อยากลดหย่อนภาษีต้องอ่าน อัปเดตมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 สำหรับปีภาษี 2568

16/01/25   |   486   |  

 

 

คนทำงานที่มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ยื่นภาษีในช่วงต้นปีของแต่ละปี เพื่อให้ภาครัฐนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีไปจัดสรรเป็นงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระทางการเงินของประชาชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้หลายวิธี เช่น การซื้อประกัน หรือการลงทุนในกองทุนบางประเภท นอกจากนี้แล้วอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งหนึ่งโครงการนั้นก็คือมาตรการ Easy E-Receipt

 

วันนี้ JobThai เลยได้รวบรวมเรื่องที่ต้องรู้ตามมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 มาให้คนทำงานไปใช้ประกอบการวางแผนการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2568 กัน

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ที่มาของมาตรการภาษี Easy E-Receipt

Easy E-Receipt เป็นมาตรการของภาครัฐที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการออกใบเสร็จรับเงินจากรูปแบบกระดาษไปสู่รูปแบบดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความสะดวกสบายในการบริหารจัดการใบเสร็จ ทำให้กระบวนการยื่นขอลดหย่อนภาษีมีประสิทธิภาพและถูกต้องมากขึ้น

 

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้บุคคลที่จะต้องเสียภาษีเงินได้สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหลายคนคงพอจำกันได้ว่ามาตรการนี้มีที่มาจากมาตรการเดิมคือ “ช้อปดีมีคืน” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Easy E-Receipt ในปี 2567 นั่นเอง จนปี 2568 ได้มีการอัปเดตเป็น Easy E-Receipt 2.0 ไปดูกันว่า เงื่อนไขในการใช้สิทธิตามมาตรการในปีนี้เป็นยังไงบ้าง

 

เงื่อนไขของการใช้จ่ายตามมาตรการ

ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล) สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริงมาลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2568 ได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น

 

ค่าใช้จ่ายจำนวน 50,000 บาท แบ่งเป็น

 

1. ลดหย่อนสูงสุด 30,000 บาท

ซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไปจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สามารถออกเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)

 

2. ลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท (ต้องใช้หลักฐาน e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เช่นกัน)

  • ซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
  • ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน
  • ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม

 

การซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 2. สามารถใช้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ตามข้อ 1. ได้เช่นกัน โดย e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

 

หากร้านค้าไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้เพียง หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร (รวมถึงในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์/E- book) สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรหรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)

 

สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2. ค่าซื้อยาสูบ

3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ

4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ

5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 

7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย และค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

 

เช็กให้ชัวร์ก่อนช้อป

เราได้เห็นรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ทั้งหมดกันไปแล้ว คงจะพอเห็นภาพว่าสินค้าและบริการประภทไหนบ้างที่เป็นไปตามเกณฑ์ของมาตรการนี้ แต่ก่อนจะตัดสินใจจ่ายเงิน ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าร้านค้าที่เราต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั้นสามารถออกเอกสารรองรับในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขสำคัญของขั้นตอนการลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้คือการมีหลักฐานยืนยันเป็นใบรับรองการซื้อสินค้าในรูปแบบดิจิทัลที่ได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพากรเท่านั้น

 

สามารถเช็กข้อมูลผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ที่นี่

 

คนทำงานกับเรื่องของการลดหย่อนภาษี

 

วิธีใช้สิทธิลดหย่อน 

เมื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการเราต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการใช้ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ดังนี้

 

1. ชื่อ-นามสกุล

2. ที่อยู่

3. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวบัตรประชาชน)

 

เมื่อแจ้งข้อมูลครบแล้ว ข้อมูลการซื้อสินค้าและการรับบริการของเราจะปรากฏใน My Tax Account ของผู้เสียภาษี และสามารถใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2568

 

ย้ำกันอีกครั้งว่ามาตรการ Easy E-Receipt 2.0 นี้มีผลสำหรับการซื้อสินค้าและบริการบางประเภทจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2568 นี้เท่านั้น อย่าลืมวางแผนการใช้จ่ายตามโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเก็บหลักฐานไว้ลดหย่อนภาษีในช่วงต้นปี 2569 กัน

 

ผู้เสียภาษีสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

 

ที่มา:

rd.go.th, thaigov.go.th, thaipbs.or.th, southeastlife.co.th, iamconsulting.co.th, ofm.co.th, etax.one.th, krungsri.com, ocean.co.th

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, การเงิน, เคล็ดลับการทำงาน, คนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, เคล็ดลับความสำเร็จ, วางแผนการเงิน, ลดหย่อนภาษี, ภาษี, เสียภาษี, ยื่นภาษี, easy e-receipt



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม