ระหว่าง Generalist ที่รู้กว้าง กับ Specialist ที่รู้ลึก ใครไปได้ไกลกว่ากันในการทำงาน

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หลาย ๆ คนอาจเคยสงสัยว่าระหว่างคนที่เก่งเชิงกว้าง รู้ไม่ถึงรายละเอียดลึก ๆ แต่รู้รอบหลายเรื่อง กับคนที่เก่งเชิงลึก ซึ่งแม้จะรู้แค่ไม่กี่เรื่อง แต่ก็เชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองรู้ทุกซอกทุกมุม คนเก่งแบบไหนถึงจะดีและไปได้ไกลในโลกของการทำงานมากกว่า จะได้ตัดสินใจถูกว่าควรอัปสกิลตัวเองในเชิงกว้างหรือเชิงลึก ในบทความนี้ JobThai จึงขอพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ ‘Generalist’ และ ‘Specialist’ คนเก่งสองประเภทที่มีข้อดีข้อเสียต่างกัน และส่องดูบทบาทในการทำงานของทั้งคู่ว่าใครมีความสำคัญต่อองค์กรในแง่ไหนบ้าง

 

Soft Skills สำคัญที่องค์กรมองหาจากคนทำงาน

 

Generalist และ Specialist คืออะไร

  • Generalist คือคนที่มีความรู้และความสามารถรอบด้าน มีความสนใจกว้างขวาง เข้าใจและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญในสิ่งต่าง ๆ ที่รู้อย่างลึกซึ้ง หรือที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า ‘เก่งแบบเป็ด’ นั่นเอง

  • Specialist คือคนที่มีความรู้ในหัวข้อเฉพาะทางอย่างลึกซึ้ง มีทักษะและความชำนาญแบบเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรียกได้ว่าหาก Generalist เก่งเชิงกว้าง Specialist ก็คือคนที่เก่งเชิงลึก

 

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็อาจยกตัวอย่างคนสองประเภทนี้เป็นแพทย์ทั่วไปที่รักษาโรคได้หลากหลาย กับแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคใดโรคหนึ่งเป็นพิเศษ, เจ้าหน้าที่การตลาด (Marketing Officer) ที่วางกลยุทธ์ คิดแผนการตลาดและแคมเปญทั่ว ๆ ไปในภาพรวม กับคนที่ยิงแอดโฆษณา (Ad Optimizer) ที่เชี่ยวชาญการทำการตลาดด้วยโฆษณาโดยเฉพาะ หรือร้านอาหารตามสั่งที่ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้หลากหลายเมนู กับร้านอาหารที่ขายแค่เมนูใดเมนูหนึ่ง แต่ชำนาญในการทำเมนูนั้นเป็นพิเศษ มีเคล็ดลับในการทำเมนูนั้นให้เป็นเอกลักษณ์และสามารถปรับแต่งเมนูนั้นออกมาได้เป็นเมนูแยกย่อยอีกหลายอย่าง

 

ข้อดีและข้อเสียของ Generalist

ข้อดี

  • มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง สามารถย้ายไปทำตำแหน่งอื่น หรือเปลี่ยนไปทำสายงานอื่นได้คล่องตัวกว่า Specialist เพราะมีทักษะติดตัวที่หลากหลาย สามารถใช้ความรู้และความสามารถที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานใหม่ได้

  • มองเห็นภาพรวมในการทำงานได้ดี เพราะเข้าใจกลไกการดำเนินงาน ความสัมพันธ์และจุดเชื่อมโยงของแต่ละฝ่ายในองค์กร หากทำแบบนี้จะกระทบกับแผนกนั้น หากเลือกแบบนั้นจะเกิดอุปสรรคกับทีมนี้ เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถคิดหาทางออกที่เวิร์กกับทุกคนได้

  • เติบโตได้ดีในสาย Management เพราะการทำงานในสายบริหารนั้นจำเป็นต้องทำงานกับคนหมู่มาก เน้นทักษะการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในองค์รวมมากกว่าความรู้เจาะจงในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง การเป็น Generalist ที่เก่งในการมองภาพรวมจึงช่วยส่งเสริมให้เติบโตไปในเส้นทางนี้ได้ดี

 

ข้อเสีย

  • ขาดความมั่นคงในการทำงาน เพราะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือความสามารถพิเศษที่เป็นจุดแข็งเฉพาะตัวของตนเอง อาจถูกมองว่า Value น้อยกว่า Specialist และสามารถหาคนอื่นมาทำแทนที่ได้

  • อาจวิเคราะห์ปัญหาได้ไม่ได้ถึงราก เพราะไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ลึกซึ้งมากพอ ทำให้อาจมองข้ามรายละเอียดที่สำคัญไป นอกจากนี้หากได้รับโปรเจกต์ที่มีความเฉพาะทาง Generalist ก็ยังจำเป็นต้องมี Assistant หรือผู้ช่วยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น ๆ คอยให้คำแนะนำอยู่ด้วย

  • อาจเหนื่อยล้าจากการรับหลายบทบาทในการทำงาน ในกรณีที่ต้องรับภาระหน้าที่จำนวนมากพร้อมกัน และนำไปสู่อาการ Burnout ได้ หรืออาจเกิดความผิดพลาดในการทำงานหากบริหารจัดการไม่ดี

 

ต่อยอดทักษะที่มีไปสายงานไหนได้บ้าง หากไม่อยากทำงานสายที่จบมา Part 1: Hard Skills

 

ข้อดีและข้อเสียของ Specialist

ข้อดี

  • คู่แข่งน้อยกว่า คนทำงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้งนั้นหาได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้นแน่นอนว่าเมื่อตัดสินใจศึกษาสิ่งใดแบบลงลึก จำนวนคู่แข่งในการสมัครงานก็ยิ่งน้อยลงไปด้วย ทำให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น และยิ่งมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ศาสตร์นั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นที่หมายตาและต้องการตัวจากองค์กรต่าง ๆ ขึ้นอีกด้วย

  • มีโอกาสได้เงินเดือนสูงขึ้น ในกรณีที่เป็น Specialist ในสายที่มีความต้องการแรงงานมาก และจำนวนแรงงานมีน้อยกว่าความต้องการ เช่น สายไอที ก็ทำให้เราสามารถเรียกเงินเดือนได้สูงกว่าเดิม

  • มองเห็นโครงสร้างในเชิงลึกได้ดี ต่างจาก Generalist ที่เก่งในการมองภาพรวม Specialist นั้นมักจะเข้าใจและมองเห็นรากฐานของปัญหาได้ชัดกว่าเพราะมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้สามารถเสนอทางแก้ไขที่ตรงจุดได้

 

ข้อเสีย

  • ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และเก็บประสบการณ์มาก กว่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นต้องอาศัยเวลาในการศึกษาและฝึกฝนทักษะ ทำให้ในระยะแรกอาจก้าวหน้าช้ากว่า Generalist

  • มีความเสี่ยงที่ความเชี่ยวชาญของตัวเองจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคต โดยเฉพาะสายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะนวัตกรรมก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ มี Tools ใหม่ ๆ ออกมาให้ใช้งานมากมาย แพลตฟอร์มต่าง ๆ เองก็พัฒนาขึ้นทุกวัน สิ่งที่เคยเป็นเรื่องใหม่ในปัจจุบัน วันหน้าอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคนสนใจหรือไม่จำเป็นต่อการทำงานอีก หากสิ่งที่เชี่ยวชาญกลายเป็นสิ่งล้าสมัยขึ้นมา Specialist ก็อาจตกงานได้เช่นกัน

  • มีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อย เพราะสกิลและความรู้ในการทำงานไม่ค่อยหลากหลาย ทำให้การย้ายงานหรือเปลี่ยนสายงานไม่คล่องตัวเท่า Generalist

 

เพราะทุกคนมีความพิเศษ ตรวจสอบทักษะและความฉลาด 9 ด้านในตัวเอง

 

Generalist กับ Specialist ใครเป็นที่ต้องการในการทำงานมากกว่า

มาถึงคำถามที่ว่าหากเปรียบเทียบคนเก่งเชิงกว้างกับคนเก่งเชิงลึก เป็นคนเก่งแบบไหนดีกว่ากัน ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ หลาย ๆ คนอาจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อให้มีจุดแข็งโดดเด่นขึ้นมา กลายเป็น Specialist ที่เก่งในเรื่องเฉพาะเจาะจงไปเลย และมองว่าการ ‘เก่งแบบเป็ด’ หรือคนประเภท Generalist นั้นด้อยกว่า เพราะแม้จะทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ทำได้แค่พอประมาณ ไม่ได้เก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจนเป็นพิเศษ

 

แต่ในช่วงหลายปีมาที่ผ่านมา มีบริษัท Start-up เกิดใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้จำนวนคนของแต่ละทีมในองค์กรนั้นค่อนข้างน้อย และเน้นการทำงานแบบหนึ่งคนทำหลายบทบาท ดังนั้นในการรับสมัครพนักงาน บริษัท Start-up จึงมักมองหาคนที่มีความสามารถรอบด้าน (All-rounder) มีทักษะหลากหลาย สามารถโยกย้ายไปทำงานได้หลายประเภทมากกว่าคนที่เก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อประหยัดต้นทุนและทรัพยากรของบริษัท เพราะการจ้าง Specialist ที่มีความเชี่ยวชาญนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งความยืดหยุ่นในการโยกย้ายตำแหน่งงานของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย หากบริษัทต้องการเปลี่ยนแนวทางการทำงานและปรับโครงสร้างขององค์กรใหม่ คนที่มีคุณลักษณะแบบ Generalist ย่อมสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ได้ดีกว่า ดังนั้นในสายตาของบริษัท Start-up กลุ่ม Generalist จึงถูกมองว่าตอบโจทย์และเริ่มกลายเป็นที่ต้องการในองค์กรมากขึ้น

 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น Generalist หรือ Specialist ต่างก็มีความสำคัญในโลกแห่งการทำงานปัจจุบันและมีที่ทางเป็นของตัวเอง อย่างที่บอกไปว่าแม้ Generalist จะทำได้หลายอย่าง สามารถดำเนินงานทั่วไปได้ดี แต่เมื่อเกิดปัญหาที่มีความซับซ้อนเฉพาะทาง หรือบริษัทต้องการต่อยอดธุรกิจแบบเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง Generalist ก็อาจไม่ตอบโจทย์และต้องส่งไม้ต่อให้เป็นหน้าที่ของ Specialist ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ แทน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าการที่เราเป็นอย่างหนึ่งจะทำให้เสียเปรียบกว่าการเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนทั้งสองประเภทเป็นที่ต้องการในโอกาสและสถานการณ์ที่ต่างกัน

 

5 เรื่องที่คนอยากประสบความสำเร็จต้องรู้

 

Generalist VS Specialist ตัดสินใจยังไงว่าควรเลือกเดินทางไหน

หากคนทั้งสองประเภทต่างก็มีความจำเป็นกับองค์กร แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าควรเลือกเดินทางไหน หรือพัฒนาตนเองยังไง สิ่งสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจคือเราต้องโฟกัสว่า Career Path ที่เราวางไว้เป็นแบบไหน เราอยากก้าวหน้าไปในทิศทางใด หากต้องการเติบโตไปในสายบริหารจัดการ เป็น Manager หรือ Team Lead ที่ต้องรู้กระบวนการการทำงานของแต่ละฝ่ายในองค์กร สามารถมองสถานการณ์ได้รอบด้าน วางแผนและควบคุมทิศทางของทีมให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ การเป็น Generalist ก็อาจช่วยให้ได้เปรียบกับการก้าวไปในเส้นทางสายนี้มากกว่า เพราะทักษะเชิงกว้างที่สั่งสมมาย่อมมีส่วนช่วยให้เข้าใจภาพรวมของการทำงานมากขึ้น

 

แต่หากเราต้องการเติบโตไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เจาะจงไปเลย อยากเป็น Consultant หรือ Analyst ที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะทางและให้คำแนะนำกับองค์กร ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในแง่มุมที่เราชำนาญ อยากรับหน้าที่เป็น Marketer ที่คอยวางกลยุทธ์ด้วยเทคนิคเฉพาะด้านให้กับบริษัท เช่น การใช้ SEO การยิงแอด หรือการใช้ KOL หรืออยากเป็น Developer ที่ถนัดในการใช้ Coding แบบใดแบบหนึ่งเป็นพิเศษ การมุ่งหน้าศึกษาและเก็บประสบการณ์เฉพาะทางแบบ Specialist ก็อาจเป็นคำตอบสำหรับคนที่มีเป้าหมายเช่นนี้

 

5 ขั้นตอนปรับ Mindset สำหรับคนทำงานที่อยากพัฒนาตัวเอง

 

สุดท้ายแล้วทั้ง Generalist และ Specialist ต่างก็มีความสำคัญกับองค์กรทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานการณ์ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลหากพบว่าตัวเองเก่งเชิงกว้าง มีทักษะรอบด้านแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญลึกซึ้ง หรือเป็นคนที่เก่งเชิงลึก แม้จะชำนาญในเรื่องที่สนใจ แต่อาจไม่มีทักษะในด้านอื่น ๆ มากเท่าไหร่นัก เพราะทั้งสองประเภทล้วนแล้วแต่มีที่ทางเป็นของตัวเอง หากเราตั้งเป้าหมายและฝึกฝนทักษะในแบบที่เหมาะสมกับ Career Path ที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น Generalist หรือ Specialist ก็ไปได้ไกลทั้งคู่แน่นอน

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

ที่มา:

indeed.comcleverism.comenamix.combeyourcyber.comnonprofitpro.comforbes.comideou.cominnovationmanagement.sehbr.orggreatergood.berkeley.edulinkedin.comlinkedin.comtechsauce.cocreativetalklive.com

tags : career & tips, jobthai, งาน, คนทำงาน, generalist, เคล็ดลับการทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, specialist, การพัฒนาตนเอง, การพัฒนาตัวเอง



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม