ต้องพูดแบบไหนถึงได้ใจผู้ฟัง

 

  • การมีบุคลิกภาพที่ดีขณะพูดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราดูพร้อมและมีความมั่นใจ รวมทั้งการเลือกใช้ภาษากายที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้การพูดน่าสนใจขึ้นขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวางมือ หรือการมองตา
  • ศึกษาและทำความเข้าใจผู้ฟังล่วงหน้า เพื่อให้เราสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับผู้ฟังมากขึ้น
  • เลือกใช้ระดับเสียงเพื่อดึงให้ผู้ฟังสนใจ และจะช่วยให้เราสื่อสารออกไปได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น
  • เว้นจังหวะเล็กน้อย เมื่อต้องการพูดเรื่องสำคัญ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ฟัง หรือหยุดเมื่อพูดเรื่องสำคัญจบ เพื่อให้ผู้ฟังได้คิดตาม
  • ลองหาคำพูดที่คิดว่าสามารถสร้างสีสัน หรือดึงความสนใจได้มาใช้ แต่ต้องระวังอย่าใช้ภาษาที่เป็นคำเฉพาะกลุ่ม หรือศัพท์เทคนิคมากเกินไป
  • เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นในการพูด อย่าวิตกกังวล ปล่อยทิ้งไปก่อน และโฟกัสกับการพูดปัจจุบัน

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดแล้วดึงดูดให้คนฟังจนจบ ซึ่งในการทำงานเราเองก็จำเป็นต้องสื่อสารโดยการพูดในสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพรีเซนต์งาน การขาย การเจรจา หรือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกน้อง โดยแต่ละคนก็จะมีการพูดที่แตกต่างกันไปตามบุคลิกและนิสัย แต่ปัญหาคือจะต้องทำยังไงให้การพูดของเราดึงดูดคนฟังได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ JobThai เลยมีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้การพูดของคุณได้ใจผู้ฟังไปเต็ม ๆ มาฝาก

 

1. อย่าพูดจนลืมเรื่องบุคลิก

การจะเป็นผู้พูดที่ดีนอกจากต้องมีทักษะการพูดแล้ว บุคลิกเวลาพูดก็สำคัญ เช่น ต้องยืนหลังตรงแต่ผ่อนคลาย ไม่เกร็งจนเกินไป เพราะจะช่วยส่งเสริมให้มีบุคลิกที่ดีและดูมีความพร้อม เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย เพื่อแสดงออกถึงความมั่นใจและเพิ่มความสง่าเวลาพูด ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ภาพรวมเวลาพูดของเราดูดีขึ้นแล้ว การยืนหลังตรงและเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยยังช่วยให้เราเปล่งเสียงออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

2. รู้และเข้าใจว่าคนฟังคือใคร

การจะพูดให้ได้ใจคนฟัง เราต้องรู้และทำความเข้าใจคนที่เราจะพูดให้ฟังก่อน รู้ว่าเราพูดให้ใครฟัง เนื้อหาเป็นแบบไหน น้ำเสียงและการแสดงออกต้องเป็นยังไง รวมไปถึงสิ่งที่ควรระวัง เช่น ถ้ารู้ว่าลูกค้าที่เราต้องไปพรีเซนต์งานกับเขา เป็นผู้ใหญ่ที่งานรัดตัวตลอดเวลาและเจ้าระเบียบ เราก็ต้องเตรียมเรื่องที่จะพูดแบบกระชับ เข้าใจง่าย ไปให้ตรงตามนัดและใช้เวลาตามที่ขอไปอย่างพอดี พร้อมกับแต่งตัวให้เรียบร้อย

 

3. ใช้ระดับเสียงเพิ่มความน่าสนใจ

การพูดเสียงโมโนโทนอาจทำให้การพูดของเราดูน่าเบื่อ ลองปรับระดับของเสียงให้มีขึ้นลงตามความเหมาะสม เพราะนอกจากจะทำให้เรื่องราวที่เราพูดฟังดูไม่ราบเรียบและน่าฟังมากขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถช่วยให้เราสื่อสารออกไปได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นด้วย เช่น ขึ้นเสียงสูงเล็กน้อยเวลาจะพูดเรื่องสำคัญ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง หรือพูดช้า เน้นคำชัดๆ เมื่อต้องการให้ผู้ฟังตั้งใจฟัง

 

เทคนิคการพูดในที่สาธารณะยังไงให้ดูโปร

 

4. เว้นจังหวะการพูดให้คนคิดตาม

เมื่อเรากำลังจะพูดเข้าเรื่องสำคัญ ให้ลองเว้นจังหวะก่อนพูดดู มันจะทำให้เรื่องราวน่าติดตามมากขึ้น และทำให้คนฟังรู้สึกสงสัย อยากรู้จนต้องหันมาสนใจและตั้งใจรอฟังมากขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ในจังหวะหลังจากพูดเรื่องสำคัญด้วยก็ได้ โดยหยุดอีกหนึ่งจังหวะเพื่อให้ผู้ฟังมีเวลาในการคิดตาม และได้ไตร่ตรองถึงความสำคัญของเรื่องที่เราเพิ่งพูดไป

 

5. ใช้ Body Language ให้ถูกจังหวะเวลา

ภาษากายช่วยให้การพูดน่าสนใจมากขึ้นได้ เช่น ดึงดูดความสนใจโดยการเดินจากจุดนึงไปอีกจุดนึง นั่งโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยเวลาพูดเรื่องสำคัญ หรือมองตาคนฟังเพื่อแสดงถึงความจริงใจ ถ้าจำเป็นต้องจดโน้ตอะไรบางอย่าง ก็ให้ใช้แค่สายตามองต่ำลงโดยไม่ต้องก้มหน้าลงไป แต่ต้องระวังอย่าใช้ให้มากเกินไป ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากคลิปการพูดของนักธุรกิจ หรือนักพูดที่มีชื่อเสียง แล้วลองฝึกทำหน้าจก เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

 

6. ภาษาต้องเหมาะสมและสร้างสรรค์

เวลาพูดเราต้องเลือกใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ และเหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน การพูดเป็นทางการมากไปอาจดูน่าเบื่อ ลองหาคำหรือสำนวนที่เพิ่มสีสัน หรือเรียกความสนใจคนมาใช้ แต่ก็ต้องเลือกที่เหมาะกับคนฟังด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าเราใช้ภาษาที่สบายเกินไปในสถานการณ์ที่ดูทางการ ก็อาจจะทำให้เราดูไม่มืออาชีพได้เหมือนกัน นอกจากนี้ควรเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิค หรือภาษาเฉพาะกลุ่ม เพราะมันอาจทำให้คนฟังไม่เข้าใจ จนไม่อยากฟังต่อ

 

7. ลืมความผิดพลาดไปก่อน

ไม่แปลกที่การพูด หรือ พรีเซนต์งานของเราจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการผิดพลาดของระบบทางเทคนิค หรือผิดพลาดที่การพูดของตัวเราเองก็ตาม แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราทำได้คืออย่านำมาวิตกกังวล หรือเครียดไปกับมัน ปล่อยความผิดพลาดผ่านนั้นทิ้งไปก่อน และโฟกัสกับการพูดปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะถ้าเราเป็นกังวล มันจะทำให้จิตใจเราไม่อยู่กับตัว และเกิดความเสียหายไปกันใหญ่ และเมื่อพูดเสร็จแล้วค่อยกลับมานั่งคิดทบทวน และหาทางแก้ไขในโอกาสหน้า

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 23,411 members
Join Group
 

 

ที่มา:
inc.com

tags : เคล็ดลับการทำงาน, งาน, ทำงาน, career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม