Corporate Stockholm Syndrome ไขข้อข้องใจ บริษัท Toxic แต่ทำไมเรายังทนอยู่?

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เคยไหม? ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่ในบริษัทที่สุดแสนจะ Toxic โดนหัวหน้าหรือผู้บริหารใช้อำนาจข่มเหง ต่อว่าด้วยคำพูดแรง ๆ จนเรารู้สึกไม่มีค่า ไปจนถึงปฏิบัติตัวกับเราแย่ ๆ แต่เราก็ยังหาเหตุผลมาปกป้องหรือหาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำเหล่านั้น และยอมทนทำงานอยู่ในองค์กรเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในบทความนี้ JobThai จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ Corporate Stockholm Syndrome อาการที่จะมาอธิบายสภาวะนี้กัน

 

รวมอาการแปลก ๆ ของคนทำงานที่มีอยู่จริง

 

ทำความรู้จัก Stockholm Syndrome กันก่อน

ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับ Corporate Stockholm Syndrome เรามาทำความรู้จัก Stockholm Syndrome กันก่อน หลายคนอาจคุ้นหูหรือเคยได้ยินชื่ออาการนี้กันมาบ้างจากภาพยนตร์หรือซีรีส์แนวระทึกขวัญ โดย Stockholm Syndrome เป็นอาการที่ใช้เรียกสถานการณ์ที่ตัวประกันหรือเหยื่อในเหตุการณ์ลักพาตัวรู้สึกผูกพันและเห็นอกเห็นใจคนร้ายหลังจากใช้เวลาอยู่ร่วมกันมาระยะหนึ่ง จนอาจนำไปสู่การปกป้องคนร้ายในท้ายที่สุด

 

Stockholm Syndrome เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ตั้งชื่อขึ้นตามคดีปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นจริงในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปีค.ศ. 1973 ในเหตุการณ์นี้ ผู้ก่อเหตุได้ลักพาตัวประกัน 4 คนไปกักขังเป็นเวลา 6 วัน ทว่าหลังจากที่ตัวประกันได้รับความช่วยเหลือและถูกปล่อยตัวออกมา แทนที่จะโกรธแค้นและประณามการกระทำของโจรปล้นธนาคาร พวกเขากลับมีความรู้สึกเชิงบวกกับคนร้าย และเลือกที่จะอยู่ข้างผู้ก่อเหตุโดยการปฏิเสธการเป็นพยานในศาล

 

แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ Stockholm Syndrome มีอยู่จริงและสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์อื่น ๆ เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นระหว่างการก่อเหตุลักพาตัวเสมอไป เนื่องจาก Stockholm Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อเกิดความรู้สึกเชิงบวก เห็นใจ ไปจนถึงขั้นรักหรือผูกพันกับผู้ข่มเหง ดังนั้นเราจึงสามารถพบเห็นอาการนี้ได้ในความสัมพันธ์ที่ถูกกดขี่ข่มเหงหรือถูกทำร้าย (Abusive Relationship) ต่าง ๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ทำร้ายลูก พี่รังแกน้อง ครูกดขี่นักเรียน รุ่นพี่ข่มเหงรุ่นน้อง โค้ชใช้อำนาจกับนักกีฬา ไปจนถึงความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งมีการใช้อำนาจที่มีมากกว่ากดขี่อีกฝ่าย

 

10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าที่ทำงานของเราเป็นพิษ (Toxic Workplace)

 

Corporate Stockholm Syndrome คืออะไร?

ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่หลายคนมักมองข้ามและไม่คิดว่าจะเกิด Stockholm Syndrome ขึ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถพบอาการนี้ในออฟฟิศได้เช่นกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่า Corporate Stockholm Syndrome หรือ Organizational Stockholm Syndrome มักพบในความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้องกับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ชอบใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดแย่ ๆ เสียดสีต่อว่า ปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบ หรือใช้อำนาจที่มีควบคุมอีกฝ่ายให้จำยอมทำตาม แต่ด้วยระดับที่ต่ำกว่าในองค์กร พนักงานจึงเกิดความลังเลที่จะลุกขึ้นสู้เพราะอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง กระทบกับการปรับเงินเดือนหรือโบนัส หรืออาจถึงขั้นต้องออกจากงานและสูญเสียรายได้ ทำให้ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมและทนอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ต่อจนเกิดเป็นอาการ Corporate Stockholm Syndrome เริ่มโทษตัวเองแทนที่จะโทษอีกฝ่าย เกิดความรู้สึกเห็นใจผู้กระทำและปลอบใจตัวเองว่าอีกฝ่ายอาจไม่มีทางเลือกเลยต้องทำแบบนี้

 

Corporate Stockholm Syndrome

 

สัญญาณของ Corporate Stockholm Syndrome

  • ผู้กระทำมีการใช้อำนาจกดขี่และควบคุมอีกฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบ บงการ หรือกีดกันพนักงานไม่ให้ได้รับสิทธิ์ที่พนักงานควรได้รับ เช่น ไม่ให้พนักงานไปพักกลางวัน บีบให้พนักงานทำงานนอกเวลา ทักไปตามงานในวันหยุด ไม่ยอมให้พักผ่อน โดยอาจมีการใช้คำพูดหว่านล้อมบิดเบือนความจริงเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกสับสน (Gaslighting) ร่วมด้วย เช่น บอกว่าฐานเงินเดือนของพนักงานสูงกว่าปกติ ดังนั้นก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ๆ อยู่แล้ว จะผลักภาระออกได้ยังไง หรือบอกว่าที่ให้พนักงานทำงานนอกเหนือจากหน้าที่เป็นเพราะเจตนาดีต่างหาก อยากช่วยพัฒนาทักษะให้พนักงาน จะได้เป็นคนเก่งรอบด้าน

 

  • ผู้ถูกกระทำเห็นอีกฝ่ายเป็นเหยื่อ รู้สึกเห็นใจ และหาข้อแก้ตัวให้

สัญญาณที่สำคัญของ Stockholm Syndrome คือการรู้สึกเชิงบวกกับผู้กระทำ แทนที่จะโกรธเคืองที่ตัวเองถูกกดขี่ แต่พนักงานกลับเกิดความรู้สึกเห็นใจแทน โดยอาจมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ความผิดของเจ้านายหรือหัวหน้า ที่เขาเข้มงวดด้วยเป็นเพราะเขาหวังดี หรือที่เขาปฏิบัติด้วยไม่ดีเป็นเพราะเขาก็ถูกบริษัทหรือลูกค้ากดดันมาอีกทอดนึงเหมือนกัน ทำให้แสดงออกแบบนี้ เขาไม่ได้อยากกระทำอะไรแย่ ๆ อย่างที่เห็น แต่เขาเองก็ไม่มีทางเลือก

 

  • ผู้ถูกกระทำเลือกอยู่ข้างฝ่ายกระทำและปฏิเสธการช่วยเหลือ

แม้จะถูกปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม แต่สุดท้ายแล้วผู้ถูกกระทำก็เลือกที่จะอยู่ข้างผู้กระทำมากกว่าฝ่ายที่ต้องการช่วยเหลือ โดยอาจปฏิเสธคำเตือนของเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือเพื่อนคนอื่น ๆ แล้วอ้างว่า ‘เป็นเรื่องปกติธรรมดา’ หรือ ‘สิ่งที่เจอก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานนั่นแหละ’ และบ่ายเบี่ยงไม่ให้คนอื่นยื่นมือเข้าช่วย รวมถึงไม่ยอมหาวิธีให้ตัวเองออกมาจากสถานการณ์นี้ ปล่อยให้ถูกกดขี่ต่อไปเรื่อย ๆ

 

รับมือยังไง เมื่อต้องทำงานใน Toxic Workplace

 

วิธีรับมือ Corporate Stockholm Syndrome

  • ลิสต์การกระทำที่หัวหน้าหรือเจ้านายทำกับเราโดยปราศจากการใส่อารมณ์ พยายามระบุออกมาให้เป็นข้อเท็จจริงที่สุดและไม่พยายามหาเหตุผลหรือข้อแก้ตัวให้กับการกระทำเหล่านั้นเพื่อให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เช่น 

    • ขึ้นเสียงต่อว่า ใช้คำพูดรุนแรง หรือตะโกนใส่แม้จะเป็นความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ

    • ตำหนิเราต่อหน้าเพื่อนร่วมงานจนทำให้เกิดความอับอายบ่อยครั้ง

    • ไม่เคารพเวลาส่วนตัว ส่งข้อความหรือโทรตามนอกเวลางานบ่อย ๆ

    • มอบหมายงานที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของเราให้เป็นประจำ

จากนั้นลองอ่านแล้วพิจารณาดูว่าเรารู้สึกยังไงกับการกระทำเหล่านี้ คิดว่าไม่เป็นธรรมหรือไม่เหมาะสมไหม ที่จริงแล้วมีวิธีการปฏิบัติที่ดีกว่านี้หรือเปล่า

 

  • ปรึกษาเพื่อนหรือคนรอบตัว ลองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พวกเขาฟังและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ได้กลับมา การปรึกษาคนอื่น ๆ จะช่วยให้เราได้เห็นมุมมองจากสายตาของคนนอกว่าเขามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ายังไง หรือถ้าไม่รู้จะเล่าให้ใครฟังก็อาจลองเข้าไปพูดคุยปรึกษากับคนอื่น ๆ ในคอมมูนิตี้ออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ได้ ถ้าหลายคนบอกว่าสิ่งที่เราพบเจอไม่ใช่เรื่องปกติในการทำงาน ในองค์กรอื่น ๆ ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ก็ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนอย่างจริงจังแล้วว่าหัวหน้าหรือเจ้านายของเราเป็นคน Toxic จริง ๆ ไหม เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนกดขี่อยู่หรือเปล่า

 

  • ทบทวนตัวเองและหาทางออกสำหรับเหตุการณ์นี้ เมื่อเรามองเห็นแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องทั่วไปในการทำงาน และเรากำลังเผชิญหน้ากับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ Toxic มีพฤติกรรมชอบกดขี่ เราก็ต้องมาดูต่อว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราไม่ยอมไปจากที่นี่ ระบุสิ่งที่ทำให้เรายังเลือกทำงานในองค์กรนี้ว่าเป็นเพราะเงินเดือน สวัสดิการ หรือด้วยความจำเป็นอื่น ๆ เช่น ที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน องค์กรใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid ซึ่งสะดวกกับไลฟ์สไตล์ของเรา จากนั้นก็ลองพิจารณาและทบทวนปัจจัยเหล่านี้ดูว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมองหางานใหม่ที่มีลักษณะงานและเงินเดือนหรือสวัสดิการแบบเดียวกันกับงานนี้ด้วยทักษะที่เรามีอยู่ หรือจริง ๆ แล้วสถานการณ์ของเรายังไม่ได้ถึงขั้นต้องมองหางานใหม่ และเราอาจลองใช้วิธีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาหรือขอความช่วยเหลือจากฝ่ายบุคคลได้

 

6 สิ่งที่ควรทำเมื่อเจอหัวหน้างานที่เราไม่ปลื้ม

 

  • เปิดอกพูดคุยกับหัวหน้าหรือเจ้านาย บางครั้งการที่ผู้กระทำไม่ยอมแก้ไขพฤติกรรมของตัวเองอาจเป็นเพราะเขาเคยชินกับการใช้อำนาจที่มีควบคุมและกดขี่คนอื่น ไม่ว่าจะทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และไม่เคยมีใครกล้าลุกขึ้นพูดถึงการกระทำของเขาตรง ๆ ทำให้สิ่งนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการเปิดอกพูดคุยว่าเราไม่โอเคกับพฤติกรรมเหล่านี้พร้อมชี้แจงเหตุผลว่าเพราะอะไรก็อาจช่วยให้เขามองเห็นการกระทำที่ผ่านมาของตัวเองและหาทางปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องดูด้วยว่าลักษณะของเจ้านายหรือหัวหน้าของเราเป็นคนรับฟังหรือเปิดรับฟีดแบ็กมากแค่ไหน ถ้าพิจารณาแล้วว่าการพูดคุยกับเขาด้วยตัวเองโดยตรงอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาในแง่ร้ายมากกว่า เราก็อาจเปลี่ยนไปขอความช่วยเหลือจาก HR แทน

 

  • ขอความช่วยเหลือจาก HR ในกรณีที่การพูดคุยกับหัวหน้าหรือเจ้านายโดยตรงเสี่ยงเกินไป เราอาจลองปรึกษากับฝ่ายบุคคลดูว่าเราพบเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่และเราไม่โอเคกับสิ่งที่เจอเลย เพื่อให้ทาง HR ช่วยหาทางออกและเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ให้เรา โดยอาจเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ช่วยฟีดแบ็กสิ่งที่เราเจอให้เขารับทราบแทน หรือช่วยทำเรื่องในการย้ายแผนกเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องทำงานร่วมกับเขาอีก

 

  • มองหางานใหม่ หากเราพบว่าเราไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ หรือต่อให้แก้ไขได้แต่เรายังรู้สึกฝังใจกับสิ่งที่เจอ คิดถึงเหตุการณ์ที่โดนหัวหน้าหรือเจ้านายทำไม่ดีใส่ และไม่ต้องการทนอยู่ในองค์กรนี้ต่อ การมองหางานใหม่ก็อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเหตุการณ์นี้ เอาตัวเองออกมาจากบ่อเกิดของความ Toxic แล้วไปเริ่มต้นที่ใหม่แทน

 

  • อย่าโทษตัวเองและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น หลายคนอาจรู้สึกมีแผลใจหรือสูญเสียความมั่นใจในการทำงานหลังเผชิญหน้ากับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ Toxic แต่อย่าจมกับความรู้สึกแย่ เอาแต่โทษตัวเองและหมดกำลังใจที่จะเริ่มต้นงานใหม่ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะเราอ่อนแอหรือไม่ทันคน เนื่องจาก Corporate Stockholm Syndrome นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน ถึงแม้เราจะทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง มีทักษะและความสามารถที่เพียบพร้อมแค่ไหน แต่คนที่ชอบกดขี่คนอื่นก็จะหาโอกาสในการใช้การใช้อำนาจของตัวเองเพื่อกดคนอื่นอยู่ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น จดจำการกระทำของผู้กระทำให้ดี เพื่อให้รู้เท่าทันว่าสถานการณ์แบบไหนที่เรากำลังเผชิญหน้ากับคน Toxic ที่ชอบเอาเปรียบและกดขี่คนอื่น

 

จมกับ "ความรู้สึกผิด" ของตัวเองจนไปต่อไม่ได้ ทำยังไงดี

 

เมื่อเราต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ชอบใช้อำนาจกดขี่ เราต้องมีวิจารณญาณ มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แยกให้ออกว่าการกระทำหรือสิ่งที่เขาปฏิบัติกับเรานั้นเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เขาทำนั้น Toxic จริง ๆ ก็ไม่ต้องพยายามแก้ต่างให้เขา อย่าลืมว่าเรายังมีทางเลือกอื่น ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเขาตรง ๆ ขอความช่วยเหลือจาก HR หรือแม้กระทั่งการลาออก ถึงแม้วิธีการแก้ไขปัญหาอาจมีความเสี่ยงตามมาบ้างแต่ก็ช่วยให้เราหลุดออกจากสถานการณ์แย่ ๆ ได้

มองหางานใหม่ที่ใช่ ฝากประวัติกับ JobThai ได้ที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา

efrontlearning.commedium.comentrepreneur.comlinkedin.combritannica.comooca.copobpad.comallohealth.carelinkedin.comimd.org

tags : jobthai, career & tips, งาน, ทำงาน, คนทำงาน, ปัญหาในองค์กร, corporate stockholm syndrome, stockholm syndrome, เคล็ดลับการทำงาน, หัวหน้า, toxic workplace



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม