คนทำงานกับเรื่องของการลดหย่อนภาษี

16/01/25   |   9.8k   |  

 

  • "เงินได้พึงประเมิน" คือเงินจากการทำงานแล้วทำให้เรารวยขึ้น และเมื่อมีเงินได้เข้ามา กฎหมายก็จะบังคับให้เราต้องเอามาเสียภาษี

  • ค่าใช้จ่าย คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ ขึ้นอยู่กับ "ประเภทของเงิน" ที่ได้รับ

  • ค่าลดหย่อน คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ ขึ้นอยู่กับ “สถานภาพและภาระ” ที่มีอยู่

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย เจองานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

การจ่ายภาษี เป็นเรื่องที่มาคู่กับคนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือมนุษย์เงินเดือน แต่แม้รายได้รวมของเราจะถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องคิดยอดภาษีที่ต้องจ่ายจากรายได้พวกนั้นทันที เพราะยังมีช่องทางที่ทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้อยู่ ที่เรียกว่า “ค่าลดหย่อน”

 

ก่อนการยื่นภาษีเราเลยต้องมาคำนวณภาษีว่าเรามีรายได้เท่าไหร่และมาจากไหนบ้าง จากนั้นจึงรวบรวมเอกสารที่จะใช้ยื่นให้ครบ รวมถึงต้องรู้ว่ามีอะไรที่จะนำมาลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายของเราได้บ้าง ถ้าเราจ่ายภาษีน้อยลงได้จะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากขึ้น แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าเงินในแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน บางอย่างใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 

 

JobThai จึงรวบรวมความหมายของเงินได้ประเภทต่าง ๆ และพาไปดูว่าเราสามารถลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง เพื่อจะได้ทำให้คนทำงานอย่างเรามีเงินเก็บมากยิ่งขึ้น

 

First Jobber ยื่นภาษีอย่างไรให้ถูกต้องตามเกณฑ์สรรพากร มีคำตอบ!

 

3 คำนี้จำให้ดี: เงินได้พึงประเมิน ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน

ถึงจะขึ้นชื่อว่าเงินเหมือนกันก็ตาม แต่ในการคิดภาษีนั้น กฎหมายได้แบ่งเงินออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บภาษี โดย 3 อย่างหลักที่คนทำงานควรรู้จักก็ได้แก่ "ค่าใช้จ่าย เงินได้พึงประเมิน และค่าลดหย่อน" ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย หากเราไม่ทำความเข้าใจ 3 สิ่งนี้ให้ดี ก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการลดหย่อนภาษีได้

 

อะไรเป็นเงินได้พึงประเมินบ้าง?

ปกติแล้วไม่ว่าจะได้เงินจากอะไรก็ตาม ถ้าเงินนั้นเข้ามาอยู่ในมือเราแล้วทำให้เรารวยขึ้น ก็ถือว่าเงินนั้นคือ "เงินได้" ของเราแล้ว และเมื่อมีเงินได้เข้ามา กฎหมายก็จะบังคับให้เราต้องเอามายื่นภาษี ซึ่งภาษากฎหมายจะเรียกเงินได้นั้นว่า "เงินได้พึงประเมิน" ซึ่งก็คือเงินที่เราได้มา เพื่อจะนำไปประเมินว่าต้องเสียภาษีหรือเปล่านั่นเอง 

 

ประมวลรัษฎากรได้จัดประเภทเงินได้พึงประเมินเป็น 8 ประเภท ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะมีวิธีหัก "ค่าใช้จ่าย" ที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ และการหักภาษี ณ ที่จ่ายแตกต่างกันไป

  • ประเภทที่ 1 คือ เงินที่ได้รับจาก เงินเดือน โบนัส

  • ประเภทที่ 2 คือ เงินที่ได้รับจาก ค่าจ้างจากการรับจ้างทำงานทั่วไป

  • ประเภทที่ 3 คือ เงินที่ได้รับจาก ค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญาหรือค่า Goodwill

  • ประเภทที่ 4 คือ เงินที่ได้รับจาก ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น

  • ประเภทที่ 5 คือ เงินที่ได้รับจาก การให้เช่าทรัพย์สิน ยืมเงิน เป็นต้น

  • ประเภทที่ 6 คือ เงินที่ได้รับจาก การประกอบวิชาชีพอิสระ

  • ประเภทที่ 7 คือ เงินที่ได้รับจาก การรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ 

  • ประเภทที่ 8 คือ เงินที่ได้รับจาก การทำสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มตามประเภทที่ 1-7 ได้

 

สรุปแล้วไม่ว่าจะได้รับเงินจากทางไหนก็ต้องถูกจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนั้นเราต้องรู้ด้วยว่าเงินได้ของเราอยู่ในประเภทใด จะได้ยื่นภาษีถูกต้อง และจะได้รู้ว่าสามารถหักค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง 

 

สำหรับเงินได้ประเภทที่ 6 หรือ เงินได้ของวิชาชีพอิสระ (แต่ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ เพราะเงินของเหล่าฟรีแลนซ์นั้นจะถือว่าเงินที่ได้มาจะอยู่ในประเภทที่ 2) แต่วิชาชีพอิสระหมายถึง 6 อาชีพที่กฎหมายระบุว่าเป็นอาชีพที่สามารถหารายได้นอกเหนือจากเงินเดือนด้วยความสามารถพิเศษ ซึ่งก็มี

  1. วิชาชีพการประกอบโรคศิลปะ ได้แก่หมอ พยาบาล 

  2. นักกฎหมาย 

  3. วิศวกร 

  4. สถาปนิก

  5. นักบัญชี 

  6. ช่างประณีตศิลปกรรม

 

อะไรเป็นค่าใช้จ่ายบ้าง? 

ในชีวิตประจำวัน เรามีค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปกับสิ่งของต่าง ๆ อย่างจ่ายค่ากับข้าว จ่ายค่ากาแฟ จ่ายค่าเสื้อผ้า เงินที่จ่ายออกไปก็เพื่อจะได้รับสิ่งของเหล่านั้นตอบแทนกลับมา สำหรับความสำคัญในเชิงภาษี การทำงานทุกอาชีพก็มี "ค่าใช้จ่าย" เช่นเดียวกัน อธิบายง่าย ๆ ว่ากว่าที่จะได้รายได้มาก็ต้องมีการลงทุนหรือใช้จ่ายไปก่อน

 

เมื่อต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับสร้างรายได้ กฎหมายเลยให้สิทธิประโยชน์ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการทำงาน โดยเงินได้แต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้เท่าที่คิดว่าเหมาะสมกับรายได้ที่เกิดขึ้น แต่ว่าการหักค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเขียนรับรองไว้ด้วย หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่มีกฎหมายรับรองก็จะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้ แม้ว่าเราจะจ่ายไปจริง ๆ ก็ตาม

 

การหักค่าใช้จ่าย 2 แบบ คือ

  1. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา แบบนี้ไม่ต้องใช้หลักฐานค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ของเงินได้แต่รวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับทุกคน

  2. หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร หรือหักตามที่ใช่จ่ายจริง ๆ ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งจะคิดเป็นกรณี ๆ ไป เช่น ทำกิจการที่ต้องมีค่าประกอบการ หรือการค้าที่ดินแต่ไม่ได้ตั้งใจเก็งกำไร อาจขายไปเพื่อการกุศลก็เอามาหักภาษีได้

 

ประเภทเงินได้

การหักค่าใช้จ่าย

ประเภทที่ 1 เงินเดือน โบนัส

ประเภทที่ 2 ค่าจ้างจากการรับจ้างทั่วไป

หักค่าใช่จ่ายแบบเหมา 50%

ไม่เกิน 100,000 บาท

(หากมีรายได้ทั้งประเภทที่ 1 และ 2

ให้นำรายได้รวมกันก่อนแล้วค่อยหักค่าใช้จ่าย)

ประเภทที่ 3 ค่าลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา

หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50%

ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจริง

ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร

หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ 

ประเภทที่ 5 การให้เช่าทรัพย์สิน

หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือตามอัตราเหมา:

- บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ 30%

- ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร 20%

- ที่ดินอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร 15%

- ยานพาหนะ 30%

- ทรัพย์สินอื่น ๆ 10%

ประเภทที่ 6 การประกอบวิชาชีพอิสระ

หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือตามอัตราเหมา:

- ประกอบโรคศิลปะ 60%

- วิชาชีพอื่น ๆ 30%

ประเภทที่ 7 การรับเหมา

หักค่าใช้จ่ายตามจริง

หรือตามอัตราเหมา 60%

ประเภทที่ 8 รายได้อื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวก

หักค่าใช้จ่ายตามจริง

หรือตามอัตราเหมา 40% และ 60%

 

รู้จักกับฐานภาษี: สาเหตุที่ทำให้เสียภาษีนั้นเพราะอะไร

 

อะไรเป็นค่าลดหย่อนบ้าง?

ค่าลดหย่อนคือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้กับผู้เสียภาษีตามภาระของตัวผู้เสียภาษีคนนั้น ๆ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับค่าลดหย่อนภาษี 4 กลุ่มหลักกันก่อนดีกว่า 

  1. กลุ่มภาระติดตัว

  2. กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายจากภาครัฐ

  3. กลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน

  4. กลุ่มเงินบริจาค

 

กลุ่มภาระติดตัว 

ค่าลดหย่อนในส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ อย่างค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงบุตร ฝากครรภ์ คลอดบุตร หรือเลี้ยงดูพ่อแม่ อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ โดยแยกรายละเอียดดังนี้

 

ค่าลดหย่อน

จำนวนเงินที่ลดหย่อนได้

หมายเหตุ

ส่วนตัว

60,000 บาท

ชาวไทยทุกคนได้รับค่าลดหย่อนส่วนนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด สมรส หรือมีบุตรแล้ว

คู่สมรส

60,000 บาท

คู่สมรสต้องจดทะเบียนตามกฎหมายและเป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือ มีเงินได้แต่เลือกยื่นแบบภาษีรวมกัน

บุตร

30,000 บาท ต่อคน

บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดใน/หลังปีพ.ศ. 2561 เพิ่มค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

บิดามารดาของตนเอง

และคู่สมรส

30,000 บาท ต่อคน

บิดา/มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกิน 30,000 บาท

ผู้พิการหรือทุพพลภาพ

60,000 บาท

ผู้พิการ/ทุพพลภาพต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการหรือมีหลักฐานการอุปการะ

ค่าฝากครรภ์

และทำคลอด

ตามที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

หากสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ สิทธิในการลดหย่อนส่วนนี้จะเป็นของภรรยาเท่านั้น

 

กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายจากภาครัฐ

กลุ่มนี้คือค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางภาครัฐออกนโยบายมาเพื่อยกเว้นให้เป็นพิเศษ เช่น โครงการต่าง ๆ ที่รัฐเชิญชวนให้เราออกไปใช้จ่าย ไปเที่ยวในประเทศ เมื่อเรามีรายจ่ายในหมวดนี้ เราก็จะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้

 

ค่าลดหย่อน

จำนวนเงินที่ลดหย่อนได้

หมายเหตุ

กู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

-

ค่าก่อสร้างบ้านใหม่

2567-2568

ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาทและไม่เกิน 1 หลัง

ตั้งแต่วันที่

9 เม.ย. 2567 - 31 ธ.ค. 2568

การท่องเที่ยวภายในประเทศ

(เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด)

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
ไม่เกิน 15,000 บาท

ตั้งแต่วันที่

1 พ.ค. - 30 พ.ย. 2567

ค่าซ่อมแซมบ้านและรถ

ที่เสียหายจากน้ำท่วม

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

- บ้านสูงสุด 100,000 บาท

(หากมีหลายหลัง ให้คำนวณรวมกัน)

- รถสูงสุด 30,000 บาท

(หากมีหลายคัน ให้คำนวณรวมกัน)

จ่ายระหว่างวันที่

16 ส.ค. – 31 ธ.ค. 2567

ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ

Easy E-Receipt

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

รวมไม่เกิน 50,000 บาท

สำหรับสินค้าที่ซื้อระหว่าง

 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2567

 

กลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน

กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่คุ้มค่า เพราะเราจะไม่เสียค่าใช้จ่ายไปเฉย ๆ แต่เราจะได้สิทธิประโยชน์จากการใช้จ่าย มีรายรับกลับมา และยังเป็นการลงทุนต่อยอดเงินให้งอกเงยอีกวิธีหนึ่งด้วย มาดูกันว่าประกันชีวิตและการลงทุนสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง

 

ค่าลดหย่อน

จำนวนเงินที่ลดหย่อนได้

หมายเหตุ

เงินประกันสังคม

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

-

ประกันชีวิตทั่วไป

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูง

สุดไม่เกิน 100,000 บาท

ต้องเป็นประกันชีวิตที่กรมธรรม์มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป

ประกันสุขภาพ

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท

เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้ว

จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ประกันสุขภาพบิดามารดาของตัวเองและคู่สมรส

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

บิดา/มารดาต้องมีรายได้

ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000บาท

ต้องเป็นประกันแบบบำนาญที่กรมธรรม์มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป

เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

-

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

- ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 

1 ม.ค. 2567 - 31 ธ.ค. 2569

- ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนต่อผู้จัดการกองทุนรวมที่หน่วยลงทุนเพื่อนำส่งข้อมูล

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี และถือไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

กองทุนรวมเพื่อการออม SSF

ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

ต้องถือไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ

ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

-

กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

-

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท

-

กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)

ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

-

 

กลุ่มเงินบริจาค

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเงินที่เราบริจาคให้กับมูลนิธิ วัดวาอาราม สถานพยาบาล สถานศึกษา พรรคการเมือง ฯลฯ ซึ่งเราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

 

ค่าลดหย่อน

จำนวนเงินที่ลดหย่อนได้

หมายเหตุ

เงินบริจาคทั่วไป

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง

แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้

หลังหักค่าลดหย่อนภาษี

-

เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ

2 เท่าของเงินบริจาคจริง

สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้

หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

-

เงินบริจาคให้พรรคการเมือง

ตามที่จ่ายจริง

สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

-

 

สรุป "ค่าใช้จ่าย" และ "ค่าลดหย่อน" กันอีกที ว่าต่างกันตรงไหน

  • ค่าใช้จ่าย คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ขึ้นอยู่กับ "ประเภทของเงิน" ที่ได้รับ เพราะบางอาชีพมีต้นทุนในการทำงานสูงกว่าจะได้รายรับกลับคืนมา ก็ควรจะต้องลดส่วนนี้ให้เขา

  • ค่าลดหย่อน คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ขึ้นอยู่กับ "สถานภาพและภาระ" ที่มีอยู่ บางคนมีภาระที่ต้องใช้เงินมากกว่าคนอื่น ดังนั้นก็ต้องลดภาระในส่วนภาษีให้เขา

 

การเตรียมตัวเรื่องเกี่ยวกับภาษีนั้น ควรเตรียมตัวตั้งแต่ต้นปี จะได้วางแผนจัดการค่าลดหย่อนได้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะ JobThai จะรีบมาอัปเดตให้ทุกคนทราบกันหากในปีหน้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง

  

คนทำงานกับขั้นตอนการยื่นจ่ายภาษีที่ถูกต้อง

 

คนที่จะเสียภาษีก็ต้องมีรายได้เยอะ

มาสมัครสมาชิกกับ JobThai หางานที่ใช่จะได้มีรายได้เยอะ ๆ กันดีกว่า

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : คนทำงาน, การจ่ายภาษี, การยื่นเสียภาษี, คนทำงานกับการเสียภาษี, ภ.ง.ด., ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภาษี, ภาษีบุคคลธรรมดา, คำนวณภาษี, ลดหย่อนภาษี, เด็กจบใหม่, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม