สรุปวิธีลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ง่าย ๆ เหมือนจับมือทำ

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เป็นธรรมดาของคนทำงานที่ครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงาน เรามักจะมีช่วงที่ว่างงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการทำงาน ช่วงค้นหาตัวเอง หรือถูกเลิกจ้าง ซึ่งคนทำงานทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนที่ส่งประกันสังคมทุกเดือนมาอย่างน้อย 6 เดือน ก็จะได้รับสิทธิประกันสังคมเพิ่มมา 1 สิทธิ คือ “ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน / ตกงาน” วันนี้ JobThai จะมาแนะนำวิธีลงทะเบียนว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ยังหางานใหม่ไม่ได้

 

โดนหักประกันสังคมทุกเดือนไปทำไม มาเช็กสิทธิประกันสังคมที่เราควรได้กัน

 

ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน / ตกงาน คืออะไร?

ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน หมดสัญญาจ้าง ลาออก หรือตกงาน เป็นสิทธิประกันสังคมอีกหนึ่งสิทธิที่จะช่วยเหลือเราในรูปแบบของเงินทดแทนในเวลาที่เรายังว่างงานหรือยังหางานไม่ได้ ซึ่งสิทธินี้เราจะได้รับเงินจากประกันสังคมผ่านการแบ่งจ่ายเป็นเวลา 3 งวด โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  • กรณีว่างงานด้วยการลาออกหรือหมดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงาน 30% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (3 เดือน) สูงสุดไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 x 30%)

  • กรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่ใช่ความผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือทำผิดกฎหมายร้ายแรง จะได้รับเงินชดเชยขณะที่ว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) สูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 x 50%)

 

หมายเหตุ* เราจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ต่อเมื่อ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

 

ข้อมูลที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนว่างงานออนไลน์

การลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ มีข้อดีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการที่เราไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสาร สำเนา หรือรูปถ่าย รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ก็ยังมีข้อมูลที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับลงทะเบียนอยู่ดังนี้ 

  • ข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และ Laser Code (เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน)

  • สาเหตุการออกจากงาน (ลาออก ถูกเลิกจ้าง หรืออื่น ๆ )

  • เลขนิติบุคคลของบริษัทที่เราทำงานล่าสุด หากเลขนิติบุคคลถูกต้อง ชื่อนายจ้างและประเภทกิจการจะขึ้นมาอัตโนมัติ (ในขั้นตอนนี้เราสามารถค้นหาคำว่า “เลขนิติบุคคล” ตามด้วยชื่อบริษัทในกูเกิลได้เลย)

  • ที่อยู่ของสถานประกอบการ (ที่อยู่บริษัท)

  • ชื่อตำแหน่งงาน และค่าจ้างต่อเดือนของเดือนล่าสุดที่เราทำงาน

  • ช่องทางการรับเงินชดเชย

    • รับเงินชดเชยผ่านธนาคาร ต้องเตรียมข้อมูลธนาคาร เลขบัญชี และหน้าสมุดบัญชีธนาคาร

    • รับเงินชดเชยผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนจะขึ้นมาเพื่อยืนยัน ไม่จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลอื่น ๆ 

 

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนว่างงาน

ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนว่างงานเราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่กรมการจัดหางาน เพราะเราสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานผ่านเว็บไซต์ของกรมจัดหางานได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ https://e-service.doe.go.th/login.do ในกรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่เคยขึ้นทะเบียนคนว่างงานมาก่อนให้กด “ลงทะเบียนเข้าใช้งาน” หากเคยแล้วสามารถกด Log in เพื่อใช้งานได้เลย โดยมีขั้นตอนขึ้นทะเบียนว่างงานดังนี้

  1. เมื่อ Log in เรียบร้อยแล้ว กดไปที่เมนู “ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน” จากนั้นเว็บไซต์จะพาเราไปที่ https://unemploy.doe.go.th/home

  2. กดไปที่เมนู “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” จะปรากฎข้อมูลส่วนที่ 1 ในหน้า “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” กรอกข้อมูลและรายละเอียดให้ครบถ้วน รวมทั้งเหตุผลหรือสาเหตุของการว่างงาน และกดปุ่มถัดไป

  3. ข้อมูลส่วนที่ 2 หน้า “สมัครงาน” สามารถเลือกตำแหน่งงาน ประเภทการจ้างงาน รวมถึงอัตราค่าจ้างที่ต้องการได้ แต่หากยังไม่ต้องการงานตอนนี้ สามารถกดที่ช่อง “ไม่ประสงค์จะสมัครงาน” ได้เช่นกัน และกดถัดไป

  4. ข้อมูลส่วนที่ 3 หน้า “อาชีพอิสระ” กรณีที่เราไม่ประสงค์จะสมัครงานในข้อมูลส่วนที่ 2 เราต้องทำการระบุข้อมูลการประกอบอาชีพอิสระ อย่างน้อย 1 อาชีพ 

  5. กดที่ปุ่มบันทึกข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน

  6. รับเอกสาร “หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน” และ “วันนัดรายงานตัวของผู้ประกันตน” (สามารถพิมพ์ออกมาเพื่อตรวจสอบวันรายงานตัวว่างงานได้)

 

หากไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ก็ยังสามารถเข้าใช้บริการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมที่เราสะดวก หรือติดต่อเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 

 

การรายงานตัวว่างงาน

เมื่อกรอกเอกสารและลงทะเบียนว่างงานครบถ้วนแล้ว เราจะได้เอกสาร “หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน” และวันนัดหมายรายงานตัว ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดการรายงานตัวของเรา ในขั้นตอนนี้เราสามารถรายงานตัวและอัปเดตสถานะของเราผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยเราจำเป็นต้องรายงานตัวพร้อมให้ข้อมูลว่าปัจจุบันเรายังว่างงานอยู่หรือได้งานใหม่แล้ว หากได้งานใหม่ต้องกรอกวัน/เดือน/ปี ที่เริ่มทำงาน ตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง และชื่อสถานประกอบการ เพื่อเป็นการยืนยันสถานะ โดยเข้าไปที่เมนู “รายงานตัว” ในเว็บไซต์ unemploy.doe.go.th/home ที่เราใช้ขึ้นทะเบียนว่างงาน และทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. ข้อมูลส่วนที่ 1 หน้า “รายงานตัว” กรอกข้อมูลเลขขึ้นทะเบียน ชื่อ-นามสกุล และสถานะปัจจุบันให้ครบถ้วน จากนั้นให้กดไปที่ปุ่ม “ถัดไป”

  2. ข้อมูลส่วนที่ 2 หน้า “สมัครงาน” สามารถเลือกตำแหน่งงาน ประเภทการจ้างงาน รวมถึงอัตราค่าจ้างที่ต้องการได้ แต่หากยังไม่ต้องการงานตอนนี้ สามารถกดที่ช่อง “ไม่ประสงค์จะสมัครงาน” ได้เช่นกัน และกดถัดไป

  3. ข้อมูลส่วนที่ 3 หน้า “อาชีพอิสระ” กรณีที่เราไม่ประสงค์จะสมัครงานในข้อมูลส่วนที่ 2 เราต้องทำการระบุข้อมูลการประกอบอาชีพอิสระ อย่างน้อย 1 อาชีพ 

  4. กดที่ปุ่มบันทึกข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน

 

Q&A เรื่องที่ควรรู้เพิ่มเติมในการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

Q: ต้องลงทะเบียนว่างงานภายในกี่วัน?

A: ผู้ประกันตนต้องลงทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐหรือช่องทางออนไลน์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ว่างงานหรือหมดสัญญา โดยยังไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน แต่มาเพื่อเป็นการแสดงตัวและแสดงสิทธิเบื้องต้นก่อน

Q: รายงานตัวก่อนว่างงานได้ไหม?

A: ผู้ประกันตนทุกคนสามารถลงทะเบียนว่างงานล่วงหน้าได้ก่อน 7 วัน แต่การลงทะเบียนว่างงานล่วงหน้า ไม่ได้ทำให้เราได้เงินชดเชยไวขึ้น โดยเงินประกันสังคมคนว่างงานจะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 7-14 วันทำการ โดยเริ่มนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติและรายงานตัวของผู้ประกันตนคนว่างงาน

Q:กรณีที่ผู้ประกันตนแจ้งวันออกจากงานไม่ตรงกับที่นายจ้างแจ้งออกต้องยกเลิกแล้วทำใหม่ไหม?

A: หากผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนวันที่ออกจากงานไม่ตรงกับที่บริษัทแจ้ง ทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริงเอง แต่หากต้องการยกเลิกและขึ้นทะเบียนใหม่ ให้ลองติดต่อกับสำนักงานในพื้นที่ก่อน

Q: เงินชดเชยจะเข้าวันไหน?

A: หลังจากผู้ประกันตนรายงานตัวเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาการได้เงินจะอยู่ที่ 7-14 วันทำการ หรือรอบการโอนเข้าบัญชีของเดือนนั้น ๆ แต่หากมีข้อสงสัยก็สอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือโทร. 1506

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 25 กันยายน 2023 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

ที่มา:

unemploy.doe.go.th

tidlor.com

e-service.doe.go.th

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ลงทะเบียนว่างงาน, ว่างงาน, ประกันสังคม, ขึ้นทะเบียนว่างงาน, ตกงาน, ลาออก, ลงทะเบียนว่างงานออนไลน์, คนทำงาน, คนหางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม