กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: ช่างภาพ

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: ช่างภาพ
03/10/17   |   19.6k   |  

ภาพถ่ายเป็นดั่งความทรงจำที่จับต้องได้ทั้ง ยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความคิดของช่างภาพในแต่ละช่วงเวลาที่ภาพนั้นถูกบันทึกไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในชีวิตของช่างภาพคนหนึ่งเมื่อถึงวัยที่เปลี่ยนไป เรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต รวมถึงภาระหน้าที่ ก็อาจทำให้มุมมองในการถ่ายภาพของช่างภาพคนนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

เรื่องราวของภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นช่างภาพฝีพระหัตถ์เยี่ยมที่มีผลงานมากมาย  ซึ่งเมื่อเรามองดูภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เราก็จะเห็นถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา ทั้งภาพของเล่นสิ่งประดิษฐ์เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดา เมื่อครั้งทรงมีครอบครัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการถ่ายภาพเพื่อความเกษมสำราญส่วนพระองค์ดั่งคนที่ชอบถ่ายภาพคนหนึ่งพึงกระทำกัน

 

 

แต่ด้วยพระปณิธานที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติทรงยอมสละเวลาส่วนพระองค์ ให้กับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สายพระเนตรที่ทรงมองผ่านเลนส์ไม่ได้เป็นภาพเพื่อความเพลิดเพลินอีกต่อไป ภาพถ่ายส่วนใหญ่กลับกลายเป็นผืนดินแตกระแหง ภูเขาไร้ต้นไม้ ความแห้งแล้งของแหล่งน้ำที่รอการพัฒนา เพื่อที่จะสร้างให้เกิดเป็นภาพใหม่ที่ถึงพร้อมไปด้วยองค์ประกอบที่สมบูรณ์ให้กับประเทศไทยของเรา

 

JobThai ได้รวบรวมเรื่องราวของกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทย ในด้านการถ่ายภาพซึ่งเราเชื่อว่า เรื่องราวการถ่ายภาพของพระองค์จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ประกอบอาชีพช่างภาพได้เป็นอย่างดี

 

พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพที่ฉายแววมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่พระชนมายุ 8 พรรษา โดยที่ความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความคุ้นเคยที่ทรงเห็นสมเด็จพระราชชนนี ทรงถ่ายภาพครอบครัว รวมถึงโอกาสพิเศษต่าง ๆ เป็นประจำ ซึ่งกล้องตัวแรกคือ Coronet รุ่น Midget ก็เป็นกล้องที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพระราชทานให้ และด้วยความที่กล้องในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นระบบอัตโนมัติ ทุกอย่างต้องปรับตั้งเองจึงมีความยากลำบากอยู่บ้างในการใช้งาน แต่ด้วยความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการถ่ายภาพ กล้องจึงเปรียบเสมือนเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงโปรด จึงทำให้พระองค์ทรงเรียนรู้และฝึกฝนได้อย่างไม่มีหน่าย

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ ที่ถูกต่อยอดมาจากความรักในการถ่ายภาพ

เมื่อพระองค์ทรงประดิษฐ์เรือรบจำลองขึ้นมา ก็จะทรงจัดฉากถ่ายภาพเพื่อให้เรือเสมือนลอยอยู่บนผืนน้ำจริงโดยการใช้กระจกใสรองเป็นพื้น และทรงจัดให้แสงสะท้อนลงกระจกทำให้ดูเหมือนเป็นพื้นน้ำ อีกทั้งพระองค์ยังทรงมีความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพโดยทรงใช้แว่นกรองแสงที่มีสี ทำให้เกิดภาพถ่ายที่แปลกตา ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบริษัทใดผลิตแผ่นกรองแสงเพื่อการถ่ายภาพมาก่อน ทำให้ภาพถ่ายของพระองค์ในขณะนั้นเป็นผลงานศิลปะที่ล้ำสมัย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แสดงออกได้ชัดเจนถึงความคิดสร้างสรรค์ที่พระองค์ทรงมี รวมถึงความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังต่อการถ่ายภาพ

 

หมั่นเรียนรู้ และฝึกฝนในทุกๆ โอกาส

ด้วยความที่พระองค์ทรงเริ่มเล่นกล้องตั้งแต่ในสมัยที่อุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่ทันสมัย พระองค์จึงต้องทรงศึกษาหาความรู้ด้วยตัวพระองค์เอง ทรงมีตำราถ่ายภาพสะสมไว้จำนวนมาก และที่สำคัญคือพระองค์ทรงฝึกฝนฝีพระหัตถ์อยู่เป็นประจำ เมื่อสมัยที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอนุชา ทรงทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรยาย “ทรงเป็นช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่งและที่ฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว”

นอกจากนั้น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ยังถูกนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารแสตนดาร์ดด้วย ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ยังทรงโปรดถ่ายภาพสิ่งต่างๆ เพื่อไปลงนิตยสารอยู่เสมอ ดั่งที่เคยมีพระราชดำรัสด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า  

“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”  พระราชดำรัส ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ 2530

 

เรียนรู้ครบถ้วนตั้งแต่การถ่ายภาพ จนถึงการอัดขยายภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงสนพระราชหฤทัยแค่การถ่ายภาพเท่านั้น พระองค์ทรงเรียนรู้ลึกไปถึงการล้างฟิล์มด้วย ทรงจัดทำห้องมืดที่บริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. สำหรับล้างฟิล์มพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์มอัดขยายภาพทั้งสีและขาวดำ โดยใช้เครื่องล้างและเครื่องขยายภาพสีอัตโนมัติ  และด้วยความสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง และพระประสงค์ที่จะทรงใช้ประโยชน์จากภาพถ่าย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้นในสำนักพระราชวัง เพื่อทำหน้าที่บันทึกภาพล้างอัดขยายภาพ อนุรักษ์ภาพ และบริการภาพแก่ผู้ที่มาติดต่อนำไปใช้ประโยชน์

 

เปลี่ยนความชอบส่วนพระองค์ เป็นประโยชน์ส่วนรวมของคนไทยทั้งชาติ

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่ทรงนำความชอบ ความถนัด ส่วนพระองค์มาใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมตลอดชีวิตการทรงงานของพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใดก็จะต้องมีกล้องติดพระหัตถ์ตลอดเวลาเพื่อทรงถ่ายภาพ สถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ภาพสวยงามเลย หลังจากนั้นก็จะทรงใช้ภาพเหล่านั้นเพื่อวางแผนการทรงงานต่อไป ดั่งคำเล่าของ คุณนภันต์ เสวิกุล ช่างภาพผู้ติดตามถวายงานบันทึกภาพพระราชกรณียกิจ

 

 

“ในฐานะช่างภาพบางครั้งก็สงสัยว่าพระองค์ท่านทรงถ่ายอะไร บางทีแอบ แอบเลยล่ะ แอบไปยืนข้างหลังว่าพระองค์ทรงถ่ายอะไร คือพระองค์ท่านทรงยกกล้องมาแต่ละครั้งทรงถ่ายของไม่ดีทั้งนั้น ดินแดงแห้งผาก รากไม้ ต้นไม้ล้ม พระองค์ทรงถ่ายภาพเหล่านี้ แต่อีกสิบปีกลับไปดูสิ ตรงนั้นจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ พระองค์ท่านทรงถ่ายไปต้องคิดไปด้วยแน่ๆ ว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาจากรูปของพระองค์ก็คือชีวิต”

 

ถึงแม้ว่าสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จะเปลี่ยนไปมากจากเมื่อครั้งทรงพระเยาว์  แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือพระราชประสงค์ในการถ่ายภาพที่ยังทรงถ่ายภาพด้วยความสุขเหมือนเดิม เพียงแต่ความสุขของพระองค์นั้นคือการได้พัฒนาประเทศของเรา เปลี่ยนภาพดินแห้งแล้ง ให้กลายเป็นดินที่ชุ่มชื้น ภาพภูเขาที่ไร้ต้นไม้ กลายเป็นภูเขาที่เขียวชอุ่ม ภาพความทุรกันดารให้กลายเป็นภาพแห่งความเจริญ และภาพแห่งความทุกข์ เป็นภาพแห่งความสุขที่แท้จริงของประชาชนชาวไทย 

 

 

JobThai เชื่อว่าทุกอาชีพล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเกิดการพัฒนา นอกจากจะประกอบอาชีพอย่างสุจริตชนแล้ว ถ้าวิชาชีพของเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ทางใดทางหนึ่งก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งอาชีพช่างภาพก็เป็นหนึ่งในนั้น ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีใจความว่า

 

"การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคมให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง"

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพ แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา: 

ku.ac.th  bangkokbiznews.com  siamrath.co.th   prachachat.net  siamklongfilm.com 
 

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, ช่างภาพ, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม