการทำงาน ซึ่งหากแบ่งสัดส่วนตามช่วงวัย กลุ่ม Gen Z จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราคนที่เคยใช้งาน AI สูงที่สุด (67.51%) รองลงมาเป็น Gen Y (64.16%) และ Gen X (55.11%)

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งองค์กรและคนทำงานหันมาใช้ AI คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรือกินเวลา โดยประเภทงานที่มีการนำ AI เข้ามาช่วยมากที่สุด ได้แก่ งานพื้นฐานทั่วไปอย่างการค้นคว้าข้อมูล เขียนข้อความ สรุปเนื้อหา และงานสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์ ส่วน AI ที่คนนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ChatGPT, Gemini และ Canva AI

 

TOP 5 ปัจจัยที่องค์กรนำ AI เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน

  • อันดับ 1 เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

  • อันดับ 2 ลดภาระงานที่กินเวลาหรืองานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ของพนักงาน

  • อันดับ 3 เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจ

  • อันดับ 4 สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

  • อันดับ 5 ปรับปรุงคุณภาพผลงาน/สินค้า

 

TOP 5 ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานใช้ AI ในการทำงาน

  • อันดับ 1 อยากเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน

  • อันดับ 2 อยากทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

  • อันดับ 3 อยากลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ

  • อันดับ 4 มีเครื่องมือ AI ที่เข้าถึงง่ายหรือใช้ฟรี

  • อันดับ 5 รู้สึกว่าต้องปรับตัวตามโลก

 

TOP 5 ประเภทงานที่องค์กรนำ AI เข้ามาช่วยในการทำงานมากที่สุด

  • อันดับ 1 งานพื้นฐานทั่วไป เช่น ร่างอีเมล เขียนข้อความ ค้นคว้าข้อมูล สรุปเนื้อหา จัดทำรายงานอัตโนมัติ

  • อันดับ 2 งานสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์

  • อันดับ 3 งานบริหารจัดการงานและโปรเจกต์ภายในองค์กร

  • อันดับ 4 งานวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์/พยากรณ์จากข้อมูล

  • อันดับ 5 งานบริการลูกค้า เช่น Chatbot ตอบคำถาม/รับเรื่องร้องเรียน

 

TOP 5 ประเภทงานที่คนทำงานใช้ AI ช่วยมากที่สุด

  • อันดับ 1 ค้นคว้าข้อมูล

  • อันดับ 2 เขียนและปรับปรุงเนื้อหา เช่น บทความ แคปชัน งานเขียนอื่น ๆ

  • อันดับ 3 งานสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์

  • อันดับ 4 สรุปและวิเคราะห์เอกสาร/การประชุม

  • อันดับ 5 วิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์/พยากรณ์แนวโน้มจากข้อมูล

 

ผลสำรวจการใช้งาน AI จาก JobThai ปี 2025

 

ความพึงพอใจและปัญหาที่พบจากการใช้งาน AI

ในกลุ่มที่นำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานแล้ว พบว่า 87.88% ขององค์กรพึงพอใจกับผลลัพธ์ของการใช้งาน AI และ 99.34% ของคนทำงานมองว่า AI มีส่วนช่วยในการทำงาน ทั้งสองฝั่งเห็นตรงกันว่า AI นั้นช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ

 

แม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นที่พึงพอใจ แต่การนำ AI มาใช้ในการทำงานก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่แม่นยำของผลลัพธ์ ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล และการขาดความรู้และทักษะในการใช้งาน

 

TOP 5 ปัญหาที่พบจากการใช้งาน AI ในมุมมองขององค์กร

  • อันดับ 1 พนักงานขาดความรู้ความเข้าใจ/ทักษะในการใช้งาน AI

  • อันดับ 2 ความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

  • อันดับ 3 ปัญหาด้านความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

  • อันดับ 4 การนำ AI เข้ามาปรับใช้/ประยุกต์กับวิธีดำเนินงานเดิมหรือระบบที่มีอยู่

  • อันดับ 5 ค่าใช้จ่ายสูง

 

TOP 5 ปัญหาที่พบจากการใช้งาน AI ในมุมมองของคนทำงาน

  • อันดับ 1 ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูล

  • อันดับ 2 ความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

  • อันดับ 3 ความกังวลเรื่องจริยธรรม/การละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI

  • อันดับ 4 ขาดการสนับสนุนหรือการฝึกอบรมในการใช้งาน AI

  • อันดับ 5 ค่าใช้จ่ายสูง

 

ในฝั่งของคนทำงาน เมื่อแบ่งผลสำรวจตามช่วงวัยจะพบข้อแตกต่างด้านมุมมองต่อสิ่งที่เป็นปัญหาเล็กน้อย กลุ่มคนทำงาน Gen X และ Gen Y มองว่าประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในการใช้ AI ในขณะที่กลุ่ม Gen Z กังวลกับความไม่แม่นยำของผลลัพธ์มากที่สุด

 

TOP 3 ปัญหาในการใช้งาน AI ของคนทำงาน Gen X

  • อันดับ 1 ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูล

  • อันดับ 2 ขาดการสนับสนุนหรือการฝึกอบรมในการใช้งาน AI

  • อันดับ 3 ค่าใช้จ่ายสูง

 

TOP 3 ปัญหาในการใช้งาน AI ของคนทำงาน Gen Y

  • อันดับ 1 ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูล

  • อันดับ 2 ความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

  • อันดับ 3 ความกังวลเรื่องจริยธรรม/การละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI

 

TOP 3 ปัญหาในการใช้งาน AI ของคนทำงาน Gen Z

  • อันดับ 1 ความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

  • อันดับ 2 ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูล

  • อันดับ 3 ความกังวลเรื่องจริยธรรม/การละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI

 

ทำไมองค์กรและคนทำงานบางส่วนยังไม่ใช้ AI?

ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ใช้ AI ช่วยในการทำงาน สาเหตุหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน ยังไม่แน่ใจว่าควรใช้ AI ช่วยในส่วนไหนและช่วยอย่างไร นอกจากนี้ ฝั่งองค์กรยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรต่าง ๆ ที่ยังไม่พร้อมรองรับการใช้งาน AI ส่วนฝั่งคนทำงาน ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI ก็มีส่วนที่ทำให้บางคนตัดสินใจไม่ใช้งาน AI

 

TOP 5 สาเหตุที่ทำให้องค์กรยังไม่นำ AI เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน

  • อันดับ 1 ไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้งานในส่วนไหน/ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ไม่มากพอ 

  • อันดับ 2 พนักงาน/บุคลากรยังไม่มีความรู้และทักษะด้าน AI

  • อันดับ 3 ผู้บริหารยังไม่มีนโยบายในการนำ AI เข้ามาใช้งานในองค์กร

  • อันดับ 4 อยู่ในช่วงศึกษาและพิจารณาว่าจะนำ AI ตัวไหนเข้ามาใช้งาน

  • อันดับ 5 ระบบงาน/โครงสร้างด้านไอทีขององค์กรไม่รองรับ

 

TOP 5 สิ่งที่องค์กรมองว่ายังขาดความพร้อมในการนำ AI มาใช้

  • อันดับ 1 การพัฒนาทักษะของพนักงานให้พร้อมใช้ AI

  • อันดับ 2 การสร้างทีมหรือผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในองค์กร

  • อันดับ 3 การเตรียมโครงสร้างหรือระบบด้านเทคโนโลยี

  • อันดับ 4 การจัดสรรงบประมาณสำหรับต้นทุนด้าน AI

  • อันดับ 5 การกำหนดนโยบายและแนวทางการใช้ AI ที่ชัดเจน

 

TOP 5 สาเหตุที่ทำให้คนทำงานยังไม่ใช้ AI

  • อันดับ 1 ไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นใช้งาน AI ยังไง/ไม่มีเวลาเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือ AI

  • อันดับ 2 รู้สึกว่างานปัจจุบันยังสามารถทำได้ดีโดยไม่ต้องใช้ AI

  • อันดับ 3 กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

  • อันดับ 4 กังวลเกี่ยวกับจริยธรรมและการละเมิดลิขสิทธิ์ของ AI

  • อันดับ 5 ไม่มั่นใจในความน่าเชื่อถือหรือความแม่นยำของผลลัพธ์จาก AI

 

แม้จำนวนองค์กรและคนทำงานที่ยังไม่ได้ใช้งาน AI จะมีมากพอสมควร แต่ทั้งสองฝั่งต่างก็เห็นตรงกันว่า AI มีความสำคัญกับการทำงาน โดย 80.53% ขององค์กรมองว่าการนำ AI มาใช้ในการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญ และ 86.37% ของคนทำงานมองว่า AI มีประโยชน์และจำเป็นกับการทำงาน ส่งผลให้คนทำงานที่ยังไม่เคยใช้ AI สนใจที่จะลองใช้ในอนาคตมากถึง 68.52%

 

คุยกับพนักงานยังไง เมื่อองค์กรของคุณต้องเริ่มใช้ AI ในการทำงาน

 

ทักษะด้าน AI สำคัญไหมในปัจจุบัน?

จากผลสำรวจ องค์กร 50.58% มองว่าทักษะด้าน AI ค่อนข้างมีความสำคัญต่อการทำงานในองค์กร โดยแต่ละองค์กรมีความคาดหวังให้พนักงานมีระดับทักษะที่ต่างกัน

  • 38.50% ขององค์กรมองว่าพนักงานควรมีทักษะ AI ในระดับกลาง สามารถใช้เครื่องมือ AI ที่มีความซับซ้อนและปรับแต่งการใช้งานให้ตอบโจทย์ได้ เช่น วิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะจุด

  • 33.50% ขององค์กรมองว่าพนักงานควรมีทักษะ AI ในระดับเบื้องต้น สามารถใช้เครื่องมือ AI พื้นฐานช่วยทำงานทั่วไปได้ เช่น ค้นคว้าข้อมูล ร่างอีเมล สรุปเนื้อหา

  • 20.17% ขององค์กรมองว่าระดับทักษะ AI ที่ควรมีขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน เนื่องจากแต่ละตำแหน่งมีความจำเป็นต้องใช้ทักษะด้าน AI ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ ฝั่งองค์กรยังมองว่าการมีทักษะ AI มีส่วนช่วยให้พนักงานได้รับโอกาสพัฒนาทักษะหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม รวมถึงได้รับมอบหมายงานสำคัญหรือโปรเจกต์ใหม่ ๆ และได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่สูงขึ้น

 

ในส่วนของการสมัครงาน หากผู้สมัครมีทักษะด้าน AI องค์กรส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกสนใจมากขึ้นด้วย

  • 54.91% ขององค์กรรู้สึกสนใจขึ้นบ้างหากผู้สมัครมีทักษะ AI แต่ต้องดูควบคู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ผู้สมัครมีทักษะ AI ระดับไหน ตำแหน่งที่สมัครจำเป็นต้องใช้ AI หรือเปล่า

  • 20.97% ขององค์กรรู้สึกสนใจขึ้นมากหากผู้สมัครมีทักษะ AI มองว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งไหน

 

เช่นเดียวกับคนทำงานที่มองว่าการมีความรู้และทักษะด้าน AI มีผลต่อการหางานใหม่เช่นกัน

  • 55.66% ของคนทำงานมองว่าทักษะด้าน AI มีผลต่อการหางานใหม่บ้าง อาจช่วยเพิ่มโอกาสในบางสายงานได้

  • 31.99% ของคนทำงานมองว่าทักษะด้าน AI มีผลต่อการหางานใหม่มาก เป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยให้หางานได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้าน AI นับเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครงานและโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพได้

 

ตอนนี้ทักษะ AI ของคนทำงานอยู่ในระดับไหน?

แม้ทักษะด้าน AI จะเป็นกลายเป็นทักษะสำคัญในโลกของการทำงาน แต่จากผลสำรวจ คนทำงานที่มองว่าตัวเองมีทักษะ AI ในระดับดีถึงดีมากมีเพียง 14.13% เท่านั้น ส่วนที่เหลือแบ่งสัดส่วนได้ดังนี้

  • 38.11% มองว่าตัวเองมีทักษะ AI บ้าง พอเข้าใจและใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานได้ประมาณหนึ่ง

  • 32.45% มองว่าตัวเองมีทักษะ AI น้อย รู้จัก AI เคยทดลองใช้บ้าง แต่ยังใช้งานไม่คล่อง

  • 15.28% มองว่าตัวเองไม่มีทักษะเลย ไม่เคยใช้หรือไม่รู้วิธีใช้งาน

 

โดยคนทำงาน Gen Z เป็นกลุ่มที่มีอัตราคนเลือกตอบว่าตัวเองมีทักษะ AI ดีและดีมากเยอะที่สุด ส่วนคนทำงาน Gen X เป็นกลุ่มที่มีอัตราคนเลือกตอบว่าตัวเองมีทักษะ AI น้อยและไม่มีทักษะเลยเยอะที่สุด 

 

ทั้งนี้เป็นเพราะคนทำงานส่วนใหญ่เรียนรู้วิธีใช้งาน AI ผ่านการทดลองใช้ด้วยตัวเอง รองลงมาคือเรียนรู้ผ่านการดูวิธีใช้งานจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น YouTube หรือ TikTok และเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานหรือคนรู้จัก มีเพียงส่วนน้อยที่ผ่านการเวิร์คชอป หลักสูตรอบรม หรือลงเรียนคอร์สเสริมทักษะมาโดยตรง ทำให้ทักษะ AI ที่มีอยู่ในขั้นพื้นฐานเท่านั้น สามารถใช้งานได้เบื้องต้น แต่ยังไม่คล่องแคล่วจนใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชัน

 

ถึงคนทำงานส่วนใหญ่จะมองว่าตัวเองมีทักษะ AI ไม่มากนัก แต่เมื่อถามถึงความสนใจในการอัปสกิลก็พบว่า 88.65% ของคนทำงานสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI ในอนาคต ซึ่งองค์กรเองก็ควรเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ช่วยสนับสนุนพนักงานในด้านนี้ด้วยหากต้องการทำ AI Transformation นำเครื่องมือ AI เข้ามาใช้งานในองค์กรอย่างจริงจัง แต่ปัญหาหลักคือพนักงานขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน AI องค์กรก็ต้องลงทุนกับการพัฒนาคน ช่วยเทรนให้พนักงานมีความรู้ เช่นเดียวกับคนทำงานที่ต้องหมั่นฝึกทักษะ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ต่างฝ่ายต่างต้องช่วยกันจับมือพัฒนาเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทั้งสองฝั่ง

 

TOP 5 วิธีที่คนทำงานอยากใช้ในการพัฒนาทักษะด้าน AI

  • อันดับ 1 เรียนรู้จากคู่มือการใช้งานที่มาจากช่องทางของเครื่องมือ AI นั้น ๆ

  • อันดับ 2 เรียนรู้จากหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์

  • อันดับ 3 เรียนรู้จากบล็อก/บทความ/ วิดีโอสอนใช้งานในอินเทอร์เน็ต

  • อันดับ 4 เรียนรู้จากการสัมมนา/เวิร์คช็อป

  • อันดับ 5 เรียนรู้จากอบรมโดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญ

 

TOP 5 ทักษะ AI ที่คนทำงานอยากเรียนรู้และพัฒนา

  • อันดับ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI

  • อันดับ 2 การใช้ AI พื้นฐานสำหรับทำงานทั่วไป เช่น เขียนอีเมล ค้นคว้าข้อมูล สรุปเนื้อหา

  • อันดับ 3 หลักการและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ AI เช่น AI คืออะไร ทำงานยังไง

  • อันดับ 4 การใช้ AI สำหรับทำงานที่มีความเฉพาะเจาะจงในสายงานของตัวเอง

  • อันดับ 5 การสร้างสรรค์ภาพ วิดีโอ สื่อคอนเทนต์ด้วย AI

 

TOP 5 แนวทางที่คนทำงานอยากให้องค์กรช่วยสนับสนุนด้าน AI

  • อันดับ 1 จัดอบรมหรือเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการใช้ AI

  • อันดับ 2 จัดหาเครื่องมือ AI ที่เหมาะสมและใช้งานง่าย

  • อันดับ 3 สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะ AI เช่น คอร์สเรียนออนไลน์

  • อันดับ 4 สื่อสารให้ชัดเจนว่า AI มาเพื่อ “ช่วยคนทำงาน” ไม่ใช่ “แทนที่คนทำงาน”

  • อันดับ 5 สร้างนโยบายหรือแนวทางการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม

 

รวม 21 เครื่องมือ AI ที่ช่วยให้ชาวออฟฟิศทำงานง่ายและไวกว่าเดิม

 

คนทำงานจะถูก AI แย่งงานไหม?

การมีบทบาทมากขึ้นของ AI อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานหรือเปล่า คนจะตกงานกันมากขึ้นไหม กังวลว่าหากองค์กรนำ AI มาใช้มากขึ้นจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี JobThai จึงได้สำรวจแนวคิดในการใช้งาน AI และผลกระทบกับตำแหน่งงานในอนาคตเมื่อนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กรด้วย ผลสำรวจออกมาดังนี้

  • 64.89% ขององค์กรมองว่าควรใช้ AI เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนับสนุนพนักงาน ไม่ได้ทดแทน

  • 20.63% ขององค์กรมองว่าควรใช้ AI เพื่อทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ขึ้นอยู่กับประเภทงาน

  • 8.65% ขององค์กรมองว่าควรใช้ AI เพื่อทดแทนพนักงานในงานที่ AI สามารถทำแทนได้

 

โดยการนำ AI เข้ามาใช้อาจส่งผลกระทบทำให้ตำแหน่งงานประเภทงานที่ต้องทำซ้ำๆ/งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงหายไป ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างโอกาสให้เกิดงานใหม่ ๆ ด้วย เช่น งานด้านการพัฒนา AI หรืองานวิเคราะห์ข้อมูล

 

ในมุมของคนทำงาน 69.71% มองว่า AI มีส่วนทำให้คนตกงานบ้างในบางสายงาน และ 20.17% มองว่า AI มีส่วนทำให้คนตกงานในหลายสายงาน แต่เมื่อถามถึงความกังวล พบว่าสัดส่วนของคนทำงานที่รู้สึกกังวลว่าจะถูก AI แทนที่มีเพียง 36.87% เท่านั้น ส่วนใหญ่มองว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานในทางที่ดีและท้าทาย ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่และพัฒนาตัวเองมากขึ้น ไม่ได้มองว่าบทบาทของ AI ที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องไม่ดี โดย 74.29% ของคนทำงานรู้สึกเชิงบวกด้วยซ้ำหากองค์กรจะนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงาน

 

การใช้ AI ช่วยในการทำงาน

 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝั่งยังคิดเห็นตรงกันว่าไม่ควรมอบหมายงานทั้งหมดให้ AI จัดการ โดย 71.56% ขององค์กรและ 78.54% ของคนทำงานมองว่า AI ควรมีบทบาทบางส่วนเท่านั้น “คน” ยังต้องมีบทบาทหลักในการทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นการเข้ามาของ AI อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่คนทำงานต้องพัฒนาทักษะด้าน AI เพื่อให้สามารถใช้ AI ทำงานในส่วนที่ AI สามารถทำแทนได้ และพัฒนาทักษะในด้านที่ AI ไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในโลกของการทำงาน ไม่ถูกแทนที่ได้ง่าย ๆ

 

ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเภทงานที่ AI น่าจะทำแทนมนุษย์ได้ และทักษะที่ AI ไม่สามารถเก่งกว่ามนุษย์ได้ ผลสำรวจ 5 อันดับแรกของทั้งฝั่งองค์กรและคนทำงานออกมาตรงกัน ดังนี้

 

TOP 5 งานที่สามารถใช้ AI ทำแทนมนุษย์ได้

  • อันดับ 1 การประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างรายงานได้อัตโนมัติ

  • อันดับ 2 การป้อนข้อมูล/คีย์เอกสาร

  • อันดับ 3 การสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์เบื้องต้น

  • อันดับ 4 การเขียนบทความพื้นฐาน/ข่าวสั้น/สรุปเนื้อหา

  • อันดับ 5 การตอบคำถามลูกค้า/รับเรื่องร้องเรียน

 

TOP 5 ทักษะที่ AI ไม่สามารถเก่งกว่ามนุษย์ได้แน่นอน

  • อันดับ 1 ทักษะการเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงความเห็นอกเห็นใจ

  • อันดับ 2 ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล เจรจา โน้มน้าวจิตใจ

  • อันดับ 3 ทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรมและศีลธรรม

  • อันดับ 4 ทักษะการตีความที่ต้องอาศัยความเข้าใจด้านบริบทและวัฒนธรรม

  • อันดับ 5 ทักษะในการปรับตัว รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้อย่างยืดหยุ่น

 

โลกธุรกิจและการทำงานในยุค AI ในมุมมองของผู้บริหารตัวจริงจาก 3 ธุรกิจ

 

ไม่ว่าจะเป็นฝั่งองค์กรหรือคนทำงานต่างก็มองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานในทางที่ดีและท้าทาย และในอนาคต AI จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่คนทำงานทั้งหมด เพราะทั้งสองฝั่งยังมองว่า “คน” คือหัวใจสำคัญของการทำงาน เพียงแต่ทั้งองค์กรและคนทำงานต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย โดยองค์กรต้องเตรียมความพร้อมทางทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ระบบการดำเนินงาน โครงสร้างไอที งบประมาณด้าน AI รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความรู้ สามารถใช้ AI ได้ ส่วนคนทำงานก็ต้องพยายามปรับตัว คอยศึกษาหาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อเติบโตในโลกธุรกิจยุค AI

 

สมัครสมาชิกและฝากประวัติกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการหางานได้ที่นี่

 

tags : jobthai, การใช้งาน ai, สถิติการใช้งาน ai, หางาน, สมัครงาน, ทักษะ ai, what’s new, เทรนด์คนทำงาน, เทรนด์การทำงาน, ai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม