คนทำงานกับขั้นตอนการยื่นจ่ายภาษีที่ถูกต้อง

ในแต่ละวันของเราอาจจะใช้เวลาค่อนข้างเยอะหมดไปกับการทำงานจน ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาเรื่องราวที่จำเป็นกับเราเพิ่มเติมมากนัก แต่การจ่ายภาษีเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประชาชนคนหนึ่ง เพราะเป็นรายได้หลักของประเทศที่จะไปสร้างสรรค์สวัสดิการดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นขั้นตอนในการเสียภาษีก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนทำงานควรใส่ใจไม่แพ้กัน เพราะท้ายที่สุดแล้วการยื่นจ่ายภาษีอย่างถูกต้องนั้น ให้ผลประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีเอง ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ การวางแผนการเงิน เพราะผู้เสียภาษีจะต้องคำนวณเกี่ยวกับรายรับจ่ายในปีนั้น ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการลดหย่อนภาษี ซึ่งก็จะทำให้เรามีความฉลาดด้านการใช้จ่ายมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน และท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ของการจ่ายภาษีนั้นก็จะกลับมาคืนสู่ตัวผู้เสียเอง ในแง่ของสวัสดิการสังคมแบบต่าง ๆ

ด้วยประการดังนี้ JobThai จึงอยากจะร่วมแบ่งปันความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นเสียภาษีของคนทำงาน เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย และจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในภายหลัง สบายใจทั้งตอนจ่าย แล้วผ่อนคลายไปกับสังคมดี ๆ

 

 

  • เมื่อได้รับเงินเดือนควรคำนวณรายได้สุทธิแล้วตรวจสอบก่อนว่าเราเป็นบุคคลที่ต้องยื่นเสียภาษีหรือไม่ หากรายได้เกิน 120,000 บาท ต่อปีจะถือว่าเป็นบุคคลที่ต้องยื่นเสียภาษี
  • ภ.ง.ด. ย่อมาจาก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นชื่อแบบฟอร์มที่ใช้ยื่นเสียภาษี คนทำงานมักจะใช้ ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.90
  • ปัจจุบันสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีทั้งโปรแกรมคำนวณการจ่ายภาษีและลดหย่อนภาษีให้ครบ
  • หากลืมยื่นจ่ายภาษีจะโดนค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนคนที่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ต้องจ่ายค่าปรับ และจ่ายภาษีในอัตราคูณ 1.5% ต่อเดือนด้วย
  • "การระงับข้อพิพาท" เป็นทางออกของความขัดแย้งในกรณีคำนวณภาษีผิดพลาด โดยกฎหมายจะบอกว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหายุติ

 

 

ปัญหาของการยื่นจ่ายภาษีสำหรับคนทำงานคืออะไร

คนทำงานหลายคนมักจะงุนงงกับคำศัพท์เกี่ยวกับภาษี จึงทำให้หลายคนท้อแท้ที่จะศึกษาอย่างจริงจังเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย เป็นเนื้อหาที่หนักและไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง ยิ่งถ้าเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานด้วยแล้ว ไหนจะต้องปรับตัวทั้งเรื่องของหน้าที่การงาน การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ ก็แทบจะไม่เหลือเวลาทำอะไรแล้ว ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนทำงานที่ดีที่ควรจะมีความรับผิดชอบกับงาน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหากเราสามารถทำงานให้ออกมาดี เราก็สามารถเป็นพลเมืองที่ดีด้วยการเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของการจ่ายภาษีควบคู่กันไปย่อมดีกว่า เพราะหากทำไม่ถูกต้องก็อาจพบปัญหาตามมาได้เช่นเดียวกัน

 

แล้วทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า "ถูกต้อง"

เมื่อได้รับเงินเดือนแล้ว ขั้นแรกก็ตรวจสอบก่อนว่าเราเป็นบุคคลที่ต้องยื่นเสียภาษีหรือเปล่า แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงจะต้องยื่นภาษีก็ไม่ได้หมายความว่าจะถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายเงินนะ ซึ่งเราถ้าเรามีหน้าที่เป็นผู้ที่ต้องยื่นจ่ายภาษีก็ยื่นแสดงรายการเงินได้ของปีนั้น ภายในช่วงเวลาประมาณมีนาคมถึงต้นเมษายนของปีถัดไป โดยใช้เลขบัตรประชาชนเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ไม่ยากเลยใช่ไหม

1. รู้แบบฟอร์มต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

แบบยื่นชำระการจ่ายภาษีเรียกว่า "ภ.ง.ด." ย่อมาจาก "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ซึ่งจะมีตัวเลขกำกับต่อท้าย ตั้งแต่

  • ภ.ง.ด.91 ตัวนี้จำง่ายมากคือเลข "1" ใช้สำหรับคนที่ทำงานรับ "เงินเดือนอย่างเดียว" หรือมีรายมีรายรับ 1 ทาง จะต้องยื่นจ่ายภาษี 1 ครั้ง ครั้งเดียวเท่านั้น
  • ภ.ง.ด.90 ใช้ยื่นสำหรับคนมีรายรับ 2 ทาง คือคนที่มีทั้งเงินเดือนและมีรายได้จากทางอื่นด้วย เช่น การปันผลจากกองทุนและหุ้นต่าง ๆ หรือมีอาชีพเสริมที่ 2 ซึ่งทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ
  • ภ.ง.ด.94 สำหรับ "ผู้ไม่มีเงินเดือน" เป็นรายได้หลัก แต่มีเงินจากทางอื่นมาแทน เช่น การรับปันผลจากกองทุนและหุ้น การขายที่ดินได้ ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของเดือน มกราคมถึงมิถุนายน ยื่นภายในเดือน กันยายาน ปีเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการเสียภาษีแบบครึ่งปี

2. รู้ช่วงเวลายื่นแบบฟอร์มต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

ถึงตรงนี้ก็ทราบกันแล้วว่าต้องใช้แบบฟอร์มใดในการยื่น ต่อมาจะต้องยื่นให้ถูกช่วงเวลา สำหรับปี 2560 จะสามารถยื่นได้ดังนี้

  • ถ้ารับเงินเดือนกับโบนัสแล้วกลับบ้านนอน ใช้ 91 ยื่นครั้งเดียว ภายใน 1 มกราคม ถึงวันที่ 10 เมษายนของปีถัดไป
  • ถ้าหลังเลิกงานไปทำอาชีพเสริม ใช้ 90 ยื่นครั้งเดียว ภายใน 1 มกราคม ถึงวันที่ 10 เมษายนของปีถัดไป เช่นเดียวกัน
  • ถ้าเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวจะต้องยื่น 2 แบบฟอร์ม 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ภ.ง.ด. 94 ยื่นตอนกันยายน และ ภ.ง.ด. 90 ตอนสิ้นปี แล้วถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็จะได้รับเงินนั้นคืน

หรือสามารถตรวจสอบช่วงเวลาการยื่นแบบฟอร์มต่าง ๆ ได้ที่หน้าปฏิทินของเว็ปไซต์ของกรรมสรรพากรได้เลย

3. รู้ช่องทางการยื่นแบบฟอร์มต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากเพราะสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย มีทั้งโปรแกรมคำนวณการจ่ายภาษีและลดหย่อนภาษีให้ครบ คนทำงานที่ต้องการยื่นภาษีเลยไม่ต้องกังวลเรื่องความยุ่งของการยื่นภาษีอีกต่อไป ขอเพียงแค่มีความเข้าเกี่ยวกับภาษีขั้นพื้นฐาน หลังจากนั้นเมื่อกรอกครบจบก็เรียบร้อย ถือว่ายื่นภาษีได้ถูกต้อง

แต่ถึงการยื่นแบบฟอร์มผ่านอินเทอร์เน็ตจะสบาย แต่ก็ต้องระวังห้ามลืมจ่ายเงินด้วยนะ

สำหรับคนที่ยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตและอยู่เกณฑ์ต้องจ่ายภาษีแต่ไม่จ่ายภาษี หากกรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จริง แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้สรรพากร ก็จะถือเข้าข่ายคนที่ไม่ได้ยื่นจ่ายภาษี คือถือว่าไม่ได้ยื่นภาษีเลย ดังนั้นเมื่อนึกขึ้นได้ให้รีบไปยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา จากนั้นก็จ่ายค่าปรับ และจ่ายภาษีในอัตราคูณ 1.5% ต่อเดือนด้วย เช่นเดียวกัน ทางที่ดีเมื่อจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้วให้ตรวจสอบใบเสร็จทุกครั้ง

 

ยื่นภาษีไปแล้วแต่คิดภาษีผิด ทำอย่างไรดี (การระงับข้อพิพาท)

ถึงจะบอกว่ากรอกครบตามแบบฟอร์มที่ให้ยื่นและมีเอกสารอื่น ๆ สำหรับลดหย่อนภาษีแล้วก็ตาม แต่คนเราย่อมมีความผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการลืมกรอกข้อมูลอะไรไป หรือเอกสารไม่ครบตามที่กำหนดไว้ ทำให้ภาษีดูแปลกไปกว่าที่ควร เช่น ทำไมเราถึงต้องจ่ายภาษีเยอะจังทั้งที่เงินเดือนเท่านี้เอง หรือต้องจ่ายภาษีน้อยมากทั้งที่มีรายรับจากหลากหลายช่องทาง ถ้าสรรพากรเห็นว่าเราคำนวณภาษีผิดพลาด หรืออาจจะจ่ายไม่ครบตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานมีอำนาจบอกโต้แย้งไม่เห็นด้วยและให้เราไปแสดงหลักฐานใหม่ หรือในกรณีที่เราไม่ได้เป็นคนคิดภาษีเอง แต่เจ้าพนักงานประเมินภาษีมาให้ ถ้าเราไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิ์โต้แย้งไม่เห็นด้วยได้เช่นเดียวกัน

หากเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้น "การระงับข้อพิพาท" จะเป็นทางออกของความขัดแย้ง โดยกฎหมายจะบอกว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหายุติ ตั้งแต่ขั้นต้นคือ ยอมรับ ทำใจ จบ ๆ กันไปด้วยจ่ายภาษีไปตามที่เขาคิดมาให้ แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่ถูกต้องขั้นรุนแรง ก็สามารถไปฟ้องศาลได้เช่นกัน

 

สมมติต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริง ๆ ล่ะ (การบังคับคดี)

ว่าด้วยเรื่องเสียภาษีแล้ว บางคนก็พยายามจะหลีกเลี่ยง ไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างสรรค์สังคมที่สวยงามไปด้วยกัน แม้จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถที่จะช่วยเหลือได้ ซึ่งหากเรามีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้สังคม กฎหมายก็สามารถบังคับให้จ่ายภาษีได้ ซึ่งความรุนแรงก็มีหลายระดับ เช่น ยึดทรัพย์ หรือขั้นยึดทรัพย์สินหมดเอามาขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาจ่ายภาษีเลยก็เป็นได้

 

เกร็ดความรู้!

ถ้าลืมยื่นภาษีทำอย่างไรดี

คำตอบก็คือ "โดนปรับ" แต่ทั้งนี้จะโดนค่าปรับอย่างไร เท่าไหร่ ก็แบ่งออกเป็นหลายกรณี เช่น ลืมสนิทไปเลยไม่ยื่น หรือว่ายื่นช้ากว่าเวลาที่กำหนดเอาไว้

ลืมหรือไม่รู้จริง ๆ ว่าต้องยื่น

มีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด 90 หรือ 91 แต่ไม่ไปยื่น ขั้นแรกจะมีใบส่งมาบอกกล่าว เตือนกันให้ไปทำให้ถูกต้องในเวลาที่กำหนด แต่ถ้าภายในเวลาที่กำหนดยังไม่จัดการให้เรียบร้อย ก็จะโดนค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ยกเว้นว่าจะมีเหตุผลจำเป็น หรือไม่รู้จริง ๆ ว่าตัวเองเข้าข่ายต้องยื่นเสียภาษีก็สามารถขอลดค่าปรับส่วนนี้ได้

รู้ว่าตัวเองต้องยื่น แต่สายเกินไป

สำหรับคนที่รู้ว่ามีหน้าที่ต้องยื่น แต่ยื่นเกินช่วงเวลาที่กำหนด จะแบ่งได้เป็น 2 แบบ

  • คนที่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ต้องจ่ายค่าปรับ และจ่ายภาษีในอัตราคูณ 1.5% ต่อเดือนด้วย
  • คนที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่าย ก็จ่ายค่าปรับอย่างเดียว

 

 

ให้กฎหมายเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว อ่านความรู้ด้านกฎหมายได้ที่ JobThai

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา :

เว็ปไซต์กรมสรรพกร

 

tags : คนทำงาน, การจ่ายภาษี, การยื่นเสียภาษี, คนทำงานกับการเสียภาษี, ภ.ง.ด., ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภาษี, ภาษีบุคคลธรรมดา, คำนวณภาษี, ลดหย่อนภาษี, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม