วัยทำงานต้องวางแผนการเงินอย่างไรให้มีเหลือใช้ตอนเกษียณ

 

ทำไมวัยทำงานถึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงิน

6 ขั้นตอนวางแผนการเงินให้เหลือใช้ในวัยเกษียณ

สูตรคำนวณการออมเงินให้เหลือใช้หลังเกษียณ
 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ไม่เพียงแต่เรื่องของเส้นทางอาชีพเท่านั้นที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่การวางแผนการเงินในระยะยาวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณที่ร่างกายเริ่มโรยรา และต้องเลิกเป็นลูกจ้างแล้วหรือการจะต้องมาทำงานหนักเพื่อหารายได้ในช่วงหลังเกษียณ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่หลายคนปรารถนาสักเท่าไหร่ วัยทำงานคนไหนที่ยังไม่ได้เริ่มวางแผนออมเงินตั้งแน่เนิ่น ๆ มาเริ่มเตรียมตัวด้านการเงินไปพร้อม ๆ กันดีกว่า   

 

ทำไมวัยทำงานถึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงิน

ทำไมวัยทำงานถึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงิน

 

การออมเงิน คือสิ่งที่เราถูกพร่ำสอนกันมาตั้งแต่เด็กในห้องเรียน แต่พอถึงคราวที่ต้องนำมาปรับใช้จริงในชีวิต หลายคนกลับสอบตกในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับวัยทำงานทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีเงินเดือนสูง เพราะถ้าเราไม่รู้จักวิธีในการบริหารจัดการเรื่องของการเงิน เราก็จะจ่ายออกไปหมดจนไม่เหลือเก็บในแต่ละเดือน และทำให้ไม่มีเงินก้อนในช่วงวัยเกษียณ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมวัยทำงานต้องให้ความสำคัญเรื่องการวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือใช้เมื่อถึงตอนเกษียณ 

 

6 ขั้นตอนวางแผนการเงินให้เหลือใช้ในวัยเกษียณ

6 ขั้นตอนวางแผนการเงินให้เหลือใช้ในวัยเกษียณ

 

บางคนอาจจะคิดว่า การวางแผนการเงิน ก็คือการแบ่งเงินบางส่วนที่ได้มาจากการทำงานเก็บไว้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดนัก แต่การไม่วางแผนอย่างถูกวิธี อาจทำให้หลายคนไม่รู้แม้กระทั่งจุดรั่วไหลของเงินที่จ่ายออกไป จนสุดท้ายมาดูเงินในบัญชีอีกที อาจจะไม่เหลือเก็บเลยก็ได้ ขั้นตอนในการวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีไว้ 

 

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

สิ่งแรกที่ควรทำในขั้นตอนการวางแผนการเงิน คือการกำหนดเป้าหมายจำนวนเงินออมที่ต้องการมีเมื่อถึงวัยเกษียณให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการดูจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง ว่ามีรายจ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ต้องการใช้ชีวิตแบบไหนในช่วงบั้นปลายให้มีความสุข แล้วค่อยคำนวณออกมาเป็นรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนแบบบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เราจึงจะรู้ได้ว่าต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอในวัยเกษียณ

 

2. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การเริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้เรารู้ถึงพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองได้ชัดขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะพลาดในจุดนี้ เพราะคิดว่าคำนวณเองง่าย ๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าจ่ายเงินไปกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน แต่กลับไม่ทันได้คิดว่าค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบหลักสิบ หรือหลักร้อยก็อาจกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาได้เมื่อทำการใช้จ่ายหลายครั้ง และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็อาจจะทำให้เราเห็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งอาจจะตัดออกไปได้ด้วย

 

3. เรียนรู้เรื่องการลงทุนคู่กับการเก็บออม

การออมเงินเพียงอย่างเดียวในยุคนี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์วัยเกษียณเหมือนในอดีตอีกแล้ว เนื่องด้วยปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เงินที่เราหามาได้เสื่อมมูลค่าลงตามกาลเวลา เงินแสนที่เคยมีในวันนี้ อาจจะกลายเป็นเงินหมื่นในอีกสิบปีข้างหน้าก็ได้ การนำเงินไปลงทุนต่อยอดจึงเป็นสกิลเอาตัวรอดที่วัยทำงานทุกคนควรเรียนรู้ไว้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบัน การลงทุนนั้นมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือแม้แต่กองทุนต่าง ๆ สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ในด้านลงทุน และไม่อยากเสี่ยง ก็สามารถลงทุนได้ผ่านช่องทางนี้

 

4. ลดความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัย

สิ่งเดียวที่แน่นอนในชีวิต ก็คือความไม่แน่นอน วัยทำงานเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงอยู่ในชีวิตตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการโหมงานหนักที่อาจทำให้สุขภาพร่างกายนั้นแย่ลง อีกทั้งยังต้องเดินทางไปทำงานทุกวันที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ การทำประกันภัยเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงเป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงในการเสียเงินก้อนได้ดี เหมือนอย่างที่เห็นคนเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอาจจะหายไปกับการรักษาเลยก็ได้ 

 

5. วางแผนด้านภาษีให้ดี

เรื่องของการคำนวณภาษีและการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนทำงานควรจะวางแผนล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ต้นปี เพราะจะช่วยให้เราบริหารจัดการเรื่องการเงินได้อย่างเป็นระเบียบ และสามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุน หรือแบ่งเก็บออมได้ง่ายสะดวก

 

6. ไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น

การสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็นอย่างการช้อปก่อน ผ่อนจ่ายทีหลัง เป็นการทำร้ายวินัยทางการเงินอย่างรุนแรงที่หลายคนมักติดกับดัก จนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ทัน และมักจะลงเอยที่การจ่ายขั้นต่ำแบบเงินต้นไม่ลด ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ทำให้สถานะทางการเงินย่ำแย่ไปอีกหลายปี

 

สูตรคำนวณการออมเงินให้เหลือใช้หลังเกษียณ

หลังจากทราบถึงขั้นตอนในการวางแผนการเงินกันไปแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่รู้วิธีคำนวณเงินหลังเกษียณให้มีไว้ใช้จ่ายอย่างเพียงพอ โดยอาจจะไม่ต้องใช้เงินประกันสังคม ที่ได้หลังเกษียณเลยก็ได้

 

  • 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน x 12 (จำนวนเดือนในหนี่งปึ) x จำนวนปีหลังเกษียณ = เงินที่ต้องมีเก็บออม

 

ตัวอย่าง : เราตั้งเป้าเกษียณไว้ที่อายุ 65 ปี และคาดว่าจะมีอายุถึง 80 ปี โดยปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ 20,000 บาท ค่าใช้จ่าย 70% ก็จะอยู่ที่  14,000 ให้นำไปคูณจำนวนเดือน (14,000x12) จะเท่ากับ 168,000 บาท แล้วนำไปคูณต่อจำนวนปีที่จะอยู่ถึงหลังเกษียณ 168,000x15 = 2,520,000 บาท จะเป็นจำนวนเงินที่ต้องเก็บ

 

การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เราคิด การเตรียมตัวให้ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ชีวิตในวันข้างหน้ามีความมั่นคงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ใครที่กำลังมองหางานที่ตอบโจทย์ความก้าวหน้า เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในการเกษียณได้เร็วขึ้น JobThai พร้อมเป็นทางเลือกในการหางานที่ตรงใจให้กับวัยทำงานทุกคน

 

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, วางแผนการเงิน, เกษียณอายุ, การออมเงิน, การเงิน, ออมเงิน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม