รู้ไว้ไม่โดนเอาเปรียบ 8 กฎหมายแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างต้องรู้

 

  • การมีกฎหมายแรงงานเป็นการสร้างกรอบที่ชัดเจนให้กับนายจ้างและลูกจ้างได้เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน
  • รวมกฎหมายแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างต้องรู้ เพื่อป้องกันการทำสัญญาที่มีเงื่อนไขขัดต่อกฎหมายแรงงาน
     

 

ในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อพูดถึงรายละเอียดในสัญญาการจ้างงาน คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจไปที่เรื่องของเงินเดือนในการว่าจ้างเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับรายละเอียดส่วนอื่นในการทำสัญญาจ้างงานเท่าไหร่นัก เช่น เรื่องของวันหยุดประจำปี และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ต้องสอดคคล้องไปกับกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ทั้งฝั่งของนายจ้าง และลูกจ้างที่ต้องรู้ทั้งสิ้น วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกฎหมายแรงงานทั้ง 8 ข้อ ที่คนทำงาน และคนจ้างงานต้องรู้อย่างละเอียด 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

ความสำคัญของกฎหมายสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง

การมีกฎหมายแรงงานเป็นการสร้างกรอบที่ชัดเจนให้กับนายจ้างและลูกจ้างได้เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ในการจ้างงาน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองลูกจ้างเพียงเท่านั้น แต่ต้องมีความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย 

ปัญหาที่พบบ่อยระหว่างผู้จ้างและคนเป็นลูกจ้าง มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิ์ในการใช้วันลา ค่าตอบแทน เวลาการทำงาน และเงินชดเชยในกรณีเลิกจ้าง ซึ่งกลายเป็นประเด็นในการทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน จนเกิดการถกเถียง หรือฟ้องร้องกันเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง 

 

 

รวมกฎหมายแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างต้องรู้ 

ก่อนการเซ็นสัญญาจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของนายจ้างหรือจะลูกจ้างเองก็ตาม การทำความเข้าใจในข้อกฎหมายแรงงานให้ละเอียดอีกครั้ง ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันการทำผิดตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นในสัญญา หรือมีเงื่อนไขที่ขัดต่อกฎหมายแรงงานระบุอยู่ในสัญญา ส่วนข้อกฎหมายที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องรู้ มีอะไรบ้าง เราจะมาไล่เรียงกันไปทีละข้อพร้อม ๆ กัน

 

ระยะเวลาทำงาน และเวลาพักระหว่างวัน

ชั่วโมงการทำงานและเวลาพักระหว่างวัน เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดในหลาย ๆ องค์กร ไม่เวลาจะเป็นการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างบ้าง หรือทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้พัก โดยกฎหมายแรงงาน หรือเวลาทำงานที่ถูกบังคับใช้ จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทงาน ดังนี้ 

  • งานทั่วไป: เป็นประเภทการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต โดยมีข้อกำหนดให้ทำที่ 8 ชม./วัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ 

  • งานอันตราย: เป็นประเภทงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงาน เช่น งานเชื่อมโลหะ งานที่ต้องทำใต้ดิน งานที่ต้องใช้เครื่องจักร หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี จะถูกกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์  

 

ในส่วนของเวลาพัก หากเป็นช่วงระหว่างการทำงาน จะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. หรืออาจจะแบ่งการพักเป็นช่วง ๆ ได้เช่นกัน แต่ก็ต้องไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน  ส่วนในกรณีที่ต้องทำงานล่วงเวลาจากปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. จะต้องมีการพักก่อนเริ่มงานเป็นอย่างน้อย 20 นาที


วันหยุดระหว่างสัปดาห์ที่ลูกจ้างควรได้

นอกจากชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายแรงงานมีกำหนดไว้ วันหยุดในระหว่างสัปดาห์ รวมไปถึงวันหยุดตามประเพณี และการลาพักร้อน ก็มีกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานด้วยเช่นกัน แบ่งได้ดังนี้ 

  • วันหยุดประจำสัปดาห์: จะต้องมีไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ และต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน แต่หากเป็นสายงานโรงแรม งานประมง งานในป่า งานดับเพลิง หรืองานในที่ทุรกันดาร นายจ้างและลูกจ้างจะต้องตกลงกันล่วงหน้า ในการสะสมวันหยุดไปใช้ในช่วงอื่น แต่ต้องไม่เกิน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

  • วันหยุดตามประเพณี: จะต้องมีไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยจะมีวันแรงงานแห่งชาติรวมอยู่ด้วย และต้องพิจารณาร่วมกับวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือวันหยุดตามประเพณีต่าง ๆ ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ทำการหยุดชดเชยในวันทำงานถัดไปแทน แต่หากเป็นงานที่เกี่ยวกับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร และอื่น ๆ อาจจะตกลงวันหยุดอื่นเพื่อชดเชยแทน หรือจ่ายค่าทำงานเพื่อชดเชยแทนการหยุดได้ 

  • วันหยุดพักผ่อนประจำปี: จะต้องไม่น้อยกว่า 6 วัน/ปี สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถตกลงกับนายจ้างล่วงหน้า ในการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อนำไปใช้ร่วมกับปีถัดไปได้

 
ข้อกำหนดการทำงานล่วงเวลาหรือวันหยุด

การทำงานล่วงเวลา หรือการทำงานในวันหยุด ไม่ถือเป็นการทำผิดกฎหมายแรงงาน ในกรณีที่เกิดการยินยอมจากทางฝั่งลูกจ้าง โดยจะมีรายละเอียดกำหนดไว้ ดังนี้

  • ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างในทุกครั้งที่ต้องทำงานล่วงเวลา

  • เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ถ้าหยุดจะเกิดความเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานเร่งด่วนฉุกเฉิน

  • เป็นธุรกิจที่ต้องเปิดให้บริการในวันหยุดเป็นประจำ อย่างเช่น กิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านอาหาร สถานพยาบาล และอื่น ๆ 

  • ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด จะต้องรวมแล้วไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์ 


การใช้สิทธิ์ลาตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด 

ในส่วนของการใช้สิทธิ์ลา เป็นเรื่องที่หลายคนยังรู้สึกสับสนว่าแบบไหนใช้ได้หรือแบบไหนใช้ไม่ได้บ้าง เพราะสิทธิ์การลาแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างในด้านข้อกฎหมายในการคุ้มครองเช่นกัน ซึ่งแบ่งได้ดังนี้ 

  • วันลาป่วย: ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเกิน 3 วันขึ้นไป จะต้องมีใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลในการยืนยันอาการ โดยตามกฎหมายแรงงาน บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ถ้ามีการลาป่วยเกินกว่านั้น บริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างในการทำงานให้ 

  • วันลากิจ: ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิ์ลาตามความจำเป็น โดยสามารถแจ้งเรื่องไว้ล่วงหน้า หรือส่งใบลาย้อนหลังได้ และต้องได้รับค่าจ้างในการทำงานตามปกติที่ไม่เกิน 3 วัน

  • วันลาคลอดบุตร: ลูกจ้างหญิงสามารถใช้วันลาในการคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยจะนับรวมทั้งวันฝากครรภ์ วันตรวจครรภ์ วันคลอด และวันหยุดพักร้อนประจำปี รวมไปถึงวันหยุดตามประเพณีร่วมด้วย  ซึ่งทางฝั่งนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างเทียบเท่ากับอัตราล่าสุดที่จ่าย และจ่ายไม่เกิน 45 วัน 

  • วันลาทำหมัน: ลูกจ้างสามารถขอสิทธิ์ลาได้ตามการรักษาที่เกิดขึ้นจริง ตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น โดยจะต้องมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ โดยไม่มีสิทธิ์ในการหักเงิน 

  • วันลารับราชการทหาร: ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิ์ลาตามจำนวนวันจริงที่ทางการทหารเรียกตัวไป แต่บริษัทจะจ่ายค่าจ้างในการลาที่ไม่เกิน 60 วันต่อปี 
     

4+3 ประเภทวันลาที่คนทำงานควรรู้


ค่าตอบแทนต้องได้รับเป็นเงินเท่านั้น

ค่าตอบแทนในการจ้างงานตามกฎหมายแรงงานจะต้องเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถแทนด้วยอย่างอื่นได้ หากเป็นการทำงานล่วงเวลาชั่วโมงการทำงานปกติ จะต้องจ่ายค่าจ้างแยกเป็นรายชั่วโมง ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงที่หารจากเงินเดือน และต้องไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โดยหารจากเงินเดือนเช่นกัน


ค่าชดเชยในกรณีถูกเลิกจ้าง

เงินค่าชดเชยในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันบ่อย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในการได้รับเงินชดเชยของลูกจ้าง


กรณีที่ลูกจ้างไม่มีความผิด

ในกรณีแรก หากลูกจ้างโดนยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่มีความผิด เงินชดเชยที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานกับองค์กรนั้น ซึ่งแบ่งได้ตามนี้

  • ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 30 วัน

  • ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 90 วัน

  • ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 180 วัน

  • ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 240 วัน

  • ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 300 วัน

  • ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราจ้างสุดท้ายที่ 400 วัน

 

สรุปวิธีลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ง่าย ๆ เหมือนจับมือทำ


 

กรณีที่นายจ้างยุบหน่วยงาน

ในกรณีที่ถูกยุบหน่วยงาน นายจ้างต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยการเปลี่ยนแปลงมาใช้เครื่องจักรทำงานแทน และมีเหตุต้องลดจำนวนพนักงานลง รวมถึงมีการปรับลดขนาดองค์กรหรือหน่วยงาน นายจ้างจะต้องแจ้งถึงเหตุผลของการเลิกจ้าง ให้แก่ลูกจ้าง และพนักงานตรวจสอบแรงงานไม่น้อยกว่า 60 วัน 

หากเป็นการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ดังนี้

  • ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชยพิเศษที่เพิ่มขึ้นจากปกติ โดยจะต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้าย ต่อการทำงานครบ 1 ปี สำหรับลูกจ้างที่ได้รับเงินค่าจ้างตามผลงานโดยการคำนวณเป็นหน่วย 

  • เงินค่าชดเชยพิเศษ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่ 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย แต่หากเป็นลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย รวมแล้วต้องไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่ 360 วันเช่นกัน

  • ในกรณีที่ระยะเวลาการทำงานนั้นมากกว่า 180 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ให้ทำการปัดเศษเป็นการทำงานครบ 1 ปี เพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากเงินค่าชดเชยพิเศษนี้

หากไม่มีการแจ้งล่วงหน้าตามข้อกำหนด นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษเพิ่มเติมแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 60 วัน ตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย

 

กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการและมีผลต่อการใช้ชีวิตของลูกจ้าง      

อีกกรณีที่อาจจะไม่ได้พบเห็นได้บ่อย คือ การย้ายสถานประกอบการของนายจ้าง ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปทำงานของลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายแรงงานก็ระบุไว้ในส่วนนี้ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้

  • หากนายจ้างมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนทำการย้าย และลูกจ้างไม่ประสงค์ที่จะย้ายไปทำงานด้วย ทางลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจะยังคงได้รับเงินชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างชดเชยตามมาตรา 118 เหมือนการถูกบอกเลิกจ้าง

  • หากนายจ้างไม่แจ้งให้กับทางลูกจ้างทราบล่วงหน้า 30 วัน ทางนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษเพิ่มให้กับลูกจ้าง เพื่อแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราจ้างสุดท้าย 30 วัน 

 

เงื่อนไขการลาออกจากงานสำหรับลูกจ้าง

การที่พนักงานลาออกจากงาน ตามข้อกฎหมายการคุ้มครองจาก พ.ร.บ. แรงงาน จะสิ้นสุดการเป็นพนักงานทันทีตามวันที่ที่พนักงานระบุในเอกสารแจ้งลาออกว่าจะเป็นการทำงานวันสุดท้าย หรือตามระยะเวลาของสัญญาจ้างที่ทำกับทางผู้ว่าจ้าง แต่ในทางปฏิบัติเพื่อเป็นการแสดงมารยาท ทางนายจ้างมักจะแจ้งเป็นการส่วนตัวล่วงหน้าก่อนการรับเข้าทำงานให้กับทางลูกจ้างทราบ ว่าควรแจ้งกับทางบริษัทล่วงหน้าเป็นอย่างน้อย 30 วัน เพื่อใช้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวในการหาพนักงานมาทดแทนตำแหน่งที่ขาด

 

สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ : แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

 

เงื่อนไขการทำงานแบบ Work from Home ตามราชกิจจานุเบกษา

สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผ่านมา ทำให้รูปแบบของการทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ทำงานจากบ้านมากขึ้น ทางกรมแรงงานจึงเพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ที่สามารถตกลงให้ลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ประกอบการ ด้วยการนำกลับไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้างได้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีสิทธิเทียบเท่ากับการทำงานในสถานประกอบการทุกประการ 
และเมื่อสิ้นสุดเวลาการทำงาน ทางลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อใด ๆ จากทางนายจ้าง เพราะถือว่าเป็นเวลาส่วนตัวที่ไม่ข้องเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน

กฎหมายแรงงานเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง การทำความเข้าใจถึงกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองสิทธิจึงเป็นเรื่องจำเป็น ใครที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว และกำลังมองหาการร่วมงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์การทำงานอยู่ สมัครผ่าน JobThai ได้ทันทีเลย

 

รวม List ตำแหน่งงาน Work from Home/Hybrid สมัครเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

 

ที่มา:

กระทรวงยุติธรรม

กระทรวงแรงงาน

ราชกิจจานุเบกษา

thaipbs.or.th 

sanook.com

tidlor.com

tags : กฎหมายแรงงาน, jobthai, คนทำงาน, career & tips, คนทำงาน, การทำงาน, สิทธิของคนทำงาน, การลาออก, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, การเปลี่ยนสายงาน, รายงานตัวว่างงาน, ลงทะเบียนว่างงาน, ว่างงาน, เช็คสิทธิประกันสังคม, ประกันสังคม, จบใหม่ต้องรู้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม