หลายคนอาจคุ้นหูกับงาน CREATIVE TALK อีเวนต์แห่งปีที่รวบรวมคนที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มาแบ่งปันไอเดียและแนวคิดในเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญให้กับคนอื่น ๆ และสงสัยว่า CREATIVE TALK 1 Stage คืออะไร ใช่งานเดียวกับ CREATIVE TALK เฉย ๆ ไหม คำตอบคือ CREATIVE TALK 1 Stage นั้นเป็นจักรวาลแยกที่แตกแขนงมาจาก CREATIVE TALKอีกทีหนึ่ง แต่มาพร้อมกับคอนเซปต์พูดเจาะประเด็นให้ครบ จบในเวทีเดียว และจัดขึ้นหลายครั้งต่อปี ซึ่งแตกต่างกับ CREAVTIVE TALK ที่จะมีการแยกเวทีบรรยายหลายเวทีและจัดแค่ปีละครั้งเท่านั้น
โดยงาน CREATIVE TALK 1 Stage ที่จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ SCREEN X พารากอนซีนีเพลกซ์ ชั้น 6 สยามพารากอน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมานี้ก็มาพร้อมหัวข้อที่ผู้นำองค์กรและคนทำงานสาย HR พลาดไม่ได้ เพราะงานนี้จัดในชื่อ Globish PresentsCREATIVE TALK 1 Stage: “HR & PEOPLE DIRECTION องค์กรยุคนี้ต้อง…” ซึ่งเชิญสปีกเกอร์ 5 ท่านมาเสวนาเจาะลึกอินไซต์คนทำงานและเทรนด์ HR แห่งปีแบบจัดเต็ม 3 เซสชัน เนื้อหาจะเข้มข้นแค่ไหน JobThai สรุปมาฝากให้แล้วในบทความนี้
ในเซสชันแรก คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer จาก SCG และคุณธีรกร อานันโทไทย Chief Digital Officer & Co-founder จาก Globish ได้ชวนทุกคนตั้งคำถามว่า Generation Gap หรือความแตกต่างทางช่วงวัยมีจริงไหม หรือเป็นเพียงการใช้เลนส์ของตัวเองมองคุณลักษณะของพวกเขาแบบเหมารวม (Stereotype) โดยไม่ได้พยายามทำความเข้าใจความแตกต่างแบบเฉพาะตัวของแต่ละคน เช่น มองว่าคน Gen X เป็นกลุ่มคนที่ไม่ชอบเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ในขณะที่คน Gen Z เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง กล้าคิดกล้าทำกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วคน Gen X และ Gen Z ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกคน เด็กรุ่นใหม่ที่ชอบทำงานในกรอบตามแบบแผนทุกอย่างก็มี หรือคนรุ่นใหญ่ที่ชอบทลายข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วทดลองอะไรที่ไม่เคยทำก็มี
ดังนั้นโจทย์ในตอนนี้จึงไม่ใช่ Generation Gap แต่เป็น Human Gap หรือความแตกต่างระหว่างคน และสิ่งที่ HR กับองค์กรต้องทำก็คือการปิด Gap ตรงนี้ให้ได้ ซึ่งคำตอบที่จะช่วยองค์กรให้ก้าวผ่านความท้าทายนี้ก็คือการมี Inclusive Mindset หรือแนวคิดการยอมรับความแตกต่างและมองเห็นคุณค่าของคนอื่น เมื่อเราเข้าใจและยอมรับตัวตนของกันและกันก็จะไม่มีการผลักไสใครออกไป และสามารถก้าวไปยังขั้นถัดไปคือออกแบบการทำงานให้เหมาะสมกับทุกคนได้ องค์กรไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพนักงานให้มีแนวทางการทำงานเหมือนกันทั้งหมด แต่องค์กรต้องเอาโปรเจกต์งานเป็นที่ตั้ง และเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการทำงานในโปรเจกต์นั้น ๆ ไปดูแล ถ้าเราใช้ความหลากหลาย (Diversity) ในองค์กรให้เกิดประโยชน์ เราก็จะดึงศักยภาพในตัวพนักงานออกมาได้มากและสามารถผลักดันองค์กรไปข้างหน้าได้
ในเซสชันที่ 2 คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ของ Srichand และผู้ก่อตั้ง ‘Mission to the Moon’ ได้มาพูดถึงแนวทางการบริหารจัดการคนเก่งและวิธีการดึงดูดคนมีฝีมือในยุค Talent War หรือศึกชิงตัวคนเก่งที่แต่ละบริษัทพยายามมองหาคนมีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร เนื่องจากในยุคนี้มีทางเลือกสำหรับคนทำงานมากขึ้น หลาย ๆ คนก็ผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์รับงานอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้คนทำงานเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง องค์กรเองก็หาคนยากขึ้นด้วย
ดังนั้นถ้าอยากได้ตัวคนเก่ง ๆ เข้ามาในองค์กร เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไรจากองค์กรบ้าง และทำให้องค์กรตอบโจทย์ความต้องการนั้น ซึ่ง 3 สิ่งที่คนเก่งต้องการจากองค์กรก็คือ 1. สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง 2. สังคมการทำงานที่ดี เพื่อนร่วมงานดี ไม่มีการเมืองในบริษัท และ 3. ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับผลงาน ถ้าองค์กรสามารถทำสภาพแวดล้อมให้เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ได้ นกก็จะเป็นฝ่ายอยากเข้ามาทำรังเอง แต่ถ้าองค์กรไม่ใส่ใจที่จะสร้างบรรยากาศ ปล่อยให้พื้นดินแห้งแล้ง ต่อให้ปลูกต้นไม้เท่าไหร่ก็ไม่งอกงาม นกก็ไม่อยากไม่เข้ามาทำรัง
นอกจากการดึงดูดเหล่าคนเก่งแล้ว การฟูมฟักพนักงานที่มีอยู่ให้มีทักษะมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ เพราะทรัพยากรที่เรามีอยู่ก็มีศักยภาพและอาจกลายเป็น Talent ในอนาคตได้เหมือนกัน ซึ่งวิธีการก็ไม่ต่างจากดึงดูดคนนอกมากนัก เพราะการพัฒนาคนในก็ทำได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเช่นกัน องค์กรต้องกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกท้าทายกับการทำงานและรู้สึกว่ามีเรื่องที่ยังไม่รู้อีกมาก สามารถต่อยอดขึ้นไปได้อีก โดยคนที่เป็นหัวหน้าก็ต้องคุยกับลูกน้องให้เยอะขึ้นและทำความเข้าใจความต้องการของคนในทีมว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ต้องการทำงานแบบไหน อยากพัฒนาตัวเองไปในด้านใด จากนั้นก็ออกแบบแนวทางการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาไปในทิศทางที่อยากจะเก่งขึ้นด้วย
ในเซสชันสุดท้าย คุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ CEO จาก Qgen Consultant ได้มาเจาะลึกแนวทางการทำงานของ HR ว่าในยุคที่โลกของการทำงานเปลี่ยนไป องค์กรควรปรับตัวยังไงดี อย่างที่รู้กันว่าคนในวัย Gen Z หรือกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว ซึ่งหลายบริษัทก็ต้องการดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาในองค์กร แต่ก็มักจะเจอปัญหาว่าคนกลุ่มนี้มีอัตราการลาออกสูง เข้ามาทำงานได้ไม่นานก็ลาออก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร งานแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง ยังหาตัวเองไม่เจอ จึงให้เวลากับแต่ละองค์กรไม่นาน ถ้าทำงานไปได้สักพักหนึ่งแล้วยังรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ งานที่ทำอยู่ไม่มีคุณค่า หรือองค์กรไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ต้องการได้ ก็เลือกที่จะลาออกแล้วไปค้นหาตัวเองต่อ
ปัญหานี้นับว่าเป็นโจทย์ยากที่ฝั่ง HR และองค์กรต้องหาทางแก้ ซึ่งคำแนะนำสำหรับโจทย์นี้คือองค์กรต้องถามตัวเองว่าต้องการคนกลุ่มนี้จริงไหม ถ้าอยากดึงตัวกลุ่มเด็กรุ่นใหม่จริง ๆ ก็ต้องลงทุนกับการสร้างแคมเปญเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มี HR ที่พูดคุยกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่โดยตรงเพื่อช่วยพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง รับฟังว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร มีเป้าหมายแบบไหน งานอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จากนั้นก็เอาฟีดแบ็กที่ได้ไปพูดคุยกับทางองค์กรและปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าองค์กรสามารถช่วยเติมเต็มเป้าหมายได้ การทำงานในองค์กรมีคุณค่าและมีพื้นที่ให้เติบโต พวกเขาก็จะอยากอยู่กับองค์กรต่อเอง
แนวทางการสร้าง Employee Experience หรือประสบการณ์ทำงานที่ดีให้กับพนักงานแบบนี้ไม่ได้ใช้ได้แค่กับเด็กรุ่นใหม่เท่านั้น แต่สามารถปรับใช้กับพนักงานทั้งหมดในองค์กรได้ด้วย เนื่องจากการการรักษาพนักงานเดิมมีต้นทุนน้อยกว่าการสรรหาพนักงานใหม่ องค์กรจึงควรใส่ใจกับการทำความเข้าใจพนักงานแต่ละคนและสร้าง Employee Experience เพื่อช่วยลดอัตราการลาออก ถ้าเราทำให้พนักงานมีประสบการณ์ที่ดีกับการทำงานในองค์กรของเรา พนักงานก็อยากอยู่เราต่อไปนาน ๆ
แม้ประเด็นความท้าทายที่หยิบมาพูดคุยทั้ง 3 เซสชันจะแตกต่างกัน แต่แนวคิดในการรับมือกลับไม่ต่างกัน นั่นคือองค์กรต้องเลิกกำหนดแนวทางการทำงานแบบใดแบบหนึ่งแล้วนำมาใช้กับพนักงานทุกคน เพราะการทำงานแบบ One-size-fits-all นั้นไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้ว ในยุคที่คนทำงานมีคุณลักษณะที่หลากหลาย รวมถึงมีมุมมองและเป้าหมายที่แตกต่างกัน องค์กรต้องรู้จักทำความเข้าใจสิ่งที่พนักงานแต่ละคนเป็นและออกแบบการทำงานให้เหมาะสม ตอบโจทย์ ตรงตามความต้องการของแต่ละคน