7 เทรนด์การทำงานปี 2023 ที่ HR ต้องอัปเดต

21/12/22   |   9.5k   |  

 

 

 

ดาวน์โหลด JobThai Mobile Application เพื่อค้นหางานผ่านมือถือได้แบบได้ง่าย ๆ

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานไปตั้งแต่ปี 2020 ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานให้พนักงาน Work from Home แทนการเข้าออฟฟิศ การเปลี่ยนวิธีสัมภาษณ์งานมาเป็นแบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการเอาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อให้การทำงานทางไกลสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น

เวลาผ่านมา 3 ปี สถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาดก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายลง แต่แนวทางการทำงานที่เปลี่ยนแปลงนี้กลับกลายเป็น New Normal ที่ทำให้ชีวิตของคนทำงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แล้วในปี 2023 มีเทรนด์การทำงานอะไรบ้างที่ ต้องอัปเดตหรือเตรียมรับมือ JobThai รวบรวมเทรนด์ที่น่าสนใจมาฝาก

 

Remote Working VS เข้าออฟฟิศ VS Hybrid Working ทางออกไหนที่ใช่สำหรับคนทำงาน

 

Hybrid Working กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่คนมองหา

การ Work from Home ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงได้แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้ไม่ได้เข้าออฟฟิศไปเจอหน้ากัน งานก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ถึงจะมีติดขัดบ้างในช่วงแรก แต่หลาย ๆ บริษัทก็ได้นำเครื่องมือเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Communication Tools สำหรับติดต่อสื่อสารภายในองค์กร หรือ Task Management Tools ที่ช่วยในการติดตามและจัดการงานต่าง ๆ

เมื่อการทำงานทางไกลมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สะดวกขึ้น ประกอบกับความยืดหยุ่นที่ไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าไปออฟฟิศและเสียเวลาเดินทางบนท้องถนนที่คาดเดาไม่ได้ พนักงานมีเวลาพักผ่อนและเวลาส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงบางคนยังอาจมี Productivity เพิ่มขึ้นอีกด้วย คนทำงานก็เลยหันมาให้ความสำคัญกับ Work-life Balance กันมากขึ้นและมองหาองค์กรที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จนอาจเรียกได้ว่าจำนวนวันที่ต้องเข้าออฟฟิศได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนใช้พิจารณาว่าจะทำงานกับบริษัทนั้น ๆ ดีหรือไม่

เมื่อความต้องการของคนทำงานเปลี่ยนไป ฝั่งองค์กรเองก็ต้องปรับตัวตาม อย่างที่เห็นว่าถึงแม้บริษัทหลาย ๆ แห่งจะมีนโยบายให้พนักงานทยอยกลับเข้าออฟฟิศหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่อนคลายลงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน ทว่าเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ Hybrid Working ที่ให้พนักงานเข้าออฟฟิศสลับกับการทำงานที่บ้านแทน ซึ่งนโยบายการทำงานในรูปแบบนี้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid Working กำลังเป็นที่นิยมในองค์กรสมัยใหม่และหมู่คนทำงานจริง ๆ

 

แนะนำ 6 โปรแกรมและแอปพลิเคชัน Chat ภายในองค์กร

 

5 Project Management Tools น่าสนใจสำหรับการบริหารงานในแต่ละวัน

 

รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ออฟฟิศก็อาจต้องเปลี่ยนตาม

เมื่อ Hybrid Working ได้กลายเป็น New Normal ของการทำงาน สิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาต่อไปก็คือลักษณะของออฟฟิศนั้นตอบโจทย์การใช้งานของพนักงานมากแค่ไหน และคุ้มค่ากับการลงทุนขององค์กรหรือไม่ เพราะการเช่าออฟฟิศไว้รองรับพนักงานย่อมมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟ และค่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เมื่อพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้งานสถานที่ทุกคนและทุกวันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ก็อาจถึงเวลาที่องค์กรต้องคำนวณดูอย่างจริงจังว่าพนักงานในบริษัทเข้าออฟฟิศกันบ่อยแค่ไหน และในการเข้าออฟฟิศแต่ละครั้งมีพนักงานเข้าจำนวนกี่คน วัตถุประสงค์ในการเข้ามาใช้งานคืออะไร

หากวัตถุประสงค์ในการใช้งานออฟฟิศส่วนใหญ่คือการเข้ามาประชุมหรือทำงานร่วมกัน ก็ต้องดูต่อว่าออฟฟิศของเรามีห้องประชุมหรือพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะนี้มากพอหรือยัง ถ้าปรับเปลี่ยนรูปแบบโต๊ะทำงานจากที่ประจำของใครของมันมาเป็นแบบ Hot Desk หรือการจัดวางโต๊ะเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนในบริษัทสามารถใช้งานได้ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้อง Meeting Room และ Conference Room ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการประชุมเพียบพร้อม เช่น จอภาพขนาดใหญ่ หรือกล้องสำหรับ Video Call จะเหมาะกว่ารึเปล่า

นอกจากการออกแบบลักษณะของออฟฟิศแล้ว องค์กรอาจต้องพิจารณาดูด้วยว่าขนาดของออฟฟิศในปัจจุบันใหญ่เกินความจำเป็นไหม ถ้าพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้งานออฟฟิศเต็มที่ 100% ก็อาจถึงเวลามองหาสำนักงานที่มีพื้นที่เล็กลงเพื่อลดต้นทุนในการรองรับพนักงาน หรือถ้าขนาดเหมาะสมดีแล้วก็อาจลองพิจารณาเรื่องการรีโนเวทหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับการทำงานมากขึ้น

 

วัฒนธรรมองค์กรอาจจางหายไปในยุคของ Remote/Hybrid Working ถ้าไม่มีแผนรับมือ

ในยุคที่องค์กรหลาย ๆ แห่งได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Hybrid Working หรือเปิดรับพนักงานทางไกลที่ทำงานแบบ Remote Working ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ โอกาสที่พนักงานจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรก็ลดน้อยลงตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ สำหรับพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน อยู่กับองค์กรมาตั้งแต่ยังทำงานแบบ On-site ก็อาจคุ้นเคยกับองค์กรดีอยู่แล้ว แต่สำหรับพนักงานที่เข้ามาใหม่และต้องพบเจอกับการทำงานแบบ Remote หรือ Hybrid ไม่ได้เข้าออฟฟิศบ่อย ๆ ก็อาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสความเป็นองค์กรมากนัก รวมถึงอาจรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว ไม่สนิทสนมกับพนักงานคนอื่น ๆ ในบริษัท ส่งผลให้ Employee Engagement หรือการมีส่วนร่วมของพนักงานลดลงและรู้สึกผูกพันกับบริษัทน้อยลงไปด้วย

ดังนั้นเมื่อองค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สิ่งที่ HR ต้องทำการบ้านคือการมองหาวิธีที่ช่วยให้พนักงานได้สัมผัสวัฒนธรรมขององค์กรผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อช่วยไม่ให้วัฒนธรรมองค์กรจางหายไป โดยอาจปรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานในรูปแบบนี้มากขึ้น เช่น การเตรียม Onboarding เพื่อต้อนรับพนักงานใหม่ในรูปแบบออนไลน์ การปรึกษากับหัวหน้าทีมต่าง ๆ เพื่อวางแผนการสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม (Team Building) หรือการมองหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในบริษัททั้งภายในทีมและต่างทีม เพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและความเป็นองค์กร รวมถึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่แปลกแยกกับคนอื่น ๆ ในบริษัท

 

6 ไอเดียจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ช่วง Work from Home

 

ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานต้องมาก่อน

สถานการณ์ของโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาบวกกับพิษเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อจนสินค้าต่าง ๆ พากันขึ้นราคาส่งผลให้คนทำงานหลาย ๆ คนเกิดความเครียดสะสมและรู้สึกเป็นกังวลกับความไม่แน่นอน เป็นห่วงความเป็นอยู่ของตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งในแง่สุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนั้น Well-being Program หรือการมีสวัสดิการที่ส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานที่นอกเหนือจากสวัสดิการด้านสุขภาพทั่ว ๆ ไป เช่น ประกันสุขภาพหรือการตรวจสุขภาพประจำปี จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ

โดยองค์กรอาจสังเกตดูความต้องการของพนักงานในบริษัทหรือทำแบบสอบถามว่าอยากให้มีสวัสดิการในส่วนไหนเพิ่ม เช่น สวัสดิการปรึกษาจิตแพทย์หรือพูดคุยนักจิตบำบัดสำหรับพนักงานที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาด้านจิตใจ สวัสดิการยืมเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานแบบ Ergonomicsที่ดีต่อสุขภาพ สวัสดิการค่าวัคซีนโควิด-19 หรือสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การมีสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของพนักงานนอกจากจะช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้กับพนักงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร อยากทำงานกับองค์กรนานขึ้นอีกด้วย

 

ถึงเวลาของการ Upskill และ Reskill ให้พนักงานอย่างจริงจัง

ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด หลาย ๆ บริษัทได้มีนโยบายปลดพนักงานออก ทำให้คนทำงานต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เพื่อหางานและสมัครงาน ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การทำงานหลาย ๆ อย่างถูก AI (Artificial Intelligence) หรือระบบ Automation เข้ามาแทนที่ การแข่งขันในตลาดแรงงานจึงทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตรฐานการคัดเลือกพนักงานเองก็สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะองค์กรย่อมต้องมองหาพนักงานที่มีทักษะโดดเด่น มาทำงานที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีทำงานแทนได้จริง ๆ ผลก็คือแม้กลุ่มคนหางานจะได้งานตามที่หวังแล้ว แต่หลาย ๆ คนก็ยังสัมผัสได้ถึงความไม่แน่นอนในอนาคต และพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

ดังนั้นเรื่องของการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และการเพิ่มทักษะใหม่ (Reskill) จึงกลายเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะปัจจัยหนึ่งที่พนักงานใช้พิจารณาเลือกบริษัทที่จะเข้าไปทำงานด้วยคือเมื่อเข้าไปทำงานที่นั้น ๆ แล้วมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน หากองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้ เช่น บริษัทมี Training Program ให้กับพนักงาน มีโครงการอบรม หรือมีงบสำหรับลงเรียนคอร์สต่าง ๆ ให้ ก็มีส่วนช่วยให้องค์กรดูน่าสนใจในสายตาพนักงานและดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานกับองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้การที่พนักงานเก่งขึ้น มีทักษะที่หลากหลายขึ้นก็ช่วยยกระดับการทำงานให้กับองค์กรได้อีกด้วย

 

บริษัทควรมีสวัสดิการอะไรหากยังขึ้นเงินเดือนให้ไม่ได้

 

สัดส่วนของพนักงาน Gen-Z เพิ่มจำนวนขึ้น

เป็นธรรมดาที่พอช่วงเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่ก็ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานมากขึ้น สัดส่วนของพนักงานในแต่ละช่วงวัยจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน แม้คน Gen-Z หรือคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1997 – 2010 จะเริ่มเข้าสู่โลกของการทำงานมาสักพักแล้ว แต่ในปี 2023 ฝั่งองค์กรจะได้เห็นสัดส่วนของคนกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอีกแน่นอน โดยอายุของพนักงาน Gen-Z ที่มากที่สุดจะอยู่ที่ 26 ปี

ดังนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรต้องเตรียมตัวในปีหน้าและปีถัด ๆ ไปคือการพยายามทำความเข้าใจและปรับวิธีการทำงานเพื่อรองรับพนักงาน Gen-Z ที่จะมีมากขึ้นในบริษัท มองหาสวัสดิการที่ดึงดูดและตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ รวมถึงเตรียมตัวรับมือกับ Multi-generation in Workplace หรือความหลากหลายทางช่วงวัยในที่ทำงาน เพราะคนแต่ละช่วงวัยก็มีพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และแนวทางการทำงานที่ต่างกัน เช่น คน Gen-X อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีนานกว่าคนวัยอื่น ๆ คน Gen-Y อาจถนัดที่จะทำงานเป็นทีมมากกว่าและเมื่อมีปัญหาก็มักเลือกวิธีประนีประนอมอย่างสันติ ในขณะที่คน Gen-Z อาจชื่นชอบการทำงานคนเดียวและพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในความคิดเห็นของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองเชื่อจนสุดทาง ซึ่งหน้าที่ขององค์กรก็คือการมองหาวิธีการทำงานที่จะทำให้พนักงานทุกวัยแฮปปี้กับการทำงานร่วมกันให้ได้

 

จัดการความต่างทาง Generation ด้วยเทคนิคการดูแลพนักงาน

 

DEI คือคอนเซปต์ขององค์กรที่พนักงานมองหา

DEI ย่อมาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การรวมเข้ามา) คือแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนในองค์กรเพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คนทำงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มองหาจากองค์กรเองเช่นกัน เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการทำงานในสถานที่ที่ตัวเองได้รับความเคารพและได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับพนักงานคนอื่น ๆ ไม่มีการนำอคติมาผลักไสหรือกีดกันใครออกไป

ดังนั้นองค์กรจึงต้องสร้างวัฒนธรรมแบบ DEI ที่เปิดรับความหลากหลาย (Diversity) ทั้งในเรื่องเพศ อายุ หรือชาติพันธุ์ รวมถึงปฏิบัติกับพนักงานทุกคนอย่างเสมอภาค (Equity) ไม่ลำเอียง และเปิดให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากร สวัสดิการ หรือโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม เมื่อพนักงานทุกคนรู้สึกว่าตัวเองได้รับการต้อนรับอย่างดีจากองค์กร ไม่มีการปฏิเสธความแตกต่าง ก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร หรือเรียกได้ว่าองค์กรได้รวมทุกคนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง (Inclusion) เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานน่าอยู่ พนักงานก็ย่อมอยากอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ

 

5 สิ่งที่ทำให้คนทำงานรุ่นใหม่ไม่คิดย้ายงาน

 

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ในการทำงานส่วนใหญ่ที่กำลังจะมาในปี 2023 นั้นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดตามมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของพนักงานให้เข้ากับรูปแบบการทำงานใหม่ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ การเพิ่มทักษะของตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดแรงงาน การมองหาองค์กรที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้ มี Work-life Balance และมีความเป็นอยู่ที่ดี

องค์กรจึงต้องหันมาใส่ใจกับความต้องการในส่วนนี้มากขึ้น โดยพิจารณามองหาสวัสดิการที่ตอบโจทย์พนักงานของตัวเอง เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะกับรูปแบบการทำงานอย่างการทำงานทางไกลหรือการทำงานแบบ Hybrid ที่กำลังเป็นที่นิยม รวมถึงเตรียมความพร้อมในการรองรับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในอนาคตด้วย หากสามารถสร้างองค์กรที่ทำให้พนักงานมีความสุขและรู้สึกมั่นคงได้ ก็จะช่วยให้เกิด Employee Retention หรือการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ นั่นเอง

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai ได้ Candidate ที่ใช่ง่าย ๆ คลิกเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

forbes.comismartrecruit.comaihr.comvisier.comgartner.comdevry.edutimesofindia.indiatimes.comthereceptionist.com, betterteam.combusinessnewsdaily.comqualtrics.com

tags : hr advice, human resource, 2023, hybrid workplace, upskill, reskill, multi generation, gen x, hr trends, ฝ่ายบุคคล, การดูแลพนักงาน, trends, new normal, hybrid working, work from home, gen z, gen y, employee engagement, hr



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม