เพิ่งทำงานได้ไม่นานแต่โดนตำหนิตลอดทำยังไงดี

20/04/21   |   22.2k   |  

 

  • ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง อย่าโทษสิ่งรอบข้างและปัจจัยอื่น ๆ เพราะถ้าเรายอมรับ นั่นก็หมายความว่าเราได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้นแล้ว 

  • สังเกตงานของตัวเองว่าบกพร่องตรงไหน เมื่อเห็นแล้วก็หาวิธีแก้ไข เรียนรู้ และป้องกันเพื่อที่จะไม่ทำผิดแบบนั้นอีกครั้ง

  • เราเรียนรู้งานที่ต้องทำมากพอหรือยัง หากเป็นเพราะเรายังเรียนรู้งานไม่พอต้องรีบหาวิธีเรียนรู้ให้มากที่สุด หากไม่มีใครสอน ให้ไปลองสังเกตงานเก่า ๆ ของบริษัท

  • เจตนาของหัวหน้าให้ออกว่าเขาตำหนิเราด้วยเจตนาแบบไหน เขาแค่ต้องการหาที่ระบายความเครียดเพียงอย่างเดียว หรือที่จริงแล้วเขาแค่ต้องการให้เราเก่งขึ้นเลยตำหนิเพราะหวังดี แล้วหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกการทำงานหลายคนต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทำให้ถูกตำหนิอยู่บ่อยครั้ง เพราะอาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง หรือเกิดความผิดพลาดในการทำงานเนื่องจากประสบการณ์ยังไม่มากพอ ซึ่งหลายครั้งคำตำหนิเหล่านั้นก็ส่งผลให้เราเกิดอาการท้อแท้ คิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือไม่ดีพอ แต่จริง ๆ แล้วคนทำงานทุกคนไม่ว่าจะมีประสบการณ์มามากหรือน้อยแค่ไหนก็ถูกตำหนิกันได้ทั้งนั้น และคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็เจอกับคำตำหนิมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่หากเราลองมองเข้าไปในคำตำหนิให้ดี ๆ อาจทำให้เราได้ฉุกคิดว่าจริง ๆ แล้ว มันมีโอกาสที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองซ่อนอยู่ในคำติเหล่านั้นมากมาย เพียงแค่เราปรับวิธีคิดและทัศนคติของเราใหม่เท่านั้นเอง

 

JobThai เลยอยากมาแนะนำ ข้อควรทำหากเพิ่งทำงานได้ไม่นานแต่โดนหัวหน้าตำหนิตลอด และวิธีพัฒนาตัวเอง เพื่อเป็นคนทำงานที่เก่งมากขึ้น

 

ปรับตัวยังไงให้อยู่รอด เมื่อคุณเป็นพนักงานที่เข้ามาใหม่

 

ยอมรับข้อผิดพลาดในงานของตัวเอง 

เรื่องแรกที่ควรทำหลังจากได้รับคำตำหนิอาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับคนทำงานบางคน นั่นก็คือการยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองก่อน เพราะเมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหาขึ้น หลายคนเลือกที่จะหาข้อแก้ตัวหรือโทษปัจจัยอื่นรอบข้างอย่างเพื่อนร่วมงาน ทั้ง ๆ ที่ปัญหานั้นอาจมาจากการที่เราไม่รอบคอบหรือไม่ตรวจทานงานให้ดี ซึ่งเพียงแค่เรายอมรับข้อผิดพลาดและปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่าเราเห็นปัญหาและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาตัวเองแล้ว 

 

สังเกตงานของตัวเองว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน

ลองกลับมาทบทวนงานที่ผิดพลาดนั้นใหม่อีกครั้ง ว่าสิ่งที่ผิดพลาดหรือเป็นปัญหามีตรงไหนบ้าง เมื่อเจอข้อผิดพลาดก็หาวิธีพัฒนาและแก้ไข ถ้าปัญหานั้นเกิดจากความผิดพลาดของข้อมูล ไม่ว่าจะจากคนอื่นที่ถูกส่งต่อมาอีกที หรือเป็นข้อมูลของเราเอง ครั้งหน้าเราก็อาจต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดจนมั่นใจว่าถูกต้องอีกครั้งก่อนที่จะส่งงานไป และเมื่อเห็นข้อผิดพลาดนั้นแล้ว ก็ต้องเรียนรู้และหาวิธีป้องกันเพื่อที่จะไม่ทำให้ความผิดพลาดแบบนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง

 

ขั้นตอนที่ควรใช้เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ

 

เราเรียนรู้งานที่ต้องทำมากพอหรือยัง

แม้เราจะเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน แต่เมื่อเราได้เข้าไปร่วมงานกับองค์กรแล้ว สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ทักษะหรือความสามารถของเราพัฒนาเทียบเท่าพี่ ๆ ที่เข้ามาทำงานก่อน นั่นก็คือการเรียนรู้งานในส่วนที่เราต้องทำให้มากที่สุด หากปัญหาเป็นเพราะเรายังเรียนรู้งานไม่พอเราก็ต้องรีบหาวิธีเรียนรู้ โดยอาจสอบถามจากรุ่นพี่ในแผนกเดียวกัน หรือหัวหน้า

 

แต่ถ้าในแต่ละวันทุกคนยุ่งอยู่กับงานและไม่มีเวลามาสอนงานให้เรา ให้ลองไปสังเกตงานเก่า ๆ ของบริษัท ดูว่าสไตล์ในการทำงานเป็นแบบไหน การตั้งชื่อไฟล์ให้เป็นระเบียบหรือการส่งต่องานเป็นยังไง ถ้าตรงไหนที่เราสงสัยและพยายามหาคำตอบด้วยตัวเองแล้วแต่ยังไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ลิสต์ข้อสงสัยเหล่านั้นแล้วขอเวลาคนอื่น ๆ สักนิดเพื่อให้เขาช่วยแนะนำ เพราะสุดท้ายก็ต้องยอมรับว่ารายละเอียดของงานบางส่วน การที่มีคนมาสอนก็อาจจะดีกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

หาเจตนาในการตำหนิของหัวหน้าให้เจอ

ลองดูเจตนาของหัวหน้าว่าเขาตำหนิเราด้วยเจตนาแบบไหน เขาแค่ต้องการหาที่ระบายความเครียดเพียงอย่างเดียว หรือที่จริงแล้วเขาต้องการให้เราเก่งขึ้นเลยตำหนิเพราะหวังดี

  • หากการที่หัวหน้าตำหนิเราเขาติเพื่อก่อจริง ๆ เราก็ควรลองเปลี่ยนมุมมองของตัวเองใหม่ มองว่าสิ่งที่โดนตำหนิมาเป็นเหมือนโอกาสที่จะทำให้เราได้พัฒนา แทนที่จะเก็บมาตัดพ้อและตัดกำลังใจของตัวเอง เพราะจริง ๆ แล้วการที่หัวหน้าเรียกเราไปตำหนิ ก็เป็นเหมือนเป็นทางลัดที่จะทำให้เรารู้ถึงข้อด้อยของตัวเองได้เร็วที่สุด เราจะได้รู้ว่าเราพลาดอะไรไปในขั้นตอนไหน

  • หากหัวหน้าต่อว่าอย่างเดียวเพราะต้องการหาที่ระบาย และยิ่งคำตำหนินั้นเป็นทำที่รุนแรงและลดทอนคุณค่าของเรามากเกินไป ตรงนี้เราอาจต้องหาวิธีแก้ไข ให้ทั้งเราและตัวหัวหน้าค่อย ๆ เรียนรู้ไปพร้อมกัน เขาอาจเป็นหัวหน้ามือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการสอนลูกน้องในทีม หรือจริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้ตัวว่าคำพูดและการกระทำของเขารุนแรงไปก็ได้

 

หากหัวหน้าเขาเป็นคนที่รับฟัง ให้ลองถามว่าอยากให้เราปรับปรุงตรงไหน และสร้างความมั่นใจกับเขาว่าครั้งหน้าจะไม่มีความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก แต่ถ้าเขาใช้คำพูดที่รุนแรงและไม่รับฟังด้วย เราอาจต้องปรึกษาเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ที่ทำงานมาก่อนเรา หรือฝ่ายบุคคลเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ถ้าสุดท้ายแล้วยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็อาจแปลว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นหัวหน้าที่ดี การที่เราเดินออกมาก็อาจเป็นวิธีที่เราควรทำ ก่อนที่ปัญหานั้นจะสร้างผลกระทบต่อจิตใจของเรา

6 สิ่งที่ควรทำ เมื่อเจอหัวหน้างานที่เราไม่ปลื้ม

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสได้งานที่ใช่ แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

 
JobThai Official Group
Public group · 102,000 members
Join Group
 

 

ที่มา:

thairath.co.th

thestandard.co

pattanakit.net

tags : jobthai, career & tips, เคล็ดลับคนทำงาน, การทำงาน, โดนหัวหน้าด่า, หัวหน้าตำหนิ, คนทำงาน, นักศึกษาจบใหม่, เด็กจบใหม่, หัวหน้า, fresh graduate, จบใหม่ต้องรู้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม