ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน งานอาจพังไม่รู้ตัว

 

  • สมองส่วนที่ควบคุมด้านอารมณ์และการตัดสินใจได้รับผลกระทบ ยิ่งทำหลายงานพร้อมกันเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสที่งานจะผิดพลาดมากขึ้นเท่านั้น 

  • เครียด กังวล และรู้สึกท้อแท้ได้ง่าย และมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องสำคัญมากขึ้น

  • Multitasking ไม่ช่วยให้งานเสร็จพร้อมกัน และสมองที่สั่งการด้านความคิดสร้างสรรค์ทำงานน้อยลง

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ชอบ

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ตอนนี้คุณมีงานที่ต้องรับผิดชอบเยอะไหม?

 

การต้องรับผิดชอบงานเยอะ ๆ พร้อมกันในเวลาเดียวเป็นเรื่องปกติมากในโลกการทำงาน คนทำงานก็เลยมักจะคิดว่า Multitasking หรือ การทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันในเวลาเดียวเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันจะเป็นการโชว์ให้เห็นถึงความสามารถในการทำงาน แต่รู้ไหมว่าในความเป็นจริงแล้วสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำหลายงานในเวลาเดียวกัน นอกจากจะไม่ทำให้งานคืบหน้าแล้วยังมีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อสมองอีกด้วย

แล้วเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เราควรเลิกทำงานแบบ Multitasking วันนี้ JobThai จะมาบอกกัน

 

Multitasking มีผลกระทบต่อสมอง

ในส่วนหนึ่งของงานวิจัยจาก University of Sussex (UK) มีการใช้ MRI สแกนสมองของผู้เข้าทดสอบที่ทำงานแบบ Multitasking แล้วเห็นว่าเกิดจุดขึ้นบริเวณสมองส่วน Anterior Cingulate Cortex (ส่วนหน้าของเปลือกสมอง Cingulate Cortex มีลักษณะคล้ายคอเสื้อ) ที่ควบคุมระบบประสาทอิสระ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และที่สำคัญคือการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

ผลวิจัยนั้นสรุปไว้ว่าคนที่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน จะมีความหนาแน่นของสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการควบคุมอารมณ์ลดลง ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จนอาจเกิดความผิดพลาดมากขึ้นได้

 

4 กุญแจสำคัญในการพัฒนาสมอง

 

ทำงานพร้อมกันเยอะ ความผิดพลาดก็เยอะตาม

เวลาที่เราทำงานแบบ Multitasking และรับข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งพร้อมกัน เราจะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้อย่างจริงจังเลยสักงาน ทำให้นอกจากจะลดคุณภาพของงานที่เราทำลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่งานจะผิดพลาดมากขึ้นด้วย

 

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford บอกไว้ว่าปัญหาของคนที่ชอบทำหลาย ๆ งานพร้อมกันก็คือจะไม่สามารถแยกแยะข้อมูลซึ่งไม่เกี่ยวข้องออกจากกันได้ นั่นหมายความว่าจะเกิดปัญหาขึ้นทั้งเรื่องของจิตใจและข้อมูลที่ปะปนกันของงานแต่ละงานมากขึ้น ซึ่งถ้าทำงานหนึ่งพลาดไปจะมีผลให้อีกงานได้รับผลกระทบด้วย

 

ความเครียดและกังวลจะตามมา

ความเครียดหรือกังวลที่เกิดจากการทำงานแบบ Multitasking มีสาเหตุมาจากทั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแต่ละงาน และการที่สมองผลิต Cortisol หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดได้จากการทำงานแบบ Multitasking แบบง่าย ๆ อย่างการทำงานอยู่แล้วสลับไปตอบอีเมลทันที แทนที่จะจัดเวลาสำหรับการตอบอีเมลเอาไว้โดยเฉพาะ

 

สัญญาณที่เตือนว่าเรากำลังได้รับผลกระทบจาก Multitasking อยู่ ที่สังเกตุได้ง่าย ๆ ก็คือเรากลายเป็นคนที่รู้สึกเครียดและกังวลตลอดเวลา รู้สึกท้อ หมดแรงแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นวันใหม่ในตอนเช้านั่นเอง

 

เคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยคลายความเครียดระหว่างวันทำงาน

 

เสียเวลา โดยไม่ได้สักงาน

การเข้าใจว่า Multitasking จะทำให้เราได้หลายงานในเวลาเดียวกัน เป็นการเข้าใจที่ผิดมาก จริง ๆ แล้วมันเป็นการเสียเวลาไปเปล่า ๆ เพราะจะไม่มีงานไหนที่เสร็จแบบสบบูรณ์เลยซักงาน ลองนึกภาพว่าเรากำลังทำงานสำคัญหรืองานใหญ่อยู่แล้วสลับไปทำงานเล็ก ๆ ก่อนจะกลับมาทำงานใหญ่ชิ้นนั้นต่ออีกรอบ สมองเราก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่สลับงาน นั่นทำให้เราเสียเวลามากกว่าที่จะประหยัดเวลา

 

หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ มากขึ้นก็คือ การที่นักศึกษาที่นั่งอ่านหนังสือสอบอย่างเดียว ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่อ่านหนังสือไปด้วย นั่งดูข่าวในโทรทัศน์ไปด้วยอยู่แล้ว เพราะสมองเราจะจดจ่ออยู่กับเรื่องเดียวอย่างเต็มที่

 

ไอเดียไม่แล่น

ความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดด้านนวัตกรรม มักจะเกิดจากการที่เรามีสมาธิ สนใจ และจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ต้องการหาไอเดีย Multitasking ก็เลยกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าสมองของเราคิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ก็จะทำให้สมองไม่หลงเหลือพื้นที่สำหรับการคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่

 

ยิ่งไปกว่านั้นความเครียดและกังวลที่เกิดขึ้น จะทำให้สมองใช้สัญชาตญาณสั่งการให้เราปลอดภัยจากอันตราย โดยบังคับให้สมองกลีบหน้าที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์หยุดทำงานนั่นเอง

 

วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยรักษาสติปัญญาให้หลักแหลม

 

ความสามารถในการตัดสินใจแย่ลง

ในทุก ๆ งานที่เราทำ เราต้องมีการตัดสินใจอะไรบางอย่างทั้งนั้น แต่การทำงานแบบ Multitasking จะทำให้ประสิทธิภาพการตัดสินใจของเราแย่ลง โดยนักประสาทวิทยา Daniel Levitin อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การตัดสินใจหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ทำให้สมองสูญเสียระบบการควบคุมแรงกระตุ้นได้ และสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นรวมถึงการตัดสินใจแย่ ๆ ตามมาอีกด้วย

 

การทำงานแบบ Multitasking อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าสามารถรับผิดชอบงานทุกชิ้นที่ได้รับมา แต่สุดท้ายแล้วเราจะทั้งเสียเวลา เสียพลังงาน และเสียสุขภาพจิต ไปกับการรับมือหลาย ๆ งานพร้อมกันแบบนั้น ทางที่ดีที่สุดที่เราจะปกป้องสมองและจิตใจของเราไปพร้อม ๆ กับการทำให้งานออกมามีคุณภาพได้ ก็คือการทำงานทีละอย่าง พยายามห่างจากโทรศัพท์มือถือและ Social Media ที่จะทำให้เราวอกแวก แล้วจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ รวมทั้งพยายามพักทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อชาร์จแบตไปพร้อมกันด้วย

 

ฝากประวัติกับเราเพื่อเพิ่มโอกาสที่บริษัทชั้นนำจะเจอคุณ

 

JobThai เปิด Official Group แล้ว

ถ้ากำลังหางาน หาคน หรืออยากพูดคุยทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน มา Join กับเราเลย 

 

 

ที่มา : 

theladders.com

15five.com

entrepreneur.com

medium.com

 

tags : คนทำงาน, เทคนิคในการทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับในการทำงาน, ทำงานให้มีความสุข, lifestyle, ทำงาน, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม