พัฒนาพนักงานทั้งองค์กรด้วยการประเมินรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)

22/07/22   |   19.1k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

การประเมินผล (Evaluation) นั้นเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำงาน เพราะช่วยสะท้อนให้พนักงานได้เห็นว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นยังไง มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงหรือสามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งการประเมินนี้จะช่วยรักษามาตรฐานของการทำงานให้เป็นไปตามเป้าที่องค์กรตั้งเอาไว้ แต่การประเมินผลนั้นไม่ได้มีแค่แบบหัวหน้าประเมินลูกน้อง หรือมุ่งเน้นไปที่การวัดผล KPI อย่างที่เราคุ้นชินกันเท่านั้น วันนี้ JobThai จะมาแนะนำให้รู้จักกับการประเมิน 360 องศา (360-degree Feedback) ซึ่งเป็นการประเมินที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงานทั้งองค์กรให้ดียิ่งขึ้น

 

เคล็ดลับทำให้องค์กรของคุณเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

การประเมิน 360 องศาคืออะไร

การประเมิน 360 องศา หรือ 360-degree Feedback คือเครื่องมือหรือวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้พนักงานในองค์กรได้รับรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานของตัวเอง รวมถึงฟีดแบ็กทางด้าน Soft Skills ต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ การจัดการปัญหา ฯลฯ โดยฟีดแบ็กที่ได้รับนั้นจะไม่ได้มาจากหัวหน้างานที่เป็นผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว แต่มาจากเพื่อนร่วมงาน พนักงานต่างแผนกที่ทำงานด้วยกัน พนักงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าและต่ำกว่า รวมถึงตัวพนักงานผู้ถูกประเมินเองก็ได้โอกาสในการประเมินตนเองอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการประเมินแบบรอบทิศ 360 องศาเลยนั่นเอง

 

การประเมิน 360 องศา VS การประเมินผลการปฏิบัติงาน

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการประเมินเหมือนกัน แต่การประเมิน 360 องศา (360-degree Feedback) นั้นไม่เหมือนกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Appraisal) เพราะการประเมินทั้งสองแบบนั้นมีจุดประสงค์ วิธีการ และบริบทที่ต่างกัน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

 
  • การประเมิน 360 องศา มีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานได้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานของตัวเองซึ่งเน้นไปทางด้าน Soft Skills เป็นส่วนใหญ่ และนำฟีดแบ็กที่ได้รับไปพัฒนาปรับปรุงตัวเองต่อไป ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลประเมินที่ตรงไปตรงมาที่สุด ฟีดแบ็กจากพนักงานคนอื่น ๆ ที่ถูกส่งไปให้ผู้ถูกประเมินจึงมักอยู่ในรูปแบบไม่ระบุชื่อ (Anonymous) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของพนักงานภายในองค์กร และให้ผู้ถูกประเมินโฟกัสไปที่การพัฒนาตัวเองจากฟีดแบ็กที่ได้รับ แม้ผลการประเมินจะเป็นแง่บวกหรือลบก็ไม่ได้มีสิ่งตอบแทนหรือบทลงโทษ เป็นการประเมินที่เน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของพนักงานเท่านั้น

 
  • การประเมินผลการปฏิบัติงาน มีจุดประสงค์เพื่อวัดผลการทำงานของพนักงานว่าทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือเปล่า ผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ KPI เป็นยังไง ผ่านเกณฑ์การประเมินไหม โดยการประเมินนี้จะเป็นการประเมินพนักงานโดยตรง ซึ่งแปลว่าพนักงานผู้ถูกประเมินจะรับรู้ว่าใครเป็นผู้ประเมินตนเอง และมีหลักเกณฑ์ในการประเมินยังไง นอกจากนี้การประเมินผลการปฏิบัติงานจะมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และเมื่อประเมินผลเสร็จแล้วก็อาจมีผลตอบแทนหรือบทลงโทษขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างพนักงานและบริษัท เช่น เมื่อสิ้นสุดปีนี้ ถ้าพนักงานสามารถทำผลงานได้เป็นที่น่าพึงพอใจก็จะได้ปรับเงินเดือนขึ้นหรือได้เลื่อนตำแหน่ง

 

รู้จัก Employee Referral Program ระบบสมัครงานที่ช่วยให้องค์กรได้คนตรงใจมากขึ้น

 

ข้อดีของการประเมิน 360 องศา

  • ช่วยให้พนักงานได้รับฟีดแบ็กที่มีหลายมุมมองมากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟีดแบ็กจากมุมมองของหัวหน้างานเพียงมุมเดียวเท่านั้น เพราะลำพังหัวหน้างานแค่คนเดียวก็อาจไม่สามารถฟีดแบ็กลูกน้องในทีมได้ครอบคลุม ครบทุกมิติ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้พนักงานคนอื่นมีส่วนร่วมในการฟีดแบ็กด้วยก็จะช่วยให้การประเมินละเอียดและรอบด้านมากขึ้น

 
  • กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเองในทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานระดับเจ้าหน้าที่จนถึงพนักงานระดับสูง หลังจากได้รับผลการประเมินแล้ว พนักงานทุกคนก็จะได้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง รู้ว่าตัวเองยังขาดทักษะอะไร หรือสามารถต่อยอดทักษะไหนให้ดีกว่าเดิมได้อีก และสามารถนำฟีดแบ็กตรงนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อได้

 
  • เสริมประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทั้งภายในทีมและต่างทีม เพราะในบางครั้ง พนักงานอาจไม่กล้าบอกออกไปตรง ๆ ว่าไม่พอใจการทำงานร่วมกับคนอื่นในส่วนไหน และฝั่งองค์กรก็ไม่ได้มี Review Session ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยหรือหารือกันว่าการทำงานร่วมกันที่ผ่านมามีจุดติดขัดตรงไหนบ้าง การประเมิน 360 องศาจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ให้พนักงานได้ฟีดแบ็กกันในเรื่องนี้ ช่วยให้พนักงานได้รับรู้ถึงปัญหาและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

 
  • ช่วยให้องค์กรจัดการอบรมหรือ Training ที่เหมาะสมกับพนักงานได้ เพราะองค์กรอาจไม่สามารถวิเคราะห์ลงลึกได้ทั้งหมดว่าพนักงานขาดทักษะในส่วนไหนบ้าง การจัดประเมิน 360 องศาจะช่วยให้องค์กรเข้าใจพนักงาน มองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละคนชัดเจนขึ้น และสามารถจัดการอบรมหรือ Training ที่ช่วยเสริมทักษะให้พนักงานได้ตรงจุดมากขึ้น

 
  • สร้าง Feedback Culture หรือวัฒนธรรมการฟีดแบ็กพนักงานแบบตรงไปตรงมาและเท่าเทียม เพราะการประเมินไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่แบบ Top-down หรือการให้พนักงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าประเมินพนักงานที่มีตำแหน่งต่ำกว่าเพียงฝ่ายเดียว แต่พนักงานก็สามารถประเมินคนที่มีระดับตำแหน่งงานสูงกว่าได้เช่นกัน นอกจากนี้การประเมินยังไม่ถูกจำกัดเอาไว้แค่ภายในแผนก เพราะแม้จะอยู่ต่างแผนกกัน แต่ถ้าต้องทำงานร่วมกันก็สามารถประเมินกันข้ามแผนกได้

 

ทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์พนักงานลาออกตามกัน (Turnover Contagion)

 

ข้อเสียของการประเมิน 360 องศา

  • การประเมินใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะต้องรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่ายและหลายบุคคล ยิ่งคนในองค์กรมีเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้เวลานานขึ้นกว่าจะสรุปผลให้พนักงานได้ครบทุกคน

 
  • ผลการประเมินอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งในทางดีและไม่ดี เพราะผู้ประเมินอาจมีอคติหรือความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถูกประเมินอยู่ก่อนแล้ว และเอาความรู้สึกส่วนตัวนี้มาใช้ในการประเมินผลด้วย

 
  • ผู้ประเมินอาจใช้ถ้อยคำรุนแรงในการประเมิน เนื่องจากผลประเมินจะถูกส่งไปให้พนักงานในรูปแบบไม่ระบุชื่อ ทำให้มีโอกาสที่ผู้ประเมินจะฟีดแบ็กอย่างไม่สุภาพหรือไม่รักษาน้ำใจอีกฝ่าย เพราะคิดว่าถึงยังไงพนักงานคนนั้นก็คงไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน

 
  • การขอรายละเอียดฟีดแบ็กเพิ่มเติมทำได้ยาก ถ้าฟีดแบ็กที่ได้รับมีเนื้อหาไม่ชัดเจนหรือขัดกับสิ่งที่ผู้ถูกประเมินรู้สึก เช่น พนักงานประเมินตัวเองว่ามีทักษะแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ในระดับดี ผลประเมินจากคนอื่น ๆ แทบทุกชุดก็ลงความเห็นว่าพนักงานคนนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี แต่มีผลประเมินชุดหนึ่งที่ฟีดแบ็กกลับมาว่าพนักงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้และไม่ได้ให้รายละเอียดเพื่อขยายความ หากพนักงานผู้ถูกประเมินรู้สึกติดใจและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ก็อาจต้องขอความช่วยเหลือจาก HR ที่เป็นตัวกลางในการทำประเมินและมีรายชื่อผู้ประเมินทั้งหมดให้ช่วยประสานเรื่องต่อให้

 
  • การประเมินผลอาจทำให้พนักงานเสียความมั่นใจได้ ในกรณีที่ฟีดแบ็กนั้นออกมาในแง่ลบ และอาจส่งผลให้ Performance ในอนาคตของพนักงานคนนั้นแย่ลงแทนที่จะพัฒนาขึ้น

 

แนะนำขั้นตอนและตัวอย่างการทำประเมิน 360 องศาสำหรับ HR มือใหม่

 

แม้การประเมิน 360 องศาจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วการทำประเมินประเภทนี้ก็ยังได้รับความนิยมอยู่มาก เพราะช่วยให้พนักงานได้รับฟีดแบ็กจากคนอื่น ๆ อย่างครอบคลุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทีม เพื่อนต่างแผนก หัวหน้างาน ผู้จัดการ พนักงานที่มีระดับตำแหน่งงานที่สูงกว่าและต่ำกว่า หรือแม้กระทั่งตัวของพนักงานเอง

เมื่อพนักงานแต่ละคนรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร การทำงานกับคนต่าง ๆ ทั้งในและต่างแผนกยังมีส่วนไหนต้องปรับปรุงอยู่บ้าง ก็จะช่วยให้พัฒนาตัวเองและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด นำไปสู่การพัฒนาองค์กรในภาพรวม เป็นความก้าวหน้าทั้งในระดับบุคคลและองค์กรเลยนั่นเอง

สมัครสมาชิกกับ JobThai ได้ Candidate ที่ใช่ง่าย ๆ คลิกเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

thebalancecareers.comcustominsight.comqualtrics.comqulture.rocksqualtrics.comddiworld.comlinkedin.comindeed.com

tags : hr, human resource, hrd, human resource development, hr advice, evaluation, 360 degree feedback, 360 degree review, การประเมินพนักงาน, การวัดผลพนักงาน, การประเมิน 360 องศา



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม