[X Career] เปิดสูตรลับ ก่อนข้ามสายไปเป็น Management Consultant โดย Bluebik Group

 

 

 

งานที่ให้คำปรึกษากับลูกค้าองค์กรเรื่องกลยุทธ์และวิธีการนำไปใช้จริง ทั้งกลยุทธ์ธุรกิจ กลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กรและคนเพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ คืองานของ “Management Consultant” ซึ่งวันนี้ JobThai จะพามารู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น กับคุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล Chief Executive Officer (CEO) ของ Bluebik Group ซึ่งได้มาพูดคุยใน Live X Career ข้ามสาย Talk Season 2 ที่คนกำลังสนใจสายงานนี้หรืออยากเปลี่ยนมาสายนี้ไม่ควรพลาด

 

เส้นทางการมาเป็น Management Consultant ของคุณโบ๊ท

คุณโบ๊ทจบปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากตอนเรียนจบใหม่ ๆ มีความสนใจทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี จึงเริ่มต้นทำงานในฐานะที่ปรึกษา (Consultant) กับ PricewaterhouseCoopers (PwC) 1 ใน 4 บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก หลังจากนั้นจึงศึกษาปริญญาโทต่อในสาขาบริหารธุรกิจ-กลยุทธ์การตลาดและการเงินจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Kellogg School of Management, Northwestern University และได้มาทำงานที่ BCG (Boston Consulting Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ Top 3 ของโลก

 

เมื่อปี 2556 คุณโบ๊ทได้ตัดสินใจร่วมก่อตั้งบริษัท Bluebik Group บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ หรือ Digital Transformation แก่องค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

งานที่ปรึกษาต้องทำงานกับภาพใหญ่ของธุรกิจ ครอบคลุมทุกฟังก์ชัน

งานที่ปรึกษาต้องเจอกับความหลากหลายค่อนข้างมาก เพราะเป็นการทำงานกับภาพใหญ่ของธุรกิจ ครอบคลุมทุก ฟังก์ชัน ซึ่งการเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์มีขั้นตอนในการทำงาน ดังนี้

1. ปูพื้นฐาน: ศึกษาข้อมูล หรือโปรเจกต์เก่า ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. ตั้ง Framework: จุดมุ่งหมายหลักของการเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ คือการทำให้ลูกค้ามีกำไรและเติบโตขึ้น ซึ่งปัญหานี้ค่อนข้างกำกวม ดังนั้นจึงต้องตั้ง Framework เพื่อย่อยปัญหาให้เล็กลงเพื่อลดความซับซ้อน จะทำให้มองหาคำตอบได้ชัดเจนขึ้น

3. ตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis): ให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ช่วยตั้งสมมุติฐาน เพื่อหาคำตอบเบื้องต้น ว่าจะมีวิธีเพิ่มรายได้ หรือลดต้นทุนอย่างไร

4. ทำการวิเคราะห์ (Analysis): นำสมมุติฐานมาวิเคราะห์ว่าถูกหรือผิด โดยต้องทำการพิสูจน์ตั้งแต่ต้นจนจบโปรเจกต์ ดูว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกระบวนการไหนได้บ้าง ต้องมีส่วนร่วมกับลูกค้าทุก ๆ ระดับตั้งแต่ CEO ไปจนถึงพนักงาน เพื่อให้เกิดผลจริง ระยะเวลาในการทำงานจริง ๆ มีตั้งแต่โปรเจกต์สั้น ๆ 3 เดือนไปจนถึงเป็นปี แต่โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนต่อโปรเจกต์

 

ลูกค้าจะให้ความสำคัญกับเวลาเพราะเวลาคือต้นทุนทางโอกาส ดังนั้นงานที่ปรึกษาจึงมีการสะสมประสบการณ์การทำงานค่อนข้างสูง เพราะต้องเรียนรู้ให้เร็ว เรียนรู้ที่จะใช้แหล่งข้อมูลต่าง ๆ รอบตัวให้เป็น ส่วนจำนวนคนต่อทีม โดยทั่วไปแต่ละโปรเจกต์จะมี 5-6 คน แบ่งเป็นงานประจำประมาณ 4-5 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Part-time อย่างน้อย 1 คน ซึ่งจำนวนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัญหา ยิ่งกำกวมมากคนก็ยิ่งมาก บางโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ต้องทำงานข้ามประเทศ ใช้คนเกือบร้อยก็มี หรือบางโปรเจกต์เล็กมากคนเดียวก็พอ

 

งาน Management Consultant ก็เหมือนกับงานนักสืบ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น แต่เป็นคนที่รู้กระบวนการ รู้วิธีการใช้เครื่องมือที่จะทำให้หาสาเหตุและช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ สิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็ว ได้แก่ เข้าใจกลไกของแต่ละอุตสาหกรรม รู้ตัวแปรสำคัญของแต่ละอุตสาหกรรมว่าคืออะไร เพราะแต่ละอุตสาหกรรมจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ต้องหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงเพื่อหาตัวขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจไปได้ โดยคุณโบ๊ทจะมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Driver Tree คือการตั้ง Framework และโฟกัสที่โจทย์ให้ชัด ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เลือกที่ปรึกษาที่ดี มีพื้นฐานด้านธุรกิจดี และต้องมีความเร็วในการย่อยข้อมูล

 

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนส่วนใหญ่ที่ทำงานตรงนี้มักเรียนจบปริญญาบริหารธุรกิจ (MBA) มา เพราะงานที่ปรึกษาต้องเข้าใจธุรกิจในทุก ๆ ฟังก์ชัน รู้ลึก รู้กว้าง เชื่อมโยงข้อมูลได้ ดังนั้นอ่านบทความวิจัยและฝึกเยอะ ๆ โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือการสัมภาษณ์แบบจำลองปัญหาของลูกค้า (Case Interview) ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการคัดเลือกคนมาทำงานเป็นที่ปรึกษา ลองศึกษาดูว่าแต่ละเคสมีโครงสร้างยังไง จะช่วยแตกปัญหาได้ดีขึ้น

 

ทักษะของคนทำงานที่ปรึกษามี 3 ทักษะหลัก ๆ

1. Analytical Skills ทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล

2. Communication and Interpersonal Skills ทักษะการสื่อสาร สามารถสื่อสารเรื่องที่คิดออกมาได้เป็นอย่างดี

3. Leadership Skills ต้องสามารถแก้ไขปัญหาในทีม ขับเคลื่อนงานให้เกิดผลลัพธ์ได้

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นคนที่แสดงให้ให้เห็นว่าสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วย

 

4 เทคนิคการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานสาย Management Consultant

คุณโบ๊ทได้ให้คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานสาย Management Consultant เอาไว้ 4 ประเด็น คือ

  1. ศึกษาทฤษฎีพื้นฐานให้แน่น โดยการค้นหาข้อมูลและอ่านหนังสือ เช่น Case in Point: Complete Case Interview Preparation by Marc Cosentino
  2. ฝึกซ้อมสัมภาษณ์ (Mock Case interview) โดยควรซ้อมกับคนที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษามาก่อน ซึ่งจะทำให้ช่วยตอบคำถามได้ตรงจุดมากขึ้น
  3. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทำให้เราตั้งสมมุติฐานได้คมขึ้น ซึ่งเราควรศึกษาอุตสาหกรรมหลัก ๆ ให้เห็นภาพใหญ่ก่อน เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีก, การบริการ, การผลิต, การท่องเที่ยว, เทคโนโลยี โดยสามารถเข้าไปศึกษาหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
  4. ฝึกสมาธิในการตอบคำถาม ลดความตื่นเต้น ควบคุมตัวเองให้ได้

 

ถ้ายังไม่มีพื้นฐานควรเริ่มจากศึกษาเรื่องธุรกิจให้เข้าใจ เพิ่มพื้นฐานการคิดเชิงวิเคราะห์ และฝึกทำการสัมภาษณ์แบบจำลองปัญหาของลูกค้า

สำหรับคนที่สนใจงานสายนี้แต่ไม่มีพื้นฐาน สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือศึกษาเรื่องธุรกิจให้เข้าใจก่อน ซึ่งถ้าพูดถึงธุรกิจจะมีประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องเรียนรู้ไม่กี่เรื่อง เช่น การเงิน (Finance), การบัญชี (Accounting), การตลาด (Marketing), การจัดการ (Operation) และ การผลิต (Production) ซึ่งปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์มากมาย จากนั้นเพิ่มพื้นฐานทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เช่น การวิเคราะห์สถิติ และฝึกทำการสัมภาษณ์แบบจำลองปัญหาของลูกค้า (Case Interview)

 

หัวใจสำคัญในการตั้ง Framework คือสามารถแตกปัญหาได้ครอบคลุมและไม่ซ้ำซ้อน

คุณโบ๊ทแนะนำหลัก “MECE” (Mutually Exclusive and Collectively Exhaustive) ในการตั้ง Framework

  • Mutually Exclusive คือ การแบ่งสภาพการณ์โดยที่ไม่ซ้ำซ้อน
  • Collectively Exhaustive คือ การเอาปัญหาย่อยกลับมาเป็นภาพรวมแล้วทุกอย่างต้องครบถ้วน

 

ภาพรวมต้องไม่ขาดหายไปเป็นหลักการคิดพื้นฐานของการคิดอย่างมีเหตุผล (Logical Thinking) คิดจากปัญหาใหญ่ไปสู่ปัญหาย่อย แล้วพิจารณาความเชื่อมโยงที่มีต่อกัน โดยสรุปคือการตั้ง Framework ที่ดีจะต้องสามารถแตกปัญหาได้ครอบคลุมและไม่ซ้ำซ้อนนั่นเอง

 

ความหนักของงานที่ปรึกษาขึ้นอยู่กับปริมาณงานและความเก่ง

ความยากของงานนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณงานและความเก่งของเรา บางคนอาจเพิ่งมาแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมที่ไม่เคยทำเลยไม่ชิน ช่วงแรกจึงรู้สึกว่าหนัก แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ความเชี่ยวชาญจะเพิ่มขึ้น และใช้เวลาสั้นลงได้ งานที่ปรึกษาจึงยังเป็นงานที่อยู่ในขอบเขตที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ ถ้าเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เชี่ยวชาญ

 

ส่วนเรื่องการต้องเดินทางตลอดเวลาขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำ ตอนสมัยที่คุณโบ๊ททำอยู่ที่ BCG ต้องบินไปต่างประเทศตลอด แต่ถ้าบริษัทในไทยจะไม่ได้เดินทางเยอะขนาดนั้น เพราะมีกลุ่มลูกค้าในประเทศมาก การต้องเดินทางไปต่างประเทศมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็คือเราได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ๆ ข้อเสียก็คือสิ้นเปลืองเวลา และใช้เวลากับครอบครัวได้น้อยลงนั่นเอง

 

ทักษะสำคัญในการทำงานที่ปรึกษาอย่างการคิดเชิงวิเคราะห์ ฝึกฝนได้จากทุกสถานการณ์รอบตัว รวมถึงงานที่ทำอยู่ปัจจุบัน

ทุกอย่างในชีวิตเป็นการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เราสามารถฝึกฝนได้จากทุกสถานการณ์รอบตัว หรืองานที่ทำอยู่ปัจจุบัน เช่น คิดวิธีแก้ปัญหาให้ทำงานได้เร็วขึ้น หรือสร้างคุณค่าให้กับสิ่งรอบตัวฝึกสร้าง Framework วิเคราะห์ปัญหา เร็ว ๆ ภายใน 2 นาที หาการสัมภาษณ์แบบจำลองปัญหาของลูกค้า (Case Interview) อ่าน และฝึกฝน เช่น Kellogg Case Book

 

คุณโบ๊ทได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่านอกจากพื้นฐานที่แนะนำไปแล้ว งานที่ปรึกษาไม่ได้มองหาสิ่งที่อยู่ในกรอบอย่างเดียว แต่ยังหาคนที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้าง Impact ให้กับงานด้วย อย่างที่ Bluebik Group นั้นเน้นด้าน Digital Transformation และ Growth Strategy จึงไม่ได้จบแค่ให้คำปรึกษา แต่ลงไปดำเนินการแบบครบวงจร และบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องจบตรงสายแต่ขอให้แสดงว่ามีพื้นฐาน ได้ศึกษาข้อมูลมาก็สามารถเป็น Management Consultant ที่ดีได้

 

นี่คือบางส่วนจากไลฟ์เท่านั้น สำหรับใครที่พลาดไป สามารถเข้าไปชมย้อนหลังได้ ที่นี่

 

หางานสาย Management Consultant ทั้งหมดได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 42,947 members
Join Group
 

tags : jobthai, jobs, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, x career ข้ามสาย talk, management consultant



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม