ปัญหาในการมอบหมายงานที่หัวหน้ามือใหม่มักต้องเจอ

ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมานานหรือมีความเชี่ยวชาญสูงแค่ไหน แต่ถ้าได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อไหร่ ก็ต้องเตรียมปรับตัวอยู่เสมอเพราะรูปแบบการทำงานนั้นจะต่างจากเดิมไปแบบสิ้นเชิง 

 

จากที่เคยเป็นผู้รับคำสั่ง ต้องกลายมาเป็นคนที่คอยบริหารและแจกจ่ายงาน ตามงาน และดูความเรียบร้อยของเพื่อนร่วมงานคนอื่น ทำให้ช่วงแรก ๆ หัวหน้ามือใหม่หลายคนมักจะพบปัญหาพอสมควร และถ้าเสียสมดุลตั้งแต่เริ่ม ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพการทำงานและการมอบหมายงานของเราลดลงไป วันนี้ JobThai จึงมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับหัวหน้ามือใหม่ที่กำลังจะรับตำแหน่งว่าต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะได้เจออย่างไร

 

 

  • หัวหน้ามือใหม่แม้จะเก่งกาจมากความสามารถแค่ไหน แต่เมื่อได้รับตำแหน่งใหม่ก็จะเจอความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการมอบหมายงานให้กับลูกทีม
  • ปัญหามักจะเกิดจากประสบการณ์ในการบริหารจัดการที่ยังมีน้อย ทำให้บ่อยครั้งเลือกคนได้ไม่เหมาะกับงาน หรือแบ่งงานได้ไม่เป็นธรรม
  • หัวหน้าบางคนยังไม่อยากแบ่งงานออกไปให้ลูกทีมเพราะกลัวว่าคนอื่นจะทำได้ไม่ดี ถ้างานพลาดต้องตามไปช่วยแก้ปัญหา หรือบางครั้งก็งานยุ่งจนไม่มีเวลาจะสอนงานให้คนอื่น ซึ่งทำให้งานตกอยู่ที่หัวหน้ามือใหม่มากเกินไป

 

 

ไม่เคยทำงานวางแผน

การเริ่มทำอะไรใหม่มักเป็นเรื่องยากเสมอ โดยเฉพาะกับหัวหน้าที่เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งแล้วต้องวางแผนมอบหมายงานให้คนในทีม ซึ่งหลายครั้งก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เช่น แบ่งงานให้ไม่เหมาะกับคน หรือบอกหน้าที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานได้ แต่ลองพูดคุยกับคนในทีมดูว่าถ้ามีปัญหาอะไรจากงานที่มอบหมายก็ควรรีบคุยกันทันที เพื่อที่เราจะได้ข้อมูลในการเอาไปวางแผนต่อ ที่สำคัญคืออย่าปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนลูกน้องหมดความศรัทธาในตัวเรา

 

คิดว่าการแบ่งงานให้คนอื่นเป็นเรื่องเสียเวลา

หัวหน้ามือใหม่หลายคนมักคิดว่าการแบ่งงานให้คนอื่นเป็นเรื่องเสียเวลา ถ้าทำเองเลยน่าจะง่ายและเสร็จเร็วกว่า หรือคิดอีกอย่างว่าถ้ามอบหมายงานนี้ไปก็ต้องเสียเวลาไปนั่งสอนงานอีก สุดท้ายเลยเลือกเก็บงานทั้งหมดไว้กับตัว กลายเป็นว่าจากที่ต้องยุ่งกับการปรับตัวในตำแหน่งใหม่และต้องเข้าประชุมถี่ขึ้นแล้ว ยังต้องมารับงานเพิ่มเติมอีก 

 

ทางที่ดีคือต้องกระจายงายงานออกไปให้ลูกทีมแล้วเราจะได้มีเวลามุ่งมั่นกับงานหลักเต็มที่ ปรับมุมคิดว่ายอมเสียเวลาสอนงานเพียงครั้งเดียว เพื่อจะให้ลูกทีมเรียนรู้ เข้าใจ และรับหน้าที่ส่วนนี้ไปรับผิดชอบแทนเรา

 

คิดว่างานที่ดีต้องทำเองทุกอย่าง

การพยายามทำงานให้ดีเพื่อตอบแทนความไว้วางใจจากองค์กรเป็นเรื่องที่ควรทำก็จริง แต่หัวหน้ามือใหม่ก็ควรไว้ใจการทำงานของลูกทีมด้วย โดยเฉพาะเวลาที่มอบหมายงานไปแล้วก็ไม่ควรถามหรือตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกทีมอาจรู้สึกไม่ดีกับความจุกจิกและทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง 

 

เราต้องพยายามปรับแนวคิดใหม่ว่าเมื่อมีภาระที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ก็คงมีบางงานที่คุณภาพอาจลดลงไปบ้าง เราจึงควรจัดลำดับความสำคัญของงานแล้วแบ่งงานออกไป อย่ายึดติดว่าเราเป็นหัวหน้าแล้วจะเก่งอยู่แค่คนเดียวเพราะงานบางอย่างลูกทีมก็ทำได้ดีกว่าเราเสียอีก

 

ลูกทีมยังไม่ยอมรับ

ในช่วงแรกอาจจะยากลำบากสำหรับหัวหน้ามือใหม่ เพราะต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นจากลูกทีมโดยเฉพาะบางคนที่อายุมากกว่าเรา หรือคนที่พ่ายแพ้จากการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้า คนกลุ่มนี้อาจจะยังไม่ยอมรับเราไม่ว่าจะมอบหมายงานอะไรไป อาจมีการแสดงออกด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งอาจมาจากเรามอบหมายงานไม่ตรงกับความสามารถ หรือไม่พวกเขาก็รู้สึกว่างานที่ได้นั้นเยอะเกินไป หนทางที่ดีที่สุดคือการพูดคุยเพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาจริง ๆ นั้นเกิดจากอะไรกันแน่ แล้วจะได้ปรับทิศทางการทำงานเพื่อให้ทุกคนพึงพอใจร่วมกันในที่สุด

 

การเป็นหัวหน้ามือใหม่ถึงจะฟังดูยากและเห็นแน่ ๆ แล้วว่าต้องเจอปัญหา แต่การได้ขยับตำแหน่งขึ้นมานั้นก็เพราะว่าองค์กรมองเห็นความสามารถในตัวเรา ต้องการให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น JobThai เชื่อว่าหัวหน้ามือใหม่ที่กำลังเจอกับปัญหา หรือคนที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้า จะสามารถจัดการกับปัญหาการมอบหมายงาน สร้างทีมที่ดีและแข็งแกร่งเพื่อเป็นกำลังหลักของบริษัทได้อย่างแน่นอน

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา :

tribehr.com

hbr.org

tags : career & tips, เคล็ดลับการทำงาน, หัวหน้ามือใหม่, การมอบหมายงาน, เทคนิคการงทำงาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม