ผิดไหมถ้าอยากลาออกในช่วงทดลองงาน

 

  • การทดลองงานหรือ Probation มีไว้เพื่อให้บริษัทประเมินทักษะและความสามารถของเรา ในขณะเดียวกันเราก็จะได้ประเมินการทำงานที่นี่ด้วยว่าเหมาะกับเราไหม

  • เมื่อบริษัทไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เราควรพิจารณาสาเหตุต่าง ๆ ให้ดีก่อน และถามกับตัวเองว่าเราสามารถมองข้ามมันไปได้ไหม หรืออาจมีวิธีแก้ไขยังไงบ้างเพื่อให้เรายังสามารถทำงานในองค์กรนี้

  • การลาออกอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิตวัยทำงาน ทำให้บางครั้งการลาออกไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทำงานเลย จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลาออก

  • ไม่ใช่เรื่องผิดหากเราต้องการออกระหว่างช่วงทดลองงาน เพียงแต่เราต้องจัดการรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถูกต้องก่อนจะโบกมือลาบริษัทและคนที่รับเราเข้ามาทำงาน โดยการแจ้งล่วงหน้าอย่างตรงไปตรงมา และเคลียร์งานให้เรียบร้อย

  • การลาออกในระยะทดลองงานอาจมีผลและอาจไม่มีผลต่อการสมัครงานครั้งใหม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลในการออกจากที่เก่าของเราและวิจารณญาณของผู้สัมภาษณ์

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

กว่าจะผ่านด่านการส่งเรซูเม่และการสัมภาษณ์งานจนเข้ามาทำงานที่บริษัทสักที่หนึ่งได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ยิ่งหางานยากเข้าไปอีก แต่พอได้ลองเข้าไปทำงานจริงกลับมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง ทั้งเนื้องาน ความกดดัน เพื่อนร่วมงาน จนไปถึงหัวหน้า จะลาออกเลยดีมั้ย แล้วจะผิดอะไรหรือเปล่า? คำถามนี้คงเป็นคำถามที่อยู่ในหัวคนทำงานหลายคน 

 

ไม่ว่าภาพลักษณ์ภายนอกของบริษัทจะดีแค่ไหน แต่ก็คงไม่มีใครรู้ว่าดีจริงมั้ยจนกว่าจะได้เข้าไปร่วมงาน และเมื่อไม่เป็นอย่างที่หวังจนอยากลาออก ควรจะตัดสินใจยังไงดี JobThai จะมาไขข้อสงสัยกันว่าการลาออกในช่วงทดลองงาน “ผิดมั้ย”

 

ทำยังไงถ้างานใหม่ไม่ได้เป็นตามคาด

 

ทำความรู้จัก “Probation หรือ การทดลองงาน”

การทดลองงานหรือ Probation มีความหมายตรงตัวเลยก็คือการทดลองทำงาน เพื่อให้บริษัทประเมินทักษะ ความสามารถ และความรับผิดชอบในการทำงานของเรา ว่าเพียงพอต่อความคาดหวังขององค์กรหรือไม่ รวมไปถึงดูว่าเราสามารถปฏิบัติตามกฏระเบียบขององค์กรได้รึเปล่า ซึ่งไม่เพียงแค่บริษัทประเมินเราเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันเราก็จะได้ประเมินการทำงานที่นี่ด้วยว่าเหมาะกับเรามั้ย ผ่านการลองใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมองค์กร ขั้นตอนการทำงาน และเพื่อนร่วมงาน

 

ซึ่งระยะเวลาของการทดลองงานส่วนมากจะอยู่ที่ 90-120 วัน (3-4 เดือน) ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรและทักษะความสามารถของเรา หากเราสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่และผู้ประเมินเห็นว่าเราเหมาะสมกับที่นี่ระยะเวลาการทดลองงานก็อาจจะสั้นลง และอาจได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำของบริษัทเร็วกว่าจำนวนวันที่กำหนดไว้ แต่หากผลงานของเราไม่เป็นที่พอใจหรือประสิทธิภาพต่ำกว่าระดับที่คาดหวัง บริษัทอาจเลิกจ้างหรือขยายระยะเวลาทดลองงานเพิ่มได้เช่นเดียวกัน

 

เหตุผลในการลาออกช่วงทดลองงานของคนทำงานส่วนมาก

เมื่อบริษัทไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ความคิดที่อยากจะลาออกก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเราต้องยอมรับว่ามันก็เป็นไปได้ที่เมื่อได้ไปทำงานจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่เหมือนกับที่เรารับรู้จากการหาข้อมูลบริษัทหรือตอนที่พูดคุยกันในตอนสัมภาษณ์งาน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนทำงานส่วนมากอยากลาออก คือ

  • รายละเอียดงานไม่ตรงกับที่เขียนไว้ในประกาศงาน หรือตรงตามที่คุยกันไว้ก่อนเริ่มงาน

  • ทัศนคติและแนวทางในการทำงานไม่ตรงกัน

  • สังคมในการทำงานแย่ (Toxic Environment)

  • การเดินทางเหนื่อยและยากลำบากกว่าที่คาดไว้

  • ปัญหาภายในของบริษัทอย่างเรื่องโครงสร้างหรือเรื่องการเงิน

  • งานไม่ตรงกับความคาดหวังของตัวเอง

  • มีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กร เช่น การลดสวัสดิการ หรือเงินเดือน

  • เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้

 

อย่างไรก็ตามบางปัญหาก็อาจมีทางแก้ โดยที่ไม่ต้องลาออก ซึ่งบางครั้งการเปิดใจพูดคุยหรือปรึกษากับหัวหน้าแผนกหรือ HR อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ตรงนี้เราอาจต้องลองไปขอคำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดูก่อน เพราะถ้าสามารถแก้ไขได้ มันก็จะส่งผลดีต่อทั้งองค์กรและตัวเราเอง เช่น ถ้าเราทำงานแล้วรู้สึกน้อยใจหรือรู้สึกไม่ดีจนทำให้คิดลาออกเพราะหัวหน้าไม่ยอมมอบหมายงานที่เป็นชิ้นเป็นอันให้ ถ้าเราได้คุยกับหัวหน้าก่อน เราอาจจะพบว่าสาเหตุที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะเรายังใหม่อยู่ และบางครั้งเขาก็อาจจะต้องการประเมินก่อนว่าเราเหมาะกับงานแบบไหน หรือมีวิธีการทำงานยังไง เราอาจต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเองสักพักก่อน

สิ่งที่ต้องคิดให้ดีอีกครั้งก่อนยื่นใบลาออก

การลาออก อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิตวัยทำงาน เพราะต้องย้ายที่ทำงาน เปลี่ยนวิธีเดินทาง ต้องไปทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานคนใหม่ จนกระทั่งการทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่ใหม่ รวมทั้งคนทำงานแต่ละคนก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบไม่เท่ากัน ทั้งค่าใช้จ่ายทางบ้าน การใช้ชีวิต หรือหนี้สิน ปัญหาที่แต่ละคนต้องแบกรับก็มีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งการลาออกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

ดังนั้นก่อนที่จะลาออก ก็ต้องลองถามตัวเองดูอีกครั้งว่าเราได้ลองพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจแล้วหรือยัง เพราะการตัดสินใจของเราอาจส่งผลเสียได้อย่างมาก เราจึงควรคิดให้ดีและไม่เข้าข้างตัวเองจนมากเกินไป ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดให้ดีอีกครั้งคือ

  • ไม่มีทางแก้ปัญหาวิธีอื่นแล้วนอกจากลาออก และไม่มีความสุขจริง ๆ ใช่มั้ยหากต้องทำงานที่นี่ต่อ 

  • ตอนนี้เรามีเงินสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงพอไหม

  • เราสามารถหางานใหม่หรือมีองค์กรไหนที่เราเล็งไว้แล้วหรือยัง

  • มีเงินเก็บในการกินอยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่เบียดเบียนเงินฉุกเฉินมากพอระหว่างที่ไม่มีงานทำรึเปล่า ซึ่งเงินก้อนนี้ควรมีให้พออย่างน้อย 3-6 เดือน

 

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคิดให้ดีอย่างเรื่องของ “ความเสี่ยง” เพราะในยุคที่อะไรยังไม่แน่นอน อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย เราต้องคิดให้ดีว่าเรายอมรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไหม เช่น ไม่สามารถหางานใหม่ได้ในเวลารวดเร็ว หรือรายได้ของงานใหม่น้อยกว่างานปัจจุบันที่กำลังทดลองงานอยู่

 

ผิดมั้ยถ้าอยากลาออกในช่วงทดลองงาน?

อย่างที่บอกไปว่าการทดลองงานไม่ใช่แค่บริษัทกำลังประเมินเราเพียงฝ่ายเดียวแต่เราก็กำลังประเมินบริษัทด้วยเหมือนกัน หากการทำงานไม่เป็นไปตามที่หวัง ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่เราได้ตัดสินใจแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองเพียงคนเดียวได้ “การลาออกในช่วงทดลองงานก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด” เพียงแต่เราต้องจัดการรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถูกต้องก่อนจะโบกมือลาบริษัทและคนที่รับเราเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งล่วงหน้าอย่างตรงไปตรงมา หรือเคลียร์งานที่ทำอยู่ให้เรียบร้อย ซึ่งถ้าในระยะเวลาการทดลองงานเราไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบงานที่สำคัญต่อองค์กรก็ไม่เป็นไร แต่หากว่าเรามีงานที่ต้องรับผิดชอบซึ่งสำคัญหรือติดพันอยู่ก็ควรแสดงความรับผิดชอบโดยการรับปากว่าจะทำงานชิ้นนั้นให้เสร็จก่อน หรืออยู่ให้ครบเวลาตามที่องค์กรต้องการ การทำแบบนี้จะเป็นการรักษามารยาทและแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงานที่ดีอีกด้วย

 

เรียนรู้มารยาทพื้นฐานที่จะทำให้คุณลาออกแบบสวย ๆ

 

มีผลต่อการสมัครงานครั้งต่อไปมั้ย ต้องใส่ประสบการณ์การทำงานที่บริษัทนี้ในเรซูเม่หรือเปล่า?

การลาออกในระยะทดลองงานอาจมีและไม่มีผลต่อการสมัครงานครั้งใหม่ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผลในการออกจากที่เก่าของเราและวิจารณญาณของผู้สัมภาษณ์ เพราะบางครั้งเหตุผลที่เรามีอาจเป็นเหตุผลที่เรามองจากมุมมองของเราเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะทำให้เราถูกตัดคะแนนไปอย่างมาก เช่น หัวหน้าไม่ยอมมอบหมายงานที่เป็นชิ้นเป็นอันให้สักทีเลยลาออก ความใจร้อนของเราตรงนี้ผู้สัมภาษณ์อาจมองว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต แต่ถ้าเหตุผลคือเนื้องานไม่ตรงกับที่คุยไว้ เกินขอบเขตหรือตำแหน่งเรามากเกินไป และไม่ใช่งานที่เราทำได้ ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องจำไว้ก็คือไม่ควรโกหก และตอบอย่างระมัดระวังทุกครั้งไม่ให้เป็นการต่อว่าและโยนความผิดไปให้บริษัทเก่าเพียงอย่างเดียว

 

ส่วนอีกหนึ่งคำถามที่คนทำงานหลายคนอยากถามอย่าง “ต้องใส่ประสบการณ์นั้นไว้ในเรซูเม่มั้ย?” คำตอบนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงเวลา 1-3 เดือนในบริษัทนั้นให้อะไรเราบ้าง มีคุณค่า และมีประโยชน์กับการทำงานครั้งต่อไปแค่ไหน

 

งานที่ควรใส่ไว้ในเรซูเม่

งานที่เราได้เรียนรู้อะไรมากมายผ่านการทำงานในระยะเวลาสั้น ๆ และมีประโยชน์ แต่เราอาจต้องหมายเหตุไว้สักหน่อยว่าทำไมระยะเวลาการทำงานถึงน้อย แล้วค่อยไปขยายเหตุผลระหว่างการสัมภาษณ์งานหากผู้สัมภาษณ์ถาม

 

งานที่ไม่จำเป็นต้องใส่ในเรซูเม่

งานที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ระยะเวลาที่ทดลองทำงานค่อนข้างน้อย แต่กรณีนี้ก็ต้องเตรียมคำตอบที่สมเหตุสมผลไว้ด้วย เพราะเมื่อผู้สัมภาษณ์เห็นในเรซูเม่ว่ามีช่วงระยะเวลาที่เราว่างไป บางครั้งเขาอาจจะถามได้ว่าเราทำอะไรระหว่างนั้น 

 

สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ : แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เลือกงานที่ใช่ ในแบบที่คุณต้องการ ได้ที่นี่!

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

hrnote.asia

ssrecruitment.com

The Standard

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, career & tips, fresh graduate, ลาออก, ทดลองงาน, ลาออกช่วงทดลองงาน, ลาออกก่อนผ่านโปร, ว่างงาน, รายงานตัวว่างงาน, จบใหม่ต้องรู้, freshgrad



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม