กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักวิทยาศาสตร์

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักวิทยาศาสตร์
03/10/17   |   12.6k   |  

จุดเริ่มต้นความสนพระราชหฤทัยในด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉายแววพระอัจฉริยภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์เคยร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ประกอบวิทยุใช้เองจากวัสดุที่หาได้ง่าย เพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้แตะต้องวิทยุที่ผู้ใหญ่ใช้ฟังข่าว เมื่อเจริญพระชนมพรรษามากขึ้นทรงประดิษฐ์ของเล่นเองจำพวกเครื่องร่อนหรือต่อแบบเรือรบจำลอง แต่ถึงมีความสนพระราชหฤทัยเพียงไร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ย่อมมาก่อน หลังขึ้นครองราชย์จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยด้านการศึกษา จากที่จะศึกษาต่อในด้านวิศวกรรมศาสตร์เปลี่ยนไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์และการปกครองแทนเพื่อให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาปกครองชาวไทยได้อย่างเต็มที่

 

แม้ไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และนำมาปรับใช้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฏรเสมอมา ดังพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยและชาวต่างประเทศมาแล้ว อาทิ

 

 

ฝนหลวง...ฝนเทียมสูตรไทยแท้ ในพระปรมาภิไธย

 

“…แต่มาเงยหน้ามองดูฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้

ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์

ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

คำกล่าวข้างต้น คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับแนวคิดการทำฝนหลวง
หลังได้รับรู้ความเดือนร้อนจากภัยแล้งของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วง พ.ศ. 2498
 

เมื่อทรงรับทราบความเดือนร้อนของพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานแนวคิดตั้งต้นการทำฝนเทียมแก่วิศวกรที่ทรงไว้พระราชหฤทัยเพื่อหาแนวทางดำเนินการ ทรงเข้าร่วมศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสารกับผู้เกี่ยวข้อง หยิบหลักการทำฝนเทียมในต่างประเทศมาปรับปรุงโดยใช้สารเคมีที่หาได้ง่าย ปลอดภัยเมื่อฝนตกสู่พื้นดิน และเหมาะสมกับสภาพอากาศในไทย ทรงใช้เวลาค้นคว้าเอกสารเหล่านี้อยู่นานถึง 14 ปี จนทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าแนวคิดดังกล่าวจะทำได้จริง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งผลที่ออกมาทำให้มีฝนตกในพื้นที่วนอุทยานเป็นที่น่าพอใจ


หลักการทดลองครั้งแรกสำเร็จพระองค์ก็ยังทรงศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง และยังทรงติดตามผลการทดลองที่ทีมวิจัยต้องรายงานทุกวันก่อนเวลา 20.00 น. ด้วยพระองค์เองเพื่อพระราชทานข้อแนะนำก่อนจะวางแผนปฏิบัติการสำหรับวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระกระแสรับสั่งกับทีมศึกษาวิจัยว่าการพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุดต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าสืบไป จนทำให้การปฏิบัติการนั้นมีความแม่นยำในการเจาะจงพื้นที่เป้าหมายและมีเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำฝนเทียมเพิ่มขึ้น เช่น เทคนิคงัดเมฆ และเทคนิค Super Sandwich เป็นต้น
 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีนับตั้งแต่การทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้าครั้งแรก ยามใดที่ประเทศไทยประสบภัยแล้ง ปัญหาหมอกควัน หรือปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญของประเทศอยู่ในระดับวิกฤติ ก็จะมีน้ำฝนที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “ฝนหลวง” มาชโลมแผ่นดิน เติมน้ำในส่วนที่ขาดหายไป ที่สำคัญฝนหลวงยังทำให้จิตใจของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้ชุ่มฉ่ำอยู่เสมอ และฝนจากน้ำพระราชหฤทัยนี้ไม่ได้โปรยปรายแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปในอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เช่น ออสเตรเลีย จอร์แดน และศรีลังกาด้วย เป็นการยืนยันว่า ฝนหลวง...ฝนเทียมสูตรไทยแท้ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศโดยสมบูรณ์

 

 

 

โครงการแกล้งดิน...เปลี่ยนดินเสียให้เป็นดินดี

 

“เราสมควร…แกล้งดิน…โดยทำให้มันเปรี้ยว แล้วเราจะได้ทำวิศวกรรมย้อนรอย

เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น

ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลดินประเภทนี้ในอนาคต”

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของเกษตรกร “ทฤษฎีแกล้งดิน” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พระองค์ได้ใช้พระอัจฉริยะภาพด้านวิทยาศาสตร์ แก้ไขดินที่เปรี้ยวจัดให้เป็นดินที่ราษฎรสามารถใช้ทำการเกษตรได้

 

“ทฤษฎีแกล้งดิน”  เริ่มขึ้นในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับทราบปัญหาดินเปรี้ยวบริเวณป่าพรุที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่พรุ (พื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดจากการสะสมตัวของซากพืชและอินทรีย์วัตถุต่างๆ ทับถมกันเป็นเวลานาน) ทำให้มีสารประกอบไพไรท์ซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชดำริให้ทดลอง “แกล้งดิน” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วปลดปล่อยกำมะถันออกมา ทำให้ดินเปรี้ยวจัดจากนั้นปรับปรุงดินด้วยการใช้น้ำร่วมกับปูนมาร์ลหรือปูนฝุ่นแล้วไถพลิกกลบดิน ความเป็นเบสของปูนจะทำให้ดินซึ่งเปรี้ยวจัดถูกกระตุ้นให้ “ช็อก” จึงปรับสภาพสู่สภาวะปกติ จนกระทั่งเพาะปลูกได้

 

 

แอลกอฮอล์จากไร่ น้ำมันจากครัว สู่การเป็นเชื้อเพลิงทดแทน...ด้วยพระอัจฉริยภาพ

 

“...น้ำมันปาล์มทราบว่าดีเป็นน้ำมันที่ใช้งานได้ ใช้บริโภคแบบใช้น้ำมันทอดไข่ได้ มาทำครัวได้

เอาน้ำมันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้ กำลังของน้ำมันปาล์มนี้ดีมากได้ผล

เพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซลไม่ต้องทำอะไรเลย ใส่เข้าไป แล่นไป คนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี...”

 

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนี้อาจฟังดูน่าขันนัก ในยุคที่ยังไม่มีใครคิดถึงพลังงานทดแทน แต่เมื่อกว่า 44 ปีที่แล้วบุคคลที่กล่าวประโยคน่าขันนี้ออกมามีความเป็นห่วงประชาชาชนของเขาว่าจะต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาแพงที่เกินไป แม้จะมีคนกราบทูลว่าตลาดน้ำมันมีการแข่งขันทำให้ราคาย่อมถูกลงไม่น่าจะสูงขึ้น ก็ยังทรงยืนยันให้มีการวิจัยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทน
 

ในปี พ.ศ. 2528 พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างโรงงานสกัดปาล์มทดลองขึ้นที่บริเวณสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เพื่อค้นคว้าการสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และมีพระราชดำริให้สร้างโรงแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็กครบวงจร ในปีต่อๆ มาด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 จึงเริ่มทดลองนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100 % มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันอื่นๆ หรือผสมกับน้ำมันดีเซลได้ตั้งแต่ 0.01 - 99.99%  เลยทีเดียว


ในปีเดียวกันนี้พระองค์มีพระราชดำรัสว่าในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยที่หลายๆ คนมองข้ามมาผลิตเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงเกิดเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ ด้วยเงินพระราชทานทุนวิจัยเริ่มต้น 925,500  บาท หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทั่วไป


หากจะเปรียบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พระองค์นี้ก็จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกาจรอบด้าน ไม่เพียงแต่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเท่านั้น แต่ยังทรงพลิกแพลง มีพระปรีชาสามารถในการประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ พิสูจน์ได้ด้วยสิทธิบัตรจากเกือบทุกโครงการทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ คาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตและนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่คาดการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์พระองค์นี้นี้จะไม่เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ คือ พระองค์ทรงงานอย่างหนัก แต่ไม่ใช่เพื่อการค้นพบและสร้างชื่อเสียงให้แก่พระองค์เอง แต่เพื่อให้คนพสกนิกรจำนวนกว่า 60 ล้านคนได้มีความอยู่ดีกินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการในพระราชดำริจำนวนมากที่พระองค์ได้นำพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปปรับใช้โดยมีเป้าหมายหลักเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

manpattanalibrary.com  royalrain.go.th  chaipat.or.th  km.rdpb.go.th  eppo.go.th  

sukphor.com

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, อาชีพ, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม