7 เรื่องที่คนทำงานต้องคิดให้ดีเมื่ออยากเลี้ยงสัตว์

7 เรื่องที่คนทำงานต้องคิดให้ดีเมื่ออยากเลี้ยงสัตว์
14/02/22   |   9.2k   |  

 

 

JobThai Mobile Application ใช้มือถือก็ยังเจองานที่ใช่!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

สัตว์เลี้ยงสุดน่ารักอย่างน้องหมาหรือน้องแมวเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เติมเต็มความสุขให้กับเจ้าของได้ ทำให้คนทำงานหลายคนก็คิดอยากมีสัตว์เลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นเพื่อนที่มอบพลังบวกให้กับจิตใจบ้าง แต่เมื่อตัดสินใจว่าเราอยากจะเลี้ยงสัตว์จริง ๆ เราจะต้องไม่ลืมถามตัวเองว่าเรามีความพร้อมมากแค่ไหน

 

วันนี้ JobThai เลยรวบรวมประเด็นหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องนึกถึงก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงสัตว์ จะมีอะไรบ้างลองไปดูพร้อม ๆ กันเลย

 

ประเภทสัตว์เลี้ยงกับเวลาชีวิตจะต้องไปด้วยกัน

วินาทีที่เรากลับมาบ้านแล้วมีน้องหมาวิ่งมาเจอเราที่หน้าบ้านมันคงเป็นอะไรที่ดี แต่ถ้ามองในมุมสัตว์เลี้ยงว่าเจ้าของอย่างเราเป็นคนที่ยุ่งตลอดเวลา การซื้อมาแล้วปล่อยให้มันนอนเหงารอรับเราตอนกลับมาบ้านคงไม่ใช่ไอเดียที่ดีเท่าไหร่  ถ้าเรารู้ตัวว่าเราไม่มีเวลามากพอสำหรับสัตว์ที่ต้องการการเอาใจใส่มาก ๆ อย่างน้องหมาที่ชอบให้เราเล่นด้วย หรือพาออกไปเดินเล่นอยู่บ่อย ๆ เราอาจลองดูสัตว์เลี้ยงที่เป็นทางเลือกอื่นอย่าง กิ้งก่า หรือปลาทองแทนก็ได้

 

5 วิธีจัดการเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพ

 

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่อยากเลี้ยง

ในระหว่างกำลังตัดสินใจเลือกชนิดของสัตว์ที่อยากเลี้ยง เราจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกลงไปถึงสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ทำความเข้าใจทั้งลักษณะนิสัย อาหารการกิน และอาการป่วยของสัตว์ที่อาจพบ เพื่อนำไปดูว่าเราพร้อมจะดูแลมันจริง ๆ รึเปล่า อย่าเพิ่งรีบซื้อสัตว์มาเลี้ยงเพียงเพราะความน่ารักโดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย หาข้อมูลจนมั่นใจก่อนว่าเราเอาอยู่ ถ้าไม่ชัวร์จากอินเทอร์เน็ตที่มีหลายแหล่งจนเกินไปก็ถามจากเพื่อนที่เลี้ยงจริงหรือผู้รู้แทนก็ได้

 

บ้านเราเหมาะกับสัตว์เลี้ยงมากแค่ไหน

เมื่อซื้อสัตว์เลี้ยงมาแล้วสถานที่ที่มันต้องอยู่อาศัยแทบจะตลอดเวลาก็คือที่บ้านของเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่าสัตว์ชนิดนั้น ๆ ต้องการพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราอยากเลี้ยงน้องหมาก็ต้องดูว่าที่บ้านเรามีสวนในรั้วบ้าน หรือมีสวนสาธารณะในละแวกใกล้ ๆ ให้น้องได้ไปวิ่งเล่นไหม หรือถ้าเราอยู่คอนโดฯ ก็ลองดูว่าทางคอนโดฯ มีกฎห้ามเลี้ยงสัตว์รึเปล่า

 

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องในบ้านกันบ้าง ถ้าเราตัดสินใจจะเลี้ยงหมาหรือแมว เราอาจจะต้องทำใจไว้ประมาณนึงว่าข้าวของเครื่องใช้ในบ้านอาจถูกขีดข่วนบ้าง และอีกสิ่งที่จะตามมากับการเลี้ยงสัตว์ก็คือเรื่องกลิ่นและขนสัตว์ เราควรเตรียมพร้อมในการรักษาความสะอาดให้ดี ใช้สเปรย์สำหรับดับกลิ่นและลูกกลิ้งขจัดฝุ่นจัดการกับขนของสัตว์เลี้ยงที่อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าได้

 

ปรึกษากับคนในบ้านก่อนตัดสินใจซื้อ

การเลี้ยงสัตว์คือการมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาในบ้าน อย่าด่วนตัดสินใจซื้อมาก่อนโดยที่ไม่ปรึกษาความสบายใจของคนในบ้าน เพราะถ้าสัตว์บางประเภทต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างดีแต่เราที่เป็นคนซื้อมาดันไม่ค่อยอยู่บ้าน หน้าที่ดูแลก็อาจตกไปเป็นของคนที่อยู่บ้านโดยที่เขาไม่เต็มใจ

 

มีคนในบ้านแพ้สัตว์รึเปล่า

ข้อนี้เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กับข้อก่อนหน้านี้ เราต้องแน่ใจว่าตัวเองและคนในครอบครัวไม่มีอาการแพ้กับสัตว์ที่ตั้งใจจะเลี้ยง เช่น อาการแพ้ขนแมว แพ้ขนหมา ถ้าไม่ชัวร์ว่าตัวเองแพ้สัตว์ชนิดนั้นไหมก็ลองหาเวลาไปเล่นกับสัตว์ประเภทนั้น ๆ ดู อาจเป็นการไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่เลี้ยงสัตว์ หรือชวนให้เพื่อนมาเที่ยวที่บ้านพร้อมเอาสัตว์เลี้ยงมาเล่นด้วยก็ได้

เราพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นรึเปล่า

การเลี้ยงสัตว์เป็นอะไรที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเราควรจัดการเงินที่มีให้เป็นสัดเป็นส่วนด้วยการแยกเปิดบัญชีสำหรับเก็บเงินก้อนไว้ใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เงินก้อนนี้เข้าไปปะปนกับเงินก้อนอื่นที่เราจำเป็นต้องถือไว้อย่างค่าอาหารส่วนตัว หรือค่าเดินทาง

 

โดยเราควรเตรียมบัญชีที่ว่าให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเริ่มเลี้ยง และแบ่งประเภทเงินออมออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้ (ไม่รวมเงินสำหรับซื้อสัตว์เลี้ยง)

 

1. เงินออมที่เก็บไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนเลี้ยง

เงินก้อนนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับก้าวแรกของการรับสัตว์มาเลี้ยง โดยถ้าเราคำนวณแล้วว่าในแต่ละเดือนเราต้องมีค่าใช้จ่ายกับสัตว์เลี้ยงทั้งในด้านอาหารและด้านอุปกรณ์รวม ๆ อยู่ที่เท่าไหร่ เราก็ควรเก็บให้ได้อย่างน้อย 3-6 เท่าของจำนวนนั้น ๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ถ้าเราจะต้องมีค่าใช้จ่ายจากสัตว์เลี้ยงเดือนละ 2,000 บาท เราก็ควรมีเงินก้อนนี้อยู่ที่ประมาณ 6,000-12,000 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายจากสัตว์เลี้ยงมากระทบกับเงินในส่วนที่เราเก็บไว้ใช้เองในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า และมีพอสำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน เช่น สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย

 

2. เงินออมที่เก็บสำหรับค่าใช้จ่ายประจำแต่ละเดือน

เมื่อเรารับสัตว์มาเลี้ยงแล้ว ถึงแม้เราจะเก็บเงินก้อนสำรองไว้ตั้งแต่ก่อนเลี้ยงตามในข้อที่ 1 แต่เราก็ยังคงต้องเก็บเงินอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ เดือนอยู่ ทันทีที่เงินเดือนออก เราจำเป็นต้องแบ่งเงินส่วนนึงเข้าบัญชีสำหรับใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในแต่ละเดือน (จะโอนเงินเข้าบัญชีเข้าไปเกินกว่าจำนวนจริง ๆ สัก 10-15% เพื่อสะสมไว้ใช้จ่ายในอนาคตก็ได้)

 

3. เงินออมสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต

ยิ่งสัตว์เลี้ยงของเรามีอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูก็จะมากตามไปด้วย เราจึงควรเก็บเงินสำหรับใช้ในอนาคต นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เก็บอยู่แล้ว โดยเราสามารถสะสมมาได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนเลี้ยงไปจนถึงระหว่างที่เลี้ยง

 

8 พฤติกรรมทางการเงินที่คนเพิ่งเริ่มทำงานควรรีบแก้ไข

 

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเราอาจส่งผลกับสัตว์เลี้ยง

อย่าลืมว่าเวลาที่เราต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินหรือการงาน สัตว์เลี้ยงจะยังอยู่ในความดูแลของเราตลอด บางคนทำงานที่บ้านจนเหงาเลยหาซื้อสัตว์เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อน แต่พอวันนึงได้งานใหม่และต้องกลับไปทำงานในออฟฟิศ จากเดิมที่สัตว์เลี้ยงชินกับการอยู่กับเราแทบทั้งวัน ก็ต้องเปลี่ยนมารอเรากลับบ้านจนเหงาไปเลย ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ลองดูว่าควรจัดการยังไงเพื่อให้น้องอยู่อย่างแฮปปี้ จะหาซื้อของเล่นอะไรมาเพิ่มไหม หรือควรเอาน้องไปฝากใครเลี้ยงในระหว่างที่เราไม่อยู่รึเปล่า

 

สัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกประจำครอบครัวที่จะอยู่กับเราไปตลอดช่วงอายุขัยของมัน เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจว่าเราพร้อมกับการดูแลมันในระยะยาว ถ้าได้อ่านทุกข้อแล้วรู้สึกว่าตัวเองพร้อมจะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงสักตัวแล้ว ก็เดินหน้ารับน้องมาเลี้ยงได้เลย

 
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
Join Group
 

 

 

ที่มา:

bangkokbanksme.com / petbacker.com / krungsri.com

tags : job, jobthai, lifestyle, ไลฟ์สไตล์, การทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, สัตว์เลี้ยง, คนทำงานที่อยากเลี้ยงสัตว์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม