จันทร บุญยะพงศ์ไชย: Digital Strategist ผู้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่เต็มไปด้วยคุณภาพ

การทำงานในเอเจนซีโฆษณา เป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายๆ คน เพราะเป็นงานที่จะได้ท้าทายความสามารถ ได้คิด ได้สร้างสรรค์ และไม่ต้องทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งการที่ปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยสื่อดิจิทัลและสื่อออนไลน์มากมาย ทำให้งานโฆษณานั้นไม่ได้จบอยู่แค่บนกระดาษอีกต่อไป และทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในอาชีพที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Digital Strategist เพราะอาชีพนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของผลงานต่างๆ ที่จะส่งต่อให้กับลูกค้า
 

วันนี้ JobThai จึงจะพาไปรู้จักกับอาชีพ Digital Strategist ผ่านการบอกเล่าของ Digital Director คุณอ้อย จันทร บุญยะพงศ์ไชย

 

 

  • Digital Strategist มีหน้าที่วางกลยุทธ์ในการใช้สื่อดิจิทัลและสื่อออนไลน์ ให้เกิดประโยชน์ และตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
  • Digital Strategist ต้องมีกระบวนการทางความคิดที่ชัดเจน เป็นระบบ วิเคราะห์ได้ และเล่าเรื่องเป็น
  • การทำงานใช้ความคิดสร้างคิดสร้างสรรค์ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง คิดแล้วต้องทำออกมาได้ผลจริง
  • คนทำงานนี้ต้องชอบเสพสื่อออนไลน์ ชอบตั้งคำถาม และขวนขวายหาคำตอบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจเท่านั้น แต่ต้องเก็บเกี่ยวความรู้ที่อยู่รอบตัวให้มากที่สุด ชอบติดตามเทรนด์ และสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่เสมอ 
  • คนที่จะทำอาชีพนี้ต้องสามารถรับความกดดันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา การคิดงาน และความคาดหวังที่สูงมากจากลูกค้า

 

 


จุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นอย่างไร

ตอนแรกเรียนจบโฆษณาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ช่วงฝึกงานเป็น Creative ที่บริษัทโฆษณา รู้สึกว่าตอนนั้น Graphic Designer กำลังมา แล้วเราเป็นคนที่สนใจทางด้านออกแบบ อยากเป็น Designer และอยากเป็น Creative ด้วย คืออยากเป็น Creative ที่สามารถคิดงานเอง ทำได้เอง เลยไปเรียนต่อปริญญาโท ลงเรียนเป็น Graphic Designer ที่ Academy of Art University, San Francisco อีกประมาณ 3 ปี แล้วก็กลับมา

 


ก่อนหน้านี้เคยทำงานอะไรมาก่อนบ้าง

เป็น Creative กับ Designer มาก่อน มีทักษะทางด้านออกแบบและการคิดงาน สร้างสรรค์งานที่ต้องใช้แนวความคิด และด้วยความที่ตัวเองมีพื้นฐานทางด้านโฆษณา เอเจนซี่ที่เป็นบริษัทโฆษณาก็ได้ติดต่อมาให้ไปทำงานสายเอเจนซี เลยมีโอกาสได้จับงานโฆษณามากขึ้น ดูแลทางงานแคมเปญ งานเกี่ยวกับแนวความคิด แม้กระทั่งวางกลยุทธ์เกี่ยวกับคอนเซปต์ต่าง ๆ ทำให้ผันตัวเองมาจาก Graphic Designer เป็น Art Director และได้รับผิดชอบดูแลลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

 

ตรงนั้นเลยทำให้เรารู้สึกว่าลูกค้าเขาไม่ได้ต้องการแค่ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว เขาต้องการกลยุทธ์ด้วย เขาต้องการรู้ที่มาที่ไปของแนวความคิดต่าง ๆ ว่าได้มาจากอะไร ทุกอย่างคือกลยุทธ์ทั้งนั้น แต่ตอนนั้นความสามารถด้านการวางกลยุทธ์เรายังไม่แข็งแรงพอ เลยได้ลองเปลี่ยนไปเป็นลูกค้าประมาณสามปี ทำให้ได้เห็นภาพรวมขององค์กรทั้งหมด เลยรู้ว่าลูกค้าจะมองทั้งตัวเลข KPI ระยะยาว หรือแผนงานประจำปี

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มเป็นคนที่มีกลยุทธ์อยูในใจ แต่พอไปทำงานฝั่งลูกค้า ก็รู้สึกว่าตัวเองติดอยู่กับการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น มีอิสระทางความคิด การแต่งตัว การใช้ชีวิต เลยรู้สึกว่าหรือเรายังชอบอะไรที่สนุก ๆ อยู่หรือเปล่า เลยวนกลับมาทำที่เอเจนซี่อีกครั้งหนึ่ง เพราะพี่ชอบทำงานกับคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าอยู่ในองค์กรจะต้องเดินตามกฎของออฟฟิศ ทำงานที่มีกระบวนการที่ชัดเจน แต่ทำงานในเอเจนซี่จะเปิดกว้างมากกว่า

 

แล้วเข้าสู่สายงาน Digital Strategist ได้อย่างไร

ตอนแรกไม่ได้เดินสายดิจิทัลแต่ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราเริ่มรู้สึกว่าดิจิทัลมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรามากขึ้น และเราก็ได้รับโอกาสให้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานดิจิทัลมากขึ้น เลยได้รู้ว่าดิจิทัลต้องมีสื่อ มีเครื่องมือ และช่องทางใดบ้าง รวมไปถึงการวางแผนด้วยว่า Digital Landscape จะต้องทำอย่างไร ทำไมถึงต้องใช้ดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งของออฟไลน์

 

และอาจจะเพราะตัวเองเป็นคนที่มี Creative Mind ทางดิจิทัลเอเจนซี่ก็เลยเล็งเห็นว่ามาเริ่มวางกลยุทธ์ในงานด้านคอนเซปต์ก่อนไหม พอเราเริ่มวิเคราะห์เก่งมากขึ้น มันก็ทำให้เราสามารถปรับจากแค่การวิเคราะห์แนวความคิด ไปสู่ตัวสินค้าและบริการได้

 

หน้าที่รับผิดชอบตอนนี้มีอะไรบ้าง

Digital Director จะดูแลครอบคลุม 3 ฝ่าย คือ Creative, Designer และ Digital Strategy ซึ่งเป็นงานหลัก ต้องมองว่าภาพรวมของดิจิทัลทั้งหมดต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง นอกจากนั้นบางทีอาจต้องเป็นคนติดต่อกับลูกค้าด้วย เพราะคนที่มองภาพรวมเป็นจะสามารถคุยกับลูกค้ารู้เรื่อง ลูกค้าบางคนอาจยังตีโจทย์ไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร เราอาจต้องเป็นคนให้ความรู้กับเขา ไกด์เขาว่าคุณควรจะต้องทำอะไรบ้าง

 

 

การทำงานของ Digital Strategist เป็นอย่างไร

Digital Strategist จะดูเรื่องของการวางกลยุทธ์ในการใช้สื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้ตอบสนอง Return of Investment ของแต่ละโปรเจกต์ ต้องวัด KPI ได้ เราต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร กลยุทธ์ที่จะนำไปสู่สิ่งนั้นคืออะไร ตอบโจทย์ที่ลูกค้าให้มาหรือเปล่า

 

Digital Strategist, Creative และ Designer ต้องทำงานร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากวางกลยุทธ์ก่อน เพราะงานทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่กลยุทธ์ เมื่อทีมกำหนดกลยุทธ์ได้ Key Direction มาแล้ว จะส่งให้ Creative ทำงานต่อ ซึ่งจริง  ๆ เขาก็มี Creative Director อยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนนี้ เพราะงานกลยุทธ์ต้องจุดประกายให้ Creative ทำงานต่อได้ เพื่อหาไอเดียและคอนเซปต์แล้วทำวิธีการนำเสนอออกมา โดยทำเป็นชิ้นงานมาเสนอ ให้รู้ว่าหน้าตาเป็นอะไร เช่น เป็นวิดีโอ เป็นคอนเทนต์ หรือ Key Visual ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้ Designer เป็นคนซัพพอร์ต เช่น Creative ให้โจทย์ว่า งานนี้ต้องการ Advertorial เขาก็ต้องออกแบบเป็น Advertorial ให้ Designer เป็นคนที่ทำงานให้เป็นชิ้นงานออกมาให้ประสบผลสำเร็จ”

 

พอได้เข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว ภาพที่เคยคิดเอาไว้กับความเป็นจริงเหมือนกันไหม 

ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอบโจทย์ความฝันของเราว่าจะมีทีมงานแบบนี้นะ เวลามาทำงานจะต้องเป็นแบบนี้นะ ใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ แต่พอเมื่อเราโตขึ้นปัจจัยอื่นจะเข้ามา เช่น เรื่องของเวลา ลูกค้า โดยเฉพาะเมื่อก่อนเอเจนซี่เนี่ยถือว่าลูกค้าต้องทำตาม แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ ลูกค้าเป็นใหญ่ เดี๋ยวนี้เอเจนซี่ไม่ได้ทำงานกันเมามันแบบเมื่อก่อน เราต้องทำงานบนโลกของความจริง บนงบที่ลูกค้าคาดหวัง ต้องทำงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ยิ่งพี่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน พี่ก็จะรู้ว่าอย่าเพ้อฝันมาก ทำแล้วต้องได้จริงด้วย

 

คนที่อยากทำงานสาย Digital Strategist ควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

ทำงานด้านดิจิทัลต้องเป็นคนที่เสพสื่อออนไลน์ โลกออนไลน์ทุกวันนี้เร็วมาก เหมือนเทคโนโลยี เราวิ่งตามมันไม่ทัน แต่ถ้าเราไม่วิ่งตาม เราเชย

 

พี่เชื่อว่าหลายคนเลือกเสพแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ แต่คนทำงานตรงนี้ต้องพยายามโกยให้มากที่สุด อะไรที่ไม่รู้ต้องออกไปหามัน ไม่ใช่รอให้มันวิ่งมาหาเรา เวลาขายแผนงานพี่ไม่มีกลยุทธ์ตายตัว เพราะพี่เชื่อว่าสินค้าและบริการไม่เหมือนกัน บางทีกลยุทธ์นี้ใช้ได้กับสินค้าบริการนี้ บางทีกลยุทธ์นี้ใช้ไม่ได้ เราต้องติดตามเทรนด์ว่าตอนนี้เขาใช้อะไรกันบ้าง ต้องดูพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องเอาสื่ออะไรไปใช้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ตอนนี้พี่มองเป้าหมายเลยว่า เขาชอบอะไร สนใจอะไร อะไรที่จะดึงดูดเขาได้ มองเขาเป็นจุดหลักแล้วมองกลับมาว่าเราจะทำอะไรให้เขา

 

 

ถ้าอยากทำงานตรงนี้ จำเป็นต้องเรียนจบให้ตรงสายไหม

เรียนจบไม่ตรงสายได้ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ และความชอบ พี่ไม่ได้จบสายออนไลน์ แต่รอบตัวพี่มันกลายเป็นออนไลน์ ถ้าพี่ปฏิเสธว่าพี่ไม่ทำออนไลน์ ทุกวันนี้พี่มาอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ถ้ายังหยุดอยู่ที่เดิม คุณก็หยุดอยู่แค่นั้น คุณต้องยอมรับความจริง แต่ถ้าคุณเดินตามโลก โลกก็จะเปิดอะไรให้คุณมากกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมที่จะเปิดรับมันหรือเปล่า พี่ว่าประสบการณ์จริงใช้ได้มากกว่าตำราเรียน

 

คิดว่าคนแบบไหนที่ทำงานตำแหน่ง Digital Strategist ไม่ได้แน่ ๆ

คนที่ไม่สามารถจัดระเบียบตัวเองได้ คนมาทำงานด้านวางแผนกลยุทธ์ ต้องเป็นคนที่มีกระบวนการทางความคิดชัดเจน สามารถเล่าเรื่องให้คนเข้าใจ ต้องเล่าเรื่องเป็น ต้องมีสมาธิ ต้องมีกระบวนการในการคิด ต้องรู้ว่าต้นทางคืออะไร ปลายทางคืออะไร วิธีการเล่าเรื่องคืออะไร คนที่ไม่ชอบการวัดผล ไม่ชอบทำงาน Step by Step จะทำงานยาก

 

ความยากของอาชีพนี้คืออะไร

สมาธิกับการจัดการตัวเอง เราจะต้องวางไทม์ไลน์ แล้วดูว่าเราต้องทำงานภายในวันไหน เพื่อที่จะส่งงานภายในวันไหน เพราะฉะนั้นบางทีเราก็ต้องมาหาแรงบันดาลใจ ซึ่งแรงบันดาลใจของพี่คือเปลี่ยนสถานที่ในการทำงาน สมมติเรารู้สึกว่าถ้านั่งอยู่ในบ้านแล้วเริ่มตัน บางทีมันอาจจะไม่ใช่แค่มองอยู่ที่หน้าจอหรือเปล่า อาจจะต้องออกไปเจอผู้คนบ้างไหม เพราะบางทีกลยุทธ์บางอย่างมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มันเกิดขึ้นจากเราไปเห็นเหตุการณ์บางอย่าง แล้วเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ คล้าย ๆ กับ Creative ถ้าไม่มีอารมณ์ ต้องบิ้ว แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องเวลา เราจะมานั่งไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ไม่ว่าวิธีไหนก็ตาม

 

อะไรคือสิ่งที่คนทำงานสายนี้จะต้องเจอ และต้องยอมรับให้ได้

ความคาดหวังที่สูงมากความคาดหวังไม่มีจุดสิ้นสุดและมีตลอดเวลา เราต้องทำยังไงก็ได้ให้คนยอมรับ ทั้งลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน คนข้างนอกต้องเชื่อถือว่าทีมของเรามีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์เขาได้ เขาจ่ายเงินแล้วต้องคุ้มในขณะที่ความคาดหวังของคนข้างใน คือถ้าหนูถามพี่พี่ต้องตอบได้ บางทีเราไม่ได้รู้หมดนะ แต่เราก็ต้องมีกลยุทธ์ในการตอบ เราต้องตอบคำถามแล้วเขารู้สึกว่าเราตอบคำถามเป็น เราสามารถตอบโจทย์เขาได้ การยอมรับเป็นสิ่งสำคัญมาก เขาต้องยอมรับ และเชื่อมั่นเรา

 

 

สิ่งที่ทำให้รักในอาชีพนี้คืออะไร

ทำแล้วมันมีคุณค่า เวลาพี่ทำอะไรอย่างนึงพี่จะคิดไปถึงครอบครัว พี่รู้สึกว่าเขาอาจจะมีความคาดหวังกับเรา เคยคิดเหมือนกันว่า จริง ๆ เราน่าจะอยู่นิ่ง ๆ บ้าง แต่พอถึงเวลาปุ๊บ ทำไมเราจะต้องลดคุณค่าของตัวเองลงไป ในเมื่อเรายังมีศักยภาพอยู่ เลยทำมันไปให้ถึงที่สุด บางอย่างมันดูเหนื่อย แต่พอเราผ่านไปหนึ่งสเต็ปแล้ว เราจะรู้ว่าเราอันนี้เคยผ่านมันมาแล้ว อันต่อไปก็ไม่น่าจะยาก

 

มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องถามตัวเอง คือเราทำงานแล้วมีความสุขไหม เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ต้องมีความสุข งานมาพร้อมกับอุปสรรค มาพร้อมกับความคาดหวัง การที่คุณทำงานทุกวันคุณค่าของคุณมากขึ้นนะ อีกสามสิบเปอร์เซนต์คือความรับผิดชอบที่เราต้องทำมัน

 

อยากให้แนะนำน้อง ๆ ที่สนใจอาชีพนี้หน่อยว่าเขาควรจะเตรียมตัว หรือฝึกอะไรเป็นพิเศษไหม

การวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญมาก หัดสังเกต หัดรู้ว่าใครอยากได้อะไร หัดรู้ว่าทำไมเขาชอบ ไม่ชอบ ต้องมีการตั้งคำถาม และรู้ว่าคำตอบจะเป็นอะไร คำตอบอาจจะถูกหรือผิดไม่เป็นไร แต่คำถามต้องตั้ง ถ้าใครชอบถามหรือตอบตลอดเวลา จะเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี 

 

จะเห็นได้ว่าการทำงานในเอเจนซีโฆษณานั้น ต้องอาศัยการทำงานจากคนหลากหลายฝ่ายกว่าจะออกมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้น และไม่ได้ใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียที่แปลกใหม่เท่านั้นในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพขึ้นมา แต่เบื้องหลังความสร้างสรรค์นั้นจะต้องมาพร้อมกับกลยุทธ์ที่จะสามารถวัดผล และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เขาได้รับประโยชน์และคุ้มค่ากับเงินที่เขาลงทุนให้มากที่สุด ซึ่งนั่นก็ต้องมาจากการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีของคนที่เป็น Digital Strategist นั่นเอง

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, digital strategist, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงาน, คนทำงาน, career & tips



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม