4+3 ประเภทวันลาที่คนทำงานควรรู้

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

ถ้าพูดถึงเรื่องวันลาของคนวัยทำงาน ก็จะมีวันลาที่คนทำงานจำเป็นต้องใช้อยู่เรื่อย ๆ อย่างวันลากิจ ที่ต้องใช้เมื่อเรามีธุระบางอย่างที่อาจกินเวลาตั้งแต่ครึ่งวันจนเต็มวัน วันลาป่วยที่ต้องใช้เมื่อเราจำเป็นต้องหยุดงานเนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาหรือป่วยจนไม่สามารถไปทำงานได้ นอกจากนี้ก็ยังมีวันลาพักร้อนที่เอาไว้ใช้ตอนที่เรามีทริปเที่ยวหรือต้องการหยุดเพื่อพักผ่อน แต่สำหรับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่โลกของการทำงานล่ะ รู้หรือยังว่าวันลาแต่ละประเภทต้องใช้ยังไง และในหนึ่งปีเราลาได้กี่ครั้ง วันนี้ JobThai จะอาสามาไขข้อสงสัยเรื่อง ‘วันลา’ ให้เอง

 

7 เทคนิคลางานยังไงไม่โดนหัวหน้าหมายหัว

 

ลาป่วย

เรื่องของสุขภาพหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มักเป็นสิ่งที่เราต้องเจออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแค่การป่วยที่กินยาและพักผ่อนอยู่ที่บ้านสักวันก็หาย อย่างปวดท้อง ปวดหัว ปวดประจำเดือน หรือเป็นหวัดที่อาจนำเชื้อไปติดคนรอบข้างได้ หรืออาการป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยในกรณีหากเราลาป่วยไม่เกิน 3 วัน บริษัทก็ไม่มีสิทธิ์ขอใบรับรองแพทย์และหักเงินเรา แต่ในขณะเดียวกันหากเราหยุดเกิน 3 วันทำงาน บริษัทก็มีสิทธิที่จะขอใบรับรองแพทย์จากเราเพื่อยืนยันการป่วย ถ้าไม่มี บริษัทก็สามารถหักเงินและถือว่าเราขาดงานได้

 

จริง ๆ แล้วตามกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดว่าพนักงานหนึ่งคนจะลาป่วยได้กี่ครั้งต่อปี เพียงแต่เราต้องป่วยจริงเท่านั้นถึงจะลาป่วยได้ ซึ่งหลาย ๆ องค์กรมักจะกำหนดให้พนักงานของตนลาป่วยได้ 30วัน ต่อปี โดยไม่ถูกหักเงินเดือนหรือถือว่าเป็นการขาดงาน ‘แต่ตามกฎหมายแล้วบริษัทจะจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาป่วยของพนักงานได้ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปีได้เท่านั้น’ หากเราลาป่วยเกิน 30 วัน วันที่เกินมาบริษัทจะเป็นคนพิจารณาเองว่าเราจะถูกตัดเงินในส่วนนั้นมั้ย 

 

*หากเราลาป่วยไปแล้ว 30 วัน และมีความจำเป็นต้องลาป่วยเพิ่มเติมตามคำสั่งแพทย์ เราสามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ จากประกันสังคมได้ ตามรายละเอียดดังนี้

 

ลากิจ

ลากิจมีความหมายตรงตัวเลย นั่นก็คือการลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวของตนเอง ซึ่งคนทำงานแต่ละคนก็จะมีกิจจำเป็นต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องลางานเพื่อไปทำธุระเหล่านั้น อาจเป็นการทำใบขับขี่หรือบัตรประชาชนที่เปิดบริการเฉพาะวันธรรมดา ติดต่อราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ลาเพื่อไปแสดงความยินดีกับคนรู้จักในงานรับปริญญาหรืองานแต่ง หรือไปงานศพของบุคคลใกล้ชิดเป็นต้น โดยหลายบริษัทมักจะกำหนดวันลากิจของพนักงานไว้ 3-6 วัน ต่อปี  

 

การลากิจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานแล้ว เราต้องได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี หากเราลากิจมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของบริษัทและบริษัทที่ต้องพิจารณาว่าการลากิจของเราที่เกิน 3วันนั้น จะได้ค่าจ้างหรือไม่ ซึ่งคนทำงานส่วนมากที่ลากิจเกินที่บริษัทกำหนด ทางบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่เราลา โดยวิธีการคิดว่าเราจะถูกหักเงินวันละเท่าไหร่ก็คือ ‘เงินเดือน หารด้วยจำนวนวันทำงานต่อเดือน’ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นรายรับต่อวันของเราเพื่อหักออกตามจำนวนวันที่เราลากิจเกินไป


วันลาคลอด

วันลาคลอด เป็นวันลาสำหรับพนักงานหญิงที่กำลังจะมีบุตร เพื่อใช้สิทธิลาคลอดและยังได้ค่าจ้างในวันที่ลา ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานระบุว่าคนทำงานสามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุด ได้แก่ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี และนอกจากนี้ พ.ร.บ. แรงงานยังได้มีการอัปเดตวันลาเพิ่มขึ้นอีก 8 วัน สำหรับการตรวจครรภ์หากคุณแม่ต้องการเดินทางไปตรวจครรภ์ในแต่ละเดือนนับรวมเป็น 98 วัน ซึ่งการลาคลอดนี้เป็นคนละส่วนกับการลาป่วย ไม่สามารถเอามารวมกันได้ 

 

สำหรับวันลาคลอด ‘บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้เราไม่เกิน 45 วันทำงาน’ หากบริษัทจ่ายให้น้อยกว่า 45 วัน จะถือว่าฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรา 59 และจะโดนค่าปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งหากเราใช้สิทธิ์วันลาคลอดและตรวจครรภ์เต็มจำนวน นั่นก็คือ 98 วัน เราจะได้ค่าจ้างมากกว่า 45 วันไหม ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่จะเป็นคนพิจารณาหรือแล้วแต่ตกลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเบิกค่าคลอดบุตรกับประกันสังคมได้ในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง หากเราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

ลาพักร้อน

ลาพักร้อนเป็นอีกหนึ่งสิทธิวันลาที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนรอคอยจะใช้ บางคนอาจจะใช้วันลาทั้งหมดทีเดียว ลาติดกันยาว ๆ เพื่อเป็นการหยุดพักผ่อนประจำปีและถือโอกาสพักหลังจากการทำงานอย่างหนักและทุ่มเทมาตลอด หรือบางคนอาจจะทยอยใช้ทีละวันสองวันตลอดทั้งปี ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานระบุไว้ว่า พนักงานทุกคนมีสิทธิได้รับวันลาพักร้อนหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างน้อยคนละ 6 วัน ต่อปี ห้ามน้อยกว่านี้ แต่จะได้มากกว่า 6 วันไหมก็ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรหรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ซึ่งพนักงานจะได้รับวันลาพักร้อนเมื่อทำงานที่บริษัทครบหนึ่งปี แต่ก็มีบางองค์กรที่ให้ลาพักร้อนกับพนักงานของตนเลยเมื่อผ่านการทดลองงาน (ผ่านโปร) ซึ่งจะมากน้อยก็แล้วแต่บริษัทจะให้ 

 

เมื่อพนักงานทำงานครบหนึ่งปีแล้ว และต้องการใช้วันลาพักร้อน บริษัทไม่สามารถหักเงินในวันหยุดของพนักงานได้ ตราบใดที่เรายังใช้สิทธิตามโควตาที่บริษัทหรือกฎหมายกำหนด หากบริษัทหักเงินในวันลาพักร้อนจะถือว่าบริษัทปฏิบัติขัดต่อหลักกฎหมายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เว้นแต่ว่าเราอยากลาเพิ่มเติมจากโควตาที่เรามีและได้ตกลงกับบริษัทแล้วว่าอยากหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง

 

4 เหตุผลของคนทำงานว่าทำไมถึงควรหาเวลาไปเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีวันลาอีก 3 อย่างที่คนทำงานหลายคนยังไม่รู้ โดยเฉพาะคนทำงานที่เป็นเด็กจบใหม่ ซึ่งอาจทำให้เราเสียสิทธิไปฟรี ๆ หรือใช้วันลาผิดประเภท 

 

ลาเพื่อทำหมัน 

คนทำงานหลายคนอาจจะงงว่ามีวันลาประเภทนี้อยู่ด้วยเหรอ ซึ่งจริง ๆ แล้ววันลาประเภทนี้อาจเป็นวันลาสำหรับคนทำงานที่อายุมากหน่อย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานชายหรือพนักงานหญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งการลาเพื่อทำหมันพนักงานสามารถแจ้งลากับผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าตามใบนัดของแพทย์ได้เลย โดยระยะเวลาของการลาก็จะขึ้นอยู่กับสุขภาพของเราเองและการวินิจฉัยของแพทย์ และบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้เราในวันลานั้นด้วย

 

ลาเพื่อรับราชการทหาร 

พนักงานที่ถูกเรียกพลทหารกองหนุนที่ปลดประจำการแล้วเพื่อตรวจสอบ ฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพร้อมในด้านต่าง ๆ ระหว่างที่เราใช้สิทธิวันลาเพื่อรับราชการทหาร เราจะได้ค่าจ้างตามปกติที่เราเคยได้รับ สูงสุดไม่เกิน 60 วัน ต่อปี ที่สำคัญในกรณีนี้ ‘ห้ามไม่ให้เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วย’ แต่สิทธิในการลาเพื่อรับราชการทหารไม่ใช่การต้องไปเกณฑ์ทหารอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะกรณีที่พนักงานต้องไปเกณฑ์ทหารจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างเท่านั้นว่าจะกำหนดให้สิทธิ์ลูกจ้างลาเพื่อเข้ารับราชการเนื่องจากถูกเกณฑ์ทหารหรือไม่ หลาย ๆ องค์กรจึงกำหนดคุณสมบัติการรับสมัครพนักงานไว้ คือพนักงานชายต้องผ่านการเกณฑ์ทหารหรือผ่านการฝึกอบรมวิชาทหารมาแล้วเท่านั้น

 

ลาฝึกอบรม

การลาเพื่อฝึกอบรม เป็นอีกสิทธิในการลาที่พนักงานหลายคนยังไม่รู้ ซึ่งเราทุกคนสามารถลาเพื่อไปฝึกอบรมหลักสูตรอะไรก็ตามที่นำมาพัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มทักษะในเรื่องงานได้ ‘แต่เราจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้น’ โดยในขั้นตอนนี้เราต้องใช้หลักฐานในการเข้าอบรมอย่าง ชื่อโครงการ หลักสูตร และวันเวลา เพื่อยื่นให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทสามารถไม่อนุญาตให้เราลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ หากเราได้รับอนุญาตให้ลาเพื่อฝึกอบรม มาแล้วในปีนั้นรวม 30 วัน ลาฝึกอบรมมาแล้ว 3 ครั้ง หรือการลานั้นอาจเกิดผลกระทบต่อธุรกิจ  

 

กิจกรรมดี ๆ ที่ทำได้ระหว่างนั่งรถกลับบ้านหลังเลิกงาน

 

หากพูดถึงเรื่องของวันลา พนักงานทุกคนมีสิทธิที่จะใช้วันลาได้เสมอ แต่หากไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉินจริง ๆ เราอาจต้องคำนึงถึงขั้นตอนการทำงานที่อาจจะติดขัดเพราะเราได้ บางองค์กรจึงกำหนดให้ต้องแจ้งลาล่วงหน้า 1-3 วัน สำหรับวันลากิจหรือลาพักร้อนเป็นต้น หรือหากวันนั้นเราป่วยและไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้จริง ๆ แต่มีงานเร่งด่วนที่ไม่สามารถส่งต่อให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นทำได้ เราอาจลองเสนอกับผู้บังคับบัญชาว่าขอทำงานจากที่บ้าน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

 
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
Join Group
 

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 10 มีนาคม 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

Source:

lb.mol.go.th

flash-hr.com

parameelaw.com

hrdictionary.ezy-hr.com

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, การทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, career tips, วันลา, วันลาของคนทำงาน, วันลามีกี่ประเภท, ลางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม