3 อาชีพสายเทคโนโลยียุค Big Data และทักษะสำคัญที่ต้องมี

ยุค Big Data หรือยุคแห่งข้อมูลมหาศาลเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนทำงานเข้าไปทุกที เพราะปัจจุบันโลกของเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน หลายองค์กรเริ่มมองหาโอกาสที่จะนำข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์และต่อยอดกับธุรกิจ ทำให้ความต้องการคนที่จะเข้ามาจัดการข้อมูลมีมากขึ้น และคนที่เชี่ยวชาญทักษะเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาขององค์กรอีกด้วย

 

หากเราเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Big Data, Artificial Intelligence (AI), Machine Learning (ML) หรือ Computational Linguistics (นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์) วันนี้ JobThai จะช่วยให้เห็นภาพรวมของอาชีพสายเทคโนโลยีชัดเจนขึ้น และสามารถพัฒนาทักษะของตัวเองให้เตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้ทันมาฝาก

 

 

  • Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือคนที่ดูเรื่อง Analytics หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นอาชีพที่ค่อนข้างเปิดกว้างเพราะปัจจุบันยังไม่มีการระบุว่าต้องจบสาขาอะไร
  • Computational Linguistics หรือ นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เป็นอาชีพที่ต้องผสมผสานความรู้ทางภาษาศาสตร์กับวิทยาการคอมพิวเตอร์ พยายามให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาได้นั่นเอง
  • Artificial Intelligence Engineer หรือ นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการพัฒนาระบบ AI จำเป็นต้องใช้คนที่มีความสามารถในการใช้โปรแกรมและชุดคำสั่งต่าง ๆ

 

 

3 อาชีพสายเทคโนโลยียุค Big Data ที่น่าสนใจ

 

1. Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

เป็นหนึ่งอาชีพมาแรงของวงการเทคโนโลยีที่ทุกคนต่างพูดถึง อาชีพ Data Scientist นี้มีนิยามที่ค่อนข้างกว้าง ถึงจะไม่มีการระบุเจาะจงลงไปว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่หน้าที่ส่วนใหญ่คือการดูเรื่อง Analytic หรือการวิเคราะห์ข้อมูล บางคนต้องต่อยอดการวิเคราะห์เพื่อไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถ้าจะนิยามให้พอเห็นภาพก็คือคนที่นำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้นนั่นเอง

 

อาชีพ Data Scientist ค่อนข้างเปิดกว้างเพราะปัจจุบันยังไม่มีระบุว่าต้องจบสาขาอะไรจึงจะมาทำงานด้านนี้ได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่งจะเริ่มพัฒนาหลักสูตรที่เปิดสอนให้มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลโดยตรง คนที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่จึงมักจบสายวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลหรือไม่ก็จบทางด้านสถิติ เพราะทักษะสำคัญที่อาชีพนี้ต้องการคือ

 

Visualization หรือ การนำเสนอข้อมูลเชิงภาพ 

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นให้คนทั่วไปเข้าใจได้ด้วย ไม่ว่าจะสื่อสารออกมาด้วยกราฟหรือภาพ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าข้อมูลไหนเหมาะกับการสื่อสารรูปแบบใดนั่นเอง

 

Coding หรือ การเขียนโค้ด 

ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับอาชีพนี้ เพราะต้องใช้การเขียนโค้ดเพื่อสร้างโมเดลในการดึงข้อมูลและเก็บข้อมูล เพื่อจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้การในวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ 

 

Communications หรือ ทักษะด้านการสื่อสาร 

ใครว่าการทำงานกับข้อมูลจะต้องคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลนอกจากจะต้องสื่อสารข้อมูลเชิงภาพออกมาแล้ว ยังต้องสื่อสารข้อมูลให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้าน Data Science เข้าใจได้ด้วย

 

ความรู้ด้านธุรกิจ

เป็นทักษะที่จะช่วยเสริมการนำข้อมูลไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะถ้ามีความรู้ด้านธุรกิจ วิเคราะห์ลูกค้าได้ ก็จะทำให้มองเห็นว่าจะเพิ่มผลลัพธ์ให้ธุรกิจจากข้อมูลที่มีอยู่ด้วยวิธีใด

 

2. Computational Linguistics หรือ นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์

เป็นอาชีพที่ต้องเอาความรู้ทางภาษาศาสตร์มารวมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นการผสมผสานศาสตร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูล, เข้าใจภาษามนุษย์ และทำหน้าที่ทางภาษาแทนมนุษย์ได้ เช่น Machine Translation หรือเครื่องแปลภาษาอัตโนมัติ, Chatbot หรือ หุ่นยนต์นักสนทนาที่รับคำสั่งจากมนุษย์ได้ เป็นการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการทำงานของคนด้วยรูปแบบอัตโนมัติมากขึ้น ทักษะสำคัญที่ควรมีก็คือ

 

Linguistics หรือทักษะทางภาษาศาสตร์

ภาษามีความพิเศษ และหลายครั้งเราจะได้ยินวลีที่ว่า “ภาษาดิ้นได้” นั่นทำให้คนที่จะมาทำอาชีพนี้ต้องมีความเข้าใจด้านภาษาศาสตร์เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษาและการสื่อสารของมนุษย์ เช่น Machine Translation หรือการแปลภาษาอัตโนมัติให้มีความหมายออกมาตรงตามที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุด และ Search Engines หรือโปรแกรมการค้นหา ที่ทุกวันนี้สามารถพิมพ์คำถามลงไปแล้วระบบอัติโนมัติสามารถส่งคำตอบกลับมาให้เราได้เลย

 

การเขียนโปรแกรม

เป็นการสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถรับคำสั่งแล้วเข้าใจได้ว่ามนุษย์ต้องการอะไร เช่น การทำให้ Chatbot หรือหุ่นยนต์นักสนทนาสามารถรับคำสั่งจากเสียงแล้วเข้าใจได้ว่า ต้องเปิดไฟ ปรับแอร์ หรือเปิดเครื่องซักผ้า เป็นต้น

 

ทักษะทางด้านสถิติ

หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขหรือสถิติจะเกี่ยวอะไรกับข้อมูลทางภาษา ความจริงแล้วทักษะทางสถิตินี้จะช่วยเสริมการทำงานของนักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น เพราะข้อมูลทางสถิติจะช่วยทำให้เข้าใจว่า โอกาสเกิดขึ้นของคำแต่ละคำมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยให้เข้าใจภาษาและธรรมชาติของภาษามากขึ้น

 

การวิเคราะห์และนำไปประยุกต์

สิ่งที่นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ต้องทำคือการวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษา และพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ทำให้ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเข้าใจบริบทของหรือจุดมุ่งหมายของการสื่อสาร ซึ่งถ้าทำให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ได้ดีขึ้นความหมายที่ออกมาก็จะตรงกับความต้องการมากขึ้นด้วย

 

3. Artificial Intelligence Engineer หรือ นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์

Artificial Intelligence หรือ AI คือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อโลกปัจจุบันมีความต้องการใช้งาน AI มากขึ้น ทำให้ AI Engineer หรือคนพัฒนาระบบ AI ก็เป็นที่ต้องการสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเขาสามารถเอาศาสตร์ด้าน AI มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้โปรแกรมและชุดคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งต้องมีทักษะสำคัญคือ

 

ความรู้เฉพาะด้านภาษาคอมพิวเตอร์และโปรแกรม

เพื่อจะได้สร้างระบบและทดสอบการทำงานของ AI คนที่ทำงานด้านนี้ควรจะมีความรู้ภาษาที่นิยมทาง AI เช่น python และ java เป็นต้น 

 

คณิตศาสตร์ประยุกต์

การวิเคราะห์และออกแบบระบบให้กับ AI นั้นต้องใช้ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ เช่น ความน่าจะเป็น สถิติ และแคลคูลัส มาประยุกต์ใช้กับการจัดการและบริหารข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

 

ทักษะการสื่อสาร

แม้งานสายนี้จะเน้นการทำงานเชิงเทคนิคอยู่กับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ก็ต้องมีการสื่อสารกันกับคนในทีมและคนในทีมอื่น ๆ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลทางเทคนิคได้อย่างถูกต้องและตรงกัน

 

รักการเรียนรู้

เพราะโลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว สิ่งที่ทันสมัยวันนี้อาจตกยุคแล้วในเดือนหน้า ถ้าเราไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่อัปเดตตามกระแสเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จะทำให้พลาดการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจและผลิตภัณฑ์

 

ยังมีอีกหลายอาชีพที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นอาชีพเด่นในยุคแห่งเทคโนโลยี 3 อาชีพนี้เป็นส่วนหนึ่งที่พอจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมได้ว่า กระแสกำลังไปทิศทางไหน และสำหรับใครที่สนใจงานด้านนี้ก็จะสามารถเตรียมตัวฝึกฝนทักษะเพื่อให้ทันกับความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ที่จะขยายฐานการจ้างงานในอนาคตอันใกล้

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : career & tips, big data, เทคโนโลยี, อาชีพมาแรง, ทักษะ, เคล็ดลับสำหรับคนทำงา, อาชีพสายเทคฯ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม