ชวาธิป จินดาวิจักษณ์: ผู้ตรวจประเมิน ฟันเฟืองสำคัญสู่การพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมไทย

“บริษัทเราได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001”

“องค์กรของเราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรองมาตราฐาน ISO14001”

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้ หรือเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งความรู้สึกอย่างแรกที่น่าจะคล้าย ๆ กันคือ บริษัทนี้น่าจะมีมาตรฐานเชื่อถือได้ แต่ถ้าถามต่อไปว่า ISO คืออะไร แล้วใครเป็นคนรับรองให้พวกเขา หลายคนอาจจะยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด


วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ ดร.ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในวงการการรับรองมาตรฐานมายาวนานกว่า 20 ปี ตรวจประเมินมามากกว่า 2,000 โรงงาน ผ่านประสบการณ์การร่างมาตรฐาน และยังเป็นเทรนเนอร์ให้ความรู้ด้านการจัดการมาตรฐานภายในให้กับโรงงานอีกมากมาย

 

ซึ่ง ดร.ชวาธิป จะมาเล่าให้เราฟังถึงภาพรวมการรับรองมาตรฐาน รวมถึงเจาะลึกสายอาชีพผู้ตรวจประเมินว่าการจะเข้าไปตรวจสอบโรงงานได้ต้องมีความรู้ขนาดไหน อาชีพนี้จะเติบโตได้อย่างไรบ้าง ความท้าทายที่อาชีพนี้ต้องเจอ พร้อมเปิดประสบการณ์ที่จะช่วยให้คนที่สนใจได้รู้จักอาชีพผู้ตรวจประเมินมากขึ้น

 

 

  • ISO ย่อมาจาก International Standardization and Organization ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรม มีสมาชิกจากทั่วโลกโดยประเทศไทยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสมาชิก
  • สถาบันมาตรฐานไอเอสโอ คือสถาบันอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรมไทย
  • องค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างมาตรฐานภายใน และเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรด้วย
  • หน้าที่ของผู้ตรวจประเมิน คือ เข้าไปตรวจสอบองค์กร หรือโรงงานตามกระบวนการที่เป็นระบบ จัดทำเป็นเอกสาร และประเมินว่าเป็นไปตามเกณฑ์การตรวจประเมินตามมาตรฐานที่องค์กรยื่นขอรับการรับรองหรือไม่
  • ก่อนที่จะมาเป็นผู้ตรวจประเมินได้ต้องผ่านเกณฑ์ 3 อย่างคือ การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และการฝึกอบรม เป็นอาชีพที่เด็กจบใหม่ทำไม่ได้เนื่องจากต้องมีประสบการณ์การทำงานสายตรง
  • เส้นทางการเติบโตของอาชีพนี้แบ่งเป็น 2 ทางคือ การเพิ่มขอบเขตการตรวจประเมินไปในมาตรฐานอื่น ๆ และ การเติบโตตามลำดับขั้น จากผู้ตรวจประเมิน เป็นหัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมิน จนไปถึงระดับของผู้เชี่ยวชาญ
  • ปัญหาและความท้าทายของอาชีพนี้ อยู่ที่การดูแลสุขภาพ และการบริหารเวลาเนื่องจากต้องเดินทางบ่อย ซึ่งนอกจากงานตรวจประเมินแล้วยังต้องทำรายงาน และเตรียมตัวสำหรับการตรวจโรงงานต่อไปด้วย

 

 

เริ่มต้นอยากให้คุณชวาธิปช่วยเล่าถึง การรับรองมาตรฐาน ISO ก่อนว่าคืออะไร

ISO เป็นองค์กรที่มีสมาชิกทั่วโลก เหมือนโอลิมปิก แต่ละประเทศจะส่งคนเข้ามาเป็นสมาชิก หน้าที่ของเขาก็คือร่างมาตรฐานขึ้นมา แล้วกระจายไปทั่วโลก เพื่อช่วยส่งเสริมการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ถ้าพูดง่าย ๆ คือ มาตรฐานพวกนี้มาจากยุโรป แปลงมาจาก Best Practice มาให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเอาไปใช้ เพราะเขาเป็นผู้ซื้อ เราเป็นผู้ผลิต ของที่เราส่งให้เขาก็ต้องมีมาตรฐาน

ในประเทศเรา มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสมาชิกของ ISO ผมอยู่ในสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่หลักคือ บริการรับรองตามมาตรฐาน ISO และมาตรฐานระบบอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อมีองค์กรยื่นคำขอมา เราก็จะส่งทีมผู้ตรวจประเมินเข้าไป ถ้าผ่านเกณฑ์ทางเราก็รับรองมาตรฐานให้

ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกอุตสาหกรรมสามารถขอการรับรองได้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ ในประเทศเรามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ 140,000 แห่ง แต่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจริง ๆ เนี่ย มีอยู่แค่ 15% เท่านั้นเอง

 

 

ผู้ตรวจประเมิน น่าจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในขั้นตอนนี้ อยากให้เล่าถึงอาชีพนี้ให้ฟังพอสังเขป

ผู้ตรวจประเมิน (Auditor) หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า Management System Auditor เป็นผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการตามมาตรฐานสากล โดยผู้ตรวจประเมินจะมีหน้าที่เข้าไปตรวจประเมินองค์กรอย่างเป็นระบบว่ามีมาตรฐานตามเกณฑ์ของมาตรฐานแต่ละประเภทไหม ซึ่ง ISO เนี่ยก็มีหลายมาตรฐาน ที่คุ้น ๆ กันเช่น ISO 9001 ระบบการจัดการด้านคุณภาพ

14001 ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม มอก. 18000 ระบบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็น 3 ตัวหลัก ๆ นอกนั้นจะเป็นมาตรฐานเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอาหาร ก็จะมี GMP HACCP 

ผู้ตรวจประเมินจะต้องหาตัวเองให้เจอว่าคุณชำนาญในอุตสาหกรรมประเภทไหน เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร เป็นต้น ซึ่งตามหลักผู้ตรวจประเมินสากลแล้ว หนึ่งคนสามารถตรวจได้ไม่เกิน 4 อุตสาหกรรม แต่สามารถเพิ่มขอบเขตการตรวจได้หลายมาตรฐาน

 

ก่อนที่เข้ามาอยู่ในสายอาชีพผู้ตรวจประเมินนี้คุณชวาธิปจบการศึกษาด้านใดมาบ้าง

ผมเรียนจบ ปริญญาตรี วิศวกรรมเครื่องกล ปริญญาโท วิศวกรรมการจัดการด้านเทคโนโลยี และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และปริญญาเอก วิศวกรรมอุตสาหการ ตอนนั้นที่เลือกเรียนวิศวกรรม คงเป็นเพราะกระแสด้วย ยุคนั้นนโยบายรัฐบาล เน้นเรื่อง Southern Seaboard และ Eastern Seaboard

สมัยก่อนมีอยู่แค่ 4 สาขา ไฟฟ้า เครื่องกล โยธา อุตสาหการ ผมเลือกเครื่องกล เพราะตอนนั้นเราชอบเครื่องจักร รถยนต์ ยุคนั้นการเรียนยังเป็นแบบหว่าน คือต้องเรียนทุกอย่าง การออกแบบเครื่องจักร วางระบบท่อ ระบบปรับอากาศ แล้วค่อยคิดว่าคุณชอบอะไรคุณก็ไปสมัครงานเอา ซึ่งผมรู้สึกว่าการเรียนแบบนั้นไม่ได้เรียนเพื่อพร้อมประกอบอาชีพได้ทันทีหรอกนะ แต่เราได้ฝึกกระบวนการคิด ทุกอย่างต้องคำนวณได้ มีตรรกะเหตุผลรองรับ และต้องไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ซึ่งเป็นแก่นของ วิศวกรรมศาสตร์

 

เส้นทางอาชีพก่อนที่จะเป็น ผู้ตรวจประเมิน คุณชวาธิปทำงานด้านใดมาก่อนบ้าง

ผมเริ่มงานแรก เป็นฝ่ายซ่อมบำรุง คุมช่างซ่อมเครื่องจักร ที่จบ ปวช. ปวส. ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ซ่อมเก่งกว่าเขานะ แต่เราเก่งกว่าด้านการคำนวณ การวางแผน พูดง่าย ๆ คือ เราซ่อมไม่เป็นเลย เคยมี Technician ชาวเยอรมันในไลน์การผลิต มาให้ผมไปเปลี่ยนลูกปืนเครื่องจักร แต่ผมเปลี่ยนไม่เป็น เขาก็ตกใจ แล้วบอกว่ายูเปลี่ยนลูกปืนยังไม่เป็นเลยแล้วจะมาเป็นวิศวกรได้ยังไง ตอนนั้นก็โกรธเหมือนกันนะ

แต่ก็เข้าใจว่าบ้านเขาต่างกับเรา เราจบ ม.6 แล้วเรียนต่อเลย แต่บ้านเขาเรียนจบต้องไปเป็นช่างให้มือมันเปื้อนน้ำมันก่อน แล้วถ้าคิดว่ามีศักยภาพคุณค่อยไปเรียนต่อ เพราะคุณจะได้เรียนรู้และทำงานบนพื้นฐานของความเป็นจริง ผมทำงานปีกว่าก็ไปเรียนโทที่อเมริกา หลังจากนั้นก็ไปทำงานที่บริษัททำเบรกรถไฟที่สวีเดน

 

เหมือนชีวิตจะโบยบินออกไปสู่โลกกว้างแล้ว ผกผันกลับมาที่ไทยได้อย่างไร

ผมอยู่สวีเดน 2 ปี พอดีมีโอกาสกลับมาติดระบบเบรกที่การรถไฟแห่งประเทศไทย คราวนี้ก็ตัดสินใจไม่กลับไปทำงานที่สวีเดนแล้ว คิดว่าอยากลองเป็นข้าราชการดู พอดีมีคนรู้จักแนะนำว่าจบวิศวฯ ก็ไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมสิเลยลองไปสมัคร ตอนนั้นเน้นไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเลย แต่เหมือนเป็นโชคชะตาเดินไปหาที่สมัครไม่เจอแต่ดันไปเจอสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) คนที่ให้ มอก. นั่นแหละ เขาติดป้ายเปิดรับสมัครพอดี ก็เลยเข้าไปสอบถาม ตอนนั้นผมเห็นคำว่า International Standard ในรายละเอียดงาน ด้วยความที่สนใจงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ก็สมัครเลย และก็ได้ทำงานที่นั่น

เขาให้ผมไปอยู่ที่สำนักบริหารมาตรฐาน 4 ดูแลเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO ตอนสัมภาษณ์เรายังไม่รู้จัก ISO ด้วยซ้ำ เพราะมันยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย คือประเทศเรา เมื่อ 20 ปีที่แล้วโรงงานไม่มีมาตรฐานอะไรเลยนะ ตอนผมทำงานที่เมืองนอกก็ไม่มีใครทำ ISO กัน เพราะมาตรฐานโรงงานพวกเขาดีอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับผม หลังจากนั้นผมทำงานที่สำนักบริหารมาตรฐาน 4 ได้แค่ 2 ปี ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยถนัดกับการเป็นข้าราชการเท่าไหร่ เผอิญว่าเวลานั้นงานตรวจประเมินโรงงานมีเยอะมาก สมอ. ตรวจไม่ทัน รัฐบาลเลยต้องตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาช่วยแบ่งเบา ซึ่งก็คือ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นี่แหละ ผมก็เลยลองมาสมัครงานที่นี่ แล้วก็ได้เป็นผู้ตรวจประเมินเลย

 

 

ก่อนที่จะเข้าไปทำอาชีพผู้ตรวจประเมินนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ก่อนจะเป็นผู้ตรวจประเมินได้คุณสมบัติต้องพร้อมซึ่งหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน อย่างแรกเลยคือ วุฒิการศึกษา รุ่นแรก ๆ สาขาที่จะมาเป็นผู้ตรวจประเมิน ต้องจบมาจาก วิทยาศาสตร์ ไม่ก็วิศวฯ จะจบสายไหนก็ได้ อาหาร สิ่งแวดล้อม ชีววิทยาได้หมด แล้วเดี๋ยวเขาจะมีระบบแยกเองว่าคุณจะไปตรวจประเมินโรงงานอะไรได้ แต่หลัง ๆ มันมีมาตรฐานที่มากกว่าควบคุมการผลิต มันไปเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อสังคม คนที่จบ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) คนที่จบสังคมศาสตร์ก็มาเป็นผู้ตรวจประเมินได้ มาตรฐานไม่ได้เน้นแค่เรื่องคุณภาพแล้ว มันเป็นมิติที่มีความหลากหลาย ตรวจโรงงานหนึ่งเอาวิศวกรเข้าไปอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องมีนักวิทยาศาสตร์ ต้องมีนักสังคมศาสตร์เข้าไปด้วย เพราะโรงงานกับชุมชนอยู่คู่กัน

สองคือ ประสบการณ์ ต้องเคยทำงานทั่วไปอย่างน้อย 4 ปี และถ้าจะมาตรวจมาตรฐานด้านคุณภาพ 2 ใน 4 ปีนั้นต้องมีประสบการณ์ด้านมาตรฐานคุณภาพ เช่น อยู่ในสายการผลิต เป็น Inspector เป็นคนควบคุมคุณภาพมาก่อน นี่คือขั้นต่ำเลยนะ พูดเลยว่าเด็กจบใหม่เป็น ผู้ตรวจประเมินไม่ได้ เพราะเรากำลังจะให้การรับรองโรงงาน เหล็กที่วางอยู่มันได้คุณภาพหรือเปล่า คุณไม่มีทางรู้เลยเพราะคุณไม่เคยทำงาน เอาไปผลิตแล้วตึกถล่มซวยอีก เพราะฉะนั้นอาชีพนี้ต้องการคนมีประสบการณ์ ส่วนใหญ่มักจะจบปริญญาโท และบวกประสบการณ์ทำงานมาแล้ว บางคนมีปริญญาโทหลายใบด้วย ผมเคยคุยกับคนญี่ปุ่น ในประเทศเขาคนที่เป็นผู้ตรวจประเมินมีอายุเฉลี่ย 65 ปี บางคนเป็น President ของ Sony มาก่อนด้วย คิดว่าพวกนี้มันบอกอะไรกับเรา อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเขาโตเพราะเขาใช้กลไกของการตรวจเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการ เพราะคนที่ไปตรวจเนี่ยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้จริง เขาสามารถให้คุณค่าอะไรบางอย่างกับผู้ประกอบการได้

สามคือ ต้องผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร 5 วัน Lead Auditor Course สำหรับมาตรฐานแต่ละเรื่อง แล้วต้องสอบด้วย ถ้าไม่ผ่านก็เรียนใหม่ หลังจากนั้นถึงค่อยเริ่มก้าวขาเข้ามาสมัครเป็นผู้ตรวจประเมินที่หน่วยรับรองได้ ทีนี้ก็เหมือนนักบิน ต้องเก็บชั่วโมงบิน เริ่มจากการเป็นผู้ตรวจประเมินฝึกหัด ตามรุ่นพี่ไปทำงาน เวลาในการฝึกหัดที่เขากำหนดไว้ขั้นต่ำ 20 วัน แต่เวลาที่เราเก็บสถิติ 20 วันไม่พอหรอก บางคนต้องใช้เวลาอีกร่วมปีในการเป็นผู้ตรวจประเมินฝึกหัด ระหว่างนั้นจะมีคนดูเราตรวจ ว่าเราตรวจได้ไหม ตอบคำถามเป็นไปตามหลักการสากลไหม ไม่ผ่านก็ต้องฝึกไปเรื่อย ๆ บางคนถอดใจไปก็มี ซึ่งช่วงนี้ก็ยังได้เงินเดือนนะ แต่แค่ในระดับฝึกหัด ซึ่งคนที่ผ่านภายใน 20 วันส่วนมากจะเป็นคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว อยู่โรงงานมา 10 ปี เขาแค่ต้องมาเพิ่มทักษะในการตรวจประเมินเท่านั้นเอง

 

อยากให้อธิบายภายรวมของขั้นตอนการตรวจประเมิน ตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการการรับรองมาตรฐาน

เริ่มจากโรงงานมายื่นคำขอ เราก็จะตรวจสอบรายละเอียด และดูว่าผู้ตรวจประเมินคนไหนเหมาะสม หลังจากนั้นโรงงานจะส่งเอกสารรายละเอียดทั้งหมดมาให้ ทีมตรวจจะนำไปอ่าน ในขณะเดียวกันทางเราก็ต้องแจ้งโรงงานไปว่าใครจะเป็นผู้ไปตรวจสอบ  

พอเลือกทีมได้ก็จะลงตรวจโรงงานจะส่งรถมารับ เรามีหน้าที่ไปตรวจอย่างเดียว ไม่มีการให้คำแนะนำใด ๆ ทั้งสิ้น เวลาที่ใช้ก็แล้วแต่ขนาดของโรงงาน บางที่ 2 วัน บางครั้งเป็นเดือน เพราะบางที่เขาจะให้ตรวจทุกมาตรฐานให้เสร็จในรอบเดียว

หลังจากนั้นต้องกลับมาเขียนรายงานถ้ามีปัญหาก็จะส่งแผนแก้ไขให้ลูกค้าก่อน พอเสร็จแล้วในแต่ละเดือนเราจะเชิญคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพิจารณา คณะกรรมการจะมาจากหน่วยงานมาตรฐานในแต่ละเรื่อง อย่างเช่น มาจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น พอมาถึงผู้ตรวจประเมินก็จะรายงานว่าไปตรวจโรงงานนี้มาเป็นอย่างไร กรรมการจะเริ่มซักถาม ซึ่งคุณก็ต้องตอบให้ได้ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับไปตรวจเพิ่ม ถ้าผ่านก็เข้าสู่กระบวนการออกใบรับรอง

 

ผู้ตรวจประเมิน มีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพได้อย่างไรบ้าง

วิธีการเติบโตในสายอาชีพผู้ตรวจประเมินมีได้สองทาง อย่างแรกคือคุณสามารถขยายขอบเขตของการตรวจประเมินไปมาตรฐานอื่น ๆ ได้ เช่นจากสิ่งแวดล้อม ก็ไปทางความปลอดภัย หรือ Supply Chain ซึ่งก็มากับรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่การจะไปเป็นผู้ตรวจประเมินในมาตรฐานอื่น คุณจะต้องเรียนอีก 5 วันแล้วสอบให้ผ่านก่อนนะ และมาตรฐานจะถูกปรับให้ทันสมัยอีกทุก 5 ปี ก็ต้องไปเรียนใหม่สอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมแต่เพิ่มมาตรฐานไปเรื่อย ๆ อย่างคนจบวิศวกรรมมายากนะที่จะข้ามไปตรวจเรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นคนละเรื่องกันเขาไม่ได้เรียนมา

ทางที่สองคือ การเติบโตตามลำดับขั้น หลังจากเป็นผู้ตรวจประเมิน แล้วก็เป็นหัวหน้าผู้ตรวจประเมิน รับผิดชอบคุมลูกทีม ประสบการณ์ความรู้ต้องแน่น บางทีเจอโรงงานที่หมกเม็ดอะไรบางอย่าง หัวหน้าต้องรู้วิธีรับมือปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากเป็นผู้ตรวจประเมินใช้เวลาปีสองปี ก็มีสิทธิ์ขึ้นเป็นหัวหน้าผู้ตรวจประเมินได้

จนเป็นหัวหน้าผู้ตรวจประเมินไปสัก 10 ปี ถ้ามีฝีมือมีประสบการณ์ก็จะไต่ขึ้นเป็นระดับหัวหน้าผู้ตรวจประเมินอาวุโส (Principal Auditor) ถ้าใครเจอปัญหา คุณต้องให้คำแนะนำเขาได้ หลังจากนั้นก็ไปจบที่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีบทบาทเรื่องการร่างมาตรฐานแล้ว ต้องไปประชุมกับเมืองนอกเพราะถือว่ามีประสบการณ์สูงมาก

 

 

ปัญหาและความท้าทายที่คนเป็นผู้ตรวจประเมินต้องพบเจอคืออะไร

ลูกค้าขององค์กรเราส่วนใหญ่เป็นระดับประเทศทั้งนั้น เราเข้าไปแต่ละครั้งเขาต้องการ Value บริษัทเหล่านี้มีวิศวกรเดินเต็มไปหมด คนที่ไปตรวจต้องให้ความรู้เขาได้ คุณต้องเก่งกว่าเขา บางโรงงานขอดู CV ของทีมผู้ตรวจสอบด้วยนะว่า Qualified ที่จะตรวจโรงงานเขาไหม และเวลาคุยกันถ้าคุณให้ความรู้เขาไม่ได้ เขาก็จะแจ้งมาที่ต้นสังกัดเลยว่า ไม่เอาคนนี้แล้วขอเปลี่ยนคนใหม่ และในแต่ละปีคนตรวจเนี่ยก็จะถูกประเมินโดยผู้ตรวจประเมินอาวุโสด้วยนะ เรียกว่าการ Maintain Competency ถ้าไม่ผ่านก็ต้องปรับปรุงไม่อย่างนั้นมีปัญหากับอาชีพทันที

ความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งคือ การหาเวลาให้กับตัวเอง และดูแลสุขภาพ อาทิตย์หนึ่งเราเดินทางตลอดตรวจประมาณ 3 โรงงาน และต้องกลับมาทำรายงานด้วย วันหยุดก็ต้องทำ Checklist สำหรับโรงงานที่จะไปตรวจอาทิตย์ต่อไป เหมือนไม่มีวันหยุดเลย คนเป็นผู้ตรวจประเมินจึงต้องออกกำลังกายรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่ตลอด

 

คุณสมบัติสำคัญที่คนเป็น ผู้ตรวจประเมิน จำเป็นต้องมีคืออะไร

หลักสำคัญของการเป็นผู้ตรวจประเมิน มันไม่ใช่แค่ Knowledge น้อง ๆ ที่กำลังจะจบออกมา ที่ให้ความสำคัญกับความรู้อย่างเดียวอาจจะไม่พอ สิ่งที่ต้องไปพัฒนาคือ ทักษะ คุณต้องหาให้เจอ และฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ลองถามตัวเองว่า คุณช่างสังเกตไหมผู้ตรวจประเมินเนี่ยต้องมีทักษะ Observation Skill  คุณมองทีเดียวต้องดูให้ออกแล้วว่าที่นี่มีปัญหาหรือไม่

เพราะในการตรวจโรงงานหนึ่งเวลาเรามีน้อย คุณต้องมีไหวพริบปฏิภาณ คุณต้องเจอคนหลายประเภท แรงเสียดทานเยอะ ต้องเจรจากับคนระดับบนสุดถึงระดับล่างสุด บางทีเขาพาคุณไปกิน ไปเที่ยว เขาหวังอะไรจากคุณหรือเปล่า คุณต้องหลบหลีกให้เป็น ทำอย่างไรให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ที่สำคัญคุณต้องชอบความท้าทาย ชอบเรื่องใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนทำงานอยู่บน Burning Platform ที่คุณอยู่เฉื่อย ๆ ไม่ได้ ต้องเป็นคนที่อยากจะเก่ง และขยันหาความรู้ ส่วนตัวผมแต่ละปีจะต้องเรียนรู้มาตรฐานเพิ่มตลอด ทุกวันนี้ผมสอนได้มากกว่า 30 มาตรฐานตรวจโรงงานมากว่า 2,000 โรงงานแล้ว

 

 

คิดว่าแนวโน้มของการตรวจประเมินในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน

ถ้าคุณลองดูการรับรองมาตรฐานมันจะเริ่มมาตั้งแต่เรื่อง คุณภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งต่อไปจะเน้นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนไปทำบาป ทำน้ำเสีย อากาศเป็นพิษแล้วต้องแก้บาป แต่แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนไม่ใช่แบบนั้น เป็นการแข่งขันกันสร้างความดี เช่น การประหยัดพลังงาน ของต้องรีไซเคิลได้เพื่อลดโลกร้อน โลกต้องดีขึ้นในทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนในอนาคตข้างหน้าผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรมซึ่งผมก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

 

สายงานผู้ตรวจประเมินถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพน่าสนใจที่มีโอกาสก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนและมีช่องทางการเติบโตได้ถึง 2 ทางทั้งในรูปแบบการเติบโตตามลำดับขั้น และการขยายขอบเขตการตรวจประเมินไปในมาตรฐานอื่น ๆ ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะตามมาด้วยรายได้ที่มากขึ้นด้วย แต่ก่อนที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ได้นั้นต้องผ่านการทดสอบมากมาย ถือเป็นอาชีพที่นอกจากจะต้องรู้ลึกรู้จริงแล้ว ยังต้องสั่งสมประสบการณ์หาความรู้อยู่ตลอดเวลาด้วย นอกจากนั้นพวกเขายังเปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ผ่านการตรวจประเมินเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพให้กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จนมีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่า มาตรฐานเหล่านั้นจะเป็นดั่งหลักประกันซึ่งตามมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจมากมายที่เปิดกว้างให้กับองค์กรธุรกิจไทยต่อไป

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : career focus, career & tips, ผู้ตรวจประเมิน, เคล็ดลับการทำงาน, เทคนิคการทำงาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม