เราจำเป็นต้องสนิทกับเพื่อนร่วมงานไหม? มีระยะเท่าไหร่ถึงจะดี?

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เพื่อนร่วมงานก็กลายเป็นกลุ่มคนที่เราต้องพบปะพูดคุยและใช้เวลาร่วมด้วยกว่า 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ทำให้ใครหลายคนมองว่าการผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อเริ่มงานที่ใหม่ก็อยากจะสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานไว ๆ แต่ก็มีคนบางส่วนที่แยกชีวิตที่ทำงานออกจากชีวิตส่วนตัวและมองว่าการมาทำงานก็คือมาทำงาน ไม่ได้มาหาเพื่อน เราไม่จำเป็นต้องสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานก็ได้

 

เมื่อความเห็นแตกเป็นสองทางแบบนี้ก็เกิดเป็นคำถามชวนให้ขบคิดว่าจริง ๆ แล้วเราควรสนิทกับเพื่อนร่วมงานแค่ไหน? ถ้าสนิทมากไปจะมีผลกระทบอะไรกับงานหรือเปล่า? แล้วถ้าเราไม่อยากสนิทกับเพื่อนร่วมงานล่ะ อย่างนี้ถือว่าแปลกไหม? วันนี้ JobThai เลยจะชวนทุกคนมาสำรวจระยะห่างกับคนที่ทำงานว่าสนิทด้วยมากแค่ไหนถึงจะดี

 

ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานที่ใหม่อย่างราบรื่นด้วย 5 เคล็ดลับที่ทำได้ไม่ยาก

 

ข้อดีของการสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน

  • สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน
    หากลองจินตนาการเปรียบเทียบระหว่างออฟฟิศที่พนักงานต่างคนต่างอยู่ นอกจากเรื่องงานแล้วก็ไม่มีการคุยเล่นหยอกล้ออะไรกันเลย กับออฟฟิศที่พนักงานพูดคุยกันอย่างเฮฮาสนิทสนม บรรยากาศครื้นเครง แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมแบบที่สองย่อมช่วยลดความตึงเครียดในที่ทำงาน ทำให้พนักงานรู้สึกสนุกและผ่อนคลายมากกว่า รวมถึงช่วยละลายพฤติกรรมสำหรับพนักงานที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ได้เร็วขึ้นด้วย 

 

  • ทำให้การทำงานในทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เข้าใจตัวตนและนิสัยการทำงาน รวมถึงรู้สึกเชื่อใจกันมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือที่เราเรียกว่า Teamwork ก็ย่อมดีขึ้นตามไปด้วย เพราะการที่เราสนิทสนมกับใครสักคนมากขึ้น เราก็จะกล้าพูด แสดงความคิดเห็นหรือออกไอเดียมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เรากล้าที่จะฟีดแบ็กกันอย่างตรงไปตรงมา นำไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

  • มีคนคอยซัปพอร์ตด้านอารมณ์ในที่ทำงาน
    เวลาที่เรารู้สึกเครียดกับการทำงานหรือต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำงานไม่ทัน งานที่ทำอยู่มีอุปสรรค พรีเซนต์งานไม่ผ่าน โดนหัวหน้าตำหนิ หรือต้องดีลงานกับลูกค้าที่มีปัญหา การที่เรามีใครสักคนที่เราสนิทด้วยในที่ทำงาน สามารถระบายเรื่องต่าง ๆ ด้วยได้ก็ช่วยให้เรามี Emotional Support หรือคนซัปพอร์ตทางด้านอารมณ์ คอยรับฟังและให้กำลังใจ รวมถึงในบางครั้งอาจช่วยให้คำปรึกษาหรือเสนอทางแก้ปัญหาให้กับเราได้ด้วย

 

  • รู้สึกมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
    เราใช้เวลาหนึ่งในสามของวันไปกับทำงาน ดังนั้นการที่เราสนิทกับคนในออฟฟิศก็ช่วยให้เรามีความสุขการทำงานมากขึ้นด้วย อย่างที่เราเห็นกันว่าบริษัทไหนที่พนักงานสนิทสนมกัน มีสังคมการทำงานที่ดี ความสัมพันธ์ของคนในองค์กรดี พนักงานก็มีแนวโน้มจะอยู่กับบริษัทนานขึ้นเพราะแฮปปี้กับคนรอบตัว ต่อให้ต้องทำงานที่เป็น Routine เดิม ๆ น่าเบื่อ หรือตึงเครียด แต่อย่างน้อยก็มีเพื่อนร่วมงานที่อยู่ด้วยแล้วสนิทใจ สามารถคุยเล่นด้วยได้ ช่วยให้เราไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว

 

6 เคล็ดลับสร้างการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน สำหรับพนักงานอายุน้อย

 

ข้อเสียของการสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน

  • มีสมาธิในการทำงานน้อยลง
    แม้การสนิทกับคนในที่ทำงานจะช่วยให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เหมือนกันถ้าเราขาดความเป็นมืออาชีพ แยกเวลาเล่นกับเวลาทำงานไม่ออก เอาแต่จับกลุ่มคุยกันเพลินในเวลาทำงาน ทำให้งานเสร็จไม่ทันกำหนดหรือคุณภาพลดลง นอกจากนี้การเล่นกับเพื่อนร่วมงานมากไปก็อาจรบกวนคนอื่น ๆ ที่ตั้งใจทำงานอยู่ ทำให้เขาเกิดความรำคาญและเสียสมาธิได้

 

  • เกิดอคติหรือความลำเอียงในการทำงานได้ง่าย
    เมื่อเราสนิทสนมกับใครสักคน เราอาจเกิดความลำเอียงและมีมุมมองเข้าข้างคนที่เราสนิทด้วยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจกระทบกับภาพรวมของการทำงานในองค์กรได้ เช่น เพื่อนร่วมทีมที่เราสนิทด้วยมีปัญหาในการทำงานกับคนของแผนกอื่นแล้วมาเล่าให้เราฟัง เราก็อาจเลือกเชื่อเพื่อนของเราโดยไม่ได้มองสถานการณ์ให้รอบด้านและมีอคติกับคนของแผนกนั้นทันที ทำให้เราไม่อยากทำงานร่วมกับอีกฝ่ายจากการฟังเพื่อนของเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าเราได้ฟังความจากอีกฝั่งหนึ่งด้วย เราก็อาจพบว่าสถานการณ์จริงไม่ได้เป็นแบบที่เข้าใจ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสที่เราจะสามารถให้คำปรึกษาและช่วยให้เพื่อนปรับความเข้าใจและกลับมาทำงานร่วมกับทีมนั้นได้อย่างราบรื่น

 

  • ความเกรงใจระหว่างกันอาจลดน้อยลง
    พอเราสนิทกับใครมากขึ้น ความเกรงใจที่มีต่อกันอาจลดน้อยลงเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อเรากับเพื่อนร่วมงานเคารพหรือเกรงใจกันน้อยลง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่ใครคนใดคนหนึ่งสร้างความลำบากใจให้อีกฝ่ายโดยไม่ตั้งใจเพราะคิดว่าไม่เป็นไร เช่น การทักแชตหรือโทรไปสอบถาม ขอความช่วยเหลือเรื่องงานตอนดึก ๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าอีกฝ่ายกำลังพักผ่อนอยู่หรือเปล่า หรือการถามเรื่องส่วนตัวของอีกฝ่ายมากเกินพอดีจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนโดนรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

 

  • สร้างความกดดันในกรณีที่ต้องแข่งขันกันเอง
    ในบางองค์กรที่มีการแข่งขันภายในสูง เช่น บริษัทที่ประเมินผลพนักงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือให้โบนัสจากการทำงาน การที่เราสนิทกับเพื่อนร่วมงานมาก ๆ โดยเฉพาะเพื่อนในแผนกหรือเพื่อนในทีมเดียวกัน ก็อาจทำให้สถานะระหว่างเรากับเขาซับซ้อนขึ้น ต้องเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งไปพร้อม ๆ กัน ทำให้รู้สึกกดดันกับการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการแตกหักในกรณีที่เราหรือเพื่อนร่วมงานของเราได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือได้โบนัสมากกว่า และใครคนใดคนหนึ่งเกิดความอิจฉา พารานอยด์ ไม่สามารถจัดการความรู้สึกของตัวเองได้ สุดท้ายความสัมพันธ์ก็อาจย่ำแย่ลงจนส่งผลกระทบกับการทำงานโดยรวม

 

พฤติกรรมแบบไหนคือฝันร้ายของเพื่อนร่วมงาน

 

เราควรสนิทกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหน?

การสนิทกับเพื่อนร่วมงานนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าสนิทมากไปก็อาจกระทบกับความเป็นส่วนตัว รวมถึงทำให้ความเป็นมืออาชีพในการทำงานลดลง แต่ถ้าสนิทน้อยไป ภาพรวมของการทำงานก็อาจน่าเบื่อ ไม่ค่อยพูดคุยสื่อสารกันและทำให้งานออกมาขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าพูดในแง่ของการทำงาน เราควรรักษาสมดุลของความสนิทกับเพื่อนร่วมงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี สามารถพูดคุยเรื่องงานกันได้แบบไม่ติดขัด ทำโปรเจกต์ร่วมกันได้ ช่วยเหลือและซัปพอร์ตกันได้ จะได้ส่งผลดีกับการทำงานโดยรวม

 

ส่วนในแง่ของความสัมพันธ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยนอกเวลา การแลกเปลี่ยนความชอบส่วนตัวของกันและกัน การนัดไปเที่ยวหรือสังสรรค์หลังเลิกงาน สิ่งเหล่านี้นับเป็นเรื่องปัจเจกที่ขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคน เราต้องทำความเข้าใจว่าตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนยังไง ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในระดับไหน ถ้าเรามีความเป็น Introvert สูง ชอบอยู่คนเดียว ไม่ได้อินการเข้าสังคมและไม่ได้อยากสนิทสนมกับคนที่ออฟฟิศมากมายก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไร เราไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเองเพื่อผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานก็ได้ สนิทกันแบบหลวม ๆ ก็ไม่เป็นไร แค่รักษาความสัมพันธ์ให้สามารถพูดคุยและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นก็พอ

 

แต่ถ้าเราแฮปปี้กับการเข้าสังคม เป็น Extrovert ที่ชอบเฮฮาปาร์ตี้หรือพูดคุยกับคนอื่น ๆ ไม่ได้มองว่าชีวิตส่วนตัวต้องแยกขาดจากการทำงานขนาดนั้น และรู้สึกว่าการผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานก็เหมือนกับการผูกมิตรทั่วไป ดีไม่ดีถ้าคุยกันถูกคอก็อาจได้เพื่อนสนิทเข้ามาในชีวิตอีกคน แบบนี้ก็โอเคเหมือนกัน เราสามารถสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะรักษาความสนิทส่วนตัวตรงนี้ไม่ให้ไปกระทบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ หรือกระทบภาพรวมของการทำงาน

 

4 วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

 

การสนิทสนมกับใครสักคนจำเป็นต้องใช้เวลา สำหรับคนที่อยากผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานให้ซี้กันไว ๆ อาจต้องระวังไม่ให้การเข้าหาของเราไปทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจ เช่น พยายามตื๊อชวนคนอื่นไปกินข้าวหรือปาร์ตี้หลังเลิกงาน ไม่อย่างนั้นความสัมพันธ์อาจแย่ลง แทนที่จะสนิทกันมากขึ้น ก็กลายเป็นอีกฝ่ายอยากตีตัวออกห่างจากเราแทน เช่นเดียวกันสำหรับคนที่อยากรักษาระยะห่างกับเพื่อนร่วมงาน ขีดเส้นแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เราก็ต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็น กิจกรรมไหนที่เราไม่อยากทำก็ไม่จำเป็นต้องฝืนใจตัวเองเพื่อเข้าสังคม บอกเพื่อนร่วมงานไปตรง ๆ ให้เขาเข้าใจ

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งานที่ใช่ได้ที่นี่

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

indeed.comupskilled.edu.authinkmarketingmagazine.compeopledevelopmentmagazine.com

tags : jobthai, career & tips, งาน, ทำงาน, คนทำงาน, เพื่อนที่ทำงาน, ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน, เพื่อนร่วมงาน, ออฟฟิศ, มนุษย์เงินเดือน, พนักงานออฟฟิศ, เคล็ดลับการทำงาน, ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม