กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักประดิษฐ์

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักประดิษฐ์
03/10/17   |   8.9k   |  

เมื่อกล่าวถึงการเป็นนักประดิษฐ์กับการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ใครจะนึกถึงว่าสองสิ่งนี้จะมารวมกันได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในพระเจ้าแผ่นดินที่คนไทยรักและเทิดทูนสุดหัวใจ พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นได้ทุกอย่างเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้พสกนิกรของพระองค์ และหนึ่งในหลายอย่างที่พระองค์เป็นได้นั้นก็ คือ “นักประดิษฐ์”

 

 

หากใครได้ศึกษาพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาบ้าง จะทราบดีว่าพระอัจฉริยภาพหลายด้านของพระองค์นั้นมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ก็เช่นกัน ดังที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ความว่า

"พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่างๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้ว ก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่า ทุกคนก็ถามอย่างล้อๆ ว่า เรือจะแห้งทันไหม"

นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถด้านการคิดและริเริ่มในแบบที่นักประดิษฐ์ทั่วไปสมควรมี พระปรีชาสามารถอีกอย่างหนึ่งของพระองค์คือการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์หรืองานช่างที่ทรงศึกษามาปรับใช้กับสิ่งที่มีในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี วัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งแรงงานการผลิต ดังเรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์ที่ JobThai หยิบยกมาเล่าในวันนี้

 

 

เรือใบสากล สิ่งประดิษฐ์ฝีพระหัตถ์

อย่างที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดการทรงเรือใบเป็นอย่างมาก ความชื่นชอบด้านนี้เองที่ทำให้ทรงศึกษาแบบแปลนและข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราต่างๆ ทั่วโลก จนมีความเชี่ยวชาญก่อนจะประดิษฐ์เรือใบ

 

เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกพระราชทานนามว่า ราชประแตน เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพร์ส หลังจากนั้นได้ทรงต่อเรือใบอีกหลายลำ โดยทั้งหมดเป็นเรือใบประเภท โอ.เค. นอกจากการต่อเรือประเภทต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังได้ออกแบบเรือใบของพระองค์เองด้วย โดยพระราชทานชื่อว่า เรือใบสากลประเภทม็อธ  และทรงจดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศอังกฤษ

 

เรือใบสากลประเภทม็อธที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เองนั้นมี 3 แบบคือ เรือใบมด เป็นเรือที่มีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา เหมาะกับสรีระคนไทย เรือใบประเภทนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นำไปแข่งขันที่ต่างประเทศและทรงได้รับชัยชนะกลับมา จากนั้นทรงนำแบบเรือใบมดมาพัฒนาให้มีความเร็ว และมีความปลอดภัยมากขึ้น พระราชทานชื่อว่า เรือใบซุปเปอร์มด นอกจากนี้ยังมีแบบเรือใบที่ทรงออกแบบเองอีกหนึ่งแบบ พระราชทานชื่อว่า เรือใบไมโครมด ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเหมาะสำหรับเล่นคนเดียว สร้างง่าย อีกทั้งยังมีราคาที่ไม่สูง

 

ปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงออกแบบและต่อเรือใบอีกครั้ง โดยนำรูปแบบของเรือใบประเภท โอ.เค. มารวมเข้ากับเรือใบประเภทมดที่พระองค์ทรงออกแบบเอง และพระราชทานนามเรือที่ทรงออกแบบเองนี้ว่า เรือโม้ก ซึ่งหลังจากทรงออกแบบและต่อเรือโม้กเสร็จสิ้นแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงออกแบบและต่อเรืออีกเลย

 

จากความชื่นชอบส่วนพระองค์และความเชี่ยวชาญการต่อเรือบวกกับการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือยนต์รักษาชายฝั่งในประเทศเยอรมันในปี พ.ศ. 2510 นำไปสู่แนวคิดให้กองทัพเรือจัดสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งขึ้นเอง เพื่อให้บุคลากรในกองทัพเกิดการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ และประหยัดมากกว่าการจัดซื้อจากต่างประเทศ  เกิดเป็นโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 91 จนถึงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 99 รวมทั้งหมด 9 ลำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มิได้เพียงแต่ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือจัดสร้างเท่านั้น แต่ยังพระราชทานแบบเรือที่ทรงออกแบบเองให้ไปพัฒนาต่อ อีกทั้งระหว่างการดำเนินการยังได้พระราชทานคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนส่วนท้ายเรือให้มีความโค้งมน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพคลื่นและท้องทะเลไทย นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชวินิฉัยในเรื่องของเทคนิคการต่อเรือตลอดทั้งโครงการอีกด้วย

 

 

เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย...แก้ปัญหาน้ำเสีย

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2531 หลายพื้นที่ในไทยประสบปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสีย เมื่อการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงได้พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยหนึ่งในนั้น คือ วิธีตักน้ำขึ้นสู่อากาศแล้วปล่อยให้ตกลงไปในผิวน้ำตามเดิม ซึ่งออกมาในรูปแบบของกังหันที่หมุนโดยใช้พลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือพลังน้ำไหล แนวคิดดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”

 

หลังจากทดสอบว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาสามารถเติมอากาศ เพิ่มปริมาณออกซิเจน ส่งผลให้การบำบัดน้ำเสียได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้ว เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยื่นขอรับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทำให้ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 2  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536

 

นอกจากนี้กังหันน้ำชัยพัฒนายังถูกนำไปแสดงในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ Brussels Eureka 2000 ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ จนได้รับรางวัลเหรียญทอง The Belgian Chamber of Inventors มาอีกหนึ่งรางวัล และยังได้รับรางวัลที่คณะกรรมการนานาชาติและคณะกรรมการประจำชาติต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย รางวัลเหล่านี้เป็นการตอกย้ำพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้ได้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกอย่างแท้จริง

 

สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลายสิ่งประดิษฐ์ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยทำในสิ่งที่พระองค์ชื่นชอบ ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อให้รู้สึกว่าได้ทำ แต่ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าพระองค์มีความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง  ยิ่งกว่านั้นยังทรงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับการดูแลพสกนิกรและการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดีด้วย

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา

dockyard.navy.mi.th  manager.co.th  supremeartist.orgl  manpattanalibrary.com

 

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ, นักประดิษฐ์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม