ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ: อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ผู้ส่งมอบความรู้ควบคู่ความบันเทิง

“ทำในสิ่งที่รักมักไม่เหนื่อย” เป็นคำพูดติดปากของผู้ชายคนนี้ที่ค้นพบว่าตัวเองรัก “การเล่าเรื่อง และ การถ่ายทอด” มาตั้งแต่เด็ก ต่อยอดมาเป็นจุดเด่นเฉพาะตัว และนำความใฝ่ฝันที่จะเป็น “นักเล่าเรื่อง” มาฝึกฝนตัวเอง จนกลายเป็นนิสัยที่ขยันหาความรู้จากทุกสิ่งรอบกาย เรียนรู้วิธีคิดจากชีวิตคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพของคน เน้นประยุกต์วิธีคิดจากพี่อ้อย Club Friday ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีมาผสมกับแนวคิดการบริหารคนในภาคธุรกิจ สอนหนังสือด้วยเนื้อหาจาก Facebook มีสไตล์การสอนที่มากด้วยลีลา ผ่านภาษาเผ็ดร้อนที่คล้องจองกันอย่างกลมกล่อม มีความสนุกกับชีวิตด้วยการเต้น Cover บนเวทีคอนเสิร์ตของตัวเอง ด้วยบุคลิกและเทคนิคเหล่านี้นี่เองทำให้ผู้ชายคนนี้กลายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร พ่วงด้วยรางวัลการสอนยอดเยี่ยม จนหลายคนเรียกเขาว่าเป็น “Edutainer” ผู้ส่งมอบความรู้คู่ความบันเทิงตัวยง

วันนี้ JobThai จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ผ่านเรื่องราวสนุก ๆ ของ ผศ.ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ หรือ อาจารย์แสบ อาจารย์ประจำสาขาการบริหารองค์การ ผู้ประกอบการ และทรัพยากรมนุษย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาค้นพบตัวเองได้อย่างไร อาจารย์มหาวิทยาลัยยังเป็นอาชีพที่น่าทำไหม เป็นอาจารย์แล้วไส้แห้งจริงหรือไม่ มาร่วมไขข้อข้องใจกันเลย

 

 

  • อาจารย์แสบบอกว่าตัวเองโชคดีที่ค้นพบตัวเองได้ไวว่าเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องแบบ “ตรงประเด็นเห็นภาพ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยมีสาระ แต่ก็จะเล่า ๆ ให้คนรอบข้างฟังด้วยอรรถรสของภาษาง่าย ๆ นับเป็นวิธีการลับคมทักษะการเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กแบบไม่รู้ตัว
  • นอกจากสอนหนังสือแล้ว หน้าที่หลักของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ การหาความรู้ใหม่หรือต่อยอดความรู้เดิมผ่านการวิจัย และงานบริการสังคม
  • อาจารย์แสบไม่ได้สอนแค่วิชาการผ่าน Textbook อย่างเดียว แต่นำข่าวสารบน Facebook มาสอนด้วย เพราะเนื้อหาน่าสนใจเกาะกระแสสังคมสมัยใหม่ เอามาประยุกต์กับหลักการทฤษฎีได้ วิชาการเปลี่ยนเร็ว จึงควรสอนให้รู้วิธีคิดและประยุกต์ใช้ให้เป็น ดังคำกล่าว “ความรู้สะท้อนวิชาการ ประสบการณ์สะท้อนวิธีคิด”  
  • รายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีมากกว่าแค่เงินเดือนประจำ การเป็นที่ปรึกษา / นักวิจัยให้กับองค์กร อาจารย์พิเศษสอนปริญญาโท / เอก หรือวิทยากรต่าง ๆ ก็เป็นรายได้เสริมที่ดีพอควร

 

 

 

ความรู้สึกของการอยากเป็นอาจารย์เริ่มต้นตอนไหน และอะไรที่ทำให้รู้ว่าอาชีพนี้เหมาะกับเรา

น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แต่ไม่ใช่ว่าอยากเป็นอาจารย์ทันที ตอนนั้นแค่เป็นคนที่ชอบเล่าเรื่อง มีอะไรก็จะเล่าให้คนที่บ้านฟัง ชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ดูแล้วก็จะมาเล่าว่าเรื่องราวเป็นยังไง มีการแสดงท่าทางประกอบเป็นช่วง ๆ ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นการฝึกทั้ง Verbal และ Non-verbal Communication แบบไม่รู้ตัว มานึก ๆ ดู การสื่อสารแบบนี้ก็เป็นคุณสมบัติการถ่ายทอดขั้นพื้นฐานของหลาย ๆ อาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอาจารย์ ส่วนตัวเป็นคนเชื่อธรรมชาติในการดำเนินชีวิตและจะเลือกอาชีพที่สะท้อนธรรมชาติของตัวเอง ชอบทำอะไรและทำได้ดีก็หาอาชีพที่เหมาะกับที่เราชอบทำ ไม่ต้องสนว่าจะทำแล้วร่ำรวยหรือไม่ จึงมาจบตรงที่ “การเล่าเรื่องและการถ่ายทอด” ซึ่งทำให้เราภูมิใจและเห็นคุณค่าตัวเองในที่สุด เคยอ่านเจอมาจาก Twitter รู้สึกโดนและชอบมาก เขาบอกว่า “งานเบาใจไม่เอามันก็หนัก ถ้าใจรักงานหนักมันก็เบา” ฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราค้นพบว่าตัวเองชอบทำอะไรได้ไว เราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำได้เร็วเท่านั้น

 

ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ผู้ส่งมอบความรู้ควบคู่ความบันเทิง

 

เมื่อค้นพบว่าชอบการเล่าเรื่อง นำความชอบมาต่อยอดสู่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างไร

ตอนแรกเริ่มจากการเป็นติวเตอร์ เพราะได้ไปเรียนพิเศษกับติวเตอร์เก่ง ๆ ที่สอนดีมีสไตล์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้เนื้อหาที่น่าเบื่อเป็นเรื่องที่น่าสนุก เราก็อยากจะทำเหมือนกัน ก็เลยลองมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าจะเป็นติวเตอร์ เราจะเป็นติวเตอร์สไตล์ไหน” ด้วยความที่เป็นคนชอบเล่าเรื่อง ก็คิดว่าการเล่าเรื่องประกอบการติวน่าจะสไตล์ธรรมชาติที่ลงตัวมากที่สุด ก็ลองมาฝึกเองโดยตั้งตัวเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษประจำห้องตอนอยู่มัธยมต้นที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ต้องหาความรู้มากขึ้นเพราะต้องรู้จริงในสิ่งที่สอน ต้องเตรียมการสอน และค้นหาเทคนิคการสอนใหม่ ๆ สนุก ๆ ยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย ก็สอนมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ก็เป็นติวเตอร์ในวิชาพื้นฐานที่ตนเองถนัด เช่น จิตวิทยาและปรัชญา พอย้อนกลับไปดูตัวเอง จากวันนั้นถึงวันนี้ ทำให้รู้ว่าการเป็นติวเตอร์เป็นวิธิการลับคมทักษะการเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กอย่างไม่รู้ตัว และนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

 

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในบทบาทนักศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง

สมัยก่อนมีสอบเทียบ ก็เอนท์ติดตั้งแต่ ม.4 ได้ที่ครุศาสตร์ มัธยม-ศิลป์ จุฬาฯ ตอนนั้นเข้าใจว่าเรียนด้านนี้คงเป็นติวเตอร์ได้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะยึดติวเตอร์เป็นอาชีพจริง ๆ หรือเปล่า พอดีสอบได้ทุน AFS เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เลยพักการเรียนที่จุฬาฯ ไปเรียน High School ก่อน หลังจากนั้นกลับมาเรียนต่อที่คณะครุฯ ก็พบว่า ไม่น่าจะตอบโจทย์ตัวเอง เลยเริ่มหาที่เรียนใหม่แบบสมัครสอบแบบยื่นคะแนนได้โดยไม่ต้องรอรอบสอบใหม่ในปีถัดไป ในที่สุดก็สอบเข้าเรียนบริหารธุรกิจ หรือ BBA ที่วิทยาลัยนานาชาติ ม. มหิดล หรือ Mahidol University International College (MUIC) จากเดิมที่ไม่เคยคิดจะเรียนบริหารธุรกิจ แต่ชีวิตก็ผันให้มาเปิดมุมมองใหม่ ๆ บ้าง อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจที่อยากเป็นอาจารย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

หันหลังให้ครุศาสตร์ และมุ่งหน้าไปทางบริหารธุรกิจ มีความลังเลกับการอยากเป็นอาจารย์หรือเปล่า

ตอนแรกก็งงว่า บริหารธุรกิจ กับ การเป็นอาจารย์ ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ พอได้มาเรียนก็ชอบแนวบริหารธุรกิจเหมือนกัน และได้เรียนกับอาจารย์เก่ง ๆ ซึ่งมีประสบการณ์จากธุรกิจจริง ทำให้ปรับความคิดว่า จบแล้วไปทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนมาเป็นอาจารย์ก็น่าจะดี ตอนนั้นเริ่มรู้จักอาชีพที่ปรึกษาทางธุรกิจซึ่งเป็นอาชีพที่นอกจากค่าตอบแทนดีมาก ๆ แล้ว ยังให้ประสบการณ์ที่หลากหลายด้วย น่าจะเป็นประโยชน์ตอนกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็อยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง หางานยากมาก สุดท้ายได้งานที่บริษัทเล็ก ๆ ด้านวานิชธนกิจแห่งหนึ่ง ทำงานด้านประเมินมูลค่าธุรกิจ ช่วงเดือนแรก ๆ ก็สนุก เรียนรู้เยอะ สามเดือนต่อมาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะเอาดีด้านนี้จริงหรือ แล้วเราชอบตัวเองตอนทำงานนี้ไหม” คำตอบที่ได้ คือ “ไม่ชอบ” “ไม่ใช่” และ “ไม่สนุก” ซึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจลาออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีงานใหม่ด้วยซ้ำ เพราะรู้ตัวดีว่า “ฝืนทนทำไปก็ไม่ช่วยอะไร” ต่อให้ทำสุดฝีมือสุดหัวใจ ยังไงก็ได้แค่พอดีพอได้ ถ้าฝืนทำต่อไปตัวเราก็ไม่เก่งขึ้นเท่าที่ควร เราก็อาจกลายเป็นภาระเล็ก ๆ ขององค์กรที่ทำให้องค์กรเดินไม่เร็วก็เป็นได้ ส่วนตัวยังคงเชื่อความเป็นเลิศในการทำงานอยู่เสมอ คือ “ทำอะไรอย่าให้ใครด่า จะดีกว่าถ้ามีคนชม” ถ้าเป็นไปได้เราควรจะเลือกงานหรืออาชีพที่อนุญาตให้เรา “ได้ทำ” ในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขและภูมิใจ ไม่ใช่แค่มีความสามารถพอ “ทำได้” เท่านั้น

 

แล้วเส้นทางชีวิตหักเห มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างไร

หลังจากตกงานได้หนึ่งสัปดาห์ ก็ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์พิเศษที่มาสอนที่ MUIC และอาจารย์เป็นอนุกรรมการโครงการของ United Nations Environment Programme (UNEP) และมีโปรเจกต์ให้ไปช่วยพอดี เลยทำเป็นแบบ Contract ประมาณ 3 เดือน ได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษขั้นสูง มีความเป็นทางการที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน วันหนึ่งบังเอิญเจอเพื่อนของเพื่อนซึ่งเรียนที่ BBA ธรรมศาสตร์ และแม่ของเขาก็เป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ เขาก็ถามเรื่องทั่วไป ทำงานที่ไหน อยากไปเรียนต่อโทที่ไหน แล้วมองเส้นทางอาชีพยังไง ก็เล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วอยากเป็นอาจารย์ แต่คิดว่าคงจะเป็นตอนมีประสบการณ์เยอะ ๆ อายุมากหน่อยจะดีกว่า เพราะไม่เคยเห็นอาจารย์อายุน้อย ๆ เขาก็ไปเล่าให้แม่เขาฟังว่ามีเพื่อนที่เพิ่งจบป.ตรี และอยากเป็นอาจารย์ จากนั้นคุณแม่ของเพื่อนก็นัดคุยเบื้องต้น และแนะนำให้สมัครเป็นอาจารย์เลย ท่านคงเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา เราก็กล้าพอที่จะคว้าโอกาสดี ๆ ไว้ ตอนนั้นมีคนสมัครเป็นอาจารย์เข้าสาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 30 คน แต่รับแค่ 3 ตำแหน่ง สุดท้าย ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ประจำคณะฯ ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นอาจารย์อายุน้อยที่สุดในคณะฯ คือ อายุเพียง 23 ปี และมีแค่วุฒิปริญญาตรีเท่านั้น

 

ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ผู้ส่งมอบความรู้ควบคู่ความบันเทิง

 

ครั้งแรกในชีวิตกับการเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์นั่งเรียนอยู่เกือบร้อยคน รู้สึกอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่ารู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมาก ตอนนั้นเริ่มเป็นอาจารย์ตั้งแต่เพื่อนรุ่นเดียวกันยังเรียนไม่จบ เพราะสอบเทียบมาและจบสามปีครึ่งจากมหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่หน้าเหมือนเพื่อนนักศึกษามาก ยังปรับตัวไม่ค่อยถูก วิชาแรกที่สอนคือ หลักการบริหาร ซึ่งตัวเองเพิ่งเรียนจากมหาวิทยาลัยมาประมาณสี่ปีที่แล้ว ไม่รู้ว่าจะวางตัวยังไงให้เหมาะสมกับเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ค้นหาจุดยืนที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองอยู่นาน สุดท้ายมาลงตัวตรงที่ “เนื้อหาที่สอนต้องเป็นแบบคลื่น FM แต่สไตล์การสอนเป็นแบบคลื่น AM” ซึ่งหมายถึง เนื้อหาต้องสมัยใหม่ แต่รูปแบบการสอนเน้นการเล่าเรื่องที่ตรงประเด็นเห็นภาพด้วยภาษาง่าย ๆ ซึ่งโชคดีที่อาจารย์ผู้ใหญ่ในสาขาฯ สนับสนุนให้สอนในแบบฉบับของตัวเอง มีนักศึกษาหลายคนบอกว่า อาจารย์แสบมีลีลาการสอนที่ไม่เหมือนอาจารย์คนอื่น จะเป็นแบบ Talk Show พกไมค์คล้องหูส่วนตัว หรือ Headset Microphone เข้าถึงนักศึกษาทุกที่นั่ง เรียนสนุกลุกนั่งสบาย พอได้ฟังแล้วก็ชื่นใจ คิดว่ามาถูกทางแล้ว หลังจากสอนได้หนึ่งปี ก็สอบชิงทุนธรรมศาสตร์ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่ Cambridge Business School, University of Cambridge, UK ใช้เวลาเรียนโทและเอกทั้งหมด 4 ปี และเป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกจาก Cambridge Business School หลังจบปริญญาเอกก็สอนหนังสือมาแล้ว 12 ปี

 

นอกจากการสอนที่เป็นหน้าที่หลัก อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่อะไรอีกบ้าง

งานหลักของอาจารย์มหาวิทยาลัย (เฉพาะที่คณะพาณิชย์ฯ ธรรมศาสตร์ สำหรับคณะและสถาบันการศึกษาอื่นอาจแตกต่างกันไป) แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ สอน วิจัย และบริการสังคม สำหรับการสอนนั้น หลัก ๆ แต่ละปีการศึกษาอาจารย์ต้องสอนระดับปริญญาตรีภาคไทย 4 Sections (3 ชั่วโมง ต่อ Section) สำหรับการสอนระดับปริญญาโท และหลักสูตรนานาชาติ ถือเป็นการสอนเพิ่มจากภาระการสอนปกติ ไม่ได้บังคับให้อาจารย์ทุกคนต้องสอนระดับปริญญาโทและหลักสูตรนานาชาติ

อย่างที่สอง คือ การทำวิจัย ซึ่งก็มีหลายแบบ เช่น วิจัยพื้นฐานที่เน้นการต่อยอดความรู้เดิมหรือเพิ่มความรู้ใหม่ หรือวิจัยประยุกต์ที่เน้นการแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งงานทั้งสองแบบนี้ ต้องนำมาตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารทางวิชาการปีละหนึ่งบทความ

และสุดท้ายคือ งานบริการสังคม ซึ่งหมายถึง การได้รับเชิญไปบรรยายเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคลากรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน การเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้อาจารย์ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ หรือแม้แต่ได้ประยุกต์หลักการวิชาการในโลกธุรกิจจริง เพื่อจะได้เช็กดูว่าวิชาการนำมาประยุกต์ได้มากน้อยแค่ไหน ในทางวิทยาศาสตร์ การหาความรู้ใหม่ของนักวิทยาศาสตร์คือการทดลองในห้องแล็บ แต่ในทางสังคมศาสตร์ การหาความรู้ใหม่คือการหาประสบการณ์ในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาแชร์ให้กับนักศึกษาได้อย่างเห็นภาพและทันสมัย

 

ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ผู้ส่งมอบความรู้ควบคู่ความบันเทิง

 

สไตล์การสอนในแนวทางของอาจารย์แสบ แตกต่างจากอาจารย์ทั่วไปอย่างไร

อาจารย์แต่ละท่านคงมีแนวทางการสอนที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนตัวนั้นเชื่อว่าเนื้อหาทางการบริหารธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หลักการทฤษฎีความรู้บางอย่างยังคงขลังและใช้การได้ก็สอนต่อไป แต่ตัวอย่างคงต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ฉะนั้นจะไม่ค่อยสอนทฤษฎีวิชาการเพียว ๆ แต่จะเน้นกระตุ้นให้เกิดวิธีคิดที่มี “ตรรกะ” เป็นพื้นฐาน ซึ่งสำคัญมากต่อการนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องเรียนและการดำเนินชีวิต ส่วนตัวจะเน้นย้ำเสมอกับหลักการสอนที่ว่า “ความรู้สะท้อนวิชาการ ประสบการณ์สะท้อนวิธีคิด” เน้นให้เกิดการคิดมากกว่าการท่องจำอย่างเดียว ตัวเองจะไม่สอนเนื้อหาทั้งหมดจาก Textbook แต่สอนเนื้อหาที่อยู่บน Facebook ด้วย เพราะเนื้อหาบางเรื่องมีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้และทันสมัยสามารถเอามา “ขยี้” ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันแบบปัจจุบันทันด่วนได้เลย ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักศึกษายุคใหม่กับ Social Media เป็นของคู่กัน วัน ๆ ใช้เวลาบน “หน้าจอ” มากกว่าเจอ “หน้าจริง” ด้วยซ้ำ ฉะนั้น เราก็ควรใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ โดยเอาความรู้ใหม่ ๆ จากสื่อเหล่านั้นมาสอนด้วย อะไรที่อยู่ในกระแสก็จะเอามาเป็นกรณีศึกษาได้ทันที โดยให้นักศึกษาเปิดหน้า Facebook Page ที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาพร้อมกันทั้งห้อง แล้วอ่านกันสด ๆ แสดงความคิดเห็นกันสด ๆ ทุก ๆ วัน เราก็จะเจอเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เป็นวัตถุดิบให้กับชีวิตการเรียนแบบสนุก ๆ ได้เสมอ เช่น “พี่ตูน Bodyslam” “BNK48” “Amazon Go” หรือแม้กระทั่ง “Club Friday” แล้วเรามาผูกเข้ากับเนื้อหาการสอนเรื่องการบริหารลูกค้าและบริหารคนได้อย่างกลมกล่อม

ถ้าถามถึงจุดเด่นส่วนตัว ก็น่าจะเป็น การสอนให้ความรู้คู่ความบันเทิง ซึ่งก็คือ เล่าเรื่องจากประสบการณ์ตัวเองหรือสื่อที่อยู่รอบตัวด้วยอรรถรสภาษาแบบวัยรุ่น ทำให้นักศึกษาเห็นภาพที่ชัดขึ้น ใช้คำคม คำคล้องจอง ที่จำกันง่าย ๆ ให้โดนใจ ไม่หวังให้ท่องจำ แต่จะพูดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ให้เข้าใจ ได้แค่ไหนแค่นั้น

ทุกๆ ครั้งที่สอน จะสอนสไตล์ Talk Show ฟังแล้วไม่เครียด สมองไม่หนัก ซึ่งง่ายต่อการสร้าง Mindset ให้เหมาะสม ก่อนจะสอน Skillset ต่อไป สิ่งที่จะเน้นมาก ๆ สำหรับวิชาการบริหารคน คือ การบริหารความสัมพันธ์ของคน (Human Relations) และนี่คือ Mindset ที่อยากให้นักศึกษาได้เปิดรับก่อน เพราะอยู่ใกล้ตัวมากและประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตทุก ๆ วัน สโตล์การสอนที่ไม่เหมือนใครอีกอย่างคือ การยกตัวอย่างการบริหารความสัมพันธ์ของคนผ่านแนวคิดจาก Club Friday ซึ่งพูดถึงเรื่องการบริหารความสัมพันธ์ล้วน ๆ เพียงแต่เราไม่ได้ตีความเรื่องความสัมพันธ์แบบแฟนอย่างเดียว บางเรื่องบางวิธีคิดจาก Club Friday ก็ไม่ต่างกับหลักการการบริหารคนเลย บ่อยครั้งก็หยิบยืมคำคมของพี่อ้อยมาแปลงให้เป็นแนววิชาการ จนนักศึกษาบางคนเรืยกอาจารย์ว่า Professor of Club Friday

 

คิดว่าตัวเอง เป็นอาจารย์ที่ดุไหม

ไม่ดุแต่เข้มงวดในบางเรื่องมากกว่า เช่น การให้เกียรติซึ่งกันและกันในห้องเรียนหรือแม้แต่นอกห้องเรียน เวลาสอนอยู่ ถ้ามีคนหนึ่งอยากฟัง แต่คนหนึ่งอยากคุยเสียงดัง นั่นหมายถึง คุณกำลังก้าวล้ำสิทธิ์คนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แบบนี้ต้องปรับทัศนคติกันหน่อย “ใจเขา ใจเรา” การให้เกียรติคนอื่นยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอในการทำงานและการใช้ชีวิตทุก ๆ วัน  

บางคนยกมือถือตั้งศอกเล่น Line ต่อหน้าต่อตากันเลย อาจารย์ก็ไม่พูดอะไร แค่หยิบมือถือมาเล่น Line กลางห้องเท่านั้น เล่นไป จนนักศึกษาก็งงว่า อาจารย์ทำอะไร ทำไมไม่สอน ดูเป็นอาจารย์ไร้มารยาท ก็เลยให้ข้อคิดไปว่า ถ้าเราเจอคนทำตัวนัไม่น่ารักในสังคม เราจะรู้สึกต่อคนคนนั้นอย่างไร ฉันท์ใดฉันท์นั้นกับนักศึกษาที่เล่น Line ไม่แคร์ใคร นี่คือ วิธีการสอนเพื่อเรียกสติให้เห็นว่า “ใจเขา ใจเรา” เป็นยังไง เป็นวิธีการที่ค่อนข้างแสบสมชื่อเลยทีเดียว

 

ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ผู้ส่งมอบความรู้ควบคู่ความบันเทิง

 

อาชีพนี้รายได้น้อยจริงไหม หรือจริง ๆ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยยังมีรายได้ช่องทางอื่นอีก

ถ้ามองจากฐานเงินเดือนของอาจารย์เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในบริษัทเอกชนแล้ว ย่อมน้อยกว่ามาก แต่ถ้าอาจารย์ต้องการหารายได้เสริมก็ไม่ใช่เรื่องยาก อาจารย์คงต้องประยุกต์ความสามารถของตัวเองให้ตอบสนองความต้องการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การบริหารองค์กร หรือแม้แต่ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ฉะนั้น นอกเหนือจากเงินเดือนที่เป็นรายได้หลักจากการสอนระดับปริญญาตรีแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยยังสามารถเสริมรายได้จาก 3 ช่องทางหลัก ๆ คือ

  1. เป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สอนโครงการปริญญาโท / เอก โครงการพัฒนาผู้บริหาร และอื่น ๆ
  2. เป็นวิทยากร / ที่ปรึกษาให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
  3. ทำโครงการวิจัยเชิงวิชาการ และ/หรือทำโครงการวิจัยเชิงประยุกต์ (แบบ Consulting Project)

นี่คือส่วนเสริมด้านรายได้ แต่ภาระงานที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดต้องครบถ้วนด้วย รายได้เสริมจาก 3 ช่องทางนี้จะมากจะน้อยก็แล้วแต่สาขาวิชา ถ้าเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือราชการ / รัฐวิสาหกิจก็อาจจะมีงานค่อนข้างเยอะหน่อย

 

 

 

ขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

  • อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีวุฒิปริญญาโทเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่ต้องจบปริญญาเอก ยกเว้นสาขาขาดแคลนจริง ๆ ก็อาจจะรับวุฒิปริญญาตรี (เกียรตินิยม) 
  • การสมัครเข้าเป็นอาจารย์ไม่มีช่วงเวลาเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับความต้องการอาจารย์ในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น มีอาจารย์เกษียณ มีอาจารย์ลาออก
  • หลัก ๆ ผู้สมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องผ่านการทดสอบ 3 ประเภท คือ สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และสอบสอน เพื่อประเมินว่า “สอนได้วิจัยเป็น”
  • ก่อนจะมาสมัครอาจารย์ถ้าคิดว่ามีประสบการณ์การทำงานมาเยอะพอ สามารถขอสมัครเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อทดสอบตัวเองก่อนก็ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยินดีพิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถจากภาคธุรกิจมาร่วมแบ่งปันความรู้ให้นักศึกษาอยู่แล้ว

 

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

tags : career focus, อาจารย์มหาวิทยาลัย, คนทำงาน, การทำงาน, career & tips, เคล็ดลับการทำงาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม