9 สัญญาณที่กำลังบอกว่าผู้สมัครคนนี้อาจไม่ใช่คนที่ควรรับเข้าทำงาน

30/10/23   |   60.9k   |  

 

  • พูดโอ้อวดตัวเองมากเกินไป แต่ไม่ยอมพูดถึงความผิดพลาดหรือข้อเสียของตัวเอง และพูดถึงแต่เรื่องไม่ดีของที่บริษัทเดิม
  • ให้หัวหน้าจากบริษัทเก่า ๆ ที่เคยทำงานมานานแล้วมาเป็นบุคคลอ้างอิงให้ และไม่ยอมบอกถึงสาเหตุที่ทำให้เขาต้องการย้ายงาน
  • ให้ความสนใจเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการมากกว่าเรื่องงานและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
  • ครอบครัวหรือคนที่มีความสำคัญกับผู้สมัครไม่เห็นด้วยที่เขาจะทำงานในตำแหน่งนี้หรือองค์กรของคุณ
  • รู้สึกว่าผู้สมัครกำลังพูดโกหก หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองในระหว่างการสัมภาษณ์ได้อย่างที่ควร

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ความท้าทายของคนที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลหรือ HR นอกจากการคัดกรองเรซูเม่จากผู้สมัครจำนวนมากแล้ว การสัมภาษณ์งานก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ท้าทายไม่แพ้กัน เพราะต้องใช้เวลาในช่วงสั้น ๆ สัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อจะทำให้รู้จักตัวตนของพวกเขามากขึ้นผ่านบุคลิกและทัศนคติว่าเขาเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับหรือไม่ แต่ก็มีหลายครั้งที่คนเป็น HR อาจจะยังลังเลใจรู้สึกสงสัยว่า ผู้สมัครคนนี้จะใช่คนที่ควรรับเข้าทำงานแค่ไหน

 

วันนี้ JobThai ได้รวบรวม 9 สัญญาณที่จะเป็นตัวช่วยในการพิจารณาผู้สมัครให้มากขึ้น เพราะถ้ามีสัญญาณเตือนเหล่านี้ แม้จะมีทักษะความสามารถที่ดีแค่ไหนก็คงต้องไตร่ตรองให้รอบครอบอีกครั้ง

 

พูดถึงแต่แง่ลบของบริษัทเดิม

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเปลี่ยนงานจะรู้สึกไม่พอใจ หรือไม่มีความสุขจนต้องมองหางานใหม่ แต่ถ้าผู้ที่มาสัมภาษณ์เอาแต่พูดถึงแค่แง่ลบของบริษัทเดิม ก็คงพอทำให้เรามองเห็นได้ว่าเขาพร้อมที่จะตำหนิคนอื่นอยู่เสมอ จนบางครั้งก็ดูไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานมากพอ ทั้งที่จริงคือเขาควรควบคุมสติตัวเองให้ได้ แล้วอธิบายว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เขาไม่มีความสุขในการทำงานและเลือกที่จะลาออก

 

ให้หัวหน้าเมื่อนานมาแล้วเป็นบุคคลอ้างอิง

ที่จริงแล้วผู้สมัครควรเลือกหัวหน้าคนปัจจุบันมาเป็นบุคคลอ้างอิง แต่ในกรณีที่เขายังไม่ได้แจ้งบริษัทว่าจะลาออก และยังไม่อยากให้หัวหน้ารู้ว่ากำลังหางานใหม่ ก็ควรเลือกหัวหน้าคนล่าสุดมาเป็นบุคคลอ้างอิง ไม่ใช่เลือกคนที่เป็นหัวหน้าเมื่อสิบปีที่แล้ว ถ้าผู้สมัครยังไม่ยอมให้ติดต่อบุคคลอ้างอิงคนล่าสุดเราก็ควรต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าเพราะอะไร

 

ไม่ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง

ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าเราจะเป็นคนเก่งหรือทำงานได้สมบูรณ์แบบแค่ไหน แต่เรื่องแบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเราถามผู้สมัครเรื่องความผิดพลาดในอดีตว่าได้เรียนรู้อะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร แต่เขาเลือกที่จะไม่บอกหรือตอบว่าไม่มี ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะกำลังปิดบังอะไรเราอยู่นั่นเอง

 

นอกจากนี้ยังเป็นจุดสังเกตได้ว่า คนที่รู้ข้อด้อยของตัวเอง กล้ายอมรับความผิดพลาด มักจะเป็นคนที่พร้อมเปิดใจรับฟังความเห็นและคำแนะนำจากคนอื่นเสมอ

 

โอ้อวดมากเกินไป 

การพยายามแสดงออกถึงความมั่นใจเป็นคุณสมบัติที่ดีของการทำงาน แต่ในการสัมภาษณ์งานถ้าพูดถึงความสำเร็จมากเกินไปจนเกินพอดี ก็จะกลายเป็นเหมือนการพูดโอ้อวดไปได้ ถ้าเรารู้สึกว่าผู้สัมภาษณ์พูดค่อนข้างเกินจริง หรือเวลาที่เรามีข้อสงสัยแล้วเขาตอบได้แค่กว้าง ๆ นั่นก็อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องถามตัวเองอีกครั้งแล้ว

ไม่บอกสาเหตุของการเปลี่ยนงาน

เป็นธรรมดาที่ HR จะอยากรู้สาเหตุของการลาออก แต่ถ้าผู้สมัครไม่บอกสาเหตุของการเปลี่ยนงาน หรืออธิบายแบบคลุมเครือ เราก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าทำไมเขาจึงไม่บอก เพราะนี่อาจหมายความว่าเขาลาออกจากที่เก่าด้วยเหตุผลที่ไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าเราจะเสี่ยงรับก็อาจเป็นผลเสียกับบริษัทได้ในอนาคต

 

ปัจจัยให้คน Gen Z เปลี่ยนงาน และเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ

 

เงินไม่มา งานไม่เดิน

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่คนทำงานจะต้องคิดเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและค่าตอบแทน แต่ถ้าเราเห็นแล้วว่าผู้สมัครมองเรื่องพวกนี้มากกว่างานและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนได้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจมาทำงานเต็มที่ แถมยังพร้อมจะลาออกเมื่อเจอข้อเสนอที่ดีกว่าอีกด้วย 

 

ครอบครัวไม่สนับสนุนงานนี้

ต้องบอกว่าคนใกล้ตัวและคนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่มีผลต่อการเลือกตัดสินใจของผู้สมัคร ถ้าคนเหล่านี้ไม่สนับสนุนงานที่ผู้สมัครมาสัมภาษณ์ก็อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งบริษัทและตัวเขาเองในอนาคต

 

ลองคิดภาพนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องมาทำงานไกลจากบ้าน เช่าหอพักอยู่คนเดียวเพื่อให้เดินทางสะดวก ทั้ง ๆ ที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกเลือกทำงานใกล้บ้านมากกว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คนเป็น HR ก็ต้องคิดดูให้ดีว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาอีกบ้าง

 

คุมอารมณ์ไม่ได้

การควบคุมอารมณ์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงาน เพราะเราต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอยู่เสมอ ถ้าควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อคนอื่น และแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพ

 

ลองสังเกตผู้สมัครของเราดูว่าเขาควบคุมอารมณ์ได้ไหม ถ้าเกิดบางคำถามที่ถามออกไปแล้วเขาแสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ ร้องไห้ พูดสะบัดเสียง ตื่นเต้น ประหม่า จนตอบถูก ๆ ผิด ๆ หรือตอบคำถามทั่ว ๆ ไปไม่ได้ นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องคิดหนักด้วยเหมือนกัน

 

ตั้งใจพูดโกหก

ถ้าในการสัมภาษณ์ เราเห็นว่าผู้สมัครเริ่มพูดไม่ตรงกับข้อมูลในเรซูเม่หรือมีท่าทีแปลก ๆ ให้น่าสงสัยว่ากำลังโกหกอยู่ ก็ควรจับตาดูและสังเกตพฤติกรรมเอาไว้ และถ้าเมื่อไหร่ที่แน่ใจแล้วว่าเขาโกหกตอนสัมภาษณ์ เราก็ไม่ควรรับเขาเข้ามาทำงาน เพราะถ้าในการสัมภาษณ์จะตั้งใจพูดโกหกแล้ว ก็ไม่มีอะไรรับรองได้เลยว่าเวลาเข้ามาทำงานจริงเขาจะไม่โกหกเราอีก

 

ไม่ใช่แค่ตอนสัมภาษณ์ แต่ Social Media ก็ช่วยคัดกรองผู้สมัครได้เหมือนกัน

ถ้าอยากรู้ ดูบทความนี้เลย

 

อยากหาคน แต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกับ JobThai

สมัครสมาชิกเพื่อลงประกาศงานได้ที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

thepalmergroup.com

staffmasters.com

painlesshire.com

tags : hr, recruitment, human resource, ทรัพยากรบุคคล, การคัดเลือกพนักงาน, สัมภาษณ์งาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม