5 สัญญาณเตือนอาการบ้างาน

อาการบ้างาน หรือ Workaholic ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนทำงานในยุคปัจจุบัน แต่ถึงแม้จะรู้จักกันเป็นอย่างดีคนทำงานหลายคนก็ยังคงประสบกับปัญหาการบ้างานนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพราะรูปแบบการทำงานที่ต้องแข่งขันกัน เวลาที่กระชั้นชิด หรือแม้แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกสิ่งนั้นเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน คนเราจะทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ทำให้คนทำงานต้องปรับตัวและปรับรูปแบบการทำงานอยู่ตลอดเวลา จนทำให้รู้สึกว่าทำงานเท่าไหร่ก็ไม่ทันซักที

 

ผลเสียของอาการบ้างานนั้นมีตั้งแต่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ย่ำแย่เพราะเวลางานเบียดบังเวลาส่วนตัว สุขภาพเสีย บางคนถึงขั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเลยก็มี วันนี้ JobThai จึงรวบรวมสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราเช็กว่ากำลังบ้างานเกินไปหรือเปล่า และถ้ากำลังเจอปัญหานี้จะมีวิธีแก้อย่างไร

 

 

  • มาทำงานเป็นคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้ายของทุกวัน 

  • มุ่งมั่นทำงานโดยไม่ยอมพักทานอาหารกลางวัน แม้เพียงครึ่งชั่วโมง

  • สิ่งต่าง ๆ รอบตัวรวมถึงงานอดิเรกที่เคยมี กลายเป็นทุกสิ่งที่อย่างที่เกี่ยวข้องกับงาน

  • รู้สึกกดดันและอยากทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตาม

  • งานเข้ามาแย่งเวลาส่วนตัวและครอบครัว แม้แต่การไปพักร้อนก็ยังคงต้องกังวลเรื่องงาน

 

 

อยู่ตั้งแต่ออฟฟิศเปิด จนออฟฟิศปิด

การมาถึงตั้งแต่ออฟฟิศเปิดแล้วอยู่ยาวจนออฟฟิศปิดไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะบางคนก็ต้องการทำงานในสภาวะที่เงียบพอจะจดจ่อกับงาน แต่ถ้าเราใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมงการทำงาน ผลลัพธ์ที่ได้มักจะลดประสิทธิภาพลงไป เพราะจริง ๆ แล้วการเพิ่มชั่วโมงทำงานให้มากขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนั่นเอง

 

โต๊ะทำงาน โต๊ะกินข้าว โต๊ะเดียวกัน

ถ้าถึงขั้นที่ไม่เหลือเวลาพักทานข้าวกลางวัน หรือต้องเอาอาหารมากินที่โต๊ะทำงานแล้วล่ะก็เป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังบ้างานมากเกินไปแล้ว เพราะเวลานี้คือเวลาที่เราจะพักสมองได้ดีที่สุด ถ้าไม่มีเวลาเหลือแม้แต่ครึ่งชั่วโมงในการกินอาหาร การเสนอให้บริษัทจ้างพนักงานเข้ามาเพิ่มอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้

 

ไม่มีงานอดิเรกให้ผ่อนคลาย

เราทุกคนต่างก็มีเรื่องที่สนใจต่างกัน บางคนอาจจะสนใจดนตรี บางคนสนใจเรื่องกีฬา หรือบางคนก็ชอบการท่องเที่ยวผจญภัย แต่สำหรับคนที่มีอาการบ้างานนั้น ทุกอย่างในชีวิตจะเกี่ยวข้องกับเรื่องงานเสมอ ถ้าถามว่าชอบทำงานอดิเรกอะไร สิ่งที่เขาตอบมาก็หนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับงานอีกเหมือนเดิม

 

กังวลที่ไม่ได้ทำงาน

คนทั่วไปมักจะใช้เวลาช่วงพักร้อนเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากงานประจำที่ทำ เป็นการไปชาร์จพลังเพื่อให้พร้อมกลับมาลุยต่อกับงาน แต่ถ้าเป็นคนที่บ้างานแล้วล่ะก็ เขาจะรู้สึกว่าการลาพักร้อนไม่ได้จำเป็นอะไรกับชีวิต แถมหลายครั้งก็ยกโน๊ตบุ๊ค พกเอางานไปทำตอนที่พักร้อนด้วยซ้ำ

 

แล้วจะแก้อย่างไร เพื่อไม่ให้บ้างานจนเกินไป

 

พักระหว่างวันบ้าง

ลองลุกออกจากโต๊ะทำงานในช่วงอาหารเที่ยง ออกไปหาร้านนั่งกินอาหารกลางวันกับเพื่อน ๆ ในแผนกดูบ้าง แล้วก็หาเวลาสั้น ๆ สัก 5 – 10 นาทีในช่วงบ่าย พักสมอง เดินผ่อนคลาย หรือจะไปหาขนม จิบกาแฟเพื่อให้สมองแล่น ก็จะช่วยให้ความเครียดและความกดดันลดลงได้แล้ว

 

ปรับมุมมองการทำงาน

อย่าคิดว่าคนที่ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุด หรือใช้วันลาพักร้อนบ่อยจะเป็นคนที่ไม่มุ่งมั่นกับการทำงาน เพราะการไม่ต้องทำงานหนักทุกวันแล้วมีเวลาได้พักสมองบ้างก็น่าจะช่วยให้เรากลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทำสมาธิ

วิธีง่าย ๆ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี การทำสมาธิจะช่วยให้เราผ่อนคลาย พยายามฝึกหายใจให้ช้าลงเพื่อที่สมองและหัวใจของเราจะได้พักไปพร้อมกัน เพราะปกติแล้วคนที่บ้างานจะมีความคิดอยู่ในหัวตลอดเวลา ถ้าเราสลัดมันทิ้งไปได้ในช่วงทำสมาธิก็จะช่วยให้จิตใจของเราสงบขึ้น

 

ไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน

วิธีนี้จะช่วยให้เรามีเวลาอยู่กับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น วิธีการง่าย ๆ ก็คือไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน ปิดโทรศัพท์ ไม่แชทเรื่องงาน งดเช็กอีเมล แค่นี้ก็จะช่วยให้เรารักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้แล้ว

 

ถ้าตอนนี้เรากำลังเครียดและกดดันกับอาการบ้างานที่เริ่มกระทบชีวิตด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับครอบครัว สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ลองปรับพฤติกรรมในชีวิตทีละเล็กทีละน้อย อาจเริ่มจากวิธีที่ง่ายอย่างการพักระหว่างวันหรือทำสมาธิก่อน แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เรากลับมามีชีวิตที่สมดุลและมีความสุขกับการทำงานเพิ่มขึ้น

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา :

inc.com

reberthalf.com

money.usnews.com

tags : คนทำงาน, เคล็ดลับในการทำงาน, career & tips, งาน, การทำงาน, jobthai, เทคนิคสำหรับคนทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม