รวมอาการแปลก ๆ ของคนทำงานที่มีอยู่จริง

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

คนทำงานหลายคนคงเคยมีอาการไม่อยากทำงาน และไม่สนใจสิ่งรอบตัว ซึ่งอาการนี้เป็นอาการที่หลายคนรู้จักกันดีแล้วว่ามันเรียกว่า Burnout หรือสภาวะหมดไฟ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทำงาน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่อาการอย่าง ‘มีเนื้อเพลง จังหวะเพลง เดิม ๆ ติดหูอยู่ทั้งวัน’ หรือ ‘ตื่นเช้ามาฟ้าหม่น ๆ เลยไม่รู้สึกอยากทำอะไร’ บางคนก็อาจจะคิดว่ามันแปลก เพราะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร และคนอื่น ๆ เขาเป็นกันบ้างไหม รู้มั้ยว่าอาการแปลก ๆ เหล่านี้ที่เป็นอยู่ คุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว แต่อาจมีหลายคนที่รู้สึกเหมือนกัน และมันก็มีชื่อเรียก วันนี้ JobThai เลยอยากพาทุกคนมาดูอาการแปลก ๆ ที่หลายคนเคยเป็นและทำความรู้จักกับอาการพวกนี้ให้มากขึ้นกัน 

 

4 เหตุผลของคนทำงานว่าทำไมถึงควรหาเวลาไปเที่ยว

 

Monsoon Blues อาการที่เห็นฟ้าครึ้มก็ทำให้คนซึมได้

เคยมั้ย? ตื่นเช้ามาพอเจอฟ้าครึ้ม บรรยากาศหม่น ๆ หรือฝนตก ก็ทำให้รู้สึกไม่อยากทำอะไร ถ้าคุณเป็นอีกคนที่มีความรู้สึกแบบนี้เวลาที่ฟ้าครึ้ม อาการนี้ก็มีชื่อเรียกว่า ‘Monsoon Blues’ หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าจากมรสุม’ ภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่มีฝนตกมากกว่าแสงแดด ซึ่งอาการนี้ก็มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อยู่ เพราะเมื่อแสงอาทิตย์ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆดำ ระดับวิตามินดีที่เราได้รับจะลดลง และส่งผลให้ระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) ลดลงตามมา ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ในร่างกายจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง อารมณ์ และระบบประสาท และถ้าหากระดับเซโรโทนินของเราอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคสมาธิสั้น โรค PTSD หรือโรคกลัว (Phobias) ได้

 

ซึ่งวิธีแก้ไขอาการนี้ก็มีอยู่หลายวิธี อย่างการลองหาเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสในตู้มาใส่ หายใจเข้า-ออกลึก ๆ เพื่อควบคุมสมาธิตัวเอง หรือการออกกำลังกายในบ้านก็สามารถบรรเทาอาการนี้ได้เช่นกัน เพราะเมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดรฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขขึ้นมา หรือหากการออกกำลังกายไม่ใช่สิ่งที่เราชอบทำ ก็สามารถขยับร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ แทนได้เช่นกัน

 

Revenge Bedtime Procrastination แก้แค้นชีวิตด้วยการทวงเวลาของตัวเองกลับมา 

ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน กว่าจะกลับมาถึงบ้าน อาบน้ำ เวลาก็ปาไปเกือบเที่ยงคืน แต่ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน ก็ยังไม่อยากนอนอยากใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองก่อน ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘Revenge Bedtime Procrastination’ หรือ ‘การไม่ยอมนอนเพื่อล้างแค้น’ มันคือปรากฎการณ์ที่เราจะนอนดึกทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องจำเป็น โดยที่ไม่มีใครบังคับ ซึ่งเชื่อว่าคนทำงานหลายคนในปัจจุบันเป็นกัน เพราะเราต่างต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานเพื่อเลี่ยงรถติด ต่อด้วยการใช้เวลาในออฟฟิศ 8 – 10 ชั่วโมง แถมกว่าจะถึงบ้านก็แทบจะหมดวันแล้ว ซึ่งงานวิจัยในเนเธอร์แลนด์นำเสนอว่า ยิ่งเราไม่สนุก และไม่มีความสุขกับชีวิตตอนกลางวัน ตอนที่เราต้องทำหน้าที่ของเรามากเท่าไร เรายิ่งจะนอนดึกมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะ “มันคือช่วงเวลาที่เราจะได้ทวงคืนความสุขที่เราขาดไป” 

 

หากถามถึงวิธีการแก้อาการ Revenge Bedtime Procrastination ที่ดีที่สุดก็คงต้องบอกว่าคือ ‘การนอน’ เพราะเราต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าการนอนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการพักผ่อน และฟื้นฟูร่างกายที่ดีที่สุด ซึ่งถ้านอนไม่พอ ก็จะย่อมส่งผลสียต่อสุขภาพของเราตามมา ลองตักตวงความสุขในช่วงตอนกลางวันบ้าง ลองมีความสุขกับเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวที่เกิดขึ้น และยิ้มให้กับตัวเองบ่อย ๆ หรืออีกหนึ่งวิธีคือเราอาจเพิ่มการจำกัดเวลาช่วงกลางคืนของเราไม่ให้มากเกินไป เพื่อบังคับให้ตัวเองยังสามารถนอนได้อย่างเพียงพออยู่

 

Positive Thinking สำคัญกับเรามากแค่ไหน

 

Sunday Scaries เพราะพรุ่งนี้วันจันทร์ วันนี้เลยกังวลจนความสุขหายไป

วันหยุดทั้งทีก็อยากนอนพักผ่อนอยู่บนที่นอนนุ่ม ๆ ออกไปท่องเที่ยวกับคนรู้ใจ หรือหากิจกรรมสนุก ๆ ทำ แต่แล้วอาการกังวลก็เกิดขึ้นเพราะพรุ่งนี้วันจันทร์ อาการนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Sunday Scaries’ อาการกลัวที่เกิดขึ้นในวันหยุดอย่างวันอาทิตย์เพราะไม่อยากให้วันจันทร์มาถึง ทำให้สมองมัวแต่นับถอยหลังจนไม่มีความสุข เราจะคิดถึงเรื่องต่าง ๆ จนเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายชั่วโมง และสุดท้ายก็พบว่าตัวเองได้สูญเสียวันอาทิตย์ที่แสนมีค่าไปกับความกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงไปซะแล้ว

 

อาการนี้เราสามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า Monday Blues หรืออารมณ์เบื่อหน่ายวันจันทร์ ซึ่งวิธีแก้ไขก็สามารถทำได้หลายวิธี อย่างการจัดตารางชีวิตตัวเองใหม่ อย่างการไม่เอาเรื่องงานมาคิดหลังเลิกงาน ไม่เก็บงานบ้านไว้ทำในวันหยุดทีเดียวแต่ค่อย ๆ ทยอยทำ หรือวางแผนกิจกรรมสนุก ๆ หลังเลิกงานเลยก็ได้ เพราะแทนที่จะทำทุกอย่างในวันหยุด การเลื่อนกิจกรรมสนุก ๆ มาทำในวันธรรมดา ก็อาจทำให้วันที่น่าเบื่อมีความหมายขึ้นอีกครั้งก็ได้ 

 

รู้จักกับ Monday Blues และ 7 วิธีรับมือ 

ให้ตื่นมาสดใสไม่เกลียดเช้าวันจันทร์อีกต่อไปได้ ที่นี่

 

Earworm มีเพลงท่อนเดิม ๆ อยู่ในหัวทั้งวัน 

“วอเอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ” หรือ “เจนค่ะ เจนค่ะ” เพลงยอดฮิตทั้งหลายที่ไม่ว่าจะไปไหน เราก็มักจะได้ยินเพลงเหล่านี้เปิดอยู่แทบทุกที่ที่เราไป และบางครั้งเพลงเหล่านี้ก็วนเวียนอยู่ในหัวของเราตลอดเวลา และเราก็เผลอฮัมเนื้อหรือทำนองเพลงออกมา จนส่งผลให้คนรอบข้างติดทำนองเพลงนี้ไปด้วย อาการนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Earworm (เอียร์เวิร์ม)’ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Involuntary Musical Imagery (INMI) เรียกง่าย ๆ ว่าอาการเพลงติดหู โดยไม่จำเป็นว่าเพลงที่ติดหูจะต้องเป็นเพลงที่เราชอบเสมอไป ซึ่งเพลงที่มักจะทำให้เกิดภาวะ Earworm มักจะเป็นแนวเพลง Pop ที่มีจังหวะค่อนข้างเร็ว เมโลดี้ที่จำง่าย และมักจะมีเนื้อเพลงที่ร้องซ้ำ ๆ ส่งผลให้สมองในส่วนการจดจำของเราเก็บเอาเนื้อเพลงและทำนองที่ได้ยินซ้ำ ๆ นั้นมาคิดวนเวียนอยู่ในสมอง

 

จริง ๆ แล้วอาการ Earworm ไม่ได้เป็นอาการที่ร้ายแรงหรือส่งผลกระทบต่อระบบประสาท แค่เราอาจรู้สึกรำคาญอาการนี้นิดหน่อยเพียงเท่านั้น ซึ่งถ้าเราปล่อยมันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวอาการนี้ก็จะหายไปเอง แต่ถ้าใจร้อนกว่านั้น ก็มีวิธีที่แนะนำอย่างการ ลองร้องเพลงท่อนนั้นจนจบเพลงไปเลย เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดหรือคุยกับใครสักคน เพื่อให้เราโฟกัสไปที่อย่างอื่นแทน 

 

Post-Travel Depression (PTD) กลับมาจากเที่ยวแล้วซึมเศร้า

เมื่อไหร่ที่กลับมาถึงบ้านหลังจากไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นการค้างแรมที่ต่างจังหวัด ไปคอนเสิร์ต หรือปาร์ตี้เล็ก ๆ เช้าวันต่อมากลับรู้สึกอ้างว้าง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกลับไปทำงาน แทนที่การได้ผ่อนคลายจะช่วยให้เราได้เติมพลังแต่กลับทำให้เราเหนื่อยกว่าเดิมทุกครั้งเมื่อกิจกรรมต่าง ๆ ได้ผ่านพ้นไป อาการนี้ไม่ได้เป็นเพราะรู้สึกผิดที่กินเยอะหรือใช้เงินเก็บจนหมด แต่ความจริงแล้วเกิดจากการที่เรา “มีความสุขมากเกินไป” ต่างหาก จึงทำให้เมื่อกลับมาอยู่ที่ความเป็นจริง จุดเดิม ๆ ที่เราต้องตื่นเช้าไปทำงาน เกิดอาการที่มีชื่อว่า Post-Travel Depression (PTD)

 

แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องมีความสุขให้น้อยลงเวลาที่เราไปเที่ยว เรายังสามารถใความสุขได้เหมือนเดิม สนุกได้เท่าที่เราต้องการ โดยวิธีแก้ไขอาการ Post-Travel Depression (PTD) นี้ เราสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากการยอมรับความจริงว่าหน้าที่ในตอนนี้ของเราคืออะไร พร้อมไปกับการเริ่มวางแผนทริปต่อไป เพราะจะทำให้เรารู้สึกว่ากำลังมีความสนุกรออยู่ หรือลองตั้งเป้าหมายในชีวิตประจำวันให้เหมือนเวลาเราตั้งเป้าหมายในการท่องเที่ยวดู อย่างการหาร้านอร่อยที่ยังไม่เคยไป หรือหาอาหารต่างชาติใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยลอง ไว้ไปกินหลังเลิกงานกับเพื่อน ๆ ก็จะสามารถช่วยเราได้เช่นกัน

 

อ่านบทความเต็มเกี่ยวกับอาการ Post-Travel Depression (PTD) ได้ ที่นี่

 

PMS-PMDD กลุ่มอาการที่ผู้หญิงมักเป็นก่อนประจำเดือนมา

คุณแฟน ๆ อาจต้องเคยเจอกับอาการนี้กันอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ชายที่ไม่เข้าใจ เพราะบางครั้งผู้หญิงเองก็ไม่เข้าใจเพื่อนข้าง ๆ ด้วย เพราะอารมณ์และฮอร์โมนในแต่ละคนต่างกัน เราเลยอาจเผชิญกับ Level ความเหวี่ยง หรือความโมโหที่แตกต่างกันไป ‘PMS (Premenstrual Syndrome)’ กลุ่มอาการที่มักจะแสดงอารมณ์เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน ซึ่งเป็นช่วงไข่ตกและเกิดความแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ไม่สบายตัว หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ไปจนถึงอาการที่แสดงออกทางร่างกายอย่างอาการท้องอืด ท้องเสีย ปวดหัว เป็นต้น ถึงจะดูเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้และหายไปในเวลาไม่นาน แต่อาการนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่ เพราะบางครั้งอาการ PMS ที่รุนแรง อาจพัฒนาไปสู่ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) เป็นอาการทางจิตเวชที่แสดงอาการตั้งแต่รู้สึกเครียดและซึมเศร้ามากกว่าปกติ ปวดตามร่างกายอย่างรุนแรง และเริ่มมีการกระทบกระทั่งกับคนรอบตัวมากขึ้น 

 

สิ่งที่เราควรทำคือการหมั่นสังเกตอาการตัวเองหรือคุณแฟน เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะจัดการยังไง หรือควรปรึกษาแพทย์ดีไหม จะได้ป้องกันผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของอาการ PMS ก็มีวิธีดูแลตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างการปรับไลฟ์สไตล์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะร่างกายที่แข็งแรงขึ้นจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนเป็นประจำเดือนได้

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 17 มิถุนายน 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

Source:

innnews.co.th

thematter.co

pobpad.com

missiontothemoon.co

learnolife.com

thematter.co

brandthink.me

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, lifestyle, monsoon blues, earworm, pms, pmdd, ptd, sunday scaries, นอนดึก, อาการของคนทำงาน, คนทำงาน, การทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม