เจ้านาย (Boss)
- มองถึงการสร้างระบบเพื่อควบคุม มุ่งเป้าที่ผลลัพธ์ ยึดความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และมองว่างานจะสำเร็จได้เกิดจากความสามารถของตัวเอง
- มักจะมองว่าลูกทีมมีหน้าที่ทำงานตามที่เขาสั่งให้เสร็จตามเป้าหมาย สนใจแค่ว่าลูกน้องทำงานดีแค่ไหน เมื่อเกิดปัญหาจะรีบหาคนผิดมารับผิดชอบ
- คิดว่าการทำให้ลูกน้องเกรงกลัวจะทำให้คุมคนง่ายขึ้น และมักจู้จี้เพราะกลัวว่าลูกน้องจะทำงานพลาดให้ต้องตามแก้
ผู้นำ (Leader)
- มองถึงการพัฒนาคน ให้ความสำคัญทั้งความรู้สึกของคนในทีมและผลลัพธ์ และมองว่าความร่วมมือกันของทุกฝ่ายจะทำให้งานสำเร็จ
- มองว่าคนคือทรัพยากรที่ล้ำค่า สังเกตตลอดว่าลูกทีมมีความสุขในการทำงานไหม เพราะงานจะออกมาดีได้ต้องเริ่มจากคน หากงานผิดพลาดจะหาวิธีแก้ไข แล้วค่อยให้คำแนะนำกับคนทำผิด
- แสดงออกให้เห็นถึงภาวะผู้นำจนลูกทีมเกิดความเคารพ ให้อิสระและเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้โชว์ฝีมือ โดยตัวเองจะคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ
|
|
การบริหารงาน บริหารทีม แต่ละคนก็จะมีวิธีที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะแบบดุดันหรือมีเหตุผล แต่หลัก ๆ แล้วเราจะแบ่งหัวหน้าออกมาได้เป็น 2 แบบ คือแบบเจ้านาย (Boss) กับ แบบผู้นำ (Leader) ซึ่งสไตล์การบริหารทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วคุณล่ะ กำลังเป็นหัวหน้าแบบไหนอยู่?
ถ้ายังไม่แน่ใจ ว่าตัวเองเป็นแบบไหนและหัวหน้าทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันยังไงบ้าง JobThai ได้รวบรวมวิธีการทำงานและแนวคิดของทั้งสองรูปแบบมาให้แล้ว
คำจำกัดความของ หัวหน้าทั้ง 2 ประเภท
1. เจ้านาย (Boss)
เจ้านาย หรือ Boss มักจะสร้างระบบเพื่อควบคุมทีม มั่นใจและเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ลูกทีมคือผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น มุ่งเป้าที่ผลลัพธ์ของงานและมีความเชื่อว่างานจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากความสามารถของตัวเองเท่านั้น
2. ผู้นำ (Leader)
ผู้นำ หรือ Leader จะมองที่การพัฒนาคนเป็นหลัก ชอบรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ลูกทีมแสดงฝีมือ ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกทีมไม่น้อยไปกว่าผลลัพธ์ของงาน และมองว่าเป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกคนในทีม
Boss กับ Leader มีมุมมองที่แตกต่างกันยังไงบ้าง?
ความหมายของทีม
เจ้านาย: จะเห็นลูกทีมเป็นพนักงานที่ต้องทำตามที่มอบหมายให้สำเร็จและตรงกับที่ตนอยากได้ หากทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นพนักงานที่ไม่มีศักยภาพ
ผู้นำ: เห็นลูกทีมเป็นทรัพยากรสำคัญที่ต้องพัฒนา แม้จะไม่เก่งแต่ก็จะหาวิธีพัฒนาลูกทีมคนนั้นให้มากที่สุด และมองว่างานจะออกมาดีได้ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ถ้าทีมทำงานออกมาได้ไม่ดีเขาจะคอยให้คำแนะนำเสมอ
เมื่อเกิดข้อผิดพลาด
เจ้านาย: จะเริ่มจากการแสดงอาการฉุนเฉียวและมองหาคนผิดเพื่อให้รับผิดชอบ เพราะเขาคิดว่าคนจะไม่ทำพลาดอีกหากถูกลงโทษ
ผู้นำ: มองหาข้อผิดพลาดและรีบหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร็ว หลังจากนั้นค่อยให้คำแนะนำกับคนที่ทำให้เกิดปัญหา เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้และไม่ทำพลาดซ้ำ
การวางตัว
เจ้านาย: ชอบให้ลูกน้องยำเกรง เพราะคนเป็นหัวหน้ามักจะทำงานแบบควบคุมลูกน้องให้เป็นไปตามที่ต้องการ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ที่ลูกน้องยอมก็เพราะกลัวจะมีปัญหาเท่านั้นเอง
ผู้นำ: อยากให้ลูกทีมเคารพและทำงานอย่างเต็มใจ คนเป็นผู้นำจะพยายามซื้อใจลูกน้องผ่านการแสดงออกให้พวกเขาเห็นถึงภาวะผู้นำ จนลูกน้องเกิดความเคารพและพร้อมที่จะทำงานให้ด้วยความเต็มใจ
การบริหารงาน
เจ้านาย: ไม่ไว้ใจเวลาให้ลูกน้องทำงานและมักจะจู้จี้ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยให้ลูกน้องทำงานเอง จะทำงานพลาด แล้วเขาต้องมาตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ผู้นำ: มอบหมายงานพร้อมให้อิสระแล้วให้ลูกน้องทำงานเอง โดยที่เขามองดูอยู่ห่าง ๆ และเข้าไปให้คำแนะนำเวลาที่ลูกน้องมีปัญหาหรือเข้ามาปรึกษา
การบริหารทีม
เจ้านาย: มองลูกทีมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะสนใจแค่ว่าลูกน้องของเขาทำงานออกมาดีแค่ไหน หากดีก็เท่าตัวหากแย่ก็จะถูกลงโทษ
ผู้นำ: มองลูกทีมเหมือนพวกพ้องที่ต้องดูแลจะคอยสังเกตตลอดว่าลูกทีมมีความสุขกับการทำงานมั้ย มีปัญหาติดขัดอะไรรึเปล่า และตัวเขาเองจะเปิดโอกาสให้ลูกทีมเข้ามาพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการทำงานที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น
เปิดรับความคิดเห็น
เจ้านาย: มักจะไม่ค่อยฟังใคร จะเชื่อว่าความคิดของตัวเองดีที่สุดและเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจเสียงของลูกน้อง
ผู้นำ: รับฟังมากกว่าพูดจะชอบให้ลูกทีมออกความเห็น เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกไอเดีย เพราะเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้คิดได้พูด จะเป็นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ได้แนวคิดดี ๆ และหลากหลาย เพราะคิดว่าการรวมความคิดเห็นของทีมจะมีผลดีมากกว่า
เป้าหมาย
เจ้านาย: คนเป็นเจ้านายจะสนใจและมุ่งเป้าแค่ให้งานเสร็จ สั่งงานลูกน้องแบบให้ทำงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ก็พอ โดยมองว่าใครทำก็ได้
ผู้นำ: มอบหมายงานเพื่อให้ลูกน้องเติบโตนอกจากงานจะเสร็จออกมาดีแล้ว เขายังจะแจกจ่ายงานที่ท้าทายเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกน้องแต่ละคนได้โชว์ฝีมือด้วย ซึ่งมันจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตในสายอาชีพของพวกเขา
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะเห็นว่าการเป็นหัวหน้าที่เต็มไปด้วยภาวะผู้นำดูจะเป็นรูปแบบที่ดีกว่า นอกจากจะทำให้ทีมแข็งแรง ลูกทีมมีความสุขในการทำงาน ไปจนถึงประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังทำให้ลดอัตราการลาออกได้อีกด้วย แต่ยังไงก็ตาม การเป็นหัวหน้าก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัว เพราะถ้าต้องเจอกับลูกทีมที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่คับขันเร่งด่วน การทำตัวเป็น Boss บ้าง ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่