Specializing Generalist และ Generalizing Specialist คนเก่งผสมผสานสำหรับการทำงานยุคใหม่

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อนิยามของความเก่งเปลี่ยนไป การเป็นคนรู้กว้าง มีความสามารถหลายอย่างแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญในสิ่งใดเป็นพิเศษอย่าง Generalist หรือการเป็นคนรู้ลึก แม้จำนวนเรื่องที่รู้อาจมีไม่มากแต่เชี่ยวชาญลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่าง Specialist แค่อย่างใดอย่างหนึ่งจึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน ในบทความนี้ JobThai เลยจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับคนเก่งรอบด้าน ทั้งรู้ลึกและรู้กว้างในคนเดียวอย่าง Specializing Generalist และ Generalizing Specialist ที่กำลังจะกลายเป็นคนทำงานแบบที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการตัวและมองหามาร่วมองค์กร พร้อมแนะนำเคล็ดลับในการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนมีความสามารถแบบนี้กัน

 

ระหว่าง Generalist ที่รู้กว้าง กับ Specialist ที่รู้ลึก ใครไปได้ไกลกว่ากันในการทำงาน

 

Specializing Generalist และ Generalizing Specialist คืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘Generalist’ และ ‘Specialist’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนเก่งเชิงกว้างกับคนเก่งเชิงลึกกันมาบ้าง และอาจเกิดความสงสัยว่าถ้ามีคนที่เก่งรอบด้าน มีความสามารถทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกในคนเดียวล่ะ เราจะเรียกคนประเภทนี้ว่าอะไร แน่นอนว่าคำที่ใช้เรียกคนเก่งผสมผสานแบบนี้ก็มีเช่นกัน โดยเราสามารถเรียกคนประเภทนี้ได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับว่าจุดเริ่มต้นของเขานั้นเป็น Generalist หรือ Specialist มาก่อน

 

  • Specializing Generalist คือ Generalist ที่เก่งเชิงกว้าง มีความสามารถหลากหลาย แต่ศึกษาเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพิ่มเติมจนเกิดความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในหัวข้อนั้น ๆ ด้วย

  • Generalizing Specialist คือ Specialist หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งอยู่แล้ว แต่ขยายทักษะของตัวเองออกไปในเชิงกว้างจนมี Skill ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถทำงานอื่น ๆ นอกจากสิ่งที่ตนเองถนัดได้ด้วย

 

Specializing Generalist และ Generalizing Specialist ต่างจาก T-shaped Person ยังไง

เมื่อพูดถึงคนที่มีทักษะรอบด้านในการทำงาน เรามักรู้สึกคุ้นหูกับคำว่า ‘T-shaped Person’ หรือคนที่มีทักษะแบบรูปตัว T (T-shaped Skills) มากกว่า Specializing Generalist หรือ Generalizing Specialist แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 3 คำนี้ต่างก็มีความหมายเหมือนกัน เพราะ T-shaped Person เองก็เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีทักษะและความรู้กว้างขวาง หลากหลาย คล้ายกับเส้นแนวนอนของตัว T ที่แผ่ออกไปในแนวระนาบ รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง อย่างลึกซึ้งเหมือนกับเส้นแนวตั้งหรือขาของตัว T ที่ทิ้งตัวลงลึกเป็นแนวดิ่ง

 

เพียงแต่เราอาจมอง T-shaped Person เป็นคำเรียกกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกคนเก่งรอบด้านทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างทั้งหมด ส่วนคำว่า Specializing Generalist และ Generalizing Specialist นั้นจะช่วยจำกัดความคนกลุ่มนี้ให้แคบลงมา ทำให้เราเข้าใจ Background ของเขามากขึ้นว่าเริ่มต้นพัฒนาทักษะมายังไงกว่าจะกลายมาเป็นคนที่มีทักษะครอบคลุมอย่างที่เห็น ระหว่างเริ่มต้นศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเชี่ยวชาญก่อนแล้วค่อยขยายขอบข่ายการเรียนรู้ของตัวเองออกไปให้กว้างขึ้นแบบ Generalizing Specialist หรือเริ่มต้นจากการเรียนรู้หลาย ๆ ทักษะอย่างละนิดอย่างละหน่อยแล้วจึงค่อยลงลึกในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจแบบ Specializing Generalist

 

 

ชั่งน้ำหนักงานใหม่ยังไงให้ชีวิตการทำงานไปได้สวย

 

ทำไมเราถึงต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง

ถึงแม้การตัดสินใจเลือกเส้นทางพัฒนาตัวเองเพื่อเป็น Generalist หรือ Specialist อย่างใดอย่างหนึ่งจะช่วยให้เรามีจุดโฟกัสในการเพิ่มพูนทักษะชัดเจนขึ้น เดินตาม Career Path ที่วางไว้ได้เหมาะสมมากขึ้น เช่น หากต้องการเติบโตไปในสายบริหารจัดการ ก็อาจพัฒนาทักษะตัวเองในเชิงกว้างแบบ Generalist จะได้กลายเป็นคนที่มองเห็นภาพรวมได้ดี เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้เก่ง หรือถ้าอยากเติบโตไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็อาจศึกษาความรู้และสะสมประสบการณ์ให้ตัวเองเก่งขึ้นในเชิงลึกแบบ Specialist จะได้ชำนาญและเข้าใจในศาสตร์นั้นอย่างถ่องแท้

 

แต่บางครั้งการเลือกฝึกฝนทักษะในเชิงลึก หรือขยายทักษะในเชิงกว้างเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในอนาคตอีกต่อไป เพราะหากเราเป็น Generalist ที่ทำได้หลายอย่างแต่ไม่มี Core Competency หรือทักษะหลักที่ทำได้ดีเป็นพิเศษอันเปรียบเสมือนจุดแข็งของเรา ก็อาจทำให้เราถูกแทนที่ในการทำงานได้ง่าย และเช่นเดียวกันสำหรับ Specialist ที่เก่งในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมาก ๆ เช่น เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย หรือการเขียนโปรแกรม หากวันหน้าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งล้าหลังในโลกของการทำงานไป หรือในอนาคตมี AI ที่เชี่ยวชาญในการคิดวิเคราะห์และทำงานเฉพาะทางขึ้นมาทำหน้าที่แทน ก็อาจทำให้เราตกงานได้เช่นกัน

 

ดังนั้นการผสมผสานคุณลักษณะของคนสองประเภทเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นทางเลือกอีกทางที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับคนทำงานยุคใหม่ นั่นคือการพัฒนาตัวเองให้เป็น Specializing Generalist หรือ Generalizing Specialist เพื่อลบข้อเสียเปรียบเฉพาะตัวของ Generalist และ Specialist ออกไป กลายเป็นคนที่มีความรู้รอบด้าน สามารถทำอะไรได้หลากหลายแต่ยังมี Core Competency ที่เป็นทักษะเด่นเฉพาะตัว

 

หากเราสามารถพัฒนาตัวเองจนเก่งทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกได้ก็จะทำให้เราเป็นที่ต้องการในการทำงานมากขึ้น เพราะสามารถมองเห็นภาพรวมได้ดี เข้าใจกลไกในการทำงานของแต่ละฝ่ายในองค์กร เชื่อมโยงองค์ความรู้ได้หลายแขนง อีกทั้งยังมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถวิเคราะห์ได้รอบด้านและตรงจุด ไม่มองข้ามรายละเอียดอะไรไป นอกจากนี้การมีความสามารถที่ครบเครื่องก็ยิ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับเรา ทำให้สามารถโยกย้ายไปทำในตำแหน่งที่หลากหลายได้มากกว่าเดิม และเสี่ยงต่อการถูกแทนที่น้อยลงเพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาคนที่เก่งรอบด้านเช่นนี้ได้นั่นเอง

 

6 เคล็ดลับทำให้เงินเดือนขึ้น แบบไม่ต้องเปลี่ยนงาน

 

เคล็ดลับการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนเก่งรอบด้าน

เมื่อเรารู้แล้วว่าการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่เก่งทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างนั้นเป็นเรื่องสำคัญ คำถามต่อมาก็คือเราจะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองยังไงดี JobThai มีเคล็ดลับมาฝากดังนี้

 
  • เริ่มต้นศึกษาในสิ่งที่ตนเองสนใจก่อน

ถ้าเราเริ่มเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบหรือสนใจก็จะช่วยให้เรามีแรงผลักดันและกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองในด้านนั้นมากขึ้น เช่น หากเราชื่นชอบประเทศญี่ปุ่น สนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เราก็ย่อมมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาภาษาญี่ปุ่นมากกว่าภาษาอื่น ๆ เมื่อเรามี Passion ในสิ่งที่เรียน การเรียนก็จะสนุกและไหลลื่นตามไปด้วย ทำให้เราไม่เบื่อเมื่ออยู่กับมันนาน ๆ และมีความสุขกับการศึกษาสิ่งนั้น ๆ ในเชิงลึก

สำหรับ Generalist ที่ได้ลองทำอะไรมาแล้วหลายอย่างและพอจะรู้ตัวแล้วว่าตัวเองสนใจในด้านไหนเป็นพิเศษก็อาจตัดสินใจว่าจะศึกษาลงลึกในด้านไหนได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับ Specialist ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นขยายขอบข่ายการเรียนรู้ของตัวเองออกไปในด้านไหนดี เพราะที่ผ่านมาเติมความรู้ให้ตัวเองในเชิงลึกมาตลอด ก็อาจเริ่มจากการขยับไปศึกษาทักษะอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับทักษะเดิมที่มีอยู่ หรือศึกษาในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการทำงานในปัจจุบันหรือช่วยเปิดโอกาสในการทำงานในอนาคต เช่น คนที่ถนัดทำกราฟิกก็อาจฝึกตัดต่อวิดีโอเพิ่มเติม หรือคนที่ทำงานสาย Digital Marketing ก็อาจศึกษาเรื่องเทคโนโลยี การใช้โปรแกรม ไปจนถึงการเขียนโค้ดต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เราเข้าถึง Tools และ Database ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ได้ รวมถึงอาจขยายเส้นทางอาชีพใหม่ ๆ ในการทำงานได้ด้วย

 

  • ไม่จำกัดตัวเองในกรอบ

การที่เรามีอคติในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจทำให้เราติดอยู่ในกรอบและพลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ดังนั้นเราจึงไม่ควรตั้งกำแพงหรือปล่อยให้ความเชื่อที่มีอยู่มาจำกัดการเรียนรู้ เช่น การเรียนสายศิลป์ไม่ได้แปลว่าเราจะเรียนรู้คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ การทำงานเองก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเรามักได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการทำงานตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งสิ่งที่เราไม่เคยสนใจและมองว่าตัวเองคงไม่ถนัด เมื่อได้ลองทำดูก็อาจพบว่าตัวเองทำได้ดีและรู้สึกอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ดังนั้นการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดตัวเองเอาไว้ในกรอบที่คุ้นชินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยิ่งเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสในการทำงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

 

  • ฝึกเรียนรู้ให้เป็นนิสัย

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการไม่หยุดเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้วหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก เพราะหากเรามองว่าเราชำนาญและมีความรู้เชิงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากพอแล้ว พอเวลาผ่านไป เราก็อาจพบว่าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญดีนั้นมีแง่มุมใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้จักเกิดขึ้นมากมายก็เป็นได้ เช่น คนที่เรียนด้านการเงินหรือเศรษฐศาสตร์มา ในวันนี้ก็อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้น หรือคนที่ทำงานในด้านเทคโนโลยีก็อาจต้องคอยอัปเดตและเรียนรู้วิธีการใช้โปรแกรมและซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ ๆ ที่ปล่อยออกมา เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนล้าหลังในโลกของการทำงาน การเรียนรู้ในเชิงกว้างก็เช่นกัน ทักษะในโลกใบนี้มีมากมายให้เราได้ลองศึกษา ยิ่งเรามีความสามารถที่หลากหลายเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดพัฒนาความสามารถและฝึกฝนทักษะต่าง ๆ รวมถึงต้องมีจมูกที่ว่องไวกับการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ คอยสั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย เพิ่ม Skill เชิงลึกบ้าง เติม Skill เชิงกว้างบ้าง วันหนึ่งเราก็จะกลายเป็นคนที่เก่งรอบด้านเอง

 

6 Step ที่จะทำให้การเปลี่ยนสายอาชีพใหม่ง่ายกว่าที่คิด

 

การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในเชิงกว้างอย่าง Generalist หรือเชิงลึกอย่าง Specialist นั้นแม้จะช่วยให้เราไปถึงจุดหมายใน Career Path ที่เราวางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากเรายังมีจุดอ่อนเฉพาะตัวของคนแต่ละประเภทอยู่ ก็อาจทำให้เราไม่ตอบโจทย์สำหรับองค์กรได้ ดังนั้นการพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติของคนทั้งสองประเภทในคนคนเดียว กลายเป็นคนเก่งรอบด้านเฉกเช่น Specializing Generalist และ Generalizing Specialist ก็อาจเป็นทางเลือกที่สร้างความมั่นคงและเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับเราได้มากที่สุด ถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามในการฝึกฝนทักษะและเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นเป็นสองเท่า แต่ในระยะยาวแล้วย่อมคุ้มค่าแน่นอน

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

lifeandwork.blogagilemodeling.comagileadvice.comtynerblain.combettermarketing.pubjchyip.medium.comcollegeinfogeek.comseasiacenter.comjchyip.medium.com

tags : career & tips, jobthai, งาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, specialist, generalist, การพัฒนาตนเอง



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม