Remote Working VS เข้าออฟฟิศ VS Hybrid Working ทางออกไหนที่ใช่สำหรับคนทำงาน

Remote Working VS เข้าออฟฟิศ VS Hybrid Working ทางออกไหนที่ใช่สำหรับคนทำงาน
04/04/22   |   16k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานที่ใช่เพียงปลายนิ้ว โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตั้งแต่มีโรคระบาดโควิด-19 คนทำงานจำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับโลกยุค New Normal อย่างมาก หลายบริษัทได้ออกนโยบาย Work from Home ให้พนักงานทำงานที่บ้านจนพัฒนาไปสู่การทำงานรูปแบบ Remote Working ที่ให้อิสระในการเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้

 

ยังไงก็ตามการทำงานที่ไหนก็ได้ใช่ว่าจะสะดวกสบายเสมอไป เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถจัดหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานได้ อีกทั้งการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรก็ทำได้ยากขึ้น จนกลายเป็นที่ถกเถียงกันว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศนั้นดีกว่าหรือเปล่า เพื่อหาทางออกให้กับพนักงาน บางบริษัทจึงได้นำนโยบายการทำงานแบบ Hybrid ที่ผสมผสานการทำงานทั้ง 2 รูปแบบเข้าด้วยกันมาใช้

 

แต่การทำงานแบบไฮบริดนั้นถือเป็นทางออกที่ใช่สำหรับคนทำงานทุกคนจริงหรือเปล่า การทำงานแบบเข้าออฟฟิศ 100% นั้นส่งผลดีกว่าไหมในเมื่อเราก็ทำงานกันในรูปแบบนี้มาโดยตลอด หรือจริง ๆ แล้วการทำงานแบบ Remote เองก็ตอบโจทย์คนทำงานไม่แพ้กัน เพียงแต่เราแค่ต้องการเวลาในการปรับตัวมากกว่านี้ วันนี้ JobThai จะมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการทำงานแต่ละรูปแบบให้ดู

 

Work from Home ยังไงให้งานออกมาดี แม้ไม่เข้าออฟฟิศ

 

การทำงานที่ออฟฟิศ (On-site Working)

การทำงานรูปแบบดั้งเดิมที่ให้พนักงานเดินทางมาทำงานร่วมกันในพื้นที่สำนักงานที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ตามเวลาที่กำหนดไว้

 

ข้อดี

แน่นอนว่าเมื่อเป็นสถานที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้พนักงานมาทำงานแล้ว บรรยากาศย่อมต้องเหมาะกับการทำงาน ไม่ต้องกังวลใจว่าจะมีปัญหาสิ่งรบกวน ทุกคนสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ที่ออฟฟิศได้ นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารและประสานงานภายในองค์กรก็ทำได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อภายในทีมหรือนอกทีม เพราะทุกคนมารวมตัวกันที่ออฟฟิศแล้ว หากมีเหตุเร่งด่วนที่ต้องการความคิดเห็นของทุกคนในแผนกก็สามารถเรียกประชุมได้ทันที

 

ยิ่งไปกว่านั้น การได้ทำงานร่วมกันบ่อย ๆ ได้พูดคุย ปรึกษาปัญหาและเรียนรู้นิสัยการทำงานของกันและกันย่อมส่งผลให้เกิด Teamwork ที่แข็งแรงอีกด้วย พนักงานใหม่ที่เข้ามาก็อาจปรับตัวเข้ากับทีมได้เร็วขึ้นและกล้าแสดงความคิดเห็นในการทำงานมากขึ้น เพราะได้พบเจอและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานจริง ๆ เมื่อทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประสิทธิภาพของงานที่ออกมาก็ย่อมดีขึ้นตามเช่นกัน

 

ใครที่ต้องการแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวให้เป็นสัดส่วนก็คงชอบการทำงานที่ออฟฟิศ เพราะมีเวลาในการทำงานที่ชัดเจน เช่น เริ่มงาน 9 โมง พักกลางวัน 1 ชั่วโมง เลิกงาน 6 โมง อีกทั้งยังได้สัมผัสวัฒนธรรมขององค์กร เข้าใจแนวทางการทำงาน วิสัยทัศน์และเป้าหมายของบริษัทมากขึ้น เพราะได้ใช้ชีวิตการทำงานร่วมกันกับคนอื่น ๆ ในองค์กรอย่างเต็มที่

 

ข้อเสีย

แม้การทำงานที่ออฟฟิศจะเอื้อให้พนักงานทำงานได้อย่างสะดวกสบาย แต่ก็ต้องแลกกับการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเช่นกัน ใครที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากบริษัทก็มีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่า ใช้เวลามากกว่าคนอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ Productivity ของพนักงานลดลงจากความเหนื่อยล้าและเวลาส่วนตัวที่น้อยลงไปด้วย ส่วนฝ่ายบริษัทเองก็มีต้นทุนในการรองรับพนักงานที่ออฟฟิศ เช่น ค่าไฟ ค่าเครื่องใช้สำนักงาน ค่าอาหารกลางวัน (กรณีมีสวัสดิการส่วนนี้ให้กับพนักงาน) ฯลฯ

 

เคล็ดลับจัดการความล้ายามบ่ายสำหรับพนักงานออฟฟิศ

 

การทำงานทางไกล (Remote Working)

การทำงานที่ให้พนักงานเลือกสถานที่ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ร้านกาแฟ Co-working Space ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หากสามารถเชื่อมต่อกับบริษัทและทำงานได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จะทำงานจากที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น

 

ข้อดี

พนักงานมีอิสระในการเลือกสถานที่ทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็สามารถกลับไปพักอาศัยและทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่พัก เมื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางก็มีเวลาส่วนตัวและเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น โดยพนักงานสามารถใช้เวลาว่างจากการเดินทางตรงนี้ไปพักผ่อนหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แทนได้

 

นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนของบริษัทในการรองรับพนักงานที่ออฟฟิศน้อยลง และเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถจ้างพนักงานได้จากทั่วทุกมุมโลกโดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องสถานที่อีกด้วย

 

ข้อเสีย

แม้จะได้อิสระในการเลือกสถานที่ทำงาน แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถจัดหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานได้ พนักงานบางคนอาศัยอยู่กับครอบครัว ไม่ได้มีพื้นที่แยกเป็นส่วนตัว บางคนอาศัยอยู่ในห้องพักที่เพียงหันหน้าไปก็เห็นเตียงนอนแล้ว ทำให้บรรยากาศไม่เอื้อกับการทำงานเท่าไหร่นัก ไหนจะสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์สำนักงานที่ไม่ได้ครบครันเหมือนที่ออฟฟิศ ทำให้อาจเกิดปัญหาในการทำงานตามมา เช่น หากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่บ้านของพนักงานไม่ดี เวลาประชุมออนไลน์ก็อาจส่งผลให้ภาพหรือเสียงติดขัดทำให้การสื่อสารภายในองค์กรทำได้ยากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การนัดประชุมด่วนจึงอาจไม่สามารถทำได้ในทันที ต้องนัดหมายล่วงหน้าเพื่อให้พนักงานได้เตรียมตัวและสถานที่ให้พร้อม

 

นอกจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานแล้ว อุปกรณ์ที่ซัพพอร์ตการนั่งทำงานก็สำคัญ เพราะที่บ้านของพนักงานอาจไม่ได้มีโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการทำงานเฉกเช่นที่ออฟฟิศ เมื่อต้องนั่งอุดอู้ทำงานอยู่ที่บ้านนาน ๆ จ้องหน้าจอติดกันหลายชั่วโมงโดยไม่ได้ออกไปเดินเล่นพักสายตา แวะออกไปกินข้าวหรือซื้อขนมช่วงกลางวัน ผละจากคอมพิวเตอร์แล้วหันไปคุยกับเพื่อนด้านข้างเหมือนที่เคยทำ ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม อาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือตาล้า ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานทางไกลยังส่งผลให้พนักงานมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น กรณีทำงานที่บ้าน ค่าไฟและค่าน้ำก็อาจเพิ่มขึ้น หรือในกรณีที่บริษัทมีสวัสดิการอาหารกลางวันให้ พนักงานก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง

 

นอกจากนี้พนักงานบางส่วนก็อาจมองว่าการทำงานทางไกลทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวหายไป กลายเป็นว่าต้องทำงานและพร้อมตอบข้อความตลอดเวลาจนทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หรือพนักงานบางคนก็รู้สึกว่าการทำงานทางไกลนี้ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เกิดอาการโดดเดี่ยวเพราะทำงานอยู่คนเดียว ไม่ได้พูดคุยกับใคร และส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงานในท้ายที่สุด รวมถึงพนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิมในการเรียนรู้งานและปรับตัว เพราะไม่รู้จะพูดคุยสอบถามเรื่องงานกับใคร บริษัทอาจต้องคำนึงถึงการสอนงานพนักงานใหม่ให้ดีด้วยหากใช้นโยบาย Remote Working

 

ดูแลพนักงานใหม่ยังไงถ้าบริษัท Work from Home

 

การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working)

การทำงานแบบผสมผสานระหว่างการเข้าออฟฟิศและทำงานทางไกล พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน บริษัทอาจกำหนดวันเฉพาะในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ส่วนวันอื่น ๆ อนุญาตให้ทำงานแบบ Remote ได้ หรือในบางบริษัทอาจใช้วิธีให้พนักงานแต่ละทีมสลับวันกันเข้าใช้ออฟฟิศเพื่อลดจำนวนคนและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท

 

ข้อดี

การทำงานแบบไฮบริดนั้นรวมการทำงานทั้งสองแบบเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงได้ข้อดีจากการทำงานของทั้งคู่มาด้วย นั่นคือพนักงานมีอิสระในวันที่ทำงานแบบ Remote สามารถเลือกสถานที่ทำงานเป็นที่ไหนก็ได้ แต่ก็ยังมีวันที่ได้เข้าไปใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ออฟฟิศ ได้พูดคุยและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหรือนัดประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตากันจริง ๆ ด้วย

 

ในส่วนของค่าใช้จ่ายก็อาจเรียกได้ว่าลดลงไปครึ่งหนึ่งสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะเมื่อพนักงานเข้าออฟฟิศน้อยลง ต้นทุนของบริษัทในการรองรับพนักงานก็ลดลงไปด้วย ส่วนพนักงานก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทุกวัน

 

ข้อเสีย

แม้ภาพรวมจะดูตอบโจทย์ แต่การทำงานแบบไฮบริดก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง เพราะพนักงานที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดอาจไม่สะดวกในการเดินทางเข้าออฟฟิศเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ รวมถึงอาจมีปัญหาในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ด้วย เช่น พนักงานบางตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้จอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่อย่างทีมกราฟิกหรือทีมตัดต่อวิดีโออาจไม่สะดวกขนของไปกลับออฟฟิศบ่อย ๆ ยิ่งพนักงานที่บ้านอยู่ไกลและไม่มีรถยนต์ส่วนตัวด้วยแล้ว การต้องขนย้ายอุปกรณ์ไปมาทุกสัปดาห์คงสร้างความลำบากให้ไม่น้อย หากบริษัทต้องการใช้นโยบายการทำงานแบบไฮบริดจริง ๆ ก็อาจต้องสำรวจจำนวนของพนักงานกลุ่มนี้ดูว่ามีกี่คน และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์สำรองเหล่านั้นไว้ที่ออฟฟิศให้เพียงพอ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ทางบริษัทต้องแบกรับเพื่อซัพพอร์ตการทำงานของพนักงาน

 

นอกจากนี้พนักงานอาจต้องเหนื่อยกับการปรับตัวมากขึ้นเมื่อต้องสลับรูปแบบการทำงานไปมา และในกรณีที่บริษัทใช้นโยบายแบบสลับทีมกันเข้าออฟฟิศ ก็อาจมีผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกันระหว่างทีมด้วย เช่น ในวันที่ทีม A และทีม B ต้องประชุมร่วมกัน ทีมหนึ่งเข้าออฟฟิศ ส่วนอีกทีมหนึ่งทำงานแบบ Remote แทนที่จะได้ประชุมกันแบบเห็นหน้าค่าตา พูดคุยกันโดยไม่ผ่านจอ ก็กลายเป็นว่าทีมที่เข้าออฟฟิศต้องเปิดคอมพิวเตอร์และเข้าประชุมออนไลน์กับทีมที่ทำงานแบบ Remote ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการทำงานทางไกลทั้งสองฝั่งอยู่ดี หากเป็นกรณีนี้ แต่ละทีมก็ต้องเช็กคิวเข้าออฟฟิศของตนเองให้ดี หากการจัดคิวที่ทางบริษัทวางไว้ให้ไม่ตรงกัน ก็อาจต้องแจ้งขอเปลี่ยนวันเข้าออฟฟิศให้ตรงกัน หรือเปลี่ยนวิธีการประชุมเป็นแบบออนไลน์ในวันที่ทั้งสองฝ่ายทำงานแบบ Remote แทน ซึ่งการจัดการคิวหรือการนัดหมายระหว่างทีมตรงนี้ก็อาจกินเวลาและกวนใจไม่น้อยหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ

 

วิธีการสร้างสมาธิในการทำงานที่ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือบริษัทก็ทำได้

การทำงานรูปแบบไหนที่ใช่ที่สุด?

จากการเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าข้อดีและข้อเสียของการทำงานแต่ละรูปแบบนั้นมีส่วนที่ย้อนแย้งกันเองอยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนทำงานบางกลุ่มรู้สึก Productive มากกว่าเมื่อได้ทำงานที่บ้านหรือร้านกาแฟ แต่บางกลุ่มก็รู้สึกว่าบรรยากาศของออฟฟิศช่วยให้มีสมาธิมากกว่า

 

ในส่วนของการจัดสรรเวลา บางคนรู้สึกว่าการทำงาน On-site นั้นช่วยให้ตัวเองเปิด-ปิดโหมดทำงานได้ง่ายขึ้น เวลาส่วนตัวไม่ปะปนกับเวลาทำงาน แต่กลุ่มที่ชอบทำงานแบบ Remote ก็อาจไม่ได้มองว่าเส้นแบ่งตรงนี้หายไป กลับกันแล้วอาจมองว่าเป็นข้อดีเพราะสามารถเลือกทำงานในเวลาที่ตัวเอง Productive ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาออฟฟิศ เพียงจัดการงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนดก็พอ

 

ดังนั้นทางออกของข้อถกเถียงนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจพนักงานว่าสไตล์การทำงานของแต่ละคนเป็นแบบไหน รูปแบบการทำงานประเภทใดที่จะช่วยดึงศักยภาพของคนในองค์กรออกมาได้มากที่สุด การสื่อสารระหว่างทีมเป็นอย่างไร พนักงานติดขัดจุดไหนในการทำงานแต่ละแบบ และมองหาข้อตกลงที่ทุกคนพึงพอใจร่วมกัน โดยอาจทดลองปรับใช้ไปทีละน้อยเพื่อหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับพนักงานในบริษัทมากที่สุด

 

ค้นประวัติ Candidate ที่น่าสนใจเพื่อมาร่วมงานกับคุณได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
Join Group
 

 

ที่มา:

technovert.comfusionaccountants.co.ukworkinsync.iospaceiq.comblog.jobthai.com

tags : hr, human resource, ฝ่ายบุคคล, รูปแบบการทำงาน, คนทำงาน, สถานที่ทำงาน, ออฟฟิศ, hybrid working, work from home, remote working, on-site working, การดูแลพนักงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม