5 เหตุผลที่การเป็นฟรีแลนซ์ อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน

ในโลกของยุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดียที่ช่วยผลักดันให้ทุก ๆ อย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ลักษณะของการทำงาน ในอดีตคนทำงานส่วนมากเลือกที่จะทำงานประจำเพราะพวกเขาเชื่อในความมั่นคงที่บริษัทมีให้ แต่ในยุคนี้ความนิยมเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว การทำงานในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” เริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้น  เพราะรูปแบบในการทำงานดูเหมือนจะตรงใจคนทำงาน Generation ใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่างานในรูปแบบนี้มีความอิสระสูง ไม่มีเวลาเข้างาน-เลิกงาน และไม่ต้องทำงานขึ้นตรงกับใคร

 

อย่างไรก็ตามไม่มีรูปแบบการทำงานใดที่สมบูรณ์แบบ ทุกวิธีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเป็นฟรีแลนซ์อาจจะเหมาะกับคนยุคใหม่ที่รักความอิสระ แต่ในขณะเดียวกันการเป็นฟรีแลนซ์ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ใครหลายคนต้องการ เนื่องจากการทำงานในรูปแบบนี้มีความซับซ้อน JobThai จึงอยากให้ใครคิดอยากจะเป็นฟรีแลนซ์ ลองพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ดูอีกสักครั้ง เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องมากขึ้น

 

 

  • สวัสดิการ วันลา เงินสบทบต่างๆ ที่คนเป็นฟรีแลนซ์จะไม่ได้รับเหมือนคนทำงานประจำ

  • ลูกค้าที่เปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าที่ต้องการให้งานสมบูรณ์ ไร้ความผิดพลาด

  • วันหยุดที่คุณจะได้หยุดจริงๆ โดยไม่ต้องแบกงานไปทำด้วย หรือไม่ต้องรับโทรศัพท์เกี่ยวกับงานระหว่างพักผ่อน

  • งานมีความซับซ้อน ทำให้การอธิบายงานของเราให้คนรู้จักฟังเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย

  • งานกับชีวิตส่วนตัวที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเพราะคุณสามารถทำานได้ทุกที่

 

 

สวัสดิการ เส้นคู่ขนานของฟรีแลนซ์

วันหยุด วันลา เงินสมทบ ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใครที่คิดจะเป็นฟรีแลนซ์ก็คงจะต้องทำใจไว้ก่อนว่าจะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้ เพราะว่าฟรีแลนซ์ไม่ได้ทำงานภายใต้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง และสัญญาส่วนมากเป็นเพียงสัญญาจ้างชั่วคราว เพราะฉะนั้นแล้วคนที่คิดจะทำงานฟรีแลนซ์ก็คงจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมในส่วนนี้ ต้องวางแผนการใช้เงินให้ดีสำหรับอนาคตในระยะยาวเมื่อเราเจ็บป่วย หรือเกษียณตัวเองจากการทำงาน

 

ลูกค้าคือพระเจ้า

ในบางครั้ง งานที่มีความอิสระก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นงานที่มีความยืดหยุ่น คนที่เป็นฟรีแลนซ์อาจจะไม่ต้องรับฟังคำสั่งของเจ้านายที่บริษัท แต่ก็ยังต้องมี “ลูกค้า” ซึ่งสามารถสั่งงาน แก้ไขงาน ได้ตลอดเวลา นั่นหมายความว่างานแต่ละชิ้นจะต้องมีความเป๊ะ สมบูรณ์แบบ ตรงเวลา และผิดพลาดไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

 

วันหยุด [ที่ได้หยุดจริง ๆ ]

สำหรับการเป็นฟรีแลนซ์แล้ว เมื่อไหร่ที่เราหยุดทำงานก็เท่ากับว่าวันนั้นเราเสียรายได้ไปเลย ต่างจากคนทำงานที่ได้รับสวัสดิการเป็นวันหยุด วันลา หรือแม้แต่วันลาพักร้อน ซึ่งทำให้พนักงานประจำเหล่านั้นพักผ่อนได้อย่างสบายใจ ไม่ได้กระทบกับรายได้ในเดือนนั้นเลย นอกจากเรื่องวันหยุดแล้ว การเป็นฟรีแลนซ์ย่อมไม่มีเวลาทำการที่ชัดเจน เราจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะทำงานหรือแก้ไขงานอยู่ตลอดเวลา

 

เพราะงานเรามันอธิบายยาก

ทำงานอะไรอยู่? ฟรีแลนซ์? มันเป็นยังไงเหรอ? ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่มั่นคงสิ? คงจะเป็นเรื่องน่าเบื่อไม่น้อย ที่จะต้องมาคอยตอบคำถามและอธิบายคุณป้าข้างบ้าน ญาติ หรือคนรู้จักอื่น ๆ เมื่อพวกเขาถามว่า เราทำงานอะไร เนื่องจากว่าการทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก อีกทั้งไม่ได้ยึดติดอยู่กับงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จึงเป็นการยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจงานของเรา โดยเฉพาะคนในรุ่นก่อน ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่ได้มีประสบการณ์กับการทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากนัก

 

งานกับชีวิตส่วนตัว ปนกันมั่วไปหมด

ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์คือการเป็นรูปแบบงานที่มีความอิสระ ไม่มีเวลาเข้างาน-เลิกงาน หรือสถานที่ทำงานที่ตายตัว ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็เป็นข้อเสียได้เช่นเดียวกัน หมายความว่าคนเป็นฟรีแลนซ์จะต้องเตรียมพร้อมที่จะทำงานอยู่เสมอ ทุก ๆ ที่สามารถเป็นที่ทำงานได้ และทุกเวลาสามารถเป็นเวลางานได้ ดังนั้น คนที่เลือกวิธีการทำงานแบบนี้จึงจะต้องยอมรับกับข้อเท็จจริงที่ว่างานที่คุณทำ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนตัวของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แน่นอนว่า “ฟรีแลนซ์” เป็นรูปแบบการทำงานที่คนทำงาน Generation ใหม่ให้ความสนใจ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในฝันของใครหลาย ๆ คน จริงอยู่ที่การทำงานในรูปแบบนี้มีความอิสระ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อผู้ใดถาวร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ทำงานน้อยลง การทำงานทุกรูปแบบย่อมมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ขึ้นอยู่กับโจทย์การใช้ชีวิตของเรามากกว่าว่าการทำงานในรูปแบบใดจะตอบโจทย์นั้นได้มากกว่ากัน

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา 

theconversation.com

hongkiat.com

 

 

tags : career & tips, งาน, ฟรีแลนซ์, งานประจำ, ความสุขในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม