Sexual Harassment พฤติกรรมที่ควรแก้ก่อนจะแย่ไปทั้งองค์กร

Sexual Harassment พฤติกรรมที่ควรแก้ก่อนจะแย่ไปทั้งองค์กร
17/10/23   |   8.7k   |  

 

 

JobThai Platform แพลตฟอร์มที่จะทำให้การหาคนง่ายกว่าเดิม

 

หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการรณรงค์เรื่อง Bully, Body Shaming และ Sexual Harassment กันมาจนหลายคนเริ่มตระหนักและคิดให้มากขึ้นก่อนจะพูดหรือแซวคนรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ยังไม่ตระหนักและยังทำพฤติกรรมเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคม รวมไปถึงในสังคมการทำงาน และส่งผลให้บรรยากาศการทำงานในบริษัทแย่ลง ซึ่งหลายครั้งที่คนทำงานหรือ HR อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แค่แซวเล่นขำ ๆ แต่มันอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่าที่คุณคิดก็ได้ JobThai เลยอยากมาพูดถึงเรื่องของการ Sexual Harassment ในองค์กรที่ HR ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบในแง่ร้ายต่อองค์กรได้

 

HR ต้องบริหารคนในองค์กรแบบไหนถึงประสบความสำเร็จ

 

Sexual Harassment คืออะไร?

Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศ ไม่จำเป็นต้องเป็นการแตะเนื้อต้องตัวหรือแต๊ะอั๋งอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการพูดจาทะลึ่ง มองด้วยสายตาคุกคาม หรือการส่งข้อความ ใด ๆ ที่ทำให้ผู้รับอึดอัด ซึ่งการคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของ

  • การแสดงออกทางวาจา (Verbal Conduct) การแซว พูดจาแทะโลม พูดเรื่องสรีระร่างกาย มุกตลกสองแง่สองง่าม

  • กิริยาท่าทาง หรือการแทะโลมทางสายตา (Visual Conduct) จ้องอวัยวะของอีกฝ่าย มีท่าทางที่ส่อไปถึงเรื่องทางเพศ

  • การสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct) โอบไหล่ จับมือ โดนเนื้อโดนตัวอีกฝ่าย โดยที่ยังไม่ได้รับการยินยอม

  • การส่งข้อความในเชิงอนาจาร (Written Conduct) การส่งแชท ส่งรูปภาพหรือมีมตลกที่มีเนื้อหาทะลึ่ง

 

การ Sexual Harassment สามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศหญิงเท่านั้น เพราะยังมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพศชายหรือเพศทางเลือกที่ถูกคุกคามเช่นกัน 

 

พฤติกรรม Sexual Harassment ที่หลายคนทำโดยไม่รู้ตัว

Sexual Harassment เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมของการทำงานมาอย่างยาวนาน ซึ่งหลายครั้งการคุกคามทางเพศมักจะถูกแสดงออกมาในเชิงตลกขบขัน หรือมุกตลกสองแง่สองง่าม ในขณะที่บางคนมีบุคลิกที่ชอบจับร่ายกายคู่สนทนาเวลาพูดคุย เช่น โอบไหล่หรือจับแขน แม้บางครั้งเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้เรื่องนี้ในสายตาของผู้ที่ไม่ได้ถูกกระทำดูไม่มีน้ำหนัก ไม่จริงจัง และไม่ต้องใส่ใจมากเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ถูกคุกคามทางเพศพวกเขาจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ รู้สึกถูกล้ำเส้น และยังถูกซ้ำเติมด้วยการที่ไม่มีใครเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอีกด้วย

 

บางพฤติกรรมอาจจะเป็นเรื่องที่บอกยากว่าคำพูดหรือการกระทำแบบไหนคือการคุกคามทางเพศ ความตั้งใจของบางคนอาจจะเป็นการแซวขำ ๆ จริง ๆ หรือในมุมตัวเองอาจจะมองว่าสิ่งที่พูดออกไปเป็นการชื่นชม แต่หากการกระทำนั้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึก ‘อึดอัดและไม่สบายใจ’ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

 

ผลกระทบต่อผู้ที่ถูก Sexual Harassment 

การถูกคุกคามไม่ว่าจะด้วยคำพูด สายตา การกระทำ หรือการสัมผัสร่างกาย มันไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อยหรือเป็นแค่แผลที่เกิดแล้วหายทันที แต่มันอาจกลายเป็นแผลเป็นที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ เพราะมันจะทำให้เขาหรือเธอรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความเชื่อใจที่มีต่อสังคมลดลง เห็นคุณค่าในตัวเองลดลงและพวกเขาอาจเกิดอาการซึมเศร้าหรือเลวร้ายไปกว่านั้นได้ โดยระดับความรุนแรงของความรู้สึกถูกคุกคามของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิต ทัศนคติ และความสามารถในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีทักษะในการรับมือไม่เท่ากัน บางคนอาจจะแค่รำคาญและไม่ชอบเวลาโดนแซว แต่บางคนอาจจะเสียความมั่นใจไปเลยก็ได้

 

หากตอนนี้เราเป็นคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์แบบนี้อยู่ สิ่งแรกที่เราควรทำคือการรวบรวมสติให้มากที่สุด เพราะหลายครั้งที่ผู้ถูกกระทำมักเป็นฝ่ายอับอาย ซึ่งจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราโอเคกับสิ่งที่เขาทำ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราควรทำคือกล้าการปฏิเสธคำพูดหรือการกระทำนั้น ๆ บอกให้เขารับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่โอเค และถ้าเขายังไม่หยุด ก็เก็บหลักฐานการกระทำของเขา ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียง วีดีโอ หรือภาพนิ่ง เพื่อนำไปแจ้งกับผู้บังคับบัญชาหรือดำเนินคดีทางกฎหมาย ดังนั้นหากเจอการ Sexual Harassment เราต้องมีสติให้มาก ๆ เพื่อรับมือกับการกระทำต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

วิธีแก้ไขเมื่อพนักงานมาปรึกษาเรื่องถูก Sexual Harassment

หากมีพนักงานมาปรึกษากับเราในเรื่องของความอึดอัดในการทำงาน เนื่องจากเขารู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ HR ควรทำคือการฟังเรื่องราวนั้นอย่างตั้งใจ อย่าทำว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้พนักงานยอมรับมัน นอกจากนี้ห้ามแสดงออกหรือพูดอะไรที่เป็นการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) เป็นอันขาด อย่างคำว่าคุณใส่เสื้อวาบหวิวหรือเปล่า คุณเฟรนด์ลี่เกินไปไหม หรือวันหลังก็ดูแลตัวเองสิ เพราะคนทุกคนมีสิทธิในการแต่งตัวหรือแสดงออกในแบบที่ตนต้องการ และคำถามเหล่านี้มีแต่จะทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เพราะรู้สึกว่าถ้าออกมาแล้วจะถูกตั้งคำถาม ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกมีบาปติดตัว โทษตัวเอง และเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา ทั้ง ๆ ที่คนที่ผิดหรือคือคนที่เป็นฝ่ายคุกคามต่างหาก 

 

เมื่อเกิดเรื่องการคุกคามในองค์กรบ่อยครั้ง HR ควรออกกฎระเบียบหรือพิจารณาถึงบทลงโทษอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องพนักงานไม่ว่าเขาจะอยู่ในระดับไหน เพราะบางครั้งเมื่อหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาเป็นฝ่าย Sexual Harassment คนอื่น ๆ ก็จะไม่กล้าที่จะขัดขืนหรือปฏิเสธ หาก HR อยากสร้างให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่น่าทำงานและมีความปลอดภัย เมื่อมีเหตุการณ์ที่พนักงานถูกล่วงละเมิดหรือคุกคาม HR ก็ไม่ควรนิ่งเฉย และดำเนินเรื่องทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎระเบียบ และสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันที 

 

6 สิ่งสำคัญในการทำงานเพื่อเป็น HR มืออาชีพ

 

อย่างที่บอกไปว่าการแซวเล่นในบางครั้ง ผู้กระทำอาจไม่ได้คิดอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะเขาเห็นและเขาทำจนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้จะฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่ก็มีแต่ตัวผู้ถูกกระทำเท่านั้นที่ต้องบอกเขาไปว่าตัวเองไม่โอเค ซึ่งบางคนเขาอาจจะรับฟังและสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวเขาเองได้ แต่ถ้ารู้ตัวและยังทำอยู่ การดำเนินการด้วยกฎของบริษัทหรือกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ HR ควรทำเพื่อพนักงานในองค์กร ในขณะเดียวกันหากเราเป็นคนเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในองค์กรเราก็ไม่ควรนิ่งเฉย เราอาจลองค่อย ๆ เข้าไปถามความรู้สึกหรือยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหากพนักงานคนนั้นต้องการ

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพื่อเข้าถึง Candidate มากกว่าใครได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 22 เมษายน 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

Source:

th.hrnote.asia

petcharavejhospital.com

wongnai.com

shortrecap.co

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, hr, sexual harassment, พฤติกรรมsexual harassment, hr advice, ฝ่ายบุคคล, การคุกคามทางเพศ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม