[X Career] เปิดสูตรลับ ก่อนข้ามสายไปเป็น UX/UI Designer กับคุณอิง ดาริน สุทธพงษ์ CEO of Hato Hub

 

 

 

ในการออกแบบเว็บไซต์และการทำตลาดออนไลน์ เราไม่ได้คำนึงเพียงแค่ความสวยงามของเว็บไซต์ แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานอีกด้วย ซึ่งการจะทำให้หน้าเว็บไซต์สินค้าหรือบริการของเราตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้รอบด้านนั้น อาชีพ “UX/UI Designer” มีส่วนสำคัญอย่างมาก และหากคุณกำลังสนใจสายงานนี้ JobThai จะพามารู้จักกับ คุณอิง ดาริน สุทธพงษ์ CEO แห่ง Hato Hub และ Founder & CEO ของ Indy Dish ซึ่งมีประสบการณ์ในสายงานนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้าน UX Design ให้กับบริษัทและมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เคยรับตำแหน่ง Lead UX Designer ให้กับบริษัท Amazon.com และทำงานกับกลุ่มบริษัท US Fortune 100 Companies มากกว่า 10 ปี ซึ่งคุณอิงได้มาพูดคุยถึงการทำงานสาย UX/UI Designer ใน Live X Career ข้ามสาย Talk Season 2 ด้วย

 

เส้นทางอาชีพที่ผ่านมาของคุณอิง

คุณอิงจบปริญญาตรีทางด้าน Animation Graphic และได้ทำงานเป็น Motion Graphic Designer ในวงการสายบันเทิงประมาณ 8 ปี หลังจากเริ่มมีงาน UX (User Experience) เกิดขึ้นในอเมริกา คุณอิงจึงผันตัวมาทำงานสาย UX ซึ่งได้ทำงานเป็น UX Designer และ UX Design Lead ที่ Amazon อยู่เป็นเวลา 4 ปี

 

หลังจากกลับมาไทยจึงเริ่มทำ Startup ในชื่อ “Indy Dish” โปรเจกต์ที่ตั้งใจอยากส่งต่ออาหารที่ดีให้กับทุกคนผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Sustainable Food Delivery’ หรือเรียกง่าย ๆ คือเป็นตลาดออนไลน์สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพที่มีทั้งบริการรับส่งอาหาร และมีสินค้าเกี่ยวกับอาหารเป็นของตัวเอง และไม่นานมานี้คุณอิงก็ได้เปิดบริษัท Hato Hub ที่นำเอาเทคโนโลยีจากแอปฯ Indy Dish มาพัฒนาเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ที่สามารถให้ร้านอาหารส่งอาหาร-รับออเดอร์ได้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมมากกว่า 200 สาขาภายในเวลา 5 เดือน

 

ประสบการณ์การทำงานที่ Amazon จนได้เป็น Lead UX Designer

เริ่มแรกที่คุณอิงได้ไปทำงานให้ Amazon นั้นเป็นตำแหน่ง UX Designer ของทีม Customer Services Technology ซึ่งเป็นหลังบ้านของ Amazon ที่ทำเกี่ยวกับการรับ-ส่งออเดอร์ จากนั้นจึงได้มาเป็น Lead UX Designer โดยคุณอิงเป็นคนริเริ่มทำโปรเจกต์ Amazon Redesign ซึ่งเป็นโปรเจกต์ใหญ่ เพราะเป็นการปรับปรุงและพัฒนา UX ใหม่ของ Amazon

 

โปรเจกต์ที่คุณอิงเข้าไปทำจะเป็นการสร้างประสบการณ์ขณะซื้อ (Purchase Experience) ให้กับผู้ใช้งาน ตั้งแต่การสั่งซื้อ Tracking การคืนสินค้า และการบริการ ซึ่งเป็นงานที่คุณอิงรู้สึกว่าภูมิใจเพราะเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็นได้ว่าเขาต้องลงทุนกับ UX

 

นอกจากนั้นคุณอิงยังได้แชร์ว่าวัฒนธรรมองค์กรของ Amazon คือการออกแบบล้วน ๆ ทุกอย่างจะให้ความสำคัญกับลูกค้ามาก จะต้องคิดค้นตลอดว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการทำงานในทุกโปรเจกต์ของ Amazon จะเริ่มต้นด้วยกระดาษ 1 แผ่น ที่เรียกว่า “Press Release” คือการเล่าว่าถ้า Product ถูกปล่อยออกไปสื่อต่าง ๆ จะเขียนข่าวถึงเราว่ายังไง ซึ่งไอเดียนี้มาจาก Jeff Bezos CEO ของ Amazon เป็นแนวคิดของการ Working Backward หรือการเริ่มจากผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จก่อน แล้วค่อยไปหาวิธีทำให้ถึงผลลัพธ์นั้น

 

UX Designer ใน Amazon ต่างกับที่อื่นตรงที่ต้องมีความเป็นนักธุรกิจในตัวพอสมควร

UX ใน Amazon แทบจะไม่ได้จับคอมพิวเตอร์ คือไม่ได้จำเป็นต้องมาสาย UX แบบทางเทคนิค แต่จะต้องจะมีความเป็นนักธุรกิจในตัวพอสมควร ถ้าเป็นที่อื่น UX ส่วนใหญ่จะมี Requirement มาแล้วมีหน้าที่แค่ต้องเปลี่ยนให้เป็น UI (User Interface) หรือส่วนที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานที่มุ่งเน้นเรื่องของหน้าตาการดีไซน์

 

ยิ่งในฐานะที่เป็นทีมหลักก็จะต้องเป็นตัวแทนในการมาพูดคุย ถกเถียงให้กับหลาย ๆ คนที่อยากออก Product ของตัวเองจากทั่วโลก ดังนั้นความสามารถในการสื่อสารจึงสำคัญมาก เพราะ UX ที่นี่ไม่ใช่แค่ออกแบบ Product แต่ต้องถกเถียงเรื่องวิสัยทัศน์ ถกเถียงเรื่องการตัดสินใจด้านดีไซน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และเป็นมากกว่าการทำงานเพื่อความสวยงาม

 

งาน UX Designer ในไทยยิ่งบริษัทเล็กยิ่งต้องทำหลายอย่าง ต้องมีทักษะหลากหลายที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจได้

งาน UX Designer ในไทยจะไม่ได้จำกัดความแค่ UX ยิ่งบริษัทเล็กก็ยิ่งต้องทำหลายอย่าง จะต้องมีทักษะหลากหลายที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ UX Designer ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้งานออกมาสวยอย่างเดียว แต่ต้องรู้ว่าจะไปช่วยคนอื่นยังไงโดยให้ของออกมาสวยด้วย ต้องหาว่าทักษะของเราสามารถไปช่วยตำแหน่งอื่นได้ไหม เช่น ไปช่วยออกแบบกราฟิก หรือไปช่วยทำงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับ UX Designer คือ Mindset ที่เปิดใจนั่นเอง

 

6 ทักษะสำคัญที่ UX Designer ต้องมี

ศาสตร์แห่ง UX มีไว้เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการตอบโจทย์คนใช้งาน ทำให้สิ่งที่ไม่ใช่คนมีปฏิสัมพันธ์กับคนได้ดี และใช้ง่ายกับมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมีทักษะที่สำคัญดังนี้

  1. UX Research: การศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าใจผู้ใช้ ทั้งวิธีเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์ และเชิงปริมาณ เช่น การทำ A/B Testing
  2. UX Strategy: มีกลยุทธ์และแนวทางการทำ UX ว่าจุดไหนที่ควรโฟกัส และจะทำยังไงให้ Support ผู้ใช้งาน
  3. Information Architecture: จัดข้อมูล Product ที่มีอยู่ยังไงให้ค้นหาได้ง่าย
  4. Interaction Design – How it works? (ทำงานอย่างไร): หลักในการออกแบบเพื่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุ หรือพื้นที่ ออกแบบว่าสินค้าหรือบริการนั้นทำงานอย่างไร วิธีการใช้งานมีลักษณะเป็นอย่างไร ให้ผู้ใช้งานบรรลุเป้าหมายการใช้งานอย่างราบรื่น
  5. Visual Design – How it looks? (หน้าตาอย่างไร): การใช้สีหรือตัวหนังสือเป็นอย่างไร
  6. Writing – (พูดยังไง): คำที่ใช้สื่อสารในแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร ซึ่งในบริษัทใหญ่ ๆ หรือ Product ที่ใหญ่มาก ๆ บางที่จะมี UX Writer หรือผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบคำพูดโดยเฉพาะ

 

แต่ 2 ทักษะสำคัญที่สุดของ UX Designer ที่ขาดไม่ได้เลย คือ Interaction Design และ Visual Design

 

วิธีการฝึกฝน Interaction Design และ Visual Design ต้องเริ่มจากการทำโปรเจกต์ และฝึกแก้โจทย์ต่าง ๆ

สำหรับคนที่อยากพัฒนาทักษะด้าน Interaction Design และ Visual Design ต้องเริ่มจากการทำโปรเจกต์และโจทย์ ฝึกแก้ปัญหาโดยใช้การออกแบบเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา เช่น การหาโจทย์มาทำแล้วออกแบบว่าจะตอบโจทย์ด้วยปฏิสัมพันธ์แบบไหน เลือกใช้องค์ประกอบงานออกแบบของ UI ให้ถูกต้อง ซึ่งการเรียนรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรและสามารถเลือกใช้ให้ถูกเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก โดยคุณอิงแนะนำให้ติดต่อไปขอทำโปรเจกต์งานจากบริษัทต่าง ๆ ซึ่งจะมีทั้งแบบทำให้ฟรี กับมีค่าจ้าง อย่างตอนที่คุณอิงเปลี่ยนสายมาเป็น UX ช่วงแรก ๆ ก็ทำฟรีอยู่หลายเดือน เด็กจบใหม่หรือคนข้ามสายที่ยังไม่มีผลงานก็เน้นหาโปรเจกต์ทำเยอะ ๆ เพราะงาน UX วัดกันที่ผลงานเป็นหลัก

 

นอกจากนั้นคุณอิงยังได้แนะนำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์สำหรับคนสนใจงานสายนี้เอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลังความรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีการออกแบบที่ Center Centre - UIE หรือการลงเรียนคอร์สจาก General Assembly ก็ถือเป็นการปูพื้นฐาน UX ที่ดี อย่างไรก็ตามคุณอิงแนะนำว่าอย่าไปเน้นเรียนเพียงอย่างเดียว ให้เน้นทำโจทย์ ฝึกปฏิบัติด้วยดีกว่า

 

Feedback ที่ดีสำหรับ UX คือต้องท้าทายคนทำว่าทำไมถึงทำแบบนี้ มีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ไม่ใช่ดูแค่ความสวย

สำหรับเรื่องการได้ Feedback ของงาน UX คุณอิงแชร์ว่าที่ Amazon จะมี Design Office Hour คือการเอาโจทย์มานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเสมอ แต่ในบริษัทไทยส่วนใหญ่จะมี UX กันอยู่ไม่กี่คน ทำให้หาคนมาคอย Feedback ยาก วิธีที่ดีที่สุดคือต้องพยายามหาพี่เลี้ยงทางด้าน UX มารีวิวด้านการออกแบบ ซึ่งคอมเมนต์ที่ดีสำหรับ UX คือต้องท้าทายคนที่ทำว่าทำไมถึงทำแบบนี้ หรือมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ไม่ได้ดูว่าสวยหรือไม่สวย

 

โดยคุณอิงแบ่งคอมเมนต์เป็น 2 แบบ

  • จาก End – Product (คอมเมนต์จากลูกค้า): ผลลัพธ์สุดท้าย (End Result) คือไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นให้ปรับปรุงงานของเราได้
  • จาก UX คนอื่น หรือ Community: เพื่อหาว่าผลลัพธ์ที่เราทำมีตัวเลือกสำรองอะไรไหม การถูกโค้ชจะทำให้เราเก่งขึ้น เป็นการช่วยทำให้เราได้ Feedback ที่ดีกว่าการคิดตัดสินใจคนเดียว แต่ต้องฝึกทำแบบจำลองของผลลัพธ์ (Prototype) ให้เป็นเพื่อที่จะให้ Feedback ได้ถูกต้องด้วย

 

หากไม่ค่อยมีคนรู้จักที่พอจะเป็นพี่เลี้ยงได้ อีกวิธีที่ช่วยคือการดูงานของคนอื่น ไม่ควรลอกเลียนแบบจาก Product แต่ควรศึกษาจากฟังก์ชันว่า Product ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นมีการแก้ปัญหาอย่างไร

 

คำแนะนำสำหรับคนจบกราฟิกที่อยากไปทำ UX และเทคนิคการนำเสนอแบบสร้างคุณค่าให้ผลงานของตัวเอง

คนที่จบสายกราฟิกแล้วอยากมาทำ UX ต้องเข้าใจเหตุผลในการออกแบบ UI คือเข้าใจแพทเทิร์นและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุหรือพื้นที่ หรือแม้กระทั่งเสียงแบบต่าง ๆ แล้วหยิบมาใช้ได้เหมาะสม โปรเจกต์ที่ทำต้องตอบได้ว่าปัญหาคืออะไร แก้ปัญหาด้วย Interaction Design ได้อย่างไร

 

สำหรับการนำเสนอผลงาน UX คุณอิงแนะนำว่าเวลาสื่อสารต้องบอกถึงประโยชน์ด้วย อย่ามีแต่ฟีเจอร์อย่างเดียว ในการนำเสนอต้องเข้าใจว่าคนที่จ้างเราส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้รู้เรื่องหลัก UX เสมอไป ดังนั้นต้องพูดให้ได้ว่างานของเราแก้ปัญหาอะไร สร้างคุณค่าอะไรให้กับธุรกิจ เรื่องศัพท์เทคนิค กระบวนการก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หัวใจอยู่ที่การนำเสนอคุณค่าของผลงานเรามากกว่า

 

สิ่งที่อาชีพอื่นเรียนรู้ได้จาก UX Designer คือความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)

“Empathy: UX is all about People”

งาน UX คืองานที่เกี่ยวข้องกับคน การทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตสามารถตอบสนองกับคนได้ตรงความต้องการที่สุด ดังนั้นการมี Empathy มีความเข้าอกเข้าใจในกระบวนการ มองเห็นเหตุและผลในการเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนจึงใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกขั้นตอนของการทำงาน

 

แต่ก่อนทุกคนจะถูกสอนให้แก้ปัญหาเป็นแบบแผน ถ้าแก้ปัญหาจากโจทย์ได้คือจบ แต่สำหรับ UX Designer การแก้ปัญหาต้องตอบโจทย์ในองค์รวม กล่าวคือ เวลามองปัญหาคือไม่ได้แก้ให้จบ ๆ ไป แต่ทำยังไงให้ดีที่สุด ประทับใจที่สุด เหมือนเป็นการวางโจทย์ใหม่ในการทำงานแต่ละครั้ง ซึ่งหากมีตรงนี้ในการทำงาน งานของเราจะเป็นงานที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน

 

นี่คือบางส่วนจากไลฟ์เท่านั้น สำหรับใครที่พลาดไป สามารถเข้าไปชมย้อนหลังได้ ที่นี่

 

หางาน UX/UI Designer ทั้งหมดได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 42,947 members
Join Group
 

tags : x career ข้ามสาย talk, ux, ui, jobs, jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, ข้ามสายงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม