เพราะคนวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญในปัจจุบันนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี จึงมีความสามารถหลากหลาย เรียนรู้ได้เร็ว และปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ ได้ดี
สิ่งที่จะดึงดูดให้คนที่มีความสามารถในกลุ่มนี้อยากร่วมงานกับองค์กรใด ๆ ก็คือ ลักษณะการทำงานที่ตอบโจทย์, บรรยากาศในการทำงานที่ดี และการจัดรูปแบบสถานที่ให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงาน สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงนี้เรียกว่าเทรนด์ออฟฟิศ 4.0 เป็นออฟฟิศแนวใหม่ที่ฉีกกรอบการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ เพิ่มความสนุกและตื่นเต้น เพิ่ม Passion ให้กับคนวัยทำงานให้มีความสุขกับการทำงานในทุก ๆ วัน
ออฟฟิศ 4.0 ส่งผลต่อพนักงานอย่างไร?
การสร้างความผูกพันต่อองค์กรให้กับพนักงานที่มีความสามารถ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถสร้างผลงานที่ดีได้มากขึ้น พร้อมกับการมีความสุขกับงานที่ทำอยู่
ทางองค์กรต่าง ๆ จึงเริ่มเล็งเห็นความต้องการของทรัพยากรบุคคลมากขึ้น จึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน รวมถึงการจัดรูปแบบออฟฟิศ ให้มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเหล่าพนักงานให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบการทำงานด้วย Passion (ความหลงใหล) และต้องการแบ่งสมดุลเวลาในการทำงาน-เวลาส่วนตัว ให้ไปด้วยกันได้ (Work-Life Balance) หากสถานที่ทำงานได้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ก็จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงาน พร้อมทั้งเพิ่มความผูกพันกับองค์กรได้อีกไม่น้อยเลยล่ะ
การจัดการออฟฟิศ 4.0 สไตล์คนรุ่นใหม่
เครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งขององค์กรยุคใหม่ คือการจัดการออฟฟิศ หรือพื้นที่สำหรับทำงาน ที่ชอบตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งคำนึงถึงการใช้ชีวิตของพนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยังมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีหลากหลายรูปแบบดังต่อไปนี้
-
Traditional Solution
เป็นรูปแบบการจัดออฟฟิศที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน คือออฟฟิศที่มีการกำหนดที่นั่งทำงานของพนักงานแต่ละคนเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการจัดพื้นที่ทำงานในรูปแบบนี้จะเหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้สมาธิและต้องการความเป็นส่วนตัว แต่มีข้อเสียก็คือต้องใช้พื้นที่เยอะ จึงมีค่าใช้จ่ายสำหรับพื้นที่สูงสุด
-
Hot Desk
รูปแบบนี้คือการที่พนักงานจะสับเปลี่ยนที่นั่งสำหรับทำงานไปเรื่อย ๆ โดยจะไม่มีการกำหนดที่นั่งแบบตายตัวว่าตำแหน่งนี้เป็นของใคร เป็นการจัดการออฟฟิศที่เหมาะกับการทำงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ การพูดคุยสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเพื่อพัฒนาผลงานร่วมกัน และเป็นงานที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการทำงานมากนัก ก็สามารถใช้รูปแบบนี้ได้ ข้อดีของการจัดออฟฟิศในรูปแบบนี้ก็คือจะช่วยประหยัดพื้นที่ในการทำงาน
-
Collaborative Workspace
การจัดรูปแบบออฟฟิศที่มีการจัดสรรพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานแบบเป็นทีม เน้นเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ประหยัดพื้นที่ในการทำงาน แต่อาจไม่เหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธิเท่าใดนัก
-
Activity-Based Workspace
ออฟฟิศที่มีการจัดรูปแบบที่แบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการทำงานประเภทต่าง ๆ โดยจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์สำหรับการทำงานนั้น ๆ จัดไว้ให้พนักงาน เช่น โต๊ะกระจกกั้นที่เหมาะสำหรับงานที่ต้องคุยโทรศัพท์, ห้องประชุมรวมสำหรับการระดมความคิดในทีม, เครื่องถ่ายเอกสารสำหรับงานที่ต้องใช้เอกสาร ฯลฯ ซึ่งการจัดสรรพื้นที่แบบนี้จะช่วยให้ง่ายต่อการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรในการทำงาน
การจัดการพื้นที่ออฟฟิศ ที่คำนึงถึงความสุขในการทำงาน
สิ่งสำคัญสำหรับการจัดรูปแบบออฟฟิศยุค 4.0 คือการคำนึงถึงความสุขในการทำงานของพนักงาน องค์กรที่ดี ควรมีสิ่งเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการทำงานและไลฟ์สไตล์ของพนักงานไปพร้อม ๆ กัน คือ
-
Focus on Wellness
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน โดยการจัดออฟฟิศที่คำนึงถึงการรับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป รวมทั้งสวัสดิการด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่มีให้กับพนักงาน เช่น ประกันสังคม, ความคุ้มครองประกันสุขภาพ, สิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่พนักงานควรจะได้รับ
-
Ergonomic Design
การจัดสรรและออกแบบพื้นที่สำหรับทำงานให้ยืดหยุ่น เหมาะสมกับการทำงานหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้มีความรวดเร็วและผลงานมีคุณภาพ ลดปัญหาความเหนื่อยล้าของพนักงาน
-
Provide a Wide Range of Amenities
องค์กรที่มีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเอาไว้สำหรับพนักงาน เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ในการทำงานและการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุลและมีความสุข เช่น พื้นที่สำหรับพักผ่อน, มุมของว่าง, มุมเล่นเกม หรือฟิตเนส เพื่อให้พนักงานได้มีพื้นที่สำหรับผ่อนคลาย
และนี่ก็คือแนวทางการจัดการออฟฟิศแบบ 4.0 ที่เหมาะสำหรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ หากอยากให้ทุกวันของการทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข ลองนำรูปแบบนี้ไปปรับใช้ดูได้เลย
บทความโดย Rabbit Finance