HR Advice: สิ่งที่องค์กรจะได้จากการจ้างพนักงานวัยเกษียณให้ทำงานต่อ

HR Advice: สิ่งที่องค์กรจะได้จากการจ้างพนักงานวัยเกษียณให้ทำงานต่อ
09/10/23   |   21.3k   |  

 

  • คนวัยเกษียณที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง ยังมีไฟในการทำงาน และยังมีความต้องการที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเอง เป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร 

  • ลดปัญหาในเรื่องการขาดแคลนแรงงานลง เนื่องจากทักษะของพนักงานรุ่นใหม่ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์การทำงานที่โชกโชนกว่า

  • ประสบการณ์ในการทำงานที่โชกโชนของคนวัยเกษียณเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในพนักงานใหม่ พนักงานวัยเกษียณจะเป็นแหล่งความรู้สำคัญที่พนักงานรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้

 

JobThai Platform แพลตฟอร์มที่จะทำให้การหาผู้สมัครที่ใช่ กลายเป็นเรื่อง “ง่าย”

 

เมื่ออายุ 55-60 ปี ก็ถึงเวลาที่คนทำงานจะเลือกเกษียณตัวเองและหมดหน้าที่รับผิดชอบต่อองค์กรไป ซึ่งคนทำงานหลายคนอาจตั้งเป้าหมายไว้ว่าในวัยเกษียณต้องมีเงินเก็บไว้เท่าไหร่สำหรับการดำรงชีวิตหรืออยากทำอะไรต่อหลังจากเกษียณ บางคนอาจบอกตัวเองว่าถึงเวลาพักผ่อนและอยู่กับตัวเองเสียที ในขณะที่บางคนก็อาจวางแผนทำธุรกิจเล็ก ๆ เพื่อหารายได้ให้คนในครอบครัวต่อไป แต่ถ้าคนวัยเกษียณอีกกลุ่มเขาอยากทำงานในองค์กรต่อล่ะ ในฐานะขององค์กรควรให้โอกาสพวกเขาหรือเปล่า JobThai เลยมีข้อดีของการจ้างพนักงานวัยเกษียณให้ทำงานต่อมาฝาก HR และองค์กรกัน

 

เคล็ดลับทำให้องค์กรของคุณเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

คนวัยเกษียณยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

คุณค่าของคนวัยเกษียณ ไม่ใช่เพียงแค่มีอะไรทำไปวันต่อวัน แต่จะต้องเป็นกิจกรรมบางอย่างที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตของพวกเขาจริง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับเจนเนอเรชันเก๋าหลาย ๆ คน งานที่พวกเขาเลือกทำตั้งแต่จบการศึกษาจนถึงวัยเกษียณ ก็แปลว่านี่คือสิ่งที่เขารักจริง ๆ และการได้ทำงานต่อแม้จะเกษียณแล้วก็อาจเป็นความสุขอีกแบบที่แตกต่างไปจากการทำงานประจำแบบเดิม

 

นอกจากนี้ศักยภาพและผลงานของพวกเขายังได้รับการพิสูจน์มาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งในการได้ช่วยเหลือและสร้างประโยชน์มากมายในการขับเคลื่อนองค์กรจนถึงทุกวันนี้ ด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานที่ตัวเองได้เคยเผชิญมา และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่หาไม่ได้ง่าย ๆ จากพนักงานรุ่นใหม่อีกด้วย

 

ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน พนักงานทำงานต่อได้เลย

ในสถานการณ์ปกติเมื่อพนักงานถึงวัยเกษียณ ทางบริษัทก็ต้องหาพนักงานใหม่มาทดแทน อาจเป็นการเลื่อนตำแหน่งพนักงานที่มีอยู่เดิมเพื่อมารับช่วงต่อ หรือประกาศหาพนักงานใหม่ที่มีความสามารถ แต่การหาคนมาทดแทนคนเก่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีปัจจัยอย่างทักษะ ความรู้ความสามารถ และที่สำคัญความเข้ากับองค์กร (Culture Fit) ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเลยก็ว่าได้ 

 

โดยเฉพาะพนักงานที่มีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิจะก้าวมารับตำแหน่งนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านการทำงานมามากจนสั่งสมเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร คนที่เข้ามาทำหน้าที่แทนอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวนาน หรือในกรณีที่แย่ที่สุด คือมีประสบการณ์ไม่พอ ทำหน้าที่ได้ไม่ดีเทียบเท่ากับพนักงานเก่าที่เกษียณออกไป แต่ถ้าพนักงานวัยเกษียณสามารถทำงานต่อไปได้ บริษัทจะยิ่งได้ประโยชน์เพราะพวกเขาทำงานต่อได้เลย ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเหมือนพนักงานใหม่ 

 

จัดการความต่างทาง Generation ด้วยเทคนิคการดูแลพนักงาน

เทรนด์ทำงานหลังวัยเกษียณไม่ได้มีแต่ในเมืองนอกเท่านั้น

ตลาดแรงงานในประเทศไทยของเราก็ให้ความสำคัญกับพนักงานวัยเกษียณเช่นเดียวกัน โดยในปี 2560 กระทรวงแรงงานเปิดเผยภาพรวมตลาดแรงงานว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 11.35 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.8 ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่จำนวน 4.06 ล้านคน  หรือคิดเป็นร้อยละ 35.8 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

  • ภาคธุรกิจ เริ่มเปิดโอกาสให้พนักงานเดิมสามารถทำงานได้นานขึ้นแม้จะอายุเลย 60 ปี หรือเปิดรับพนักงานใหม่ในวัยเกษียณในอัตราที่มากขึ้น โดยสาเหตุที่บริษัทชอบพนักงานอาวุโสมากกว่าเพราะพวกเขามีประสบการณ์ มีความสุขุม ใส่ใจในการทำงาน และมีกรอบความคิดของคนรุ่นเก่าที่ให้ความสำคัญกับการทำงาน

  • ภาครัฐ ขยายเกณฑ์อายุการเกษียณของข้าราชการในบางตำแหน่ง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัจจัยทางประชากรและเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการทำงานเพื่อการพัฒนาของประเทศ 

  • ธุรกิจ Startup ที่เพิ่งเริ่มต้นกิจการก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรให้ความสนใจในการจ้างพนักงานวัยเกษียณ เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลามากกว่าพนักงานปกติ สามารถเป็นที่ปรึกษาแก่องค์กรในแต่ละก้าวของธุรกิจ การแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษ เช่น ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน จะทำให้องค์กรได้เปรียบคู่แข่งที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคอยให้คำปรึกษา และอาจเติบโตได้อย่างมั่นคงมากกว่ากลุ่มธุรกิจที่มีแต่คนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง

 

นอกจากนี้ด้วยวุฒิภาวะ ทักษะ ประสบการณ์ และการวางตัวของพนักงานวัยเกษียณ สิ่งเหล่านี้ก็อาจถูกส่งต่อให้แก่พนักงานรุ่นใหม่ ๆ อีกมากมาย ด้วยหน้าที่ของ HR ที่ต้องดูแลและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร พนักงานในองค์กรของเราก็จะได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เรียนรู้งาน ได้เจอกับคนรุ่นเก่าที่เต็มไปด้วยความเก๋า ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตในองค์กรต่อไป และไม่ทำให้ความรู้ของพวกเขาสูญหายไปโดยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่แสนล้ำค่าจากพนักงานอาวุโสที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกด้วย

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพื่อเข้าถึง Candidate มากกว่าใครได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 4 มกราคม 2018 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

tags : hr advice, hr, ทรัพยากรบุคคล, เกษียณ, การทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม