17 คำถามที่คนสมัครงานควร "ถามนายจ้าง" เมื่อไปสัมภาษณ์งาน

การสัมภาษณ์งานเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่นายจ้างจะสนใจเราหรือไม่ การสัมภาษณ์เปิดโอกาสให้เราและนายจ้างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในระหว่างการสัมภาษณ์ นอกจากนายจ้างจะได้เห็นประสบการณ์ ความสามารถ และความรู้ที่เรามีแล้ว นายจ้างจะได้เห็นถึงทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งต่างๆอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง จะทำให้นายจ้างตัดสินใจ ว่าจะเลือกเราหรือไม่!

 

หลังจากที่นายจ้างสัมภาษณ์เราเรียบร้อยแล้ว เป็นธรรมดาที่ก่อนจะจบบทสนทนา นายจ้างจะถามเราว่า เรามีคำถามอะไรที่จะถามนายจ้างหรือเปล่า ซึ่ง Teri Hockett ผู้ก่อตั้งบริษัท What’s For Work บริษัทที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้าง Community สำหรับผู้หญิงในการวางแผนเส้นทางก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ให้ความเห็นว่า คำถามของเรา ส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อทัศนคติ (Perception) ที่นายจ้างจะมีต่อเรา 

 

Amy Hoover ผู้บริหาร Talent Zoon บริษัทจัดหางานชื่อดัง คิดว่าการไม่ถามคำถามอะไรเลย ทำให้เราดูไม่น่าสนใจในการสัมภาษณ์ แย่ไปกว่านั้น อาจจะทำให้เราดูไม่ฉลาด และดูไม่มีความสนใจจริงๆที่จะร่วมงานกับบริษัท 

 

คำถามที่จะถามนายจ้างนั้นไม่ใช่คำถามอะไรก็ได้ แต่ควรเป็นคำถามที่ผ่านการคิดใคร่ครวญมาเป็นอย่างดี

 

คำถามของเราสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์ได้ แต่ก็ทำให้การสัมภาษณ์นั้นพังได้
ถ้าเราบังเอิญไป ‘ถามสิ่งที่ไม่ควรถาม’ หรือ ‘ถามสิ่งที่นายจ้างได้พูดไปแล้ว’
ดังนั้น คำถามที่เราจะถาม ควรเป็นคำถามที่คิดดีแล้ว ดูฉลาด และน่าสนใจ

Hoover

 

จากบทความของ Academy of Management Journal นายจ้างมักจะมีทัศนคติในแง่ลบ หรือมีอคติ (Bias) กับผู้สัมภาษณ์ที่ถามเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการ (Pays and Benefits) ที่ตัวเองจะได้รับ มากกว่าถามเกี่ยวกับงานที่ตัวเองจะเข้ามาทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรระวัง จริงๆก็ถามได้ แต่ควรถามคำถามอะไรที่แสดงให้นายจ้างเห็นว่า เราสนใจในงานที่สมัครไปจริงๆด้วย และตั้งใจที่จะใช้ความสามารถของเราในการพัฒนาบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วย

 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การเลือกคำถามที่จะถามนายจ้างมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการสัมภาษณ์งานของเรา มาดูกันว่ามีคำถามน่าสนใจอะไรบ้าง ที่เราจะใช้ถามนายจ้าง เพื่อให้การสัมภาษณ์ของเราดูโดดเด่น รวมถึงสามารถเจาะลึกข้อมูลต่างๆของบริษัท ซึ่งจะช่วยเราในการตัดสินใจที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ 

 

1. จากการสัมภาษณ์ของเรา เราได้ตอบคำถามนายจ้างครบถ้วนหรือไม่ 

ก่อนที่เราจะถามคำถามของเราออกไปนั้น ลองถามนายจ้างก่อนว่า จากคำตอบของเราในการสัมภาษณ์นั้น เราได้ให้ข้อมูลที่นายจ้างต้องการครบถ้วนแล้วหรือยัง จากความเห็นของ Bill York ผู้ก่อตั้งบริษัท Tudor Lewis บริษัทจัดหางานของประเทศสหรัฐอเมริกา การถามคำถามนี้จะช่วยให้เราได้ประเมินว่าเราตอบคำถามดีหรือยัง ถ้านายจ้างบอกว่าดีแล้ว ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการสัมภาษณ์งานของเรา หรือถ้าเกิดนายจ้างขอให้เราอธิบายเพิ่มเติมในบางหัวข้อที่เราได้พูดไปแล้ว เราก็จะได้มีโอกาสแก้ตัวเพื่อทำให้ดีกว่าเดิม

 

2. ผู้สมัครแบบไหนที่นายจ้างอยากได้สำหรับตำแหน่งนี้ และเรามีความใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน

Hoover แนะนำให้ถามคำถามนี้ในการสัมภาษณ์ เพราะมันจะสามารถบอกได้เลยว่า คุณสมบัติของเราใช่คุณสมบัติที่นายจ้างมองหาหรือเปล่า และถ้าไม่ใช่ เราจะได้เตรียมมองหางานอื่นๆที่เหมาะกับเรา

 

3. เราจะต้องร่วมงานกับใครบ้าง ในการทำงานของเรา

เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราทำงานร่วมกับใครบ้าง ทำงานให้เจ้านายกี่คน หรือมีลูกน้องกี่คน Vicky Oliver ผู้เขียนหนังสือ 301 Smart Answers to Tough Interview Questions ให้ความเห็นว่า เราควรรู้จักคนที่เราจะร่วมงานด้วย ก่อนที่จะตกลงรับตำแหน่งที่นายจ้างเสนอให้

 

4. เส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) สำหรับตำแหน่งที่เราสมัครงานเป็นอย่างไร

เราควรถามถึง Career Path ของตำแหน่งหรือสายงานนี้ ว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน แล้วมันตรงกับเป้าหมายหรือความคาดหวังที่เราตั้งไว้หรือไม่

 

5. บริษัทคู่แข่งของเราคือใคร และเราจะชนะคู่แข่งได้อย่างไร

แม้คำถามนี้ จะไม่ได้เหมาะกับทุกบริษัทที่เราไปสัมภาษณ์ แต่ในความเห็นของ Peter Harrison ผู้บริหารบริษัท Snagajob บริษัทจัดหางานที่ติดอันดับบริษัทที่น่าทำงานด้วยจาก Fortune Magazine คำถามนี้แสดงถึงทัศนคติของเราว่า เราได้คิดถึงเป้าหมายของบริษัท รวมถึงมองเห็นบทบาทของเรา ที่จะช่วยให้บริษัทไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

 

6. ในการทำงานที่บริษัทให้ประสบความสำเร็จ เราควรมี Hard Skills และ Soft Skills อะไรบ้าง 

ในการทำงาน นอกจาก Hard Skills หรือทักษะความสามารถในการทำงานของเราจะเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้ว Soft Skills หรือทักษะทางด้านอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงความกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน ในความเห็นของ Hoover การได้รู้ว่า ทักษะอะไรบ้างที่บริษัทคาดหวังกับพนักงาน ทำให้เราเห็นถึงค่านิยมองค์กร (Core Value) ที่บริษัทใช้ในการบริหารงาน ทำให้เราได้รู้จักบริษัทมากขึ้น รวมถึงเป็นการประเมินว่าเราเหมาะกับการทำงานที่นี่หรือไม่

 

7. นายจ้างจะนิยาม หรืออธิบายค่านิยมองค์กร (Core Value) ของบริษัทว่าอย่างไร

Hoover ให้ความเห็นว่า การถามถึงค่านิยมองค์กร ทำให้เราได้เห็นภาพกว้างๆว่าบริษัทนี้มีความเชื่อและค่านิยมแบบไหน ในการบริหารธุรกิจ รวมถึงการดูแลพนักงานในบริษัท เช่น บริษัทนี้ให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานมาเป็นอันดับแรก และยังให้ความสำคัญกับชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

 

8. อะไรที่นายจ้างชอบที่สุด ในการทำงานที่บริษัทนี้ 

คำถามนี้จะช่วยสร้างความเป็นกันเอง รวมถึงสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างนายจ้างกับเรา เพราะนายจ้างได้แชร์ความรู้สึกที่มีต่อบริษัทให้เราฟัง นอกจากนี้ เรายังได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัท ผ่านการเล่าเรื่องของคนที่อยู่ในบริษัทจริงๆ 

 

9. ช่วยแนะนำว่าเราควรเข้าหา หรือปรับตัวในการทำงานร่วมกับเจ้านายที่เราจะต้องไปทำงานด้วยอย่างไร

เราควรจะรู้จักลักษณะนิสัย การบริหารทีมของเจ้านายที่เราจะต้องทำงานด้วย ก่อนที่เราจะรับงานนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเจ้านายคนนี้เป็นเจ้านายที่เราอยากร่วมงานด้วยหรือเปล่า เราจะมีโอกาสในการแสดงความสามารถหรือไม่

 

10. บริษัทใช้เวลานานเท่าไหร่ ในการแจ้งผลการสัมภาษณ์ให้เราทราบ 

Hoover ให้ความเห็นว่าคำถามนี้ จะทำให้นายจ้างรู้สึกว่าเรามีความสนใจในตำแหน่งที่สมัคร และอยากได้งานนี้จริงๆ และการที่เราได้รู้ Timeline คร่าวๆ ทำให้เรารู้ว่าเราควรสอบถามผลการสัมภาษณ์จากบริษัทเมื่อไหร่ หรือเมื่อไหร่ที่เราไม่ควรรอแล้ว และเริ่มสมัครงานบริษัทอื่นๆแทน

 

11. อะไรคืออุปสรรค หรือความท้าทายในการทำงานตำแหน่งนี้

อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก ที่จะทำให้เรารู้ว่าต้องเจอกับอะไรเมื่อมารับตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้านายจ้างบอกว่างานนี้ไม่มีอุปสรรคอะไรเลยเราควรพิจารณาแล้วว่า งานนี้จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองหรือเปล่า และมีโอกาสเติบโตมากน้อยแค่ไหน

 

12. ความสำเร็จอะไรบ้าง ที่พนักงานคนก่อนเคยทำไว้  

คำถามนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าบริษัทคาดหวังความสำเร็จแบบไหนจากเรา และบริษัทใช้เกณฑ์อะไรในการวัดความสำเร็จนั้น

 

13. คุณสมบัติอะไรที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราก้าวหน้าในบริษัทนี้ 

คำถามนี้จะทำให้คุณเห็นว่าบริษัทนี้ให้ความสำคัญกับคนที่มีความสามารถแบบไหน เช่น คนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง กล้าคิด กล้าทำ หรือคนที่มีความสามารถในการทำงานหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking skills)

 

14. มีผู้สัมภาษณ์หรือเพื่อนร่วมงานคนไหน ที่เราจะได้พูดคุยหรือทำความรู้จัก ก่อนที่จะรับตำแหน่งนี้ 

Hoover คิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามีโอกาสได้งานนี้หรือเปล่า ถ้าผู้สัมภาษณ์บอกว่ายังมีอีก 4 คนที่เราจะได้สัมภาษณ์ด้วย อาจเป็นการบอกนัยๆว่าบริษัทสนใจเรา และเรามีโอกาสที่จะได้สัมภาษณ์ในรอบถัดไป

 

15. นายจ้างมองบริษัทอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร และตำแหน่งนี้จะมีบทบาทสำคัญยังไงต่อ Vision ของบริษัท

Harrison มองว่าคำถามนี้ทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราเข้าใจภาพใหญ่ขององค์กร (Big Picture) อย่างแท้จริง และเราต้องการจะรู้ว่าเราจะมีบทบาทสำคัญอย่างไร ที่จะช่วยให้องค์กรไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

 

16. บริษัทสนับสนุนและเปิดโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอย่างไรให้กับพนักงาน

คำถามนี้แสดงถึงความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของเรา ทำให้นายจ้างรู้ว่าเราพร้อมที่จะหาความรู้ใหม่ๆ หรือฝึกทักษะใหม่ๆในการทำงาน ในขณะเดียวกัน เราก็จะได้รู้ว่าบริษัทนี้ มีการเปิดโอกาสหรือสนับสนุนเราอย่างไร ในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้

 

17. เราได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท จึงอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่เราอ่านมา

การถามลักษณะนี้ ทำให้นายจ้างเห็นว่าเรามีการเตรียมตัวในการสัมภาษณ์ และทำการบ้านมาเป็นอย่างดี มีการอ่านข่าว และศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท บริษัท Microsoft เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มักจะทดสอบผู้ถูกสัมภาษณ์ว่ารู้จักสินค้าของบริษัทดีแค่ไหน ดังนั้น ถ้าเราสามารถแสดงความคิดเห็น และถามคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าที่บริษัทกำลังวางแผนจะเปิดตัวได้ จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับนายจ้างเป็นอย่างมาก

 

ปรึกษาปัญหาการเปลี่ยนงาน หางานใหม่กับ CareerVisa (Thailand) ฟรีแบบกลุ่มที่ CareerLAB Live Q&A ลงทะเบียนฟรี มีคำถามเรื่องอาชีพปรึกษาด่วน คลิกที่นี่

 

อ้างอิง:

Business Insider

Forbes

Job Hunt.org

Fastcompany

Interestingengineering

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, career visa, content partner, การสัมภาษณ์งาน, สัมภาษณ์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม