สร้าง Networking ในที่ทำงาน หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของผู้นำ

 

  • การสร้าง Networking ในที่ทำงานไม่ใช่แค่ทำความรู้จักกัน แต่ต้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

  • หน้าที่รับผิดชอบของผู้นำนั้นมีจำนวนมาก การทำให้เป้าหมายสำเร็จจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ซึ่งการ Networking จะช่วยให้การประสานงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นและง่ายขึ้น

  • สิ่งที่จะได้จากการสร้าง Networking ก็คือจะทำให้เปิดใจสื่อสารกันมากขึ้น รวมถึงเกิดการยอมรับในความแตกต่าง เคารพและไว้ใจซึ่งกันและกัน

  • การสร้างความสัมพันธ์ให้เป็น Networking นั้นควรเริ่มจากศึกษาตัวเองและผู้อื่นก่อนว่าเราสามารถใช้เรื่องอะไรในการเข้าหาเขาได้บ้าง จากนั้นก็ต้องรับฟังในสิ่งที่ผู้อื่นพูด และทำความเข้าใจหรือให้ความสนใจพวกเขา รวมถึงตระหนักถึงความมีส่วนร่วมของคนที่ทำงานกับเราด้วย

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

กว่าที่คนทำงานคนหนึ่งจะสามารถเดินทางขึ้นมาถึงการเป็นผู้นำของคนในทีมได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะนอกจากจะต้องมีความสามารถทั้งด้านการสื่อสาร ภาวะความเป็นผู้นำ และทักษะในการบริหารที่จำเป็นต่อตำแหน่งนี้อย่างมากแล้ว พวกเขาก็ยังต้องมีทักษะเรื่องการสร้าง Networking อีกด้วย เพราะมันจะช่วยให้การทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ไวขึ้นอีกด้วย 

 

วันนี้ JobThai เลยอยากมาบอกคนทำงานทุกคนว่าการสร้าง Networking นั้นสำคัญและมีประโยชน์สำหรับคนที่เป็นผู้นำยังไง พร้อมแนะนำวิธีสร้าง Networking ในที่ทำงาน

 

6 สิ่งที่ผู้นำที่ดีควรมีนอกเหนือจากทักษะการทำงาน

 

แค่รู้จักชื่อกันยังไม่พอ ต้องรู้จักสร้าง Networking ด้วย

Networking ในที่ทำงานไม่ใช่แค่รู้จักชื่อเพื่อนร่วมงานหรือลูกทีมเพียงผิวเผิน แต่เราต้องสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ดี” ด้วย ถึงจะเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแรงพอที่จะเรียกว่า “Networking” ได้ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นผู้นำ เมื่อตำแหน่งเติบโตขึ้นภาระหน้าที่รับผิดชอบก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้บางครั้งปัญหาที่เรากำลังเผชิญอาจจะหนักกว่าที่เราจะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยตัวคนเดียว เลยจำเป็นต้องมี Networking ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านคอยยื่นมือมาช่วยเหลือทุกครั้งเมื่อเราต้องการ นอกจากนี้ Networking ที่ดีจะช่วยให้การประสานงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น และง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

Networking สร้างอะไรได้บ้าง

  • Networking ช่วยสร้างความไว้ใจ: คนทำงานทุกคนจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้เลยถ้าขาดความไว้ใจซึ่งกันและกัน แต่ Networking นี่แหละที่จะเป็นตัวช่วยผสานช่องว่างเหล่านั้น และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีความเชื่อใจกัน ก็จะสร้างพลังให้กับการทำงานร่วมกันได้ดีกว่า เพราะทั้งสองฝ่ายจะกล้าเสนอแนวคิดของตัวเอง ที่สำคัญคือไม่ต้องคอยระแวดระวังกลัวจะโดนแทงข้างหลังในเรื่องงานด้วย

  • Networking ทำให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกัน: การเคารพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ ไม่ว่าเราจะสนิทกันมากน้อยแค่ไหนก็ตาม และการให้ความเคารพ หรือให้คุณค่ากับความคิดและคำพูดของเขา ก็จะทำให้เราได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นเช่นเดียวกันกับที่เราทำ

  • Networking ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่าง: หลาย ๆ บริบทของสังคมในปัจจุบันต่างก็ยอมรับกับความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไม่ใช่แค่ยอมรับตัวตนและความคิดเห็นของอีกฝ่าย แต่ต้องยอมรับทั้งหมดของคนคนนั้น ทั้งในมุมที่เห็นตรงกันและมุมที่ขัดแย้งกัน

  • Networking ทำให้เปิดใจสื่อสารกันมากขึ้น: การสื่อสารเป็นสิ่งที่เราทำตลอดเวลาในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล การคุยโทรศัพท์ รวมถึงการพูดคุยต่อหน้าด้วย การสร้าง Networking ที่ดีจะช่วยสร้างความสนิทสนม ต่อยอดให้ Networking แข็งแรงมากขึ้น

 

เทคนิคง่าย ๆ ช่วยสร้างความประทับใจในที่ทำงาน

 

ขั้นตอนสร้างความสัมพันธ์ให้เป็น Networking

 

1. ศึกษาตัวเองและผู้อื่น

ก่อนที่จะทำความรู้จักกับใครสักคน เราควรศึกษาตัวเองและอีกฝ่ายว่าเขาเป็นคนยังไงและสามารถใช้เรื่องอะไรในการเข้าหาเขาได้บ้าง อย่างชวนคุยเรื่องออกกำลังกายหากรู้ว่าต่างคนก็ชอบการออกกำลังกายประเภทเดียวกัน หรือถ้าเรามีบุคลิกภายนอกที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตรในสายตาคนอื่น เราอาจจะต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าไปทักทายเขาก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราอยากทำความรู้จักกับเขา นอกจากนี้ก็ควรดูสถานการณ์ที่เราอยากเข้าไปทำความรู้จักด้วย เช่น ถ้าเราเป็นผู้นำที่เพิ่งก้าวเข้าไปดูแลทีมที่คนในทีมได้ทำงานร่วมกันมาแล้วระยะหนึ่ง เราอาจต้องชวนพวกเขาพูดคุยเพื่อดูลักษณะท่าทางของแต่ละคนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานในทีมเป็นยังไง หรือในทีมมีคนที่เป็นเหมือนผู้นำทางความคิดหรือไม่ หากมีการเข้าหาผู้นำทางความคิดก็จะทำให้คนในทีมยอมรับได้ง่ายขึ้น

 

2. ฟังในสิ่งที่ผู้อื่นพูด

การจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ต้องเริ่มจากการเปิดใจยอมรับฟังในสิ่งที่ผู้อื่นพูดเสนอ และจับใจความในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือเรื่องที่มีอิทธิพลต่อเขาจริง ๆ เพื่อแสดงออกว่าเราให้ความสำคัญกับคำพูด หรือความต้องการของเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ก่อตัวเป็นความชื่นชมที่คนอื่นมีต่อตัวเรา

 

3. ทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นทำหรือให้ความสนใจ

ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ดีคือการมองคนอื่นอย่างเข้าใจเสมอ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องของการกระทำหรือความคิดเห็นก็ตาม เพราะเมื่อเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดแล้ว อย่าลืมที่จะพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เพื่อนร่วมงานเลือกทำหรือเลือกเสนอความคิดเห็นด้วยว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพราะเวลาที่เราเห็นช่องโหว่ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาด เราก็จะสามารถบอกเขาได้อย่างคนที่เข้าใจในเรื่องราวนั้นจริง ๆ ไม่ใช่การปฏิเสธแนวคิดของเขาเพียงเพราะเราไม่เคยสัมผัสหรือไม่เคยทำความเข้าใจมาก่อน

 

4. ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของผู้อื่น

ในโลกของการทำงานไม่มีใครที่ทำงานแล้วไม่ต้องการผลตอบแทน ไม่ว่าผลตอบแทนนั้นจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ผลงาน หรือกระทั่งเงินเดือน ดังนั้นเมื่อเราได้เป็นผู้นำที่ต้องทำงานกับผู้คนจำนวนมากในหลากหลายระดับ อย่าลืมให้เครดิตกับผู้ที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จด้วย อาจเป็นการฉลองให้กับทีมงานหลังงานชิ้นใหญ่ผ่านพ้นไป หรือชื่นชมพวกเขาให้ผู้อื่นฟัง สิ่งเหล่านี้จะแสดงให้คนที่ทำงานร่วมกับเราอย่างหนักเห็นว่าการกระทำของพวกเขาได้รับการยอมรับแล้ว

Empathy Skill จะเป็นอย่างไรเมื่อเอาความใส่ใจมาใช้ในการทำงาน

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสให้บริษัทเห็นคุณโดยไม่ต้องส่งใบสมัคร

 

 
JobThai Official Group
Public group · 150,000 members
Join Group
 

 

tags : career & tips, การทำงาน, ผู้นำ, หัวหน้า, เคล็ดลับการทำงาน, การสร้าง networking, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม