สรุปเนื้อหาและกิจกรรมจากงาน People Performance Conference 2024

 

 

 

แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำงาน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘มนุษย์’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO ของ CREATIVE TALK จึงได้จับมือกับ QGEN Consultant บริษัทที่ปรึกษาด้าน People & Organization ของไทยเพื่อจัดงาน ‘People Performance Conference 2024 พัฒนาคน พัฒนาตน พัฒนาองค์กร’ หรือ PPC2024 ขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ในวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ภายในงานจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง JobThai สรุปมาให้ทุกคนแล้วในบทความนี้!

เจาะลึกเทรนด์การทำงาน การบริหารคนและพัฒนาองค์กรกับ 10 เซสชันบรรยาย

เต็มอิ่มกับการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์คนทำงาน ทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกอนาคต ความเป็นผู้นำ การบริหารคน ไปจนถึงจิตวิทยาในการพัฒนาองค์กร จากสปีกเกอร์ที่น่าสนใจถึง 10 เซสชัน แต่ละเซสชันจะมีประเด็นอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

 

World of Work in 2030 – คุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ CEO จาก QGEN Consultant

ในเซสชันนี้ คุณบีได้สรุปทิศทางของการทำงานในปี 2030 ให้เราฟังว่า

  • จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมากถึง 69 ล้านตำแหน่ง อย่างที่เราเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีในอดีตมาก่อน เช่น พนักงานไลฟ์บนโซเชียลมีเดีย Youtuber หรือ TikToker ในอนาคตก็จะมีตำแหน่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ตำแหน่งงานที่เคยมีในปัจจุบันก็จะหายไปด้วย 83 ล้านตำแหน่ง

  • คนทำงานทุก ๆ 16 คนจะมี 1 คนที่ต้องเปลี่ยนสายงาน

  • สายงานด้านสุขภาพ การศึกษา พลังงานสะอาด และ E-commerce จะยังมีพื้นที่ให้คนทำงานอยู่ แต่สายงานอื่น ๆ เช่น งานบริการ เกษตรกรรม และตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะน้อย (Low-skilled Labor) จะมีความเสี่ยงถูกทดแทนหรือมีความต้องการคนน้อยลง

  • AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น และการจัดการแรงงาน (Workforce Management) จะไม่ได้โฟกัสแค่แรงงานที่เป็นคนอีกต่อไป แต่จะรวมไปถึงแรงงานที่เป็นเทคโนโลยีด้วย

  • คนทำงานที่มีทักษะด้าน AI มีโอกาสได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 41%

  • การนำ AI มาช่วยในการทำงานจะแพร่หลายมากขึ้น แต่องค์กรก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม (Ethics) ในการใช้ AI ด้วย

  • อีก 5 ปี คนทำงานวัย Gen X จะมีจำนวนน้อยลง Gen Y จะขึ้นไปทำงานในส่วนของ Top Management และ Gen Z จะมีบทบาทมากขึ้นตามจำนวนที่เพิ่มเข้ามาในตลาดแรงงาน

 

Overcoming Generation Gap in Leadership – คุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล

ประเด็นเรื่อง Generation Gap หรือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากช่องว่างระหว่างรุ่นกลายเป็นสิ่งที่เราพบเจอกันได้บ่อย ๆ ในโลกของการทำงานปัจจุบัน ดังนั้นทักษะ Intergenerational Literacy หรือทักษะการทำงานร่วมกับคนต่างรุ่นจึงเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรุ่นใหญ่หรือคนทำงานรุ่นใหม่ ต่างฝ่ายต่างต้องมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน พยายามเปิดใจและทำความเข้าใจอีกฝ่าย ไม่อย่างนั้นจาก Generation Gap จะกลายเป็น Generation War หรือสงครามระหว่างรุ่นเอาได้ นอกจากนี้คุณไอติมยังได้ฝาก 7 เช็กลิสต์คุณสมบัติของผู้นำที่ดีในยุคนี้เอาไว้ด้วย ได้แก่

  1. ฟังให้กว้าง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม ๆ

  2. พูดให้ชัด สื่อสารให้ชัดเจน ให้ผู้ฟังทุกคนเข้าใจสิ่งที่เราพูดในทิศทางเดียวกัน

  3. ทำให้ดู การลงมือทำจะช่วยแสดงให้เห็นว่าเรามีการทำการบ้านมา สามารถปฏิบัติได้จริง

  4. ยืดหยุ่นให้ได้ ในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผู้นำต้องรู้จักปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

  5. ตามให้ทัน ทำตัวเองให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ จะได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามกระแสโลกทัน

  6. นำให้เป็น คนเป็นผู้นำต้องมีความรอบคอบ ไตร่ตรองสถานการณ์และตัดสินใจให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและถูกต้องจริง ๆ จากนั้นก็โน้มน้าวให้คนเห็นเหมือนเราให้ได้

  7. ลุกให้เร็ว ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือเมื่อเราล้ม เราต้องรู้จักลุกขึ้นมาให้ไวแล้วเดินต่อไปข้างหน้า

 

 

สร้างองค์กรอย่างไรให้คนอยากทำงานด้วย How to Create Employee Value Proposition – คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน Chief Growth Officer จาก บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด และคุณอ้อน ประกรรษ์ จันทร์ทอง Director of Human Resources and Administration Division จาก TCP Group

Employee Value Proposition (EVP) คือสิ่งที่ทำให้พนักงานเลือกทำงานกับองค์กรปัจจุบัน โดยสิ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรอื่นไม่สามารถมอบให้กับพวกเขาได้ มีแค่องค์กรนี้เท่านั้นที่ทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นถ้าองค์กรอยากรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ องค์กรก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรคือ EVP ของตัวเอง เช่น พนักงานมองว่าองค์กรของเราเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้คนได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ มีพื้นที่ให้ปล่อยของ ไม่ว่าจะเสนอไอเดียหรือโปรเจกต์อะไรไปก็ได้รับการตอบรับและซัปพอร์ตเสมอ ในขณะที่องค์กรอื่นไม่มีพื้นที่ตรงนี้ให้เขา เขาจึงเลือกทำงานกับเรา เมื่อองค์กรรู้แล้วว่าอะไรคือ EVP ก็ต้องรักษาจุดแข็งของตัวเองเอาไว้ และพยายามนำเสนอสิ่งนี้ออกไป สร้าง Employer Branding ให้คนภายนอกรับรู้ว่าองค์กรเรามีสิ่งนี้ จะได้ดึงดูดให้คนที่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกันอยากเข้ามาทำงานร่วมกับเราด้วย

 

 

People of 2030 – คุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ CEO จาก Srichand & Mission To The Moon Media

ในเซสชันนี้จะเป็นการอัปเดตเทรนด์ของการทำงานโดยโฟกัสไปที่ทักษะของคนทำงาน ซึ่งคุณแท็ปสรุปให้เราฟังว่าในปี 2027 ทักษะกว่า 44% จะใช้ไม่ได้อีก และปี 2030 งานประเภท Text-task จำนวน 70% จะถูกทดแทนโดย AI ดังนั้นคนทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะมากขึ้น เน้นไปที่ 10 ทักษะสำคัญ ได้แก่

  • Analytical Thinking ทักษะการวิเคราะห์

  • Creative Thinking ทักษะการคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

  • Self Awareness มีความตระหนักรู้และเข้าใจตัวเอง

  • Leadership ทักษะการเป็นผู้นำ

  • Lifelong Learning ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่หยุดเรียนรู้

  • Resilience ทักษะในการฟื้นตัวจากความล้มเหลว ล้มได้ แต่ต้องลุกให้ไว

  • Empathy มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

  • Design and User Experience ทักษะในการออกแบบ และความเข้าใจเรื่อง UX

  • AI & Big Data ทักษะด้าน AI และ Big Data

  • Technological Literacy ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี

 

 

Technology Trends in Workplace ที่ต้องอัปเดตปี 2024 – คุณจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอ็กซ์ซี จำกัด และคุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและผู้ก่อตั้ง Humanica

ในเซสชันนี้ คุณจอมทรัพย์และคุณสุนทรได้มาอัปเดตเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคน (People) หรือที่ทำงาน (Place)

  • People
    พนักงานทำงานแบบกระจายตัวมากขึ้นจากผลกระทบของ Covid-19 ที่ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบ Work from Home ขึ้นมา จนพัฒนามาเป็นการทำงานแบบ Remote และ Hybrid ในปัจจุบัน นอกจากจะทำงานทางไกลและแยกกันแล้ว คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการเข้างาน-ออกงานน้อยลง เพราะมองว่าแม้จะไม่ได้เข้าออฟฟิศ ไม่ตอกบัตร งานก็ยังดำเนินต่อไปได้ ทำให้องค์กรต้องปรับตัวมาใช้วิธีการประเมินงานและวัดผลอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการซัปพอร์ตด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการสื่อสาร การดูแลพนักงาน หรือการประเมินงาน

 

  • Place
    คนทำงานมองหาออฟฟิศแบบ Smart & Sustainable Workplace ที่มีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เช่น สามารถจองห้องประชุมและเชิญแขกได้ผ่านการแชตกับ AI, มีการนำเทคโนโลยี XR เข้ามาใช้ สามารถประชุมงานในระบบ Virtual Reality ได้, ออฟฟิศมีระบบซัปพอร์ตการทำงานแบบ Hybrid Workplace เช่น มี Hot Desks ให้พนักงานสามารถนั่งทำงานได้อย่างอิสระ

 

Overcoming Imposter Syndrome: Strategies for Confidence and Success – คุณเล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)

Imposter Syndrome คือภาวะที่เรารู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ดีไม่พอ หรือไม่ได้มีศักยภาพมากอย่างที่คนอื่นคิด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคนทำงานหลาย ๆ คน คุณเล้งมองว่าภาวะนี้เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลภายใน ซึ่งถ้าอิงตามหลักหยิน-หยาง เมื่อมีพลังลบมากเกินไป ก็ต้องแก้ไขด้วยการเติมพลังบวกเพื่อสร้างความสมดุลอีกครั้ง ดังนั้นแนวทางในการเอาชนะ Imposter Syndrome ก็คือการทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Routine เดิมของเรา เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่เก่ง เรามีพลังลบ เราก็ต้องเติมพลังบวกเข้ามา หมั่นชมตัวเอง สร้างความมั่นใจให้ตัวเองบ่อย ๆ จะได้สร้างบาลานซ์ให้ใจเรากลับมาสมดุลเหมือนเดิม

 

 

3-Day People Transformation Journey: Case Study from Robinhood  – คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร CEO ของ Robinhood Delivery

ทุกวันในการทำงานมีความสำคัญ แต่การสร้างองค์กรให้แข็งแกร่งจะมี 3 วันที่คนเป็นผู้นำต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่

  • Day 1 หรือวันแรกในการทำงาน เพราะเป็นวันที่ผู้บริหารใหม่ต้องเข้าไปเรียนรู้งานจริงและเริ่มต้นทำความรู้จักกับคนในทีมเพื่อสร้างความไว้วางใจ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักฟังและสำรวจความต้องการของพนักงาน มองปัญหาให้ออกว่าอะไรจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

  • Day 30 เป็นช่วงที่ผู้บริหารมีข้อมูลมากในระดับหนึ่งแล้วหลังจากผ่านการเรียนรู้งานมา 30 วัน เมื่อเริ่มเห็นภาพรวมในการทำงานแล้วก็ถึงเวลาที่ผู้บริหารจะต้องกำหนดเป้าหมาย วางแผนในการทำงาน รวมถึงตั้ง OKRs (Objective Key Results) ให้กับพนักงาน จากนั้นก็สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าองค์กรกำลังจะทำอะไร ก้าวไปทางไหน

  • Day 100 เมื่อเข้าสู่วันที่ 100 ซึ่งเป็นช่วงที่การทำงานต่าง ๆ เริ่มลงตัวแล้ว ก็ถึงเวลาขยับไปที่การสร้างวัฒนธรรมในการทำงาน เพื่อให้รูปแบบการทำงานกลายเป็น Way of Work ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว

 

Psychological Safety สร้างองค์กรคุณภาพ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัย – คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ Host รายการ R U OK Podcast ทางสำนักข่าว THE STANDARD และผู้ก่อตั้งบริษัท EMPATHY SAUCE

Psychological Safety คือพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจที่ทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถพูดสิ่งต่าง ๆ ออกมาได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาต่อว่าหรือโจมตีเรา สาเหตุที่องค์กรย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปข้างหน้า คนเก่ง ๆ ลาออก อาจเป็นเพราะขาดพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานไม่กล้าเสนอไอเดียอะไรที่แตกต่างออกไป พอไป Workshop เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มาก็ไม่กล้านำมาใช้จริงเพราะไม่อยากทำอะไรที่ขัดแย้งกับแนวทางเดิมขององค์กร กลัวจะไปทำให้ใครไม่พอใจเข้า ดังนั้นถ้าองค์กรอยากเดินหน้าต่อก็ต้องเปลี่ยนวิธีการตอบสนองกับปัญหา เลิกโทษกันเวลาทำงานผิดพลาด แล้วเปลี่ยนมาขอบคุณที่เรามองเห็นปัญหาตรงหน้า ขอบคุณคนที่กล้าชี้ให้เห็นว่าตอนนี้การทำงานมีปัญหาอะไรอยู่ จะได้เข้าไปแก้ไขได้ถูกจุด เมื่อองค์กรมี Psychological Safety ให้พนักงาน ทุกคนกล้าที่จะลุกขึ้นพูด กล้าริเริ่มทดลองอะไรใหม่ ๆ องค์กรก็จะเดินหน้าต่อไปได้

 

 

การเงินต้องรอดปี 2024 – คุณถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TaxBugnoms และคุณโอมศิริ วีระกุล Co-Head จาก LTMH ROCKET

วิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะวนกลับมาทุก 10 ปี เมื่อเราไม่สามารถหนีวิกฤตเศรษฐกิจพ้น เราก็ควรหันมาวางแผนการเงิน และเตรียมรับมือให้พร้อมอยู่เสมอ โดยคุณถนอมและคุณโอมศิริแนะนำว่าคนทำงานควรมีรายรับมากกว่ารายจ่าย และควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน หากจะก่อหนี้ก็ควรก่อหนี้ดีที่ให้ผลประโยชน์กับเรา เช่น อสังหาริมทรัพย์ และไม่ควรมีหนี้เกิน 40-50% ของรายรับ เมื่อเริ่มออมเงินได้ประมาณนึงแล้วก็ควรรู้จักวางแผนเก็บเงินสำหรับการเกษียณ จะได้รู้ว่าเราต้องเก็บเงินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ และสุดท้ายต้องรู้จักมองหาทางสร้างรายได้เพิ่มด้วย โดยอาจเลือกลงทุนในรูปแบบที่เราสนใจ

 

Stoic for Work and Life – คุณทอย กษิดิศ สตางค์มงคล นักวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเกอร์ เจ้าของเพจ DataRockie

ในเซสชันนี้ คุณทอยได้ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ Stoic ปรัชญาที่จะช่วยพัฒนาให้เราเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยหลักการของ Stoic แบ่งเป็น 3 แกน ได้แก่

  • Live with Virtue หรือการใช้ชีวิตด้วยความดีงาม ซึ่งความดีงามประกอบไปด้วยความเฉลียวฉลาด (Wisdom), ความกล้าหาญ (Courage), ความยุติธรรม (Justice), และความพอประมาณ (Moderation)

  • Focus on Control หรือการโฟกัสกับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 อย่าง นั่นคือสิ่งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยภายนอกถือเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่มันจะไม่มีผลอะไรกับเราเลยถ้าจิตใจของเราเข้มแข็ง

  • Take a Responsibility หรือการรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ให้ยอมรับมัน อย่าโทษปัจจัยภายนอก แต่ให้มองว่าเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ชีวิตของเรา เราต้องจัดการด้วยตัวเอง

 

 

เสริมความรู้และเทคนิคในการทำงานกับ 3 Workshop

นอกจากเซสชันบรรยายแบบจัดเต็ม 10 เซสชันแล้ว ภายในงาน PPC2024 ยังมี 3 Workshop เสริมความรู้และเทคนิคในการทำงานอีกด้วย ได้แก่

  • How to Brand Yourself as A Leader – คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ Founder และ Executive Coach จาก River Mersey Co., Ltd. ซึ่งเป็น Workshop ที่จะช่วยผู้บริหารค้นหาความเป็นผู้นำและสร้างจุดแข็งในรูปแบบของตัวเอง

  • Pomodoro Training จัดการงานกองโต แค่โฟกัสเพียง 25 นาที! – ดร. ชูศิลป์ เมธีไชยพงศ์ Pomodoro Technique Licensed Trainer คนแรกและคนเดียวของไทยและ ผู้เรียบเรียงหนังสือ Pomodoro Technique โดยใน Workshop นี้จะเป็นการสอนวิธีการบริหารเวลาด้วยเทคนิค Pomodoro หรือเทคนิคจับเวลาโฟกัสงาน 25 นาทีตามการทำงานของสมอง ซึ่งจะช่วยให้เรามีสมาธิในการทำงานมากขึ้น

  • From Vision to Target Setting Workshop ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้ทำได้จริง – คุณอัครินทร์ เทพประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบกลยุทธ์จากบริษัทที่ปรึกษา MVP Consultant ใน Workshop นี้ ทุกคนจะได้เรียนรู้เทคนิคในการตั้งเป้าหมายให้สามารถทำได้จริงและ Framework ที่ช่วยในการวางแผน

 

นอกจากนี้ภายในงาน PPC2024 ยังมีการจัดกิจกรรมแจกรางวัลและกิจกรรมอื่น ๆ จากบูธต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น TCP, Benz, Gofive, Conicle, Tigersoft, ส.ขอนแก่น, Globish, HumenOS (IT-Cat), Urbanize, AIA, Mobile Connect, Phothalai Bangkok, At U Dental, 9 net, Solutions Impact และ Empathy sauce

 

ใครที่สนใจอยากฟังการบรรยายแต่พลาดงานนี้ไปก็ไม่เป็นไร เพราะ PPC2024 เปิดให้รับชมการบรรยายย้อนหลังในรูปแบบออนไลน์ได้ โดยสามารถเข้าไปซื้อบัตรเพื่อรับชมคลิปในราคา 990 บาทได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/PPC2024#WatchLater

tags : jobthai, งาน, การทำงาน, คนทำงาน, trend, creative talk, creative talk conference, ctc, people performance conference, ppc2024, ppc, เทรนด์การทำงาน, อัปเดตเทรนด์, บริหารคน, บริหารองค์กร, พัฒนาองค์กร, พัฒนาตัวเอง, people management, การดูแลพนักงาน, human resources, hradvice, leadership, ผู้นำ, ผู้บริหาร, หัวหน้า, เทคโนโลยี, ai, artificial intelligence, big data, psychological safety, imposter syndrome, stoic, การเงิน, บริหารเงิน, เทรนด์, trends, hr



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม