ธนศักดิ์ อุ่นอ่อน: เส้นทางอาชีพนักพากย์ ความอดทนและความพยายามเท่านั้นที่เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

24/03/17   |   47.3k   |  

“นักพากย์” อาชีพที่สร้างอรรถรสในการรับชมสื่อจากต่างประเทศผ่านเสียงพากย์ภาษาไทยในภาพยนตร์  ซีรีส์  การ์ตูน หรือแม้กระทั่งโฆษณาก็ยังต้องพึ่งพาเสียงของพวกเขา แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักกระบวนการทำงาน รวมถึงวิธีเข้าสู่สายอาชีพที่มีเสียงเล่าลือกันหนาหูว่า “เป็นอาชีพที่เข้ายากที่สุด” อาชีพหนึ่ง JobThai จึงหยิบอาชีพนี้มาพูดคุยกันแบบเจาะลึกกับนักพากย์อารมณ์ดีอย่าง คุณธนศักดิ์ อุ่นอ่อน หรือพี่ตึ๊ง ผู้เคยได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำสาขาผู้บรรยายสารคดีดีเด่นประจำปี 2557 และเป็นหนึ่งในนักพากย์มือฉมังจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7

 

 

  • อาชีพนักพากย์ เรียนจบอะไรมาก็เป็นได้ ถ้าอ่านหนังสือออก และสามารถออกเสียงได้ชัด
  • คุณสมบัติของคนที่อยากเป็นนักพากย์ควรมี คือ อ่านออกเสียงได้ชัดเจน ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนังสือ กล้าแสดงออก และมีความอดทนสูง
  • อาชีพนักพากย์เป็นอาชีพที่มีความอิสระสูง สามารถรับงานนอกได้หากไม่กระทบกับงานพากย์ในช่องที่ตนเองสังกัด
  • ช่วงแรกของการฝึกเป็นนักพากย์ส่วนใหญ่คือการนั่งฟังนักพากย์มืออาชีพพากย์ การฝึกนี้อาจกินเวลาหลายเดือน และจะยังไม่ได้เงินค่าตอบแทน
  • วงการนักพากย์ในไทยมีจำนวนนักพากย์ไม่มากนัก และไม่ได้ปิดกั้นคนที่อยากทำอาชีพนี้ แต่หลายคนที่อยากเป็นนักพากย์มักจะท้อและล้มเลิกความตั้งใจไปในช่วงของการฝึกเสียก่อนที่จะได้พากย์จริง ๆ
  • วิธีการเข้าสู่วงการนักพากย์ที่ดีที่สุดคือการฝึกพากย์บ่อย ๆ เมื่อมั่นใจแล้วจึงเดินไปบอกทีมพากย์ว่าคุณพากย์ได้ หากที่คุณฝึกมานั้นดีพอ จะต้องมีทีมพากย์ที่รับคุณแน่นอน

 

 

 

 

 

พี่ตึ๊งเรียนจบสาขาอะไร และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นนักพากย์คืออะไร

พี่เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสมัยเรียนมีวิชา Mass Media ที่ให้อ่านข่าวในคาบเรียน พออาจารย์ที่สอนได้ยินเสียง ท่านก็บอกว่าพี่ควรจะไปทำงานทีวีที่ใช้เสียง ในหัวตอนนั้นคิดว่าการใช้เสียงในทีวีคือการเป็นผู้ประกาศข่าวเพราะไม่รู้จักอาชีพนักพากย์เลย จนกระทั่งพี่ปุ๊ มนตรี เจนอักษร เข้ามาแนะแนวรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับอาชีพนักพากย์ พี่เลยติดต่อพี่ปุ๊ไปแล้วก็ได้เข้าไปที่ช่อง 7 ไปดูงานนักพากย์


เข้าไปที่ช่อง 7 แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นรู้สึกสุดยอดมาก ทุกเสียงที่ได้ยินคือเสียงที่เราได้ยินตอนเด็ก ๆ ทั้งเสียงน้าต๋อย เซมเบ้  เสียงป๊อบอาย วันแรกก็ไปนั่งดูเค้าทำงานกันแล้วก็กลับ ไปนั่งดูแบบนั้นอยู่เป็นเดือนถึงจะได้ลองใช้ไมค์และได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งฟังในห้องพากย์ เข้าไปนั่งฟังอย่างเดียวอยู่อีกเป็นเดือนถึงจะได้ลองพากย์บทตัวประกอบที่ทั้งเรื่องได้พูดแค่ประโยคเดียว

ช่วงมาฝึกแบบนี้ไม่ได้เงินก็เลยมีความคิดจะหางานอื่นทำ แต่ช่องเค้ามองเห็นว่าเราฝึกมานานก็ทำเรื่องเบิกค่าเดินทางให้ เมื่อมีรายได้เราก็อยู่ต่อ เริ่มจากเข้าพากย์อาทิตย์ละหนึ่งวัน ก็เพิ่มเป็น 2 วัน จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักพากย์ไม่มา แต่หนังจะต้องออกอากาศในวันรุ่งขึ้น พี่ดวงดาว จารุจินดา ก็บอกให้พากย์แทนเลย แล้วบังเอิญพากย์ออกมาได้ดี ช่องเลยให้เข้ามาพากย์ทุกวัน ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรได้พากย์เรื่องละคำก็พากย์ไปเรื่อยๆ


ตอนได้พากย์จริงยากไหม

ยากและท้อมากเพราะเราทำไม่เป็นและรอบตัวเรามีแต่คนพากย์เก่ง ๆ เต็มไปหมด ตอนนั้นกดดันจนเดินร้องไห้กลับบ้านเลยนะ แต่พอดีพี่เป็นคนความจำสั้นพี่ก็ลืมมันซะและคิดว่าไม่มีใครเป็นอะไรมาตั้งแต่เกิดทุกคนต้องฝึกทั้งนั้น หลังจากนั้นไป Casting ได้งานพากย์เป็นโอบีวัน ในหนังเรื่อง Star Wars Episode I ก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาว่าเราก็พากย์ได้เหมือนกัน


ในหนึ่งวันนักพากย์ต้องทำอะไรบ้าง

พี่เป็นนักพากย์อิสระก็จริงแต่เราทำงานให้ช่อง 7 เป็นหลัก ช่องก็จะมีงานให้ทำทุกวัน เช่น วันหนึ่งเค้าเตรียมไว้ให้พากย์สามตอน เราก็พากย์ให้หมดสามตอน เวลาว่างที่ไม่มีงานของช่องเราถึงจะรับงานที่อื่นได้ เช่น ไปพากย์หนังหรือโฆษณา

 


 

หน้าที่ของนักพากย์มีอะไรบ้าง

นักพากย์ก็มีหน้าที่พากย์หนัง ช่องจะเอาหนังมาให้พร้อมบท นักพากย์จะต้องพากย์ทันทีโดยไม่ได้ซ้อมและไม่ได้ดูหนังมาก่อน อาจมีทำการบ้านมาก่อนบ้าง เช่น หาข้อมูลว่านักแสดงคือใคร นักพากย์จะหมดหน้าที่แค่พากย์จนจบเรื่อง แต่ถ้าตรวจสอบแล้วเจอบทผิดก็จะเรียกมาซ่อมทีหลัง เสียงพากย์ซ่อมได้จนกว่าจะฉายหรือออกอากาศ แม้กระทั่งฉายแล้วก็ยังต้องซ่อม เพราะหนังบางเรื่องจะทำดีวีดีออกขายก็ต้องเอาเสียงมาซ่อมให้ดีที่สุดก่อน


นักพากย์หนึ่งคนต้องพากย์ได้กี่เสียง

สำหรับพี่พากย์ได้ทุกตัว ตอนทำงานก็ต้องเปลี่ยนเสียงตลอด เสียงนักพากย์ก็เหมือนเสียงคนเราทั่วไป มีเสียงสูงเสียงต่ำ เสียงสูงก็เป็นเสียงวัยรุ่นเสียงต่ำหน่อยก็เป็นคนมีอายุขึ้นมา ประเทศไทยมีนักพากย์มีอยู่นิดเดียว คนที่เค้าติดต่องานเขาจะรู้อยู่แล้วว่าใครเหมาะจะพากย์บทไหนและเคยพากย์อะไรมาบ้าง ดังนั้นไม่มีบทแบบไหนที่ไม่พากย์หรือพากย์ไม่ได้


พอพากย์แล้วมีคำวิจารณ์ทางลบจากคนดู เครียดไหม พี่ตึ๊งรับมือกับคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างไร

สำหรับตัวพี่เองไม่เครียดนะ คนดูบางคนอาจจะบ่นว่าทำไมพากย์ไม่ดีหรือนักพากย์แอนนิเมชั่นของฝรั่งพากย์ดีกว่า จริง ๆ แล้วมันก็มีข้อจำกัดอยู่ การทำงานจะถูกบีบด้วยขั้นตอนและเวลาออกอากาศ กระบวนการพากย์หนังแอนนิเมชั่นของเมืองนอก ต้องพากย์เสียงก่อนแล้วจึงทำตัวการ์ตูนให้ตรงกับเสียง แต่ไทยต้องเอาที่เค้าพากย์แล้วมาพากย์ทับ แล้วต้องทำให้เหมือนด้วย ดังนั้นถ้าได้พากย์ซีรีส์ที่ดังมาก ๆ พี่ก็เตรียมใจไว้ว่าจะโดนว่าแน่ ๆ เพราะด้วยหลักวิชาการของการพากย์ คนที่ดู Soundtrack มาแล้วเค้าจะจำได้ว่าเสียงตัวละครนั้นเป็นอย่างไร เราทำได้ดีที่สุดแค่ทำให้ถูกตำหนิน้อยที่สุด


คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นนักพากย์ในความคิดของพี่ตึ๊งมีอะไรบ้าง

นักพากย์ต้องอ่านหนังสือให้ชัด ชอบดูหนัง ชอบแสดงออก และชอบอ่านหนังสือ ทั้งหมดนี้ไม่มีบางอย่างไม่เป็นไร แต่อย่างน้อย ๆ คุณต้องมีความกล้าแสดงออกอยู่ในตัว เพราะนักพากย์ต้องอาศัยการแสดงอารมณ์มากกว่าปกติ นักแสดงใช้การแสดงสีหน้าแต่เราต้องแสดงด้วยเสียง ดังนั้นอาชีพนักพากย์จึงเหมาะกับคนที่ชอบแอคติ้งสนุกสนาน พูดออกมาแล้วเพื่อนบอกว่าเสียงหล่อเสียงสวย และเหมาะกับคนที่อดทนด้วยเพราะมาตอนแรกน้องอาจจะต้องฝึกเป็นปี ถ้าทนไหวก็เป็นนักพากย์ได้และเป็นได้จนแก่เลย ไม่มีเกษียณ

 


ถ้าอยากเป็นนักพากย์ เรียนสาขาไหนถึงจะได้เปรียบที่สุด

ถ้าอยากเป็นจริง ๆ จบสาขาไหนก็ได้เพราะเป็นเรื่องของการฝึกฝน แต่ถ้าน้องเรียนเอกการละครก็อาจจะได้เปรียบนิดหน่อย เพราะการพากย์ก็คือการแสดง แต่เราแสดงด้วยเสียงแทนนักแสดงในเรื่อง แต่ทุกอย่างฝึกได้หมด  คนชอบจริง ๆ จบ ม.6 มาก็พากย์ได้ แต่เมื่อมาทำ ช่วงเวลาที่เรียนรู้คุณอดทนได้หรือเปล่า มันเหมือนกับการเรียนใหม่หมดแต่จะจบในกี่ปีนั้นอยู่ที่ตัวเราเอง


ความยากของการเป็นนักพากย์สำหรับพี่ตึ๊งคืออะไร

สิ่งที่นักพากย์ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามันยากลำบากก็คือช่วงแรกของการฝึก เพราะยังพากย์ไม่ได้และช่องส่วนใหญ่ก็จะยังไม่ให้ค่าตอบแทน พอไม่ได้เงินเราก็จะมองหางานอื่นทำและชีวิตนักพากย์ก็จะจบ ซึ่งโชคดีที่ช่อง 7 อยู่กันเหมือนพี่น้อง พี่เข้ามาโดยที่ทำอะไรไม่เป็นเลย ต้องฝึกอยู่หนึ่งปีถึงจะเริ่มพากย์ได้ ถ้าเป็นที่อื่นพี่ต้องไปนั่งฝึกพากย์โดยไม่ได้เงิน พี่ก็คงเป็นฝ่ายถอยออกมาเองเพื่อหางานที่ได้เงินทำ


ความสนุกของการทำงานเป็นนักพากย์คืออะไร

เป็นนักพากย์ไม่ต้องเรียนเก่ง ไม่ต้องรับผิดชอบงานจำนวนมาก พากย์จบแล้วจบเลย ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องปวดหัว
 

วงการนักพากย์แคบและปิดกั้นคนนอกจริงรึเปล่า

วงการนักพากย์มันไม่แคบและไม่ได้ปิดกั้นหรอก มันอยู่ที่คนที่อยากมาเป็นทนไม่ไหวมากกว่า หลายคนมองว่านักพากย์ทำงานสบายและได้เงินดี แต่คุณรู้ไหมว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เราไม่ได้ขึ้นลิฟต์มานะ มีคนที่อยากทำอาชีพนี้เดินมาเป็นร้อยคน แต่มีแค่ไม่ถึงสิบคนที่จะมาถึงจุดนี้ได้

 

 

สิ่งที่ทำให้พี่ตึ๊งรักอาชีพนักพากย์

อาชีพนี้ทำให้พี่ได้รู้จักคนเยอะและได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ อีกอย่างหนึ่ง คืออาชีพนี้ทำให้ชีวิตมีอิสระไม่ต้องเข้างานเช้าแล้วเลิกงานดึก ชีวิตคนเราต้องทำงาน งานทำให้เรามีค่า แต่ทำมากเกินไปอย่างอื่นในชีวิตเราจะพังทลายหมดเลยนะ ดังนั้นพี่มีความสุขกับการที่ทำงานเสร็จแล้วได้กลับบ้านเร็วเพื่อไปอยู่กับแม่

 

ฝากถึงคนที่อยากเป็นนักพากย์หน่อยว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

ถ้าอยากเป็นนักพากย์ก็ฝึกเลย เอาหนังมาแกะบทแล้วพากย์ ใช้เสียง อารมณ์ และจังหวะการพูดให้เหมือนเขา พากย์แล้วไม่เหมือนก็พากย์ใหม่ พากย์จนคิดว่าเป็นตัวละครนั้นได้แล้วไปบอกทีมพากย์ว่าคุณพากย์หนังได้ ถ้าเขาไม่รับก็ค่าเท่าเดิมไม่ได้เสียอะไร คุณลองไปสิบที่ต้องมีซักที่ที่รับ ทุกอย่างมันอยู่ที่โอกาสและความน่าจะเป็น จริง ๆ คลื่นลมมันมีอยู่แล้วล่ะ ถ้าเราโดดลงไปในคลื่นเลยโดยที่ไม่ทำอะไรเราก็ตาย แต่ถ้าเราสร้างเรือใบไว้ก่อนพอคลื่นมาเราก็ไปได้ ดังนั้นทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา

 

เรื่องราวอาชีพนักพากย์จากประสบการณ์ 23 ปี ในแบบฉบับของพี่ตึ๊ง ธนศักดิ์ อุ่นอ่อน ที่เล่าให้ JobThai ฟังมีทั้งความยากลำบากที่ปะปนไปด้วยความสนุกสนานจากความรักและความพยายามในสิ่งที่เขาเชื่อว่าทำได้ถ้าพยายามฝึกฝน ใครที่สนใจอาชีพนักพากย์อยู่ลองสำรวจตัวเองว่าพร้อมที่จะออกไปคว้าโอกาสเหล่านั้นหรือยัง อย่างที่พี่ตึ๊งได้บอกไว้ว่าว่าการฝึกฝนทักษะเพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอเป็นเรือใบที่ดีที่สุดที่จะพาคุณไปหาโอกาสได้ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพบเจอโอกาสเท่ากันแต่คนที่พร้อมมากกว่าคือคนที่จะได้โอกาสนั้นมาสานต่อเป็นความสำเร็จ

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, นักพากย์, freelance, ฟรีแลนซ์, งานอิสระ, เคล็ดลับการทำงาน, คนทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม