ความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุกับโลกการทำงานยุคใหม่ เรื่องน่ารู้สำหรับคนทำงานทุกวัย

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หนึ่งในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สังคมโลกกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน คือ การที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ทำให้มนุษย์เรามีอายุยืนยาวขึ้นกว่าในอดีต สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือคนทั่วไปมีค่านิยมในการแต่งงานและมีบุตรน้อยลง จนทำให้สัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรเกิดใหม่ โดยองค์การสหประชาประชาชาติ (United Nations) คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรสูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรโลกทั้งหมด ที่สำคัญสถานการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน

 

วันนี้ JobThai จึงอยากจะชวนให้คนทำงานทุกคนมองภาพอนาคตนี้และเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน 

 

ความสำคัญของประชากรสูงอายุกับตลาดแรงงาน

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ ผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรโดยรวมที่ประชากรเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ทำให้ประเทศมีประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น  สำหรับด้านสังคม การมีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็นตัวชี้วัดว่าประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านต่างๆ อาทิ สาธารณสุข โภชนาการ มีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว ทำให้มีอายุเฉลี่ยของประชากรมากขึ้น ส่วนในมิติด้านเศรษฐกิจนั้นกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ในอดีตก็คือวัยแรงงานที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

 

การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานโดยตรง พูดอย่างง่ายก็คือ คนที่เป็นวัยแรงงานเดิมนั้นมีอายุมากขึ้นและกำลังกลายเป็นวัยเกษียณพร้อมกันทั้งประเทศ ทำให้เกิดการภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือ รายได้รวมของประเทศลดลงได้  อย่างไรก็ตาม การเกษียณอายุของคนทำงานรุ่นก่อนไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เราต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น อัตราการเกิดใหม่ที่น้อยลง เนื่องจากประชากรของประเทศของสังคมยุคใหม่มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีครอบครัวหรือมีบุตรน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ทำให้แรงงานของคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการขาดแคลนแรงงานที่เกษียณตัวไปได้ทัน หรือแม้แต่เงื่อนไขอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาทิ สถานการณ์ทั้งในและระหว่างประเทศ โรคระบาด หรือ ปัจจัยความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างค่าเงินที่อ่อนไหว

 

9 เหตุผลที่คนทำงานรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงานมีลูก 

 

เมื่อเลข 60 ไม่ได้หมายถึงการเกษียณอายุ และ “วัยสูงอายุ” คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ

ไม่เพียงแค่คนรุ่นใหม่ หรือ คนทำงานวัยกลางคนเท่านั้นที่เป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าทำให้คนมีอายุยืนยาว และคนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น คนที่มีอายุหลายคนยังคงแข็งแรงและยังไม่หมดไฟในการทำงาน ทำให้ในปัจจุบันอายุขึ้นเลข 60 อาจไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกถึงสถานะการเกษียณอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศในโลกที่มีทิศทางในการกำหนดนโยบายของรัฐในการสนับสนุนให้คนสูงอายุยังคงทำงานต่อไปได้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างจากหลาย ๆ ประเทศว่าเขามีวิธีการรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุกันอย่างไรกันบ้าง

 

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นยังต้องการทำงานต่อ

ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของแรงงาน มีการประกาศขยายอายุเกษียณจากอายุ 65 ปี เป็น 70 ปี เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน ทางฝั่งของเอกชนก็ขานรับนโยบายของภาครัฐเป็นอย่างดี โดยพบว่าการจ้างพนักงานอายุ 70 ปีขึ้นไป ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากสถิติปัจจุบันมีคนทำงานสูงวัยที่มีอายุ 70 ปี หรือมากกว่า ถึงประมาณ 675,000 คน จากจำนวนประชากรกว่า 125 ล้านคน อย่างไรก็ตามลักษณะการจ้างงานผู้สูงอายุอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละอาชีพ ถ้าเป็นพนักงานที่มีทักษะการบริหารจัดการที่สามารถแบ่งปันองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวมได้ก็มักจะได้รับการจ้างให้ทำงานเป็นที่ปรึกษาของบริษัทต่อจนถึงเวลาที่ต้องการเกษียณ  นอกจากนี้ หากเราเดินทางไปญี่ปุ่นก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะพบเห็นผู้สูงอายุยังคงทำงานที่ไม่ได้ใช้แรงงานหนักมาก เช่น พนักงานช่วยบริการและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงตำแหน่งพนักงานคิดเงิน หรือ พนักงานแนะนำสินค้าในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

 

ระบบบำนาญของสวีเดนที่จูงใจให้คนชะลอการเกษียณ

สวีเดนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวโน้มสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป โดยความน่าสนใจของประเทศสวีเดน คือ ระบบจ่ายเงินบำนาญให้กับพลเมืองสวีเดนที่เกษียณอายุจากการทำงาน ซึ่งพลเมืองทุกคนจะได้รับสิทธินี้ตามสวัสดิการของรัฐ ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการจะเกษียณจะสามารถขอรับเงินบำนาญนี้ได้ตั้งแต่อายุ 62 ปีเป็นต้นไป  นอกจากนี้รัฐบาลสวีเดนยังมีมาตรการในการจูงใจให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในตลาดแรงงานและเลื่อนแผนการเกษียณของตัวเองออกไปเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น เช่น ยิ่งเกษียณตอนอายุมาก เงินบำนาญที่จะได้รับก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นอีกทางเลือกของคนทำงานที่กำลังตัดสินใจว่าจะเกษียณอายุตัวเองหรือทำงานต่อไป และจากข้อมูลอย่างเป็นทางการของสวีเดน (Swedish Institute) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึง 2021 จำนวนของแรงงานสัญชาติสวีเดนอายุระหว่าง 65-74 ปี เพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และอายุเฉลี่ยของผู้เกษียณอายุในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 65 ปี

 

จะเห็นได้ว่านโยบายของภาครัฐของประเทศที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นต่างเบนเป้าหมายไปที่การรักษาแรงงานผู้สูงอายุให้อยู่ในตลาดแรงงานต่อไป ไม่เพียงเพื่อชะลอปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอย่างเดียว แต่ยังมีจุดมุ่งหมายในการอำนวยความสะดวกให้คนทำงานสูงอายุสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงปลอดภัยกับชีวิต จนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไม่ต่างจากวันเวลาก่อนเกษียณ

 

การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ประเทศไทยของเราก็กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ. 2565 นี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และภายในปี พ.ศ. 2580 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) ด้วยจำนวนผู้สูงอายุของประเทศถึง 20 ล้านคน จากการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในระดับนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแผนงานด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ แผนส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ และการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศให้สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญก็จะมีตั้งแต่เรื่องระบบคุ้มครองและสวัสดิการ ระบบการดูแลสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้ในการให้สมาชิกครอบครัวดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถมีงาน มีรายได้ หากต้องการที่จะทำงานต่อไป ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐหลัก 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เราเริ่มเห็นความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐในการส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงต้องการที่จะอยู่ในตลาดแรงงานสามารถทำงานอย่างมั่นคงและปลอดภัยเช่นเดียวกับคนทำงานวัยอื่น ๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงแรงงานได้ริเริ่มให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุระหว่างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเริ่มมีโครงการที่เน้นการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในตำแหน่งพนักงาน เกี่ยวกับการค้าหรือบริการ หรืองานอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของลูกจ้างผู้สูงอายุ

 

ความพยายามของภาครัฐที่กล่าวไปข้างต้นจึงเป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของสภาพสังคมที่วัยแรงงานสูงอายุทยอยเข้าสู่วัยเกษียณ และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้น คนทำงานอย่างเราก็ต้องทำความเข้าใจว่าการทำงานของคนสูงอายุไม่ใช่การทำให้พวกเขาลำบากในบั้นปลายชีวิต แต่เป็นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังพร้อมจะทำงานต่อมีรายได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์ทางสังคม คือ ทำให้ผู้สูงอายุยังมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง จากการบริหารสมอง และได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่ทำงานต่อไปได้

 

พนักงานวัยใกล้เกษียณ บุคลากรล้ำค่าขององค์กร

ผู้ที่ทำงานมาจนใกล้เกษียณอายุนั้นเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงสุดภายในองค์กร เป็นที่พึ่งพาของคนในทีมในด้านต่าง ๆ จากความชำนาญที่สั่งสมมาทั้งชีวิตการทำงาน คนวัยสูงอายุจึงเปรียบเหมือนทรัพยากรที่มีค่าของบริษัท การส่งมอบคุณค่าในการทำงานและองค์ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญก่อนที่พวกเขาจะเกษียณอายุตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องมีการวางแผนเตรียมพร้อมและเริ่มทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรต่อยอดจากแผนการบริหารจัดการองค์ความรู้ในองค์กร (Knowledge Management หรือ KM) เดิม และผลักดันให้ผู้มากประสบการณ์เหล่านั้นได้ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรผ่านช่องทางและรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ระบบการสอนงาน (Coaching and Mentoring) รวมไปถึงการอบรม ทำกิจกรรม Workshops ให้กับพนักงานรุ่นใหม่ หรือการนำความรู้ที่เป็น Case Studies หรือ Best Practices ที่โดดเด่นขององค์กร บันทึกไว้ในระบบ E-Learning Portal โดยใช้สื่อที่หลากหลาย อาทิ เอกสารคู่มือ วิดีโอ หรือ Podcast ที่บอกเล่าประสบการณ์ทั้งการทำงาน หรือแม้แต่การบทเรียนในการใช้ชีวิต เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและนำไปใช้ในการทำงานได้จริง ในขณะเดียวกันหากในอนาคตบ้านเรามีผู้สูงอายุทำงานมากขึ้น การมีระบบรองรับการเรียนรู้งานไม่ว่าจะเป็นระเบียบ วิธีการปฏิบัติงาน หรือ การเพิ่มพูนทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับวัยสูงอายุเพิ่มเติม ตามแนวคิด Life-Long Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางที่ HR หรือ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรควรให้ความสนใจแต่ตั้งแต่วันนี้

 

HR Advice: สิ่งที่องค์กรจะได้จากการจ้างพนักงานวัยเกษียณให้ทำงานต่อ

 

แผนการออมเงินคือกุญแจสำคัญของการมีชีวิตหลังเกษียณที่ดี

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ หรือ คนที่ทำงานมานานแล้ว แต่สิ่งที่คนทำงานอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อาจจะเป็นเรื่องของการออมเงินเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำให้หลายคนสนใจแต่การบริหารการเงินในชีวิตประจำวันหรือ การออมเงินเพื่อซื้อสิ่งที่อยากได้เพียงอย่างเดียว แต่การใส่ใจในการออมเงินตั้งแต่วันนี้ จะทำให้คนทำงานได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเมื่อถึงยามบั้นปลายของชีวิต

 

การออมเงินนั้นไม่ได้สำคัญแค่ระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการบริหารการเงินของประเทศด้วย สำหรับประเทศไทยของเราก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปีเพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติมนอกเหนือจากการออมส่วนบุคคลตามปกติ ลองไปดูตัวอย่างเพิ่มเติมว่าเรื่องออมเงินนั้นสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ทำไมบางประเทศถึงกับต้องปรับเปลี่ยนนโยบายสวัสดิการของคนทำงานเพื่อให้พวกเขามีเงินออมไว้ใช้จ่ายเมื่อถึงวัยเกษียณอายุการทำงาน

 

จีนปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อให้คนมีเงินออมเพียงพอหลังเกษียณ

สำหรับประเทศจีน ที่เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ก็หนีไม่พ้นภาวะสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 ประเทศจีนจะมีประชากรสูงอายุคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ ประชาชนคนทำงานของจีนนั้นต้องพึ่งพาระบบสวัสดิการจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุอาจทำให้ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณที่มากขึ้นในการดูแลผู้ที่กำลังจะเกษียณในอนาคต จึงเป็นเหตุให้ภาครัฐของจีนต้องปรับปรุงโครงสร้างสวัสดิการการออมเงินเพื่อเงินบำนาญในวัยเกษียณ โดยมีการเพิ่มช่องทางในการออมเงินเข้ากองทุนแบบสมัครใจ นอกเหนือจากรูปแบบการบังคับแบบเดิม ผ่านบัญชีเก็บเงินออมโดยเฉพาะ โดยมีแรงจูงใจเป็นสิทธิในการลดหย่อนภาษีตามอัตราที่รัฐกำหนดตามเงื่อนไขของสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งลูกจ้างสามารถส่งเงินเข้าบัญชีออมเงินนี้ได้ถึง 12,000 หยวน (ประมาณ 61,700 บาท) ต่อปี ทั้งนี้สำหรับการออมเงินภาคบังคับเดิมนั้นจะมีการพัฒนาระบบการเชื่อมข้อมูลเงินออมร่วมกับนายจ้าง ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หากมีการย้ายไปทำงานยังบริษัทใหม่ โดยได้มีการทดลองใช้ระบบใหม่นี้แล้วในบางเมือง เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะเปิดให้ใช้ทั่วประเทศจีนต่อไป ตัวอย่างของประเทศจีนที่หยิบยกขึ้นมานี้จึงแสดงให้เห็นถึงการที่ภาครัฐของจีนให้ความสำคัญกับการจัดการระบบสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเงินออมของคนวัยเกษียณ เพราะความมั่นคงทางการเงินของประชากรทุกคนล้วนส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

6 เคล็ดลับ วางแผนเกษียณสุข (ฉบับมนุษย์เงินเดือน) 

 

แน่นอนว่าในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องทำให้เกิดการปรับตัว การรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุต้องอาศัยการปรับตัวจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ระดับ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือ ระดับบุคคลซึ่งก็คือคนทำงานทุกคน คนวัยทำงานทุกวัยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนช่วงวัยไหนก็ต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ต้องก้าวผ่านประสบการณ์การทำงานในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่โลกของการทำงาน เลื่อนตำแหน่ง และเติบโตในสายงาน จนไปถึงวัยเกษียณ และกลุ่มคนทำงานผู้สูงอายุก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับคนวัยอื่น ๆ  เมื่อผสานบทบาทของคนทำงานแต่ละช่วงวัยเข้าด้วยกันก็จะทำให้ภารกิจขององค์กรบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ และประสบความสำเร็จในโลกของการทำงาน ตลอดจนเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละอุตสาหกรรม ส่งผลสู่การพัฒนาของประเทศของเราโดยรวม

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

dop.go.thfpo.go.thjapantimes.co.jpmoneybuffalo.in.threuters.comscmp.comstatista.comsweden.setime.comvox.com

tags : jobthai, งาน, ทำงาน, การทำงาน, คนทำงาน, คนทำงานสูงอายุ, วัยเกษียณ, แรงงาน, ตลาดแรงงาน, วัยทำงาน, เกษียณ, career & tips, ผู้สูงอายุ, สังคมผู้สูงอายุ, บำนาญ, การออมเงิน, การเงิน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม